‘จักรภพ’ ยินดี ‘เพื่อไทย’ นำลิ่วซิวชัยปักธง ‘นายก อบจ.’ ผ่า4ประเด็นพรรคการเมืองหลังหย่อนบัตร ปรับกลยุทธ์ปูทางสู่ ‘เลือกตั้งระดับชาติ’
วันที่2กุมพาพันธ์2568 นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ทั่วประเทศที่เพิ่งผ่านพ้นไป โดยพรรคเพื่อไทยชนะ 18 จังหวัด มากกว่าพรรคอื่น ๆว่า ผลที่ออกมาคราวนี้บอกอะไรได้มากเกี่ยวกับการเมืองในภายภาคหน้า โดยเอาปัจจุบันเป็นฐาน ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่า ฐานของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเมืองไทยนั้น กำลังแบ่งออกเป็นเจนเนอเรชั่น หรือเป็นรุ่นของอายุอย่างแท้จริง พรรคเพื่อไทยยังชนะอยู่ แต่เปอร์เซ็นต์ของการได้เสียงใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 10-20 ปีมานี้ พรรคเพื่อไทยได้น้อยมาก ซึ่งนี่คือเป้าหมายของพรรคเพื่อไทยที่ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะต้องเป็นพรรคที่หวังเป็นรัฐบาล และปกครองบริหารประเทศสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย
นายจักรภพ กล่าวต่อว่า ส่วนพรรคประชาชนนั้น ก็ยังประสบความสำเร็จในยุทธศาสตร์เดิมอยู่คือฝังหัวตั้งแต่เด็กเพราะเด็กเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่อายุ 10 ขวบหรือก่อนหน้านั้น ก็ทำให้เกิดความรักในความเป็นพรรคประชาชนตั้งแต่เป็นพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล จนมาเป็นพรรคประชาชน เพราะเขารักในตัวของผู้นำมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ยังไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง พอถึงอายุ 18 มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ก็ไม่มีใครอยู่ในใจแล้ว ยกเว้นพรรคนี้คนนี้ ถือเป็นเรื่องของการสร้างลัทธิชนิดหนึ่ง โดยที่เรื่องของนโยบายต่าง ๆ ก็ยังไม่ได้เป็นจุดเน้นสักเท่าใด แต่เน้นที่ภาพลักษณ์ ความน่ารัก ความน่านิยม และความรู้สึกว่าเป็นคนรุ่นเดียวกันหรือใกล้เคียงกันมากกว่า ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิทธิที่พรรคประชาชนจะทำได้ แต่ประเด็นอยู่ที่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นคู่แข่งหลักต่างหากว่าจะหาทางรับมืออย่างไรในสนามการเมือง
นายจักรภพ กล่าวอีกว่า ในแง่ของนโยบาย ซึ่งสำคัญกว่าเรื่องของภาพลักษณ์หรือเปอร์เซ็นต์ชัยชนะนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าในคราวที่ประชาชนไม่ต้องการเรื่องไร้สาระ เรื่องของลูกเล่น ลูกฮา ต่าง ๆ อาจจะมีประกอบเป็นสีสันบ้าง แต่หลักใหญ่เลยคือนโยบายว่าชีวิตเขาจะดีขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจและสังคม 2 เรื่องนี้เป็นจุดเน้นที่สำคัญมาก และผู้สมัครเกือบทุกพรรคเกือบทุกจังหวัดก็เน้นที่จุดนี้ ซึ่งตนคิดว่าเป็นพัฒนาการในภาพรวมการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป ในคราวหน้า
นายจักรภพ กล่าวด้วยว่า ตนขอตั้งข้อสังเกต ใน 4 ประเด็น จากการเลือกตั้งคราวนี้ว่า 1. เงินนั้นได้เปลี่ยนบทบาทไปแล้ว เมื่อก่อนเงินอาจจะใช้ซื้อได้ แต่เดี๋ยวนี้เงินกลายเป็นปัจจัยในการบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจว่าจะจัดการเลือกตั้งอย่างไรในส่วนของพรรค การตัดสินใจของประชาชนว่าจะเลือกใคร ของพรรคไหน ตอนนี้กลายเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ มากกว่าเรื่องของบารมี อิทธิพล หรือเสน่ห์ส่วนตัว คำว่าการบริหารจัดการที่ว่านั้น คือ การใช้เงินในการจัดตั้ง ที่ไม่ใช่การซื้อ 2. การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ พรรคการเมืองต้องบริหารทรัพยากรอื่น ๆ ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้สมัคร สนับสนุนเครื่องมือ เสริมบทบาทของผู้สมัครของตน 3. การทำให้นโยบายชัดเจนและจดจำได้ เมื่อประชาชนมองเห็นผู้สมัคร หมายเลขผู้สมัคร และนโยบายของพรรค ควรเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วกลายเป็น 1 โหวตของการใช้เสียง ส่วนข้อสุดท้าย ข้อที่ 4. เป็นเรื่องที่ดีขึ้นในครั้งนี้คือ มีการโยงนโยบายในประเทศเข้ากับนโยบายระหว่างประเทศได้ชัดเจนขึ้น ตอนนี้คนไทยเข้าใจแล้วว่า เศรษฐกิจในประเทศจะดีได้ แปลว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยจะต้องดีไปด้วย
“วันนี้ผมมองในภาพรวมแล้วจะ ชนะ แพ้ ดีใจ เสียใจ ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่น่าดีใจในภาพรวมมีวิวัฒนาการดีขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกสำหรับอนาคตของประชาธิปไตยไทย” นายจักรภพ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี