วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2568) เวลา 10.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติโอนที่ราชพัสดุที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ในท้องที่ตำบลดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ให้แก่นางมี รักเสมอวงศ์ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติโอนที่ราชพัสดุที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ในท้องที่ตำบลดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ให้แก่นางมี รักเสมอวงศ์ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติโอนที่ราชพัสดุที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินฯ ที่กระทรวงการคลังเสนอ คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว (เรื่องเสร็จที่ 866/2566) โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้โอนที่ราชพัสดุที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ แปลงหมายเลขทะเบียนที่ อด. 2719 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 959 ในท้องที่ตำบลดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เนื้อที่ประมาณ 15 ไร่ 0 งาน 42 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนบ้านป่าเป้าเดิมและปัจจุบันกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ (ที่ราชพัสดุดังกล่าวมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนอีกต่อไปเนื่องจากลักษณะทางกายภาพของที่ดินเป็นถนนลูกรัง น้ำท่วม ถนนถูกกัดเซาะถนนขาด เป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่สะดวกในการคมนาคม) ให้แก่นางมี รักเสมอวงศ์ ซึ่งได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ในปัจจุบัน เพื่อแลกเปลี่ยนกับที่ดินของนางมี รักเสมอวงศ์ ตามหลักฐาน น.ส. 3 ก. เลขที่ 2011 เนื้อที่ 16 ไร่ 0 งาน 00 ตารางวา ซึ่งปัจจุบันทางราชการได้เข้าใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านป่าเป้าแห่งใหม่และได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุไว้เป็นแปลงหมายเลขทะเบียนที่ อด. 1080 แล้ว โดยที่การโอนที่ราชพัสดุที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะให้แก่นางมี รักเสมอวงศ์ เพื่อแลกเปลี่ยนที่ดินกับนางมี รักเสมอวงศ์ ต้องดำเนินการตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 ซึ่งบัญญัติให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ได้รังวัดตรวจสอบเนื้อที่ของที่ราชพัสดุที่จะโอนโดยสำนักงานที่ดินจังหวัดอุดรธานีซึ่งกรมการปกครองได้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของท้องที่การปกครองและแนวเขตการปกครองเรียบร้อยแล้ว ประกอบกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการเห็นชอบด้วย
2. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
โดยที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2548 มีผลบังคับใช้มาเป็นระยะเวลา 19 ปีแล้ว และปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับคดีตามคําพิพากษาหรือคําสั่งและอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนั้น ยธ. จึงได้ยืนยันให้ดําเนินการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว ต่อไปได้ ซึ่งมีสาระสําคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง โดยลดภาระในการจ่ายค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีบางประการที่ไม่จําเป็น เพื่อเป็นการบรรเทา ผลกระทบจากการไม่สามารถชําระหนี้ได้ และยกเลิกอัตราค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนี้
ค่าธรรมเนียม |
กฎหมายปัจจุบัน |
ร่างกฎหมายที่เสนอ |
หมายเหตุ |
1. ขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัด
2. จ่ายเงินที่ยึดหรืออายัดแก่เจ้าหนี้
3. เมื่อยึดทรัพย์สิน ซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย
4. เมื่อยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้ว ไม่มีการขายหรือจำหน่าย
5. ขายโดยวิธีประมูลระหว่างคู่ความ
|
ร้อยละ 3 ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่าย
ร้อยละ 2 ของจำนวน เงินที่ยึดหรืออายัด
ร้อยละ 2 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด
ร้อยละ 1 ของจำนวนเงินที่ยึดหรืออายัดหรือราคาทรัพย์สินที่อายัด
ร้อยละ 2 ของราคาประมูลสูงสุด |
ร้อยละ 2 ของจำนวนเงินที่ขายหรือจำหน่าย
ร้อยละ 1 ของจำนวน เงินที่ยึดหรืออายัด
-ยกเลิก-
-ยกเลิก-
ร้อยละ 1 ของราคาประมูลสูงสุด |
ทั้งนี้ ต้องเสียค่าประกาศและค่าใช้สอยต่างหาก
ส่วนการคำนวณราคาทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัด
|
3. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ
เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ
(ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกา
1. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะเข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ รวม 11 สาขาวิชา ได้แก่ (1) การบัญชี (2) การศึกษา (3) เทคโนโลยี (4) นิติศาสตร์ (5) นิเทศศาสตร์ (6) บริหารธุรกิจ (7) รัฐประศาสนศาสตร์ (8) รัฐศาสตร์ (9) วิทยาศาสตร์ (10) วิศวกรรมศาสตร์ และ (11) ศิลปศาสตร์
2. ต่อมามหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษได้เปิดสอนสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์เพิ่มขึ้น ซึ่งในคราวประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2565) และสำนักงานปลัดกระทรวง อว. รับทราบการให้ความเห็นชอบหลักสูตรดังกล่าวด้วยแล้ว
3. อว. จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อ สำหรับสาขาวิชาครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (ฉบับที่..) พ.ศ. ... เพื่อกำหนดปริญญาในสาขาวิชาและอักษรย่อสำหรับสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ดังนี้
พระราชกฤษฎีกาด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อ สำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 |
ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อสำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... |
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อ สำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559” ฯลฯ มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อ สำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ พ.ศ. 2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อ สำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ฯลฯ
มาตรา 7 สีประจำสาขาวิชา มีดังต่อไปนี้ (1) สาขาวิชาการบัญชี สีแดง (2) สาขาวิชาการศึกษา สีฟ้า (3) สาขาวิชาเทคโนโลยี สีม่วง (4) สาขาวิชานิติศาสตร์ สีขาว (5) สาขาวิชานิเทศศาสตร์ สีน้ำเงิน (6) สาขาวิชาบริหารธุรกิจ สีชมพู (7) สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ สีน้ำตาล (8) สาขาวิชารัฐศาสตร์ สีเทา (9) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ สีเหลือง (10) สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สีแดงเลือดหมู (11) สาขาวิชาศิลปศาสตร์ สีแสด”
|
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อ สำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....” ฯลฯ
มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 3 และมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยปริญญาในสาขาวิชา อักษรย่อ สำหรับสาขาวิชา ครุยวิทยฐานะ เข็มวิทยฐานะ และครุยประจำตำแหน่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
ฯลฯ (7) สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มีปริญญาสามชั้น คือ (ก) เอก เรียกว่า “พยาบาลศาสตรดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “พย.ด. ” และ “ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “ปร.ด.” (ข) โท เรียกว่า “พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “พย.ม.” (ค) ตรี เรียกว่า “พยาบาลศาสตรบัณฑิต” ใช้อักษรย่อ “พย.บ.” มาตรา 7 สีประจำสาขาวิชา มีดังต่อไปนี้ (1) สาขาวิชาการบัญชี สีแดง (2) สาขาวิชาการศึกษา สีฟ้า (3) สาขาวิชาเทคโนโลยี สีม่วง (4) สาขาวิชานิติศาสตร์ สีขาว (5) สาขาวิชานิเทศศาสตร์ สีน้ำเงิน (6) สาขาวิชาบริหารธุรกิจ สีชมพู (7) สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ สีทอง (8) สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ สีน้ำตาล (9) สาขาวิชารัฐศาสตร์ สีเทา (10) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ สีเหลือง (11) สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ สีแดงเลือดหมู (12) สาขาวิชาศิลปศาสตร์ สีแสด |
4. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองบัว ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลบ้านจั่น และตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองบัว ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลบ้านจั่น และตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญ
ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองบัวฯ ที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองบัว ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลบ้านจั่น และตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เพื่อสร้างและขยายทางหลวงชนบท ถนนสาย ก 7 ถนนสาย ง 8 และถนนสาย จ ตามโครงการผังเมืองรวมอุดรธานี และถนนต่อเชื่อม เนื่องจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่ตำบลบ้านจั่น ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองบัว และตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2562 ได้สิ้นผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2566 แต่โดยที่กรมทางหลวงชนบทจะขอรับการจัดสรรงบประมาณในการใช้จ่ายค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2569 ทำให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาตามแผนการดำเนินการที่กำหนดไว้ กระทรวงคมนาคมจึงมีความจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด มีกำหนดใช้บังคับ 5 ปี ให้เริ่มต้น เข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืน ภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองบัว ตำบลหนองนาคำ ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลบ้านจั่น และตำบลโนนสูง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานีพ.ศ. .... แล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเสร็จแล้ว
5. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไป รวมทั้งให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญ
ร่างกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ.2563 โดยแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุส่งเสริมวิสาหกิจและการประกอบอาชีพกรณีการส่งเสริมหรือสนับสนุนผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และพัสดุส่งเสริมการผลิตในประเทศให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้แต้มต่อด้านราคาในการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐ แล้วแต่กรณี เพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังขาดศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันกับผู้ประกอบการทั่วไปให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐได้ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. การส่งเสริมวิสาหกิจและการประกอบอาชีพการส่งเสริมหรือสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs |
1) กรณีใช้วิธี e-bidding กับวิธีการคัดเลือกให้หน่วยงานให้แต้มต่อร้อยละ 10 กับ ผู้ประกอบการ SMEs (ประเภท Micro และ Small เท่านั้น) 2) กรณีผู้ประกอบการ SMEs (ประเภท Micro และ Small) มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ จนมีวงเงินสัญญาสะสมตามปีปฏิทิน เมื่อนำมารวมกับราคาที่เสนอในครั้งนี้แล้ว มีมูลค่าเกินกว่าที่กฎกระทรวงฉบับนี้กำหนด (ภาคการผลิต รายได้เกิน 500 ล้านบาท ภาคการค้าและภาคบริการ รายได้เกิน 300 ล้านบาท ) จะไม่ได้รับสิทธิในการได้รับแต้มต่อ 3) กรณีการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินไม่เกินวงเงินตามกฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้าง พัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ทำข้อตกลงเป็นหนังสือ และวงเงินการจัดซื้อ จัดจ้างในการแต่งตั้งผู้ตรวจรับพัสดุ พ.ศ. 2560 (ไม่เกิน 5 แสนบาท) ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณา จัดซื้อจัดจ้าง กับผู้ประกอบการ SMEs ประเภท Micro และ Small เป็นลำดับแรกก่อน |
2. การส่งเสริมพัสดุส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ (หมวด 7/1 พัสดุส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ) |
|
1. แผนการเปรียบเทียบประเด็นหลักเกณฑ์ในการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุส่งเสริมวิสาหกิจและการประกอบอาชีพกรณีการส่งเสริมหรือสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs
เดิม ให้หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ดังนี้ |
ใหม่ ให้หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ดังนี้ |
1. ให้จัดซื้อจัดจ้าง SMEs* ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของงบประมาณ และจัดซื้อจาก SMEs ภายในจังหวัดโดยวิธีการคัดเลือก |
1. ให้แต้มต่อร้อยละ 10 ในการแข่งขันกับ SMEs**ประเภท Micro และ Small ในกรณีใช้วิธี e bidding และวิธีการคัดเลือก |
2. ในกรณีใช้วิธี e-biding ให้แต้มต่อร้อยละ 10 กับ SMEs |
2. กรณี SMEs ประเภท Micro และ Small มีวงเงินสัญญาสะสมตามปีปฏิทินไม่เกินที่กฎกระทรวงกำหนด (ภาคการผลิต รายได้เกิน 500 ล้านบาท และภาคการค้าและการบริการ รายได้เกิน 300 ล้านบาท จะไม่ได้รับแต้มต่อ) |
*SMEs ตามกฎกระทรวงฉบับนี้ให้หมายความรวมถึง
|
3.กรณีจัดซื้อจัดจ้างวงเงินไม่เกินที่กฎกระทรวงกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีการเฉพาะเจาะจง (ไม่เกิน 5 แสนบาท) ให้จัดซื้อจัดจ้างกับ SMEs ประเภท Micro และ Small เป็นลำดับแรกก่อน |
** SMEs ตามร่างฯ ฉบับนี้ SMEs หมายถึงประเภท
Micro และ Small เท่านั้น
2. แผนภาพเปรียบเทียบประเด็นพัสดุส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ
|
เดิม |
ใหม่ |
คำนิยาม |
กำหนดนิยามคำว่า “พัสดุส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ” หมายความว่า พัสดุที่ได้รับรองและออกเครื่องหมายสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand) และกำหนดให้พัสดุส่งเสริมการผลิตภายในประเทศที่ได้ขึ้นบัญชีไว้กับสภาอุตสาหกรรมฯ เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน |
แก้ไขนิยามเป็นคำว่า “พัสดุที่ผลิตในประเทศ”หมายความว่า พัสดุที่ผลิตและจำหน่ายภายในประเทศและกำหนดให้พัสดุที่ผลิตในประเทศเป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน |
สิทธิในการได้แต้มต่อ |
ไม่มีการให้แต้มต่อสำหรับพัสดุส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ |
1.กรณีจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธี e-bidding และวิธีการคัดเลือกหากผู้ยื่นข้อเสนอ (ผู้ประกอบการทั่วไป) ได้เสนอพัสดุที่ผลิตภายในประเทศและได้รับการรับรองและออกเครื่องหมายสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (Made in Thailand) จากสภาอุตสาหกรรมฯให้ผู้เสนอราคารายนั้นได้แต้มต่อร้อยละ 5 2. หากเป็นกรณีตามข้อ 1.แต่ผู้ยื่นข้อเสนอเป็น SMEs ประเภท Micro ให้ SMEs รายนั้นได้แต้มต่อไม่เกินร้อยละ 15 |
6. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และให้ส่งสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วยแล้วดําเนินการต่อไปได้ รวมทั้ง ให้ พน. รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุขและสํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1. โดยที่กฎกระทรวงสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 ต่อมาเมื่อได้ใช้บังคับกฎกระทรวงดังกล่าวไประยะหนึ่ง พบว่ายังขาดบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการติดตั้ง ถัง ท่อ อุปกรณ์หรือเครื่องมือต่าง ๆ และระบบท่อก๊าซธรรมชาติที่เกี่ยวข้องภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ การจัดทําแผนระงับเหตุฉุกเฉิน การซ้อมแผนระงับเหตุฉุกเฉิน และการรายงานการเกิดอุบัติเหตุกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและทําให้ถัง ท่อ อุปกรณ์และเครื่องต่าง ๆ และระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ชํารุดเสียหายจนเป็นผลให้ก๊าซธรรมชาติรั่วไหลหรือเกิดเหตุเพลิงไหม้
2. พน. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงสถานีก๊าซธรรมชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขปัญหาตามข้อ 1 โดยมีสาระสําคัญ สรุปได้ดังนี้
2.1 แก้ไขเพิ่มเติมโดยให้อํานาจรัฐมนตรีสามารถออกประกาศเกี่ยวกับการกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องมาตรฐานการติดตั้งและเชื่อมต่อระบบของถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติอัด ถังเก็บและจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง (เดิมกําหนดมาตรฐานไว้ในกฎกระทรวง หรือกำหนดตามมาตรฐานอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด)
2.2 แก้ไขเพิ่มเติมโดยให้อํานาจรัฐมนตรีสามารถออกประกาศเกี่ยวกับการกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องมาตรฐานการวางระบบท่อก๊าซธรรมชาติ (เดิมกําหนดมาตรฐานไว้ในกฎกระทรวง หรือกําหนดตามมาตรฐานอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด)
2.3 เพิ่มการจัดทําแผนระงับเหตุฉุกเฉิน การฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง การจัดทํารายงานการฝึกซ้อมแผนระงับเหตุฉุกเฉินพร้อมทั้งจัดส่งแผนระงับเหตุฉุกเฉินและรายงานการฝึกซ้อมดังกล่าวให้กับกรมธุรกิจพลังงาน โดยสามารถจัดส่งแผนระงับเหตุฉุกเฉิน และรายงานการฝึกซ้อมในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้
2.4 เพิ่มเติมโดยให้อํานาจรัฐมนตรีสามารถออกประกาศเกี่ยวกับการกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุและทําให้ถัง ท่อ อุปกรณ์ และเครื่องมือต่าง ๆ ชํารุด เสียหายจนเป็นผลให้ก๊าซธรรมชาติรั่วไหลหรือเกิดเหตุเพลิงไหม้
2.5 เพิ่มการจัดให้มีระบบการจัดเก็บเอกสาร พร้อมแบบก่อสร้าง และรายการคํานวณความมั่นคงแข็งแรง หลักฐานการทดสอบและตรวจสอบ และรายงานผลการทดสอบและตรวจสอบเกี่ยวกับสถานีบริการก๊าซธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ให้สามารถตรวจสอบค้นหาหลักฐานเรื่องเดิมได้โดยง่ายและรวดเร็วตลอดระยะเวลาที่ได้รับใบอนุญาต โดยสามารถจัดเก็บเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เอกสารได้
3. ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะทําให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบค้นหาหลักฐาน
เรื่องเดิมได้โดยง่ายและรวดเร็วตลอดระยะเวลาที่ได้รับใบอนุญาต ทําให้การประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติได้รับการป้องกันหรือระงับเหตุเดือดร้อนรําคาญ หรือความเสียหายหรืออันตรายที่จะมีผลกระทบต่อบุคคล สัตว์ ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากการประกอบกิจการ โดยผู้ที่ประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ผู้ทดสอบและตรวจสอบ วิศวกรออกแบบ รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติทั้งหมด มีภาระหน้าที่ที่ต้องดําเนินการตามกฎกระทรวงดังกล่าว
7. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 86) พ.ศ. 2541 พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 86) พ.ศ. 2541 พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการตรวจสอบ
ร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ โดยให้กระทรวงพาณิชย์แก้ไขการระบุวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้เป็นปัจจุบัน และให้ดําเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 86) พ.ศ. 2541 พ.ศ. .... ที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 และคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ตรวจพิจารณาแล้ว มีสาระสําคัญ เป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 86) พ.ศ. 2541 (ถ่านหิน) ซึ่งกําหนดให้ถ่านหินทุกชนิดที่เป็นก้อน ผง หรืออัดเป็นก้อนที่มีถิ่นกําเนิด ในราชอาณาจักร เป็นสินค้าที่ห้ามส่งออกไปนอกราชอาณาจักร และอนุญาตให้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเฉพาะกรณีเป็นถ่านหินที่นําเข้ามาจากต่างประเทศแล้วส่งกลับออกไปในลักษณะเดิม หรือนําเข้ามาแปรรูปในประเทศแล้วส่งออกไปนอกราชอาณาจักร เนื่องจากปัจจุบันเพื่อความมั่นคง ด้านพลังงานภายในประเทศได้มีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กําหนดชนิดและสภาพแร่ ที่ห้ามส่งออกนอกราชอาณาจักรหรือเขตไหล่ทวีป พ.ศ. 2564 โดยกําหนดมาตรการห้ามส่งออก ถ่านหินที่มีถิ่นกําเนิดในราชอาณาจักร และเขตไหล่ทวีปออกนอกราชอาณาจักรหรือเขตไหล่ทวีปไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ประกอบกับถ่านหินที่ผลิตในประเทศไม่เพียงพอและมีการนําเข้าเป็นจํานวนมากจึงไม่มีความจําเป็นต้องควบคุมการนําเข้าส่งออกถ่านหินที่นําเข้ามาจากต่างประเทศ จึงสมควรยกเลิกประกาศพาณิชย์ดังกล่าว เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการบังคับใช้กฎหมายในส่วนของถ่านหิน ที่มีถิ่นกําเนิดในราชอาณาจักร และให้ถ่านหินที่นําเข้ามาจากต่างประเทศแล้วส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องขออนุญาตตามประกาศกระทรวงพาณิชย์แล้ว โดยใช้ใบขนสินค้าขาเข้าแทนใบอนุญาตส่งออก เพื่อเป็นการอํานวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ รวมทั้งป้องกันการส่งออก ถ่านหินที่มีถิ่นกําเนิดในราชอาณาจักร ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง และกระทรวงอุตสาหกรรม เห็นด้วย/ไม่ขัดข้องในหลักการของร่างประกาศดังกล่าว ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์ได้ดําเนินการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว
8. เรื่องร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ยางรถใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือขออนุญาตและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ยางรถใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือขออนุญาตและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วยแล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญ
1.ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ยางรถใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามฯ เป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ยางรถที่ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2556 เพื่อปรับปรุงมาตรการควบคุมการนำเข้ายางรถที่ใช้แล้ว (จากเดิมที่กำหนดให้ยางชนิดที่ใช้กับรถบัสหรือรถบรรทุกตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 4012.12.10 และ 4012.12.90 เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้า) โดยยกเลิกการควบคุมการนำเข้ายางรถที่ใช้งานแล้วหรือยางรถที่หล่อดอกใหม่ รวมถึงเศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นยางรถชนิดที่ใช้กับรถบัสหรือรถบรรทุก ตามพิกัดอัตราศุลกากร 4012.12.10 และ 4012.12.90 เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำสำหรับยานยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วงต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2564 ของกระทรวงอุตสาหกรรม (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) และปรับปรุงการอ้างอิงพิกัดอัตราศุลกากรเพื่อความชัดเจนในการดำเนินพิธีการศุลกากร รวมทั้งปรับปรุงข้อยกเว้นการนำเข้ายางรถที่ใช้แล้วให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น เพื่อการศึกษาวิจัยหรือเป็นตัวอย่างในปริมาณไม่เกิน 10 เส้น หรือกรณีเป็นเศษยางในปริมาณไม่เกิน 20 กิโลกรัม เพื่อการแข่งขันรถในปริมาณเท่าที่จำเป็น โดยมีหนังสือรับรองจากการกีฬาแห่งประเทศไทยแสดงต่อกรมศุลกากรประกอบการนำเข้าในราชอาณาจักร เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
2. ร่างประกาศฯ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ยางรถที่ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามหรือต้องขออนุญาตและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2556 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
ประกาศ พณ. ฯ ปี 2556 |
ร่างประกาศ พณ. ฯ |
1. มาตรการควบคุมการนำเข้า มี 2 มาตรการ |
1. มาตรการห้ามนำเข้า 1.1 ให้ยางรถที่ใช้แล้วดังต่อไปนี้เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการเข้ามาในราชอาณาจักร 1) ยางชนิดที่ใช้กับรถยนต์นั่ง (รวมถึง สเตชันแวกอนและรถแข่ง) ตามพิกัดอัตรา ศุลกากรประเภทย่อย 4012.11.00 และ 4012.20.10
2) ยางชนิดที่ใช้กับรถจักรยายนต์ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 4012.19.10 และ 4012.20.40
3) ยางชนิดที่ใช้กับรถจักรยานตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 4012.19.20 และ 4012.20.50
4) เศษ เศษตัดและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นยางของรถใน 1) ถึง 3) ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 4004.00.00
2. มาตรการขออนุญาตนำเข้า ให้ยางรถที่ใช้แล้วชนิดที่ใช้กับรถบัสหรือรถบรรทุกตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 4012.12.10 4012.12.90 (ยางรถที่หล่อดอกใหม่ชนิดที่ใช้กับรถบัสหรือรถบรรทุก) 4012.20.21 และ 4012.20.29 (ยางรถที่ใช้งานแล้วชนิดที่ใช้กับรถบัสหรือรถบรรทุก) เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยการนำสินค้าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรต้องเป็นการนำเข้ามาเพื่อการหล่อดอก แล้วส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเท่านั้น
|
1. มาตรการห้ามนำเข้า 1.1 ให้สินค้าดังต่อไปนี้ เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร 1) ยางรถที่หล่อดอกใหม่หรือยางรถที่ใช้งานแล้วชนิดที่ใช้กับรถยนต์นั่ง (รวมถึงสเตชันแวกอนและรถแข่ง) ตามพิกัดศุลกากรประเภทย่อย4012.11.00.000 และ 4012.20.10.000
2) ยางรถที่หล่อดอกใหม่หรือยางรถที่ใช้งานแล้วชนิดที่ใช้กับรถจักรยานยนต์ตามพิกัดศุลกากร ประเภทย่อย 4012.19.49.000 และ 4012.20.40.000
3) ยางรถที่หล่อดอกใหม่หรือยางรถที่ใช้งานแล้วชนิดที่ใช้กับรถจักรยานตามพิกัดศุลกากร ประเภทย่อย 4012.19.49.000 และ 4012.20.50.000
4) เศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นยางรถตาม 1) ถึง 3) ตามพิกัดศุลกากรประเภทย่อย 4004.00.00.000 1.2 ให้เศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นยางรถชนิดที่ใช้กับรถบัสหรือรถบรรทุกทั้งที่หล่อดอกใหม่และที่ใช้งานแล้วตามพิกัดศุลกากร ประเภทย่อย 4004.00.00.000 เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
2. มาตรการขออนุญาตนำเข้า ให้ยางรถที่ใช้งานแล้วชนิดที่ใช้กับรถบัสหรือรถบรรทุกตามพิกัดศุลกากร ประเภทย่อย 4012.20.21.000 และ 4012.20.29.000 (ยางรถที่ใช้งานแล้วชนิดที่ใช้กับรถบัสหรือรถบรรทุก) เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตในการนำเข้าในราชอาณาจักร
โดยการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรต้องเป็นการนำเข้าเพื่อการหล่อดอกแล้วส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเท่านั้น |
2. มาตรการจัดระเบียบในการนำเข้า |
|
|
3. ข้อยกเว้น |
1. เพื่อการศึกษาวิจัย 2. เพื่อเป็นตัวอย่าง 3. เพื่อการแข่งขันรถ 4. เพื่อการท่องเที่ยว หรือยางรถที่ยานพาหนะนำติดมา 5. เพื่อใช้กับยานพาหนะนั้น ๆ ในปริมาณเท่าที่จำเป็น |
1. เพื่อการศึกษาวิจัยหรือเพื่อเป็นตัวอย่างในปริมาณไม่เกิน 10 เส้น หรือกรณีเป็นเศษยางในปริมาณไม่เกิน 20 กิโลกรัม 2. เพื่อการท่องเที่ยวในปริมาณไม่เกิน 1 เส้น 3. เพื่อการแข่งขันในปริมาณเท่าที่จำเป็นโดยมีหนังสือรับรองจากการกีฬาแห่งประเทศไทยแสดงต่อกรมศุลกากรประกอบการนำเข้ามาในราชอาณาจักร 4. ยางรถที่รถบรรทุกระหว่างประเทศนำติดมาเพื่อใช้กับรถนั้นในปริมาณไม่เกิน 3 เส้น 5. นอกจาก 1. ถึง 4. กรณีที่เป็นยางรถที่ยานพาหนะนำติดมาเพื่อใช้กับยานพาหนะนั้น ๆ ในปริมาณไม่เกิน 1 เส้น |
9. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาด้วยแล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงพาณิชย์รับความเห็นของกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญ
1. ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงรายการสินค้าขยะอิเล็กทรอนิกส์* และพิกัดอัตราศุลกากร ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 มีสาระสำคัญ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
1. กำหนดวันที่มีผลใช้บังคับ |
• ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป |
2. กำหนดยกเลิกประกาศ |
• ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาจักร พ.ศ. 2563 |
3. กำหนดนิยาม |
• “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ (ไม่รวมเศษจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า) ที่มีส่วนประกอบ ซึ่งได้แก่ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าและแบตเตอรี่อื่น ๆ สวิตช์ที่มีปรอทเป็นองค์ประกอบในการทำงาน เศษแก้วจากหลอดรังสีแคโทดและแอกติเวเต็ดกลาสอื่น ๆ ตัวเก็บประจุไฟฟ้าที่มีสารพีซีบีหรือที่ปนเปื้อนด้วยแคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โพลิคลอริเนเต็ดไบฟีนิล |
4. กำหนดมาตรการห้ามนำเข้า |
• ให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามพิกัดศุลกากรตอนที่ 84 และ ตอนที่ 85เฉพาะรหัสสถิติ 899 ตามบัญชีท้ายประกาศนี้ เป็นสินค้าที่ต้องห้าม |
2. ร่างประกาศในเรื่องนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์และผลกระทบ เช่น การห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ จะช่วยลดปริมาณของเสียที่นำเข้ามากำจัดภายในประเทศ รวมทั้งช่วยลดมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน
10. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบ ธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. โดยที่ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินใน Financial Hub ของหลายประเทศอาจเผชิญปัญหาค่าเช่าและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน มีแรงจูงใจที่จะย้ายสำนักงานออกจากพื้นที่เดิมและมองหาพื้นที่ใหม่ที่ต้นทุนการทำธุรกิจไม่สูงจนเกินไป ประกอบกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน2567 ได้มีนโยบายที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) ซึ่งประเทศไทยมีปัจจัยที่สามารถดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศ เช่น ค่าครองชีพที่ต่ำกว่า ทักษะแรงงานไทย โครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินไทยที่พัฒนามากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Financial Hub จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะสามารถดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศได้ โดยการผลักดันการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความเป็นสากล โปร่งใส และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจ
2. กระทรวงการคลังจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกและดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินจากต่างประเทศให้มาประกอบธุรกิจในไทย อันจะช่วยพัฒนาระบบนิเวศของอุตสาหกรรมการเงินและพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานให้สอดรับกับความต้องการของบริษัทด้านการเงินระดับโลก ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 กำหนดแนวทางการจัดตั้งศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Financial Hub) ในเขตพื้นที่ที่จะมีการกำหนดขึ้น โดยผู้ประกอบการที่จะเข้ามาประกอบการใน Financial Hub จะต้องให้บริการเฉพาะในธุรกิจเป้าหมายที่กำหนด และให้บริการเฉพาะผู้ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (non-residents) เท่านั้น ยกเว้นการให้บริการเป็นตัวแทนนายหน้า ค้า จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการไทยในลักษณะธุรกิจต่อธุรกิจ (Business to Business) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย หรือสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศ และต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด
2.2 กำหนดให้มีคณะกรรมการฯ เป็นผู้กำหนดนโยบาย แนวทางการส่งเสริมและกำกับดูแลผู้ประกอบการธุรกิจเป้าหมาย และให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่เป็นส่วนราชการ เพื่อกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายใน Financial Hub โดยคำนึงถึงเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจหรือระบบการเงินของประเทศ รวมทั้งกำหนดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายใน Financial Hub เช่น สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด โดยได้รับยกเว้นจากการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด สิทธิในการนำคนต่างด้าว (ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญใด ๆ ที่คณะกรรมการฯ กำหนด ผู้บริหารหรือผู้ชำนาญการ และคู่สมรสและบุคคลซึ่งอยู่ในอุปการะของบุคคลดังกล่าว) เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรได้ตามจำนวนและระยะเวลาที่สำนักงานฯ อนุญาต โดยให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และมีสิทธิทำงานในตำแหน่งหน้าที่การทำงานที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนด โดยไม่ต้องได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (แต่ต้องได้รับใบอนุญาตเป็นหนังสือจากสำนักงานฯ) สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยได้รับยกเว้นการขออนุญาตหรือขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และสิทธิประโยชน์อื่น โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจ ที่เลิก ควบ หรือโอนการประกอบธุรกิจเป้าหมายยังคงได้รับสิทธิและประโยชน์ใด ๆ ต่อไปอีกไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันเลิก ควบ หรือโอนการประกอบธุรกิจ
2.3 กำหนดบทกำหนดโทษทางอาญาและมาตรการปรับเป็นพินัย ทั้งนี้ ในวาระเริ่มแรกให้รัฐบาลจัดสรรทุนประเดิมให้สำนักงานฯ ตามความจำเป็นซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่าในระยะ 3 ปีแรก เป็นจำนวน 300 ล้านบาท และอัตรากำลัง ที่ต้องใช้ในสำนักงานฯ จำนวน 50 อัตรา
3. กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นประกอบการจัดทำร่างกฎหมายตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2567 - 9 มกราคม 2568 (รวม 16 วัน) และเปิดเผยสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย โดยจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายตามแนวทางมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (www.fpo.go.th) และระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) ให้ประชาชนได้รับทราบแล้วรวมทั้งได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... รวมจำนวน 22 ฉบับ มาด้วยแล้ว
4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สำนักงบประมาณ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเห็นชอบ/ไม่ขัดข้องในหลักการ
เศรษฐกิจ – สังคม
11. เรื่อง ขออนุมัติเงินกู้ระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) วงเงิน 1,500 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการกู้เงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4) โดยให้กระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม โดย รฟท. จะดำเนินการกู้เงินได้ภายหลังจากวงเงินกู้ได้รับการบรรจุไว้ในแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่ผ่านความเห็นชอบตามขั้นตอนแล้ว ทั้งนี้ การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมการกู้เงิน ให้ รฟท. พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สำหรับเงินกู้ระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) วงเงิน 1,500 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1.ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม (คค.) โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการกู้เงินระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ รฟท. ใช้ในกรณีที่ขาดเงินทุนหมุนเวียนและเพื่อไม่ให้การดำเนินงานต้องหยุดชะงัก โดยสัญญากู้เงินฉบับล่าสุดจะครบกำหนดในวันที่ 29 มีนาคม 2568 ในครั้งนี้ คค. โดย รฟท. จึงขอเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการกู้เงินระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) วงเงิน 1,500 ล้านบาท ระยะเวลาสัญญาเงินกู้ 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2568 – 29 มีนาคม 2570 โดยกระทรวงการคลัง (กค.) เป็นผู้ค้ำประกัน รวมทั้งพิจารณาวิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เงินกู้ดังกล่าวได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แล้ว
2. กค. สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้วเห็นชอบ และมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น (1) ให้ รฟท. พิจารณาคัดเลือกสถาบันการเงินด้วยวิธีการประมูลวงเงินกู้ระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) (กค.) (2) ให้ รฟท. เร่งรัดการดำเนินการตามแผนวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 (แผนฟื้นฟู รฟท.) (สงป. และ สศช.) (3) ให้ รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเกี่ยวกับการให้รัฐบาลชดเชยผลการขาดทุนรายปีให้แก่ รฟท. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้สะสมและพัฒนาการให้บริการแก่ประชาชนของ รฟท. (กค.)
ต่างประเทศ
12. เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองการลงทุนภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบตามที่คณะกรรมการด้านการคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศ (คณะกรรมการฯ) เสนอ ดังนี้
1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2556 เรื่อง การพิจารณาให้ความเห็นชอบการให้ความคุ้มครองการลงทุนภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับประเทศ ต่าง ๆ
2. เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองการลงทุนภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ (ความตกลงฯ) ตามที่คณะกรรมการฯ เสนอ
3. รับทราบผลการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 - 2566
สาระสำคัญของเรื่อง
เรื่องนี้คณะกรรมการด้านการคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศ (คณะกรรมการฯ) ได้เสนอคณะรัฐมนตรี
1. รับทราบผลการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ประจำปี พ.ศ. 2565 - 2566 ว่า ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเพื่อหาแนวทางปรับปรุงหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2546 (เรื่อง การพิจารณาให้ความเห็นชอบการให้ความคุ้มครองการลงทุนภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ) โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น ไทยได้ส่งร่างความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนฉบับมาตรฐาน ฉบับปี 2563 (Bilateral Investment Treaty Model: BIT Model) ให้แก่ประเทศที่มีรายชื่อในแผนเจรจาความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนจำนวน 15 ประเทศ โดยปัจจุบันมี 4 ประเทศ ได้ตอบรับที่จะหารือเพื่อเจรจาความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนกับประเทศไทย ได้แก่ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล สาธารณรัฐเคนยา ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และประเทศยูเครน
2. พิจารณา รวม 2 ประเด็น คือ (1) ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2556 (2) เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองการลงทุนภายใต้ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ (ความตกลงฯ) เพื่อใช้แทนหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองการลงทุนที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2547 โดยมีสาระสำคัญเป็นการยืนยันหลักการคุ้มครองการลงทุนภายใต้ความตกลงฯ ของไทย (คุ้มครองเฉพาะการลงทุนทางตรง) ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศในภาพรวม ตามนโยบายคุ้มครองการลงทุนของไทยในช่วงที่ผ่านมา และกรอบการเจรจาความตกลงฯ ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 โดยมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ที่สำคัญตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2547 เช่น ประเภทการลงทุนทางตรงที่ได้รับการคุ้มครอง จากเดิม กำหนดไว้ 3 ประเภท คือ 1) การลงทุนที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี หรืออธิบดี ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 2) การลงทุนที่ได้รับบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และ 3) การลงทุนภายใต้สัญญาสัมปทานจากหน่วยงานภาครัฐ เป็น 1) การลงทุนในรูปแบบการประกอบธุรกิจ การประกอบกิจการหรือการลงทุนในรูปแบบอื่นใดที่มิใช่การถือหุ้นที่ได้รับอนุญาตหรือความเห็นชอบตามกฎหมาย ที่กำหนดให้คนต่างด้าวกระทำได้ในประเทศไทย 2) การลงทุนภายใต้สัญญาสัมปทานกับหน่วยงานของรัฐ และ 3) การลงทุนในรูปแบบการถือหุ้นต้องเป็นการถือหุ้นในนิติบุคคลที่มีการลงทุนใน 2 ประเภทข้างต้นหรือเป็นการถือหุ้นในนิติบุคคลไทยอื่น ๆ และต้องเป็นการถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของทุนของนิติบุคคลนั้น ทั้งนี้ หากการลงทุนใดไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะไม่ได้รับความคุ้มครองการลงทุนภายใต้ความตกลงฯ และกำหนดให้ใช้หลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองการลงทุนตามมติคณะรัฐมนตรี (ที่เสนอในครั้งนี้) กับความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างประเทศของประเทศไทย ที่มีผลใช้บังคับแล้ว รวมทั้งสิ้น 47 ความตกลง และความตกลงที่จะจัดทำขึ้นในอนาคต
การปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองการลงทุนภายใต้ความตกลงฯ เพื่อทดแทนหลักเกณฑ์เดิมตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2546 ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (19 สิงหาคม 2546) |
หลักเกณฑ์ (ใหม่) ที่เสนอในครั้งนี้ |
(1) ขอบเขตการลงทุนที่ได้รับการคุ้มครอง |
|
คุ้มครองเฉพาะการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment: FDI) |
คงเดิม
|
(2) ประเภทการลงทุนทางตรงที่ได้รับการคุ้มครอง |
|
1) ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี หรืออธิบดีตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 2) 2ี่เสนอในครั้งนี้เมื่อวันที่ 19 วามตกลง การลงทุนที่ได้รับบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 3) การลงทุนภายใต้สัญญาสัมปทานจากหน่วยงานภาครัฐ
|
1) การลงทุนในรูปแบบการประกอบธุรกิจ การประกอบกิจการหรือการลงทุนในรูปแบบอื่นใดที่มิใช่การถือหุ้นที่ได้รับอนุญาต หรือความเห็นชอบตามกฎหมายที่กำหนดให้คนต่างด้าวกระทำได้ในประเทศไทย หรือตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานของรัฐกำหนดให้คนต่างด้าวกระทำได้โดยไม่ขัดกับกฎหมายไทย (เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และพัฒนาการระหว่างประเทศในเรื่องการจัดทำความตกลงการคุ้มครองการลงทุน) 2) การลงทุนภายใต้สัญญาสัมปทานกับหน่วยงานของรัฐ 3) การลงทุนในรูปแบบการถือหุ้นต้องเป็นการถือหุ้นในนิติบุคคลที่มีการลงทุนตามข้อ 1) หรือข้อ 2) หรือเป็นการถือหุ้นในนิติบุคคลไทยอื่น ๆ และต้องเป็นการถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของทุนของนิติบุคคลนั้น โดยมีหลักฐานแสดงการถือหุ้นดังกล่าว |
(3) ประเภทการลงทุนทางตรงอื่นที่ได้รับการคุ้มครอง |
|
การลงทุนที่ไม่เข้าข่าย 3 ประเภท ดังกล่าวข้างต้นตามมติคณะรัฐมนตรีฯ หรือการลงทุนที่มีขึ้นก่อนหน้าประกาศตามมติคณะรัฐมนตรีฯ มีผลบังคับใช้หากประสงค์จะได้รับการคุ้มครอง จะต้องดำเนินการขอใบรับรอง C.A.P. จากคณะกรรมการ C.A.P. โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะพิจารณาออกใบรับรอง โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา เช่น ผลดีและผลเสียต่อความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ |
หากการลงทุนใดที่ไม่เข้าข่ายตามที่กำหนดในข้อ 2 ข้างต้นจะไม่ได้รับความคุ้มครอง |
(4) กลไกการพิจารณาให้ความคุ้มครอง |
|
คณะกรรมการ C.A.P. พิจารณาให้ความเห็นชอบการให้ความคุ้มครองการลงทุนภายใต้ความตกลงฯ |
ไม่มีกลไกการพิจารณา หากการลงทุนใดไม่เข้าข่ายหลักเกณฑ์ที่กำหนดจะไม่ได้รับความคุ้มครอง |
(5) ขอบเขตการใช้บังคับของหลักเกณฑ์ |
|
ไม่ได้กำหนดไว้
|
ให้ใช้หลักเกณฑ์ที่การให้ความคุ้มครองการลงทุนตามมติคณะรัฐมนตรี (ที่เสนอในครั้งนี้) กับความตกลงที่จะจัดทำขึ้นในอนาคต และความตกลงว่าด้วยการลงทุนระหว่างประเทศของประเทศไทยที่มีผลใช้บังคับแล้ว รวมทั้งสิ้น 47 ฉบับ ดังนี้ 1) ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนระดับทวิภาคี (BIT) ระหว่างประเทศไทยกับประเทศต่าง ๆ จำนวน 36 ฉบับ เช่น ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนและคุ้มครองทรัพย์สินที่ใช้ลงทุน 2) ความตกลงการค้าเสรีและความตกลงว่าด้วยการลงทุนระดับภูมิภาคที่ประเทศไทยเป็นภาคีที่มีข้อบทว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน จำนวน 11 ฉบับ เช่น ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค |
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ แจ้งว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองการลงทุนภายใต้ความตกลงฯ ไม่ใช่การจัดทำสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เข้าข่ายการจัดทำหนังสือสัญญา และไม่มีประเด็นที่จะต้องดำเนินการตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
13. เรื่อง ขออนุมัติการลงนามในพิธีสารว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ กักกันโรค และสุขอนามัยทางสัตว์แพทย์ของผลิตภัณฑ์ประมงที่มาจากการเพราะเลี้ยงส่งออกมายังสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามในพิธีสารว่าด้วยหลักเกณฑ์การตรวจสอบ กักกันโรค และสุขอนามัยทางสัตว์แพทย์ของผลิตภัณฑ์ประมงที่มาจากการเพราะเลี้ยงส่งออกมายังสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ระหว่าง กษ. และสำนักงานศุลกากรจีน (ร่างพิธีสารฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขร่างพิธีสารฯ ในประเด็นที่ไม่ใช่หลักการสำคัญ ขอให้ กษ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างพิธีสารฯ โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers)
(สำนักงานศุลกากรจีนประสงค์ให้มีการลงนามร่างพิธีสารฯ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ในห้วงการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีไทย)
ทั้งนี้ ร่างพิธีสารฯ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามโดยคู่ภาคี และจะมีผลบังคับใช้ต่อไปเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยจะได้รับการขยายเวลาอัตโนมัติทุก 5 ปี ซึ่งภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถสิ้นสุดร่างพิธีสารฯ ได้ โดยการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งการสิ้นสุดจะมีผลบังคับใช้ 6 เดือน นับตั้งแต่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งได้รับหนังสือแจ้งการสิ้นสุดร่างพิธีสารฯ โดยร่างพิธีสารฯ จัดทำเป็นสำเนาจำนวน 2 ฉบับ ในภาษาจีน ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ทุกฉบับมีความถูกต้องเท่าเทียมกัน กรณีมีความแตกต่างในการตีความหมายจะถือข้อความภาษาอังกฤษเป็นหลัก
14. เรื่อง ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรของอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรของอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญ
กษ. รายงานว่า
1. กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Ministry of Agriculture and Rural Affairs: MARA) เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขง ครั้งที่ 3เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ณ นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีรัฐมนตรีเกษตรของประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งหมด 6 ประเทศ (กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และจีน) เข้าร่วมประชุม สรุปได้ ดังนี้
1.1 ที่ประชุมเน้นย้ำถึงความสำคัญในการร่วมมือกันของประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อรับมือกับความท้าทายของสถานการณ์โลกปัจจุบัน อาทิ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไม่มั่นคงทางอาหาร และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม เป็นต้น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารที่ยั่งยืน (Transformation to Agrifood system) จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของเป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยต้องมีการดำเนินการประสานงานกันในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก
1.2 การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและนโยบายในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรอาหาร เพื่อรับมือกับความท้าทายในสถานการณ์โลกปัจจุบัน โดยประเทศไทยมีนโยบายที่ยึดหลักการขับเคลื่อนด้วยตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้โดยใช้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่เน้นการบูรณาการทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ควบคู่ไปกับกับการใช้ทรัพยากรที่ดินและน้ำอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อย สตรี เยาวชน และกลุ่มด้อยโอกาสต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม โดยประเทศไทยมีศักยภาพและยินดีสนับสนุนความร่วมมือกับประเทศสมาชิกของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เกี่ยวกับห้องปฏิบัติการวินิจฉัยโรคสัตว์ การควบคุมโรคระบาดสัตว์ข้ามแดน การจัดการการดื้อยาจุลชีพ เกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงโครงการหมอดินอาสา
1.3 ที่ประชุมได้รับรองกรอบยุทธศาสตร์คุนหมิงสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรอาหาร ภายใต้ GMS 2030 (GMS 2030 Strategy for Transformation of Agri-Food Systems) ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินงานด้านเกษตร เพื่อส่งเสริมการดำเนินงาน และความพร้อมในการรับมือผลกระทบและความท้าทายที่เป็นภัยต่อความยั่งยืน และความสามารถในการฟื้นตัวของระบบเกษตรอาหาร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า และการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร โดยมุ่งเน้นการยกระดับความร่วมมือผ่านการสนับสนุนเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนในอนุภูมิภาค
2. การหารือทวิภาคี กับนาย Zhang Zhili รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและกิจการชนบทสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านวิชาการและโอกาสในการขยายตลาดสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างกัน สรุปได้ ดังนี้
2.1 การส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือด้านเกษตร ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเกษตรไทย - จีน (Sino-Thai Agricultural Technical Cooperation) ที่ผ่านมามีการจัดประชุมร่วมกันมาแล้ว 12 ครั้ง สามารถดำเนินโครงการความร่วมมือร่วมกันมากกว่า 70 โครงการ โดยในครั้งที่ 13ซึ่งจีนเป็นเจ้าภาพ จะเป็นโอกาสในการผลักดันโครงการความร่วมมือด้านการเกษตร อาทิ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เกษตรอัจฉริยะ ระบบตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงการขจัดความยากจนในพื้นที่ชนบท เป็นต้น
2.2 การหารือให้จีนสนับสนุนและผลักดันการพิจารณาการขอยื่นการเปิดตลาดสินค้าเกษตรเพิ่ม จำนวน 6 รายการ โดยจีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตร อันดับ 1 ของไทย มีมูลค่าการส่งออก 11,271 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 42 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด มีสินค้าเกษตรสำคัญ อาทิ ทุเรียน มันสำปะหลัง ยางพารา สำหรับสินค้าผลไม้ที่ไทยส่งออกไปจีนแล้ว มีทั้งสิ้นจำนวน 22 รายการ
2.3 ในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีน คาดว่าจะมีการลงนามพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยอาหาร ด้านการสัตวแพทย์ การปกป้องพืช
เพื่อการส่งออกผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of China: GACC) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกน้ำผึ้งรวมไปถึงนมน้ำผึ้งและเกสรผึ้งไปจีนได้มากขึ้น
15. เรื่อง ผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ (AMCA) ครั้งที่ 11 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองมะละกา มาเลเซีย
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ (Meeting of ASEAN Ministers Responsible for Culture and Arts: AMCA) ครั้งที่ 11 (การประชุม AMCA ครั้งที่ 11) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองมะละกา มาเลเซีย ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ
สาระสำคัญ
วธ. รายงานว่า
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและคณะได้เข้าร่วมการประชุม AMCA ครั้งที่ 11 และการประชุมที่เกี่ยวข้องกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ณ เมืองมะละกา มาเลเซีย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรมแห่งมาเลเซีย ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย รัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะหรือผู้แทน ผู้แทนจากประเทศคู่เจรจา (สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) เลขาธิการอาเซียน และผู้แทนจากติมอร์-เลสเต ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ซึ่งการประชุมมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมทั้งหัวหน้าคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ร่วมรับรองถ้อยแถลงร่วมการประชุม AMCA ครั้งที่ 11 [“เชื่อมโยงวัฒนธรรม สร้างสรรค์อนาคต : เอกภาพบนความหลากหลาย” (Joint Media Statement the 11th Meeting of the ASEAN Ministers Responsible for Culture and Arts “Bridging Cultures, Building Futures : Unity in Diversity”)] (คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2567 ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับ (1) การเน้นย้ำบทบาทสำคัญของวัฒนธรรมและศิลปะในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและครอบคลุมเพื่อส่งเสริมเอกภาพของอาเซียน (2) การส่งต่อวาระการดำรงตำแหน่งประธานรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวแก่มาเลเซีย (3) การนำเสนอแนวคิดการดำรงตำแหน่งประธานรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะของมาเลเซีย รวมทั้งระบุถึงความร่วมมือที่สำคัญ เช่น 1) ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์ในฐานะทรัพยากรสำคัญที่สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาอาเซียน 2) การส่งต่อการเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมอาเซียนจากนครหลวงเวียงจันทน์แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไปยังเมืองมะละกาแห่งมาเลเซีย 3) การเน้นย้ำถึงความสำคัญของปฏิญญาวังเวียงว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจวัฒนธรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้รับการรับรองจากการประชุมสุดยอดอาเซียน เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ 4) ความก้าวหน้าในการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรมและศิลปะของอาเซียน (พ.ศ. 2559 - 2568) และการพัฒนาแผนปฏิบัติการฉบับใหม่ 5) การประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ร่วมกับคณะผู้แทนถาวรสหราชอาณาจักรประจำอาเซียนและผู้แทนบริติช เคานซิล และสถาบันส่งเสริมความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมต่างประเทศแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานระหว่างอาเซียนและสหราชอาณาจักรเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และโอกาสในการสร้างความเติบโตของภาควัฒนธรรมและสร้างสรรค์ในภูมิภาค 6) ความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาภายใต้แผนงานอาเซียนบวกสาม (สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) และมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ซึ่งรวมถึงสหราชอาณาจักร และอิตาลี และ 7) ความคืบหน้าในการดำเนินงาน ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบัญชีรายชื่อมรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน
2. นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้กล่าวถ้อยแถลงระหว่างการประชุม โดยนำเสนอวิสัยทัศน์ผ่านกรอบการดำเนินงานของ วธ . ด้วยแนวคิด “4 นโยบาย 3 แนวทาง 2 รูปแบบ และ 1 เป้าหมาย” เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยเศรษฐกิจวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจทางวัฒนธรรมในประเทศไทยแล้ว ยังมีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมในภูมิภาคอาเซียนในวงกว้าง รวมทั้งให้ความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการยกระดับประเด็นข้อริเริ่มต่าง ๆ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภูมิภาคอาเซียนเพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งครอบคลุมทุกภาคส่วนของภูมิภาค
16. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้านปัญญาประดิษฐ์ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้านปัญญาประดิษฐ์ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมดำเนินการได้โดยการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ และไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้ง อนุมัติให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ
สาระสำคัญ
ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมปัญญาประดิษฐ์ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) และการประยุกต์ใช้ AI แบบบูรณาการระหว่างสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีขั้นสูงของทั้งสองประเทศ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI รวมทั้งการแลกเปลี่ยนและพัฒนานักวิจัย โดยฝ่ายไทยและจีนจะพิจารณามอบหมายหน่วยงานในสังกัดที่มีภารกิจเกี่ยวข้องให้ร่วมจัดตั้งและพัฒนาห้องปฏิบัติการร่วม เพื่อดำเนินกิจกรรมความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน
ประโยชน์และผลกระทบ
การจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ จะเป็นการขยายความร่วมมือไทย - จีนในด้าน AI ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ในการมุ่งพัฒนากำลังคนและเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศบนฐานของ AI เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมทั้งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. 2565-2569) ที่มุ่งกระชับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่ง AI เป็นหนึ่งในสาขาความร่วมมือที่ได้ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการร่วมฯ ตลอดจนสอดคล้องกับแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านความร่วมมือด้านห้องปฏิบัติการร่วม อุทยานวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยของทั้งสองประเทศ
17. เรื่อง ขอความเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับหน่วยงานของสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกับหน่วยงานของสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
(1) ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เกี่ยวกับอุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศโดยรอบของดวงจันทร์ไทย - จีน ภายใต้พันธกิจอวกาศยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ หมายเลข 7
(2) ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การพลังงานปรมาณูแห่งชาติจีนว่าด้วยความร่วมมือ ด้านการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ
ทั้งนี้ ในกรณีที่ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ทั้ง 2 ฉบับ ดังกล่าวข้างต้น มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมดำเนินการได้โดยการหารือกับกระทรวงการต่างประเทศ และไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจ ฯ ทั้ง 2 ฉบับ ตามข้อ 1.
สาระสำคัญ
ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กับหน่วยงานของสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 2 ฉบับ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เกี่ยวกับอุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศโดยรอบของดวงจันทร์ไทย - จีน ภายใต้พันธกิจอวกาศยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ หมายเลข 7 (Memorandum of Understanding between the Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation of the Kingdom of Thailand and the China National Space Administration Concerming the Flight of the Moon Aiming Thai-Chinese Hodoscope (MATCH) Instrument on the Chang’e-7 Lunar Exploration Mission) มีสาระสำคัญในการวางกรอบข้อตกลงและข้อกำหนดสำหรับความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายในการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศโดยรอบของดวงจันทร์ไทย – จีน (Moon Aiming Thai-Chinese Hodoscope : MATCH)
2. ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การพลังงานปรมาณูแห่งชาติจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ (Memorandum of Understanding between the Ministry Higher Education, Science, Research and Innovation of the Kingdom of Thailand and the China Atomic Energy Authority for Cooperation in Peaceful Uses of Nuclear Technology) มีสาระสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในการใช้พลังงานนิวเคลียร์และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติ การพัฒนาความร่วมมือในด้านการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้อง และกำหนดให้มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทั้งสองประเทศ ตลอดจนสนธิสัญญาและพันธกรณีระหว่างประเทศสองฝ่ายเข้าร่วม
ประโยชน์และผลกระทบ
การจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวนี้สอดดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ในการมุ่งพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งการขยายความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีนในด้านเทคโนโลยีอวกาศ และด้านพลังงานและเทคโนโลยีนิวเคลียร์จะส่งผลให้ไทยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้ รวมทั้งเกิดการพัฒนาขีดความสามารถด้านวิจัยและพัฒนากำลังคนในสาขาที่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคต อีกทั้งการจัดทำบันทึกความเข้าใจฯ ทั้ง 2 ฉบับ สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. 2565-2569) ที่มุ่งกระชับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนสอดคล้องกับแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรรษที่ 21 ที่สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านความร่วมมือด้านห้องปฏิบัติการร่วม การแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยของทั้งสองประเทศ
18. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการส่งเสริมด้านการลงทุนในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือการส่งเสริมด้านการลงทุนในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกับกระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ สกพอ. สามารถพิจารณาดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้ง อนุมัติให้เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวของฝ่ายไทย ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เสนอ
สาระสำคัญ
สกพอ.และกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้พิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจฯ และเห็นชอบร่วมกันแล้ว โดยมีสาระสำคัญ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านดิจิทัลภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมทั้งส่งเสริมให้ธุรกิจมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล พัฒนาเครือข่าย และปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานแบบดั้งเดิมอย่างชาญฉลาด ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเพื่อเสริมสร้างความสอดคล้องระหว่างยุทธศาสตร์ นโยบาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งสองฝ่ายและเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพ ระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ คลังสินค้าอัจฉริยะ การแสดงสินค้าทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเสริมสร้างทักษะดิจิทัลและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีระหว่างหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และภาคธุรกิจ เพื่อร่วมกันสร้างพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยและพัฒนา
ประโยชน์และผลกระทบ
การลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับนี้เป็นการเสริมสร้างโอกาสให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพิ่มขึ้นจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ลงทุนต่างชาติที่มีมูลค่าการลงทุนสูงในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยปี 2561 – 2567 มีมูลค่าการออกบัตร การส่งเสริมการลงทุน เป็นมูลค่ารวม 289,951 ล้านบาท นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกจากการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างทั้งสองประเทศในด้านดิจิทัลและนวัตกรรมเทคโนโลยี รวมทั้งยกระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการเติบโตของผู้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
19. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริการไปรษณีย์ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและการไปรษณีย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริการไปรษณีย์ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและการไปรษณีย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการโดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ
สาระสำคัญ
1. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือการแลกเปลี่ยนด้านไปรษณีย์ และการพัฒนาบริการไปรษณีย์ร่วมกันระหว่างสองประเทศ ผ่านการจัดให้มีโครงการแลกเปลี่ยนทางไปรษณีย์ระหว่างสองประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญระหว่างกัน
2. ขอบเขตความร่วมมือภายใต้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ เช่น
(1) การแลกเปลี่ยนด้านไปรษณีย์ระหว่างสองประเทศ
(2) การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าและประสบการณ์ล่าสุดในการปฏิรูปและการพัฒนาอุตสาหกรรมไปรษณีย์ในทั้งสองประเทศ และดำเนินการแลกเปลี่ยนในเรื่องกฎหมายและระเบียบข้อบังคับไปรษณีย์ การวางแผนการพัฒนา การให้บริการสากล ความปลอดภัยทางไปรษณีย์และหัวข้ออื่นๆที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ
(3) เสริมสร้างการสื่อสารและประสานงานในเรื่องสำคัญเกี่ยวกับกิจการไปรษณีย์ระหว่างประเทศภายใต้กรอบของสหภาพสากลไปรษณีย์ (UPU) และสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก (APPU)
(4) ส่งเสริมและสนับสนุนให้การไปรษณีย์ที่ได้รับมอบหมาย (Designated Operators) เข้าร่วมความร่วมมือทางธุรกิจทวิภาคี และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์รูปแบบต่าง ๆ เพื่อขยายขอบเขตและพัฒนาคุณภาพบริการให้ดียิ่งขึ้น และตอบสนองความต้องการของประชาชนทั้งสองประเทศ
ประโยชน์และผลกระทบ
การจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับดังกล่าว จะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านไปรษณีย์ ผ่านโครงการแลกเปลี่ยนด้านไปรษณีย์ระหว่างสองประเทศ โดยการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนการเยือนของเจ้าหน้าที่และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือในด้านการพัฒนาของการให้บริการไปรษณีย์ การแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติ กฎระเบียบ ตลอดจนประสบการณ์ของทั้งสองฝ่าย เพื่อพัฒนาคุณภาพของการบริการไปรษณีย์ของทั้งสองประเทศ
20. เรื่อง การขยายระยะเวลาการต่ออายุใบอนุญาตทำงานของต่างด้าวในลักษณะ MOU ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ เรื่อง การขยายระยะเวลาการต่ออายุใบอนุญาตทำงานของต่างด้าวในลักษณะ MOU ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ซึ่งประกอบด้วยการให้ความเห็นชอบในเรื่องดังต่อไปนี้
1. เห็นชอบแนวทางการขยายระยะเวลาการต่ออายุใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวในลักษณะ MOU ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 และร่างประกาศที่เกี่ยวข้อง รวม 4 ฉบับ ได้แก่
(1) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 (ฉบับที่ ..)
(2) ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 (ฉบับที่ ..)
(3) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติลาวและเวียดนาม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ...
(4) ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษสำหรับคนต่างด้าวสัญชาติลาวและเวียดนาม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ...
2. ให้ รง. โดยกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามแนวทางการขยายระยะเวลาการต่ออายุใบอนุญาตทำงานดังกล่าว และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้นายจ้าง/ผู้ประกอบการ แรงงานต่างด้าว และผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบข้อมูลการดำเนินการดังกล่าวอย่างทั่วถึง
สาระสำคัญของร่างประกาศ
รง. เสนอว่า
1. โดยที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 ในส่วนของการต่ออายุใบอนุญาตทำงานในลักษณะ MOU ของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานตามติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 และเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ซึ่งประกอบด้วยคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 และให้นายจ้างหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศซึ่งได้รับมอบอำนาจจากนายจ้าง ดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว และพาคนต่างด้าวไปขอรับการตรวจลงตราและตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เมื่อดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามที่กำหนดแล้ว คนต่างด้าวจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2570 และสามารถต่ออายุได้อีกครั้งเดียวไม่เกิน 2 ปี ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2572 ซึ่งปัจจุบันคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 มีจำนวนประมาณ 2.4 ล้านคน และมีบางส่วนที่นายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อคนต่างด้าวไว้แล้วประมาณจำนวน 1.2 ล้านคน
2. ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษากำลังแรงงานภายในประเทศไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนซึ่งจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดแนวทางการขยายระยะเวลาการต่ออายุใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวในลักษณะ MOU ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 เพื่อให้คนต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ไม่สามารถดำเนินการขออนุญาตทำงานได้ครบทุกขั้นตอนทันระยะเวลาดังกล่าวให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อขออนุญาตทำงานและดำเนินการต่อไปไปได้ โดยไม่ให้อยู่ในสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการ โดยแยกสัญชาติของคนต่างด้าว เนื่องจากมีความแตกต่างกันของการดำเนินการตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานในส่วนของการรับรองบัญชีรายชื่อ สรุปได้ ดังนี้
(1) คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมา |
|
กลุ่มเป้าหมาย |
• คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมาที่นายจ้างได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
ขั้นตอนการดำเนินการ |
• เร่งรัดให้นายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 • ผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และอนุญาตให้ทำงานเป็นระยะเวลา 6 เดือน ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ถึง 13 สิงหาคม 2568 และดำเนินการ ดังนี้ 1. เมื่อมียื่นการบัญชีรายชื่อฯ แล้วทางการกัมพูชาและเมียนมาจะดำเนินการตามแนวทางของแต่ละประเทศ และตรวจรับรองบัญชีรายชื่อดังกล่าว 2. ภายหลังจากมีการตรวจรับรองบัญชีรายชื่อแล้ว ให้นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว พร้อมเอกสารประกอบคำขอ เช่น แบบบัญชีรายชื่อฯ ที่ผ่านการรับรองแล้ว ใบรับรองแพทย์ หลักฐานการขึ้นทะเบียนประกันสังคม หรือการประกันสุขภาพ รวมถึงชำระค่าธรรมใบอนุญาต 3. นายทะเบียนจะพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานถึงวันที่ 4. สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการตรวจลงตรา |
(2) คนต่างด้าวสัญชาติลาวและเวียดนาม |
|
กลุ่มเป้าหมาย |
• คนต่างด้าวสัญชาติลาวและเวียดนาม |
ขั้นตอนการดำเนินการ
|
• ผ่อนผันให้คนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และอนุญาตให้ทำงานเป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 ถึง 13 พฤษภาคม 2568 และเพื่อให้นายจ้างดำเนินการภายในระยะเวลาดังกล่าว ดังนี้ 1. ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวพร้อมรูปถ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก หรือช่องทางตามที่อธิบดีกรมการจัดหางานกำหนด โดยได้รับการยกเว้นการรับรองบัญชีรายชื่อดังกล่าวจากประเทศต้นทาง (ถ้าไม่ได้ยื่นบัญชีรายชื่อ แรงงานลาว และเวียดนามต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อดำเนินการขออนุญาตใหม่ตามแนวทาง MOU เนื่องจากประเทศต้นทางของคนต่างด้าวกลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์เข้ามาตรวจรับรองบัญชีรายชื่อฯ ในประเทศไทย) 2. ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนต่างด้าว พร้อมเอกสารประกอบคำขอ เช่น แบบบัญชีรายชื่อฯ ใบรับรองแพทย์ หลักฐานการขึ้นทะเบียนประกันสังคม หรือการประกันสุขภาพ รวมถึงชำระค่าธรรมใบอนุญาต 3. นายทะเบียนจะพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2569 4. สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการตรวจลงตรา |
3. ในคราวการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 2/2568 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2568 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกับเรื่องดังกล่าวแล้ว
21. เรื่อง ขออนุมัติดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติให้ดำเนินการโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย) (โครงการฯ ระยะที่ 2) ในกรอบวงเงินงบประมาณเป็นจำนวนเงิน 341,351.42 ล้านบาท โดยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีอำนาจในการปรับปรุงรายละเอียดด้านงบประมาณ ดังนี้
รายละเอียดด้านงบประมาณ |
เงื่อนไข |
1) ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยทรัพย์สิน |
อยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินโครงการ |
2) ค่าควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา |
|
3) ค่าบริหารโครงการและควบคุมงานติดตั้งงานระบบรถไฟ |
|
4) ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ |
|
5) ค่าก่อสร้างงานโยธา |
|
6) ค่าติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกลและจัดหาขบวนรถไฟ |
|
7) รายละเอียดอื่น ๆ ที่สำคัญ |
โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 8 ปี (งบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2575) และให้ดำเนินการจัดจ้างตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
2. ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายปี และ/หรือกระทรวงการคลัง (กค.) จัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ให้ตามความเหมาะสมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทั้งนี้ หากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการโครงการโดยใช้เงินกู้ เห็นควรให้ รฟท. กู้เงินได้ตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4) และให้ สงป. จัดสรรงบประมาณสำหรับชำระคืนต้นเงินกู้ ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินให้ รฟท. ด้วย
3. เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ รฟท. ดำเนินการโครงการควรมีการมอบหมาย ดังนี้
หน่วยงาน |
การมอบหมาย |
1) หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพื้นที่ก่อสร้างของโครงการ |
ดำเนินกระบวนการเกี่ยวกับการอนุญาตใช้พื้นที่ และส่งมอบพื้นที่ให้ รฟท. ภายใน 1 ปี นับจากวันที่ หรือภายในระยะเวลาที่ระเบียบของหน่วยงานหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ |
2) กรมที่ดิน |
การออกเอกสารสิทธิของที่ดินเอกชนที่ถูกเวนคืน ให้ดำเนินกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับจากวันที่พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินประกาศใช้ หรือภายในระยะเวลาที่ระเบียบของหน่วยงานหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ |
3) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค |
มีส่วนเกี่ยวข้องในความรับผิดชอบการขยายเขตไฟฟ้าให้เพียงพอสำหรับโครงการ |
4) รฟท. |
เร่งรัดการนำเสนอรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อให้สามารถดำเนินการสรรหาเอกชนร่วมลงทุนในส่วนการเดินรถช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา และนครราชสีมา – หนองคาย และงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ได้ในช่วงระยะเวลาที่สอดคล้องกับแผนงานก่อสร้างงานโยธาและการเปิดให้บริการ |
22. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แห่งราชอาณาจักรไทยและคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แห่งราชอาณาจักรไทย และคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องปรับปรุงถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการโดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้าน AI ในสาขาต่าง ๆ อาทิ (1) โครงสร้างพื้นฐาน AI (2) เทคโนโลยี AI (3) การส่งเสริมประสิทธิภาพผ่านการใช้ AI ในระดับแอปพลิเคชัน (Empowering through AI Applications) (4) การรับมือความเสี่ยงด้านความปลอดภัย (AI Security Risks) และ (5) การเพิ่มองค์ความรู้ด้าน AI ของประชาชน
2. ขอบเขตความร่วมมือ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะตั้งกลไกการหารือระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นประจำและร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น (1) เสริมสร้างความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน AI (2) เสริมสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยี AI (3) เพิ่มศักยภาพผ่านการประยุกต์ใช้ AI (4) ร่วมกันแก้ไขความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของปัญญาประดิษฐ์และส่งเสริมจริยธรรมและการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ (5) เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับ AI (6) ด้านอื่น ๆ ของความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน
ประโยชน์และผลกระทบ
การจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว จะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านปัญญาประดิษฐ์อย่างครอบคลุม ผ่านการดำเนินกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญทางเทคนิค และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดร่วมกัน ตลอดจนการจัดการฝึกอบรมและสัมมนา และการร่วมมือกันทั้งในเชิงนโยบายและเชิงเทคนิคเพื่อนำไปสู่การพัฒนาด้านปัญญาประดิษฐ์อย่างครอบคลุม รวมถึงเสริมความรู้ความเข้าใจการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้อย่างถูกหลักธรรมาภิบาล ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของทั้งสองประเทศอย่างมั่นคงและปลอดภัย
23. เรื่อง รายงานผลการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ASEAN Labour Ministers’ Meeting: ALMM) ครั้งที่ 28 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และขอความเห็นชอบต่อการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) ของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 28 และร่างถ้อยแถลงร่วม (Joint Statement) ของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 13
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ASEAN Labour Ministers’ Meeting: ALMM) ครั้งที่ 28 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 28 - 31 ตุลาคม 2567 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ (สิงคโปร์)
2. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) ของ ALMM ครั้งที่ 28 (ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ของ ALMM ครั้งที่ 28) และร่างถ้อยแถลงร่วม (Joint Statement) ของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Labour Ministers’ Meeting: ALMM+3) ครั้งที่ 13 (ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ของ ALMM+3 ครั้งที่ 13) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองเอกสารดังกล่าว ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างเอกสารทั้งสองฉบับดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้ รง. ดำเนินการได้ โดยนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ประเทศไทย (ไทย) ได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าวด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงแรงงานได้เสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน (ASEAN Labour Ministers’ Meeting: ALMM) ครั้งที่ 28 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 28 - 31 ตุลาคม 2567 ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งประกอบด้วยการประชุม ทั้งสิ้น 4 การประชุม ได้แก่ (1) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียน (Senior Labour Officials’ Meeting: SLOM) ครั้งที่ 20 (2) การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสแรงงานอาเซียนบวกสาม (SLOM+3) ครั้งที่ 22 (3) การประชุม ALMM ครั้งที่ 28 และ (4) การประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Labour Ministers’ Meeting: ALMM+3) ครั้งที่ 13 รวมทั้งเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วม (Joint Communique) ของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียน ครั้งที่ 28 ซึ่งเป็นเอกสารที่เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนในการตระหนักถึงปัญหาแรงงานขั้นพื้นฐานที่ต้องเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของการทำงาน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์และการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งล้วนก่อให้เกิดความท้าทายและโอกาสต่อตลาดแรงงานของประเทศสมาชิกอาเซียน และร่างถ้อยแถลงร่วม (Joint Statement) ของการประชุมรัฐมนตรีแรงงานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 13 ซึ่งเป็นเอกสารที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนบวกสามเพื่อส่งเสริมสภาพแรงงานและการจ้างงาน ความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาฝีมือแรงงาน ความสามารถในการปรับตัวของแรงงานในอนาคตของงานภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019รวมถึงการเพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาความปลอดภัยในการทำงานผ่านโครงการความร่วมมือต่าง ๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณและด้านวิชาการจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อที่กระทรวงแรงงานจะได้มีหนังสือแจ้งการรับรองอย่างเป็นทางการถึงสำนักเลขาธิการอาเซียนต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นด้วย/ไม่ขัดข้อง ส่วนกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าเอกสารทั้งสองฉบับไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
24. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือในการลงทุนด้านการพัฒนาสีเขียวระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือในการลงทุนด้านการพัฒนาสีเขียวระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ให้กระทรวงพลังงานนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือในการลงทุนด้านการพัฒนาสีเขียวระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
สาระสำคัญ
ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือในการลงทุนด้านการพัฒนาสีเขียวระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีสาระสำคัญที่มุ่งเน้นการยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างสองประเทศในด้านการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานสะอาด การผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการแสวงหาการสนับสนุนทางการเงินและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่อเร่งไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนร่วมกันในอนาคต
ประโยชน์และผลกระทบ
การลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคพลังงานของไทยและต่อยอดองค์ความรู้ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดของไทยเพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานแล้ว ยังจะเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้กระชับความสัมพันธ์และความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในด้านเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาความร่วมมือในด้านการลงทุนสีเขียวในระดับทวิภาคีระหว่างสองประเทศอีกด้วย
แต่งตั้ง
25. เรื่อง คณะกรรมการต่าง ๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้ง คณะกรรมการต่างๆ ที่แต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรี จำนวน 1 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือทุนการศึกษารายปีต่อเนื่องและเงินยังชีพรายเดือนแก่บุตรเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อย และการปราบปรามยาเสพติดทั่วประเทศ ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพจากการปฏิบัติหน้าที่ (คทช.)
องค์ประกอบเดิม ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ โดยมีกรรมการ ดังนี้ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนกองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนกองทัพบก ผู้แทนกองทัพเรือ ผู้แทนกองทัพอากาศ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
หน้าที่และอำนาจ (คงเดิม)
1. พิจารณาการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ รวมทั้ง วินิจฉัยและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติในการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์
2. กำหนดแนวทาง เงื่อนไข และวิธีปฏิบัติในการขอรับการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. รวบรวมปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะต่างๆ ในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ เพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดเป็นระเบียบที่เกี่ยวข้อง สำหรับการให้ความช่วยเหลือในระยะยาวต่อไป
4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงานได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
5. ปฏิบัติงานอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
1. นายเกรียงศักดิ์ ฤชุศาศวัต ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพันธุกรรมทางคลินิก (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์เชี่ยวชาญ) กลุ่มพันธุกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์การแพทย์ (จุลชีววิทยา) (นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทรงคุณวุฒิ) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2567
2. นางสุนันทา กาญจนพงศ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ (ด้านแผนยุทธศาสตร์สาธารณสุข) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ (ด้านแผนยุทธศาสตร์สาธารณสุข) กลุ่มที่ปรึกษาระดับกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2567
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
27. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 3 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
1. นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
2. นางสาวจิตติมา ศรีถาพร รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
3. นายวราวุฒิ สมหวังประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งตั้งเป็นต้นไป
28. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงอุตสาหกรรม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอแต่งตั้ง นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งตั้งเป็นต้นไป
29. เรื่อง การแต่งตั้งผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแต่งตั้ง นายธิรินทร์ ณ ถลาง เป็น ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า ทั้งนี้ ตามมติคณะกรรมการองค์การคลังสินค้าในการประชุมครั้งที่ 4/2567 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 และครั้งที่ 5/2567 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้าง เป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ
30. เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต จำนวน 5 คน ต่ออีกวาระหนึ่ง เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี ดังนี้
1. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ 1) นายสหธน รัตนไพจิตร 2) นางสุนทรีย์ ส่งเสริม
2. ด้านการเงินการธนาคาร ได้แก่ นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี
3. ด้านคอมพิวเตอร์ ได้แก่ นางประราลี รัตน์ประสาทพร
4. ผู้แทนผู้ประกอบการด้านธุรกิจภาคเอกชน ได้แก่ นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป
31. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐจำนวน 6 คน เนื่องจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสามปี ดังนี้
1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิศิษฐ์ แสง-ชูโต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาวิศวกร
2. นายคธาทิพย์ เอี่ยมกมลา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาสถาปนิก
3. นายวิชัย อัศรัสกร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
4. นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
5. นายประยงค์ หิรัญญะวณิชย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านวิศวกรรม
6. นายสุนันต์ อรุณนพรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ด้านสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป
32. เรื่อง แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การสวนพฤกษศาสตร์ รวม 7 คน เนื่องจากประธานกรรมการและกรรมการอื่นเดิมได้ดำรงตำแหน่งครบวาระสองปี ดังนี้
1. นายบรรณรักษ์ เสริมทอง ประธานกรรมการ
2. นายกฤษณ์ กระแสเวส กรรมการ
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์กังวาน ยอดวิศิษฎ์ศักดิ์ กรรมการ
4. นางสาวจรสพร เฉลิมเตียรณ กรรมการ
5. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล กรรมการ
6. ศาสตราจารย์ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ กรรมการ
7. นางสาววารี แว่นแก้ว (ผู้แทนกระทรวงการคลัง) กรรมการ
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป
33. เรื่อง การเพิ่มองค์ประกอบในคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูลและคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเพิ่มองค์ประกอบกรรมการในคณะกรรมการเฉพาะด้าน ตามมาตรา 13 (3) แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560 จำนวน 2 คณะ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) ประธานกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ ดังนี้
1. เพิ่มผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ และผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นกรรมการในคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูล องค์ประกอบ มีดังนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ โดยกรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าอธิบดีกรมสรรพากร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพีรพล เวทีกูล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายชโยดม สรรพศรี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์ นางเมธินี เทพมณี ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ นายกุลเชษฐ์ มงคล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารธุรกิจ นายฐากูร ศิริยุทธ์วัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
หน้าที่อำนาจ
1) จัดทำ เสนอแนะ และติดตามการดำเนินการตามนโยบายและแผนระดับชาติตามมาตรา 6 (1) แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.2560 และนโยบายและแผนระดับชาติอื่นที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนด
2) รวบรวมข้อมูลและจัดทำนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ข้อมูลด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งแนวทางและมาตรการในการส่งเสริมและพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่คณะกรรมการเฉพาะด้านนั้นรับผิดชอบ และเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อประกอบการจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
3) เสนอแนะต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ข้อมูลด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเสนอมาตรการในการดำเนินการและแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติการตามนโยบายและแผนดังกล่าวและประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบประกาศเป็นนโยบายและแผนเฉพาะด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูลต่อไป
4) ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ข้อมูลด้านต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนโยบายและแผนเฉพาะด้านในความรับผิดชอบแล้วรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
5) กำกับดูแลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการและแผนงานเฉพาะด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้อมูลของหน่วยงานของรัฐและการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลตามหมวด 5 ภายในขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการเฉพาะด้าน
6) เชิญหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง ความเห็น หรือคำแนะนำ ตลอดจนส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการดำเนินงานได้
7) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการเฉพาะด้านมอบหมาย
8) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมาย หรือตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเฉพาะด้าน
2. เพิ่มปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการในคณะกรรมการเฉพาะด้านการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) องค์ประกอบ มีดังนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ โดยกรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน นายศุภกร คงสมจิตต์ นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ นายศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ นายฉัตริน จันทร์หอม โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และมีผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
หน้าที่และอำนาจ
1) ส่งเสริมการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy)
2) จัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้คลาวด์ โครงสร้างการบริหาร แนวทางการบริหารจัดการด้านการจัดซื้อจัดจ้าง การบริหารจัดการข้อมูล กระบวนการในการเลือกใช้คลาวด์ การโอนย้ายระบบงานของภาครัฐ และเสนอต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
3) เสนอแนะต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเกี่ยวกับการดำเนินงานตามแนวทางการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) รวมทั้งเสนอมาตรการในการดำเนินการและแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติการตามนโยบายดังกล่าว
4) กำกับดูแล ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลตามหมวด 5 ภายในขอบเขตอำนาจหน้าของคณะกรรมการเฉพาะด้าน แล้วรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
5) เชิญหน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดมาให้ข้อเท็จจริง ความเห็น หรือคำแนะนำ ตลอดจนส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการดำเนินงานได้
6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการเฉพาะด้านมอบหมาย
7) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมอบหมายหรือตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเฉพาะด้าน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นไป
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี