เขย่า‘แม้ว-พิธา’
ปมผู้ช่วยหาเสียง
‘สนธิญา’รุกกกต.
ใช้ก.ม.ใดรับรอง
“สนธิญา”จี้ กกต.ตอบให้ชัดใช้ก.ม.ใดรับรอง“ทักษิณ–ณัฐวุฒิ-ธนาธร-พิธา”เป็นผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งอบจ.ชี้คนจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีชื่อในทะเบียนบ้าน1ปี เล็งยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินหากตอบไม่เคลียร์ ด้าน”นิพนธ์”แนะ กกต.ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาบัตรเสียและอัตราการใช้สิทธิ์ต่ำ หลังพบบัตรเสียพุ่ง-ประชาชนเมินใช้สิทธิ์
เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2568 ที่สำนักงานคณะกรร มการการเลือกตั้ง(กกต.)นายสนธิญา สวัสดี นักเคลื่อนไหว ยื่นหนัง สือต่อ กกต.และเลขาธิการ กกต.เพื่อขอความชัดเจนว่าใช้กฎหมายหรือพระราชบัญญัติฉบับใดในการรับรองให้นายทักษิณ ชินวัตร นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(นายก อบจ. และ ส.อบจ.)ได้ นายสนธิญา กล่าวว่า การเป็นผู้ช่วยหาเสียงของบุคคลเหล่านี้ตนเคยร้องไม่ต่ำกว่า 2-3ครั้ง คนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองนั้น สามารถเป็นผู้ช่วยหาเสียงหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองได้หรือไม่ ตาม พรบ.การเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา38(3)กำหนดว่าทุกคนที่จะเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1ปีนับถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งเห็นผู้จะเป็นผู้ช่วยหาเสียงฯแต่ละจังหวัดก็ควรที่จะมีคุณสมบัติดังกล่าวเช่นกัน จึงอยากถามว่าสิ่งที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงของทั้งสองพรรคมีสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดที่ไปช่วยหาเสียงหรือไม่
“ถามว่า นายทักษิณมีสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ในทุกจังหวัดที่ไปหาเสียงหรือครับ และขอถาม กกต.และเลขา กกต.ว่าใช้บทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญ หรือพระราชบัญญัติใดในการรับรองว่าบุคคลคนเหล่านี้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองและไม่ได้มีสำเนาทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่นั้นๆเป็นผู้มีสิทธิ์เป็นผู้ช่วยหาเสียงสมัครสมาชิกสภาท้องถิ่น ถ้า กกต.ไปใช้ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ตรงนั้นมันจะกว้างระดับประเทศ แต่ในกรณีใช้พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นมันใช้ได้แค่จังหวัดนั้นๆ เพราะขนาดจะเป็นผู้ร้องเรื่องการเลือกตั้งยังต้องเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในท้องถิ่นนั้นๆ “นายสนธิญา กล่าว
และว่า วันนี้มีคนส่งเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต อบจ.ใน 3 จังหวัดมาให้แต่ตนก็ไม่สามารถนำมาร้องได้เพราะไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดนั้นๆ จึงต้องการได้ความชัดเจนเรื่องนี้จากกกต.ซึ่งหากไม่ได้ความชัดเจนก็จะยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาวินิจฉัยต่อไป
นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต รมช.มหาดไทย อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 8 สมัย ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น(ส.อบจ)และผู้บริหารท้องถิ่น(นายก.อบจ) ที่เพิ่งผ่านไป โดยมีประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความสนใจ ได้แก่ ปัญหาบัตรเสียที่มีจำนวนมาก รวมถึงอัตราการใช้สิทธิ์ของประชาชนที่ต่ำกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดการณ์ไว้ จากข้อมูลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด พบว่าจำนวน “บัตรเสีย” ของการเลือกตั้ง นายก อบจ. ทั้ง 47 จังหวัด คิดเป็น5.69% หรือประมาณ 931,290 ใบ ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ทั้งหมด และการเลือกตั้ง ส.อบจ. ทั้ง 76 จังหวัด พบว่ามี บัตรเสีย คิดเป็น 5.63% หรือประมาณ 1,488,086 ใบ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ในบางพื้นที่และส่งผลต่อคุณภาพของผลการเลือกตั้ง นายนิพนธ์ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การออกแบบบัตรเลือกตั้งที่ซับซ้อน ความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง หรือข้อผิดพลาดทางเทคนิคที่เกิดขึ้นระหว่างการลงคะแนน นอกจากนี้ จำนวนบัตรที่ประชาชนเลือก “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” ให้กับผู้สมัครรายใดเลย หรือ “โหวตโน” ก็มีอัตราสูงขึ้น โดยการเลือกตั้งนายก อบจ. คิดเป็น 7.08% หรือประมาณ 1,158,201 ใบ และการเลือกตั้ง ส.อบจ. คิดเป็น 6.81% หรือประมาณ 1,799,344 ใบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พึงพอใจของประชาชนต่อทางเลือกทางการเมืองที่มีอยู่ นายนิพนธ์ระบุว่า สาเหตุของแนวโน้มดังกล่าวอาจมาจากความไม่ไว้วางใจต่อระบบการเมือง การขาดทางเลือกที่เหมาะสม หรือความไม่พึงพอใจต่อผู้สมัครที่มีอยู่ ซึ่งส่งผลให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งซ่อมใหม่ถึง 4 จังหวัด หรือมีปัจจัยอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
นายนิพนธ์เน้นย้ำว่า กกต. จำเป็นต้องเร่งศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง การเลือกตั้งควรเป็นเครื่องมือที่สะท้อนเสียงของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส ไม่เพียงแต่การเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมาเท่านั้น แต่ควรนำไปพิจารณาปรับปรุงเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดซ้ำในการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับเทศบาลและ อบต.ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้นี้ พร้อมเรียกร้องให้ กกต.มีมาตรการที่ชัดเจนในการให้ความรู้และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงการพัฒนาแนวทางการจัดการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาธิปไตยไทยเดินหน้าอย่างมั่นคงและสะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนอย่างแท้จริง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี