ร้องเรียน180เรื่อง
นายกอบจ./ส.อบจ.
แจกเงินโจ๋งครึ่ม!
ในพื้นที่สารคาม
อย่าเพิ่งดีใจบรรดา ว่าที่ นายก อบจ.-ส.อบจ. โดย กกต.พร้อมสอย เผยมียอดร้องเรียน 180 เรื่อง ยอดผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนน 58.45% แย้มต้องเลือกใหม่
“ส.อบจ.” 4 เขต เหตุแพ้โหวตโนผู้สมัครถูกตัดสิทธิ์สุดเศร้า กปน.ดับระหว่างส่งหีบบัตร1 ศพ อดีต สว.สมชาย เปิดภาพแจกเงินในพื้นที่ มหาสารคาม โจ๋งครึ่ม
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.แถลงสรุปภาพรวมการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568ว่า ในภาพรวมจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 27,991,587 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 16,362,185 คน คิดเป็น 58.45 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าลดลงจากการเลือกตั้ง อบจ.ปี 2563 ประมาณ 4% โดยในจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์เป็นบัตรดี 14,272,694 ใบ คิดเป็น 87.23 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบัตรเสีย 931,290 ใบ คิดเป็น 5.69 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจำนวนเกือบจะเท่ากับหรือไม่แตกต่างกับปี 2563 ที่มีบัตรเสียอยู่ที่ 5.63 เปอร์เซ็นต์ส่วนบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,158,201 ใบ คิดเป็น 7.08 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่จำนวนผู้มีสิทธิเลือกสมาชิก อบจ. 47,124,842 คน มีผู้มาใช้สิทธิ 26,418,754 คน คิดเป็น 56.06 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นบัตรดี 23,131,324 ใบ คิดเป็น 87.56 เปอร์เซ็นต์ บัตรเสีย 1,488,086 ใบ คิดเป็น 5.63 เปอร์เซ็นต์ และบัตรไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 1,799,344 ใบ คิดเป็น 6.81 เปอร์เซ็นต์
นายแสวง กล่าวว่า ส่วนจังหวัดที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ.และสมาชิก สภา อบจ.รวมจำนวน 47 จังหวัด มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. ลำพูน คิดเป็น 73.43 เปอร์เซ็นต์ 2. นครนายก คิดเป็น 73 เปอร์เซ็นต์ 3. พัทลุง คิดเป็น 72.56 เปอร์เซ็นต์ 4. นราธิวาส คิดเป็น 68.42 เปอร์เซ็นต์ 5. มุกดาหาร คิดเป็น 68.03 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่จังหวัดเลือกแค่สมาชิกสภา อบจ. จำนวน29 จังหวัด มีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ 1. พะเยา คิดเป็น 61.68 เปอร์เซ็นต์ 2. เลย คิดเป็น 58.04 เปอร์เซ็นต์ 3. เพชรบุรี คิดเป็น 57.44 เปอร์เซ็นต์ 4. ยโสธร คิดเป็น 56.72 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 56.63 เปอร์เซ็นต์ 5. ชัยนาท คิดเป็น 56.63 เปอร์เซ็นต์
นายแสวง กล่าวต่อว่า จากข้อมูลที่เห็นว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิ์น้อย ไม่ได้ตามเป้าเพราะจัดการเลือกตั้งวันเสาร์ว่า เรื่องนี้ตนเคยชี้แจงว่ามีข้อจำกัดที่ข้อกฎหมายที่ต้องเลือกภายใน 45 วัน และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นพบว่ามี 6 จังหวัดที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร จึงทำให้ส่งรายงานผลคะแนนและหีบบัตรเกินเวลา 24 นาฬิกา ของวันที่ 1 ก.พ. ซึ่งสะท้อนว่าสิ่งที่เราได้ตัดสินใจนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะยังอยู่กรอบเวลาเลือกตั้ง45วัน ขณะเดียวกันเราได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งครั้งนี้ก็เกิดเหตุกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตระหว่างส่งหีบบัตร ซึ่งตนขอแสดงความเสียใจและทาง
สำหรับบัตรโหวตโน ที่ไม่เลือกใครนั้น ทาง กกต.ไปตอบแทนประชาชนไม่ได้ แต่ช่องนี้น่าจะเป็นการแสดงความรู้สึกของประชาชนต่อผู้สมัครในเขตนั้นๆ ซึ่งครั้งนี้สมาชิกสภาอบจ.ไม่ผ่านเกณฑ์คะแนนตามที่กฎหมายกำหนด 3 เขต คือ ได้คะแนนเสียงไม่มากกว่าคะแนนที่ไม่เลือกผู้ใด ประกอบด้วย จังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดตรัง อำเภอเมืองตรัง เขตเลือกตั้งที่ 2 และจังหวัดชุมพร อำเภอสวี เขตเลือกตั้งที่ 4 และมีอีก 1 เขต ที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากผู้สมัครถูกตัดสิทธิไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คือ จังหวัดชัยนาท อำเภอวัดสิงห์ เขตเลือกตั้งที่ 1 ดังนั้น ทั้ง 4 จังหวัดนี้ต้องเลือกตั้งใหม่ โดยผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั้ง 4 จังหวัด จะต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายใน 7 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง และดำเนินการรับสมัครใหม่ในเขตเลือกตั้ง และกำหนดวันเลือกตั้งไม่เกิน 45 วัน นับแต่วันที่ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่
นอกจากนี้ ยังพบว่า มี 4-5 จังหวัดที่พบจำนวนบัตรกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์จำนวนไม่ตรงกัน ซึ่งตรงนี้ทางจังหวัดต้องพิจารณาและเสนอมาที่กกต.ว่าสมควรจะให้มีนับคะแนนใหม่ หรือลงคะแนนเลือกตั้งใหม่
ส่วนที่พรรคประชาชนจะเสนอให้มีการนับคะแนนเลือกนายกอบจ.ที่จังหวัดเชียงใหม่ และ สมุทรปรา การ เนื่องจากเห็นว่ามีจำนวนบัตรเสียเยอะ นายแสวงกล่าวว่า เรื่องการนับคะแนนใหม่นั้น มีหลักเกณฑ์อยู่ เช่น ระหว่างการนับคะแนนมีการทักท้วงและมีการทำบันทึกไว้หรือไม่ ซึ่งต้องไปพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์นั้นหรือไม่ ส่วนเรื่องทุจริตการเลือกตั้งทั้งที่ปรากฏทางสื่อช่องทางต่างๆนั้น อยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงาน และล่าสุดจำนวนเรื่องร้องเรียนมี 180 เรื่อง
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.)ได้โพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง“วัดใจ วัดฝีมือกกต. จะกล้าประกาศเลือกตั้งนายกอบจ.จังหวัดไหนบ้าง ที่ไม่โกง” ระบุว่า...วัดใจ วัดฝีมือกกต จะกล้าประกาศเลือกตั้งนายกอบจ.จังหวัดไหนบ้าง ที่ไม่โกง หลักฐานแจกเงินชัดเจนที่จังหวัดมหาสารคาม 1ในตัวอย่าง ทุจริตโกงเลือกตั้ง โจ๋งครึ่มทั่วประเทศแบบนี้
มาตรา17 วรรค2 ของพ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น ระบุว่า “ในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ว่าจะมีผู้ร้องเรียนกล่าวโทษหรือไม่ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการสืบสวนหรือไต่สวนให้แล้วเสร็จและประกาศผลการเลือกตั้ง หรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือดำเนินการอื่นที่จำเป็น แล้วแต่กรณีโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง”
“งานนี้ กกต.ไม่สามารถประกาศรับรองได้แน่นอน 100% กกต.ต้องดำเนินคดีทุจริตอย่างถึงที่สุด ทั้งอาญาและแพ่ง เรียกค่าเสียหายแทนรัฐในการต้องประกาศจัดเลือกตั้งใหม่ และต้องตัดสิทธิ์เลือกตั้งทั้งสองฝ่าย #กกตจะกล้ารับรองมั้ย #ทุจริตโกงเลือกตั้ง #กกตมีไว้ทำไม #ม157”นายสมชาย ระบุทิ้งท้าย
ทางด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ช่องทางคอร์รัปชันใน อบจ. เช่น งบจัดซื้อจัดจ้าง จ้างและแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากร อำนาจอนุญาตอนุมัติ เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ให้เช่า-ให้สัมปทานทรัพยากรในการดูแล อบจ. มีผลประโยชน์ทับซ้อน นำทรัพย์สินราชการไปใช้ส่วนตัว ใช้อิทธิพล ฯลฯ
เหล่านี้คือแรงจูงใจให้เกิดการแย่งชิงอำนาจใน อบจ. ทำอย่างไรจึงจะเกิดความโปร่งใส ให้ประชาชนตรวจสอบ มีส่วนร่วมกำหนดอนาคตของชุมชนและจังหวัด ทำอย่างไรจะได้คนมีความสามารถ รับผิดชอบ และไม่มีประวัติคดโกง มาบริหารจังหวัดของเรามากกว่าทุกวันนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี