‘ปิยบุตร’เลคเชอร์ 3 ข้อเข้าเกณฑ์‘บ้านใหญ่’ ฉะการเมืองเพื่อตนเอง‘โควต้ามุ้ง’
4 กุมภาพันธ์ 2568 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล หัวข้อ “บ้านใหญ่” คืออะไร? ระบุว่า...
“บ้านใหญ่” คืออะไร?
ในช่วงเวลานี้ มีการถกเถียงกันเรื่อง “บ้านใหญ่” กันจำนวนมาก
ฝ่ายหนึ่ง เห็นว่า การเมืองแบบบ้านใหญ่เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองแบบเครือข่ายอุปถัมภ์ เล่นพรรคพวก สืบทอดอำนาจผ่านทางสายโลหิต ส่งผลกระทบต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นและคุณภาพประชาธิปไตย
อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า การเมืองแบบบ้านใหญ่เป็นวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยโดยเฉพาะ การพุ่งเป้าโจมตีบ้านใหญ่ อาจส่งผลให้เกิดการต่อต้านประชาธิปไตย และไม่เคารพเจตจำนงของประชาชน และดูถูกเสียงของประชาชนที่เลือกมา
#ก่อนจะถกเถียงกันในประเด็นดังกล่าว จำเป็นต้องนิยามคำว่า “บ้านใหญ่” เสียก่อน
ใครจะเป็น “บ้านใหญ่” ไม่อาจพิจารณาได้เพียงนามสกุล หรือ สายโลหิต บุคคลไม่สามารถเลือกเกิดได้ว่าจะออกจากครรภ์มารดาของคนนามสกุลใด และมาจากการผสมพันธุ์ระหว่างใครกับใคร หากเราตีขลุมไปหมดว่า คนที่นามสกุลเดียวกันกับนักการเมือง คนที่เป็นลูกหลานนักการเมืองประจำจังหวัด เท่ากับเป็น “บ้านใหญ่” ทั้งหมด ย่อมไม่เป็นธรรม เพราะ คนที่เป็นลูกหลานนักการเมืองอาจมีความประพฤติ อุดมการณ์ แนวคิดต่างกันกับพ่อ แม่ พี่ น้อง หรือนักการเมืองในตระกูลตนเองก็ได้ การใช้วิธีการเหมารวมไปหมดว่า “นามสกุลของนักการเมืองคนหนึ่ง = บ้านใหญ่” แล้ว ย่อมทำให้การวิเคราะห์คลาดเคลื่อน และไม่เกิดความเจริญทางปัญญา แต่ลดทอนการถกเถียงให้เหลือแต่เพียง “มึงด่ากูว่าบ้านใหญ่ มึงก็บ้านใหญ่เหมือนกัน”
#หลักเกณฑ์ในการจัดให้เป็น “บ้านใหญ่” มี 3 ประการ
ประการแรก การสร้างฐานทางการเมืองและทำงานทางการเมืองแบบ “แบ่งสัมปทานอำนาจรัฐ”
การเมืองแบบแบ่งสัมปทานอำนาจรัฐ คือ การใช้เงินของครอบครัวตนเอง การใช้อำนาจ อิทธิพล เครือข่ายของตนเอง เข้าไปดูแลประชาชนในพื้นที่เลือกตั้ง (เช่น ทำบุญ บริจาค แจกสิ่งของ จัดบริการสาธารณะให้เอง โดยไม่ผ่านอำนาจรัฐ ไม่รอหน่วยงาน ไม่ใช้งบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น) หรือใช้อิทธิพลของตนในการทำให้คนที่อยู่ในเครือข่ายตนเองได้เปรียบ (เช่น ฝากเข้าโรงเรียน แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ อำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ เลี้ยงดูเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ เลี้ยงดูหัวคะแนน เป็นต้น) จนสร้างเครือข่าย อิทธิพล และเกิดเป็น “หนี้บุญคุณ” ต่อกัน
ทั้งหมด เพื่อหวังผลตอบแทนกลับมา คือ การได้รับเลือกตั้งหรือเข้าไปดำรงตำแหน่งแบบ “ผูกขาด” เมื่อมีโอกาสบริหารราชการแผ่นดินและใช้งบประมาณแผ่นดิน ก็จะหาวิธีการเบียดบังเอางบประมาณเหล่านั้นเข้ากระเป๋าตนเอง สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับตระกูลตนเอง และแบ่งเอาเงินและทรัพยากรเหล่านั้นบางส่วนมาเป็น “ทุน” ในการทำการเมืองต่อไป วนเวียนแบบนี้เป็นวัฏจักรซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนฝังรากลึกลงไป
ประการที่สอง การถ่ายโอนอำนาจการเมืองผ่านการสืบทอดทางสายโลหิต
การคัดเลือกคนไปดำรงตำแหน่งหรือลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ได้พิจารณาจากความรู้ความสามารถ ไม่ได้พิจารณาจากแนวคิด ไม่ได้พิจารณาจากการคัดสรรตามกระบวนการของพรรคที่เปิดโอกาสให้คนอื่นได้เข้าแข่งขัน แต่คิดจากสายโลหิต เหมือนเป็นธุรกิจหรือกงสีในครอบครัว อาจมีคนเข้ามาทำงาน มีมืออาชีพมาช่วยบริหาร แต่เจ้าของต้องเป็นคนในตระกูลตนเอง การดำรงตำแหน่งใหญ่ต้องเป็นคนของตระกูลตนเอง
จริงอยู่ ในบางตำแหน่ง ระบบการเลือกตั้งจะบังคับว่า ต่อให้ “บ้านใหญ่” ส่งคนในบ้าน คนในสายโลหิตตนเอง มาลง ก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งโดยอัตโนมัติ แต่เขาต้องชนะเลือกตั้งให้ได้เสียก่อน แต่ทว่าการทำการเมืองแบบ้านใหญ่ที่มุ่งสร้างอิทธิพลเครือข่ายในพื้นที่ ก็จะเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้บ้านใหญ่ส่งคนในครอบครัวตนเองมาลง ก็ย่อมมีโอกาสชนะ
การใช้วิธีการสืบสายโลหิตแบบนี้ คือ การเอาเรื่อง “ครอบครัว” ซึ่งเป็นแดนเอกชน มาปะปนกับเรื่อง “การเมือง”
แทนที่การเมืองซึ่งเป็นเรื่องส่วนรวม ตัดสินใจร่วมกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม/ส่วนใหญ่ การบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งต้องเป็นเรื่องส่วนรวม ก็จะมีเรื่องส่วนตัว เข้ามาเป็นมูลเหตุจูงใจในการตัดสินใจ
การทำโครงการของส่วนรวม แทนที่จะคิดว่าส่วนรวมได้อะไร ก็ต้องคิดว่าครอบครัวตนได้อะไรบ้าง หรือถ้าส่วนรวมได้ด้วย ครอบครัวตนเองก็ต้องได้ด้วย
ในการบริหารราชการแผ่นดินหรือการทำงานการเมือง หัวหน้าบ้านใหญ่ก็ต้องคอยคิดว่าลูกหลานของตนคนไหนที่เรียนจบแล้ว อายุถึงเกณฑ์แล้ว ควรเข้ามารับไม้ต่อ เข้าครองอำนาจโดยไม่ต้องพิสูจน์ผลงาน แซงคิวคนจำนวนมากที่อุทิศตนทำงานมาก่อน และคนในเครือข่ายทุกคน ต่อให้เก่งมาจากไหน ก็ต้องเคารพ สวามิภักดิ์ “ทายาทผู้สืบสันดาน” อย่างราบคาบ เพียงเพราะว่า คนที่เป็นทายาทมี “ตราประจำตระกูล”
ประการที่สาม การสวามิภักดิ์อำนาจนิยมที่อยู่เหนือกว่าตนเอง
การเมืองแบบบ้านใหญ่ต้องการสร้างอิทธิพลและบารมีในอาณาเขตของตนเอง เช่น ในจังหวัด หรือในหลายจังหวัดใกล้เคียงกัน แต่จะไม่ท้าทายกับอำนาจที่อยู่เหนือกว่าตนเอง พวกเขาตีกรอบแดนอาณาเขตไว้ ไม่ยุ่งกับแดนอื่น และป้องกันไม่ให้คนอื่น กลุ่มอื่น มารุกล้ำแดนตนเอง หากตนเองเป็นบ้านใหญ่ในจังหวัดตนเอง ก็ไม่ไปยุ่งกับจังหวัดอื่น พวกเขาต้องสวามิภักดิ์กับ “ลูกพี่” ที่มีอำนาจคุมโซนพื้นที่ในหลายจังหวัด และสวามิภักดิ์ต่อกับอำนาจที่เหนือกว่าเป็นลำดับชั้นขึ้นไป จากบ้านใหญ่ประจำจังหวัด ไปสู่ลูกพี่ใหญ่ที่คุมโซนหลายจังหวัด ไปถึงหัวหน้ามุ้งการเมืองผู้สนับสนุนทุนและแจกเงินเดือน ดูแลลูกมุ้ง ไปจนถึงรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนมุ้ง มาตามโควต้ามุ้ง
อาจมีกรณี “บ้านใหญ่” ท้าทายอำนาจที่อยู่เหนือกว่าตนเองอยู่บ้าง หากบ้านใหญ่หลังนั้นคิดแล้วว่าอำนาจที่อยู่เหนือกว่าตนเองเริ่มเสื่อมถอยลงไป จนตนเองน่าจะท้าชิงล้มอำนาจเดิมได้ เมื่อโค่นล้มอำนาจเดิมได้ ก็สถาปนาบ้านใหญ่ตนเองขึ้นควบคุมอาณาเขตที่กว้างกว่าเดิมออกไป และควบคุมมิให้บ้านใหญ่อื่นต่อต้าน ท้าทาย
ในส่วนของการเมืองระดับชาตินั้น แกนนำพรรคหรือเจ้าของพรรคที่อาศัยพลังของบ้านใหญ่หลายๆบ้านรวมกันเป็นตัวเลขจำนวน ส.ส. สนับสนุนให้ตนเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องมีวิธีบริหารจัดการบ้านใหญ่เหล่านี้ ผ่านทั้งพระเดชและพระคุณ นายกรัฐมนตรีที่อาศัยพลังของบ้านใหญ่ ต้องจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้กับบ้านใหญ่ตามสมควร ถ้าจัดสรรกันได้ลงตัว แบ่ง “สัมปทาน” การทำมาหากินในกระทรวงต่างๆได้ลงตัว ก็แดนใครแดนมัน ไม่ยุ่งต่อกัน บรรดาบ้านใหญ่ต่างๆ ก็พร้อมสวามิภักดิ์นายกรัฐมนตรีคนนั้นต่อไป
อัตราความสวามิภักดิ์ของบ้านใหญ่ต่อนายกรัฐมนตรี ผกผันตามคุณลักษณะและสถานะของนายกรัฐมนตรีแต่ละคนด้วย ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้รับความนิยมสูง มีกระแสสนับสนุนจากประชาชนมาก มีภาวะผู้นำสูง สถานะเข้มแข็ง อำนาจต่อรองของบ้านใหญ่ก็ลดน้อยถอยลง เพราะ บ้านใหญ่ต้องใช้ “ยี่ห้อ” ของนายกรัฐมนตรีและพรรค ในการลงสนามเลือกตั้ง และการอยู่ร่วมชายคา “ยี่ห้อ” เดียวกัน ก็มีโอกาสได้รับโควต้ารัฐมนตรี
แต่ถ้าเมื่อไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีกระแสตก คนไม่นิยม ถูกกลไกนิติสงครามปิดล้อม ไม่สามารถทะยานเป็นนายกรัฐมนตรีเข้มแข็งได้แบบเดิม ถูกอำนาจนอกระบบรัฐประหาร ล้มรัฐบาล หรือกองทัพ/คณะรัฐประหาร เข้ามามีบทบาทควบคุมการเมืองและการเลือกตั้ง หากสถานการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น เหล่าบรรดาบ้านใหญ่ ก็พร้อมละทิ้งค่ายที่ตนเคยสังกัด และหันไป “จิ้มก้อง/สวามิภักดิ์” กลุ่มอำนาจใหม่แทน
กล่าวให้ถึงที่สุด บ้านใหญ่ทั้งหลายจะสวามิภักดิ์อำนาจนิยมที่เหนือกว่าตนเอง ตราบเท่าที่กลุ่มอำนาจนิยมนั้นยังเรืองอำนาจและให้คุณให้โทษบ้านใหญ่ได้
ดังนั้น การเมืองแบบบ้านใหญ่จึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของการต่อสู้เพื่อบ้านใหญ่ ต่อสู้เพื่อตนเอง เพื่อให้บ้านใหญ่มีอำนาจ มีโอกาสแสวงหาอำนาจ แสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจการเมือง รักษาอำนาจความเป็นบ้านใหญ่ต่อไป มากกว่าการต่อสู้เพื่อประชาชน พัฒนาคุณภาพการเมือง หรือประชาธิปไตย
จึงไม่น่าแปลกใจว่า เราหา “บ้านใหญ่” ที่สู้กับรัฐประหาร สู้กับอำนาจนอกระบบ สู้เพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ปฏิรูประบบศาล กองทัพ องค์กรอิสระให้ดีขึ้น ได้ยาก อาจมีอยู่บ้าง ที่เคยสู้ แต่แล้วก็คิดได้ว่า สู้กับพวกเขาไปก็เท่านั้น สู้เป็นพวกกับเขาจะดีเสียกว่า
ไม่มีทางที่การเมืองแบบบ้านใหญ่จะเกิดจิตสำนึกเปลี่ยนแปลงแบบก้าวหน้าได้ด้วยตนเอง ตราบใดที่พวกเขายังได้ประโยชน์จากโครงสร้างอำนาจแบบนี้
ต่อให้พวกเขาฉุกคิดได้ ก็เป็นเพียงแค่ฉุกคิดชั่ววูบชั่วคราว บ่นคุยกันตามวงข้าววงเหล้า แต่ให้เปลี่ยนเอง พวกเขาไม่ทำ
มีแต่ต้องอาศัยพลังใหม่เปลี่ยนแปลง เข้ายึดกุมสังคมและประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ จนบีบบ้านใหญ่ให้เข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลง ////-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี