‘ปชน.’เล่นใหญ่เรียงหน้าขึ้นดาดฟ้ารัฐสภาฮึดสู้ฝุ่นพิษ! เตือน ‘วิกฤต PM 2.5 คือ วิกฤตภาวะผู้นำ’ ชง 3 มาตรการบี้ ‘รัฐบาล-กทม.’ ผนึกแก้ปัญหาจริงจัง อุดช่องโหว่บริหารราชการระดับประเทศ-ท้องถิ่น เชื่อหาก ‘กทม.’ ทำได้จะเป็นแบบอย่างให้พื้นที่อื่น ขณะที่ ‘ส.ก.บางซื่อ’ ยก3เรื่องตบหน้า ‘ชัชชาติ’ มีอำนาจเต็มตามกม.ทำได้ทันที
เมื่อวันที่ 6 ก.พ.2568 ที่รัฐสภา สส.พรรคประชาชน (ปชน.) นำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน พร้อมด้วย สส. และสภาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ร่วมกันแถลงข่าว “วิกฤต PM 2.5 คือ วิกฤตภาวะผู้นำ” และข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยได้ขึ้นไปแถลงที่บริเวณดาดฟ้าชั้น6 อาคารรัฐสภา
โดยนายณัฐพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ตนในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชนได้พาเพื่อนสส. และส.ก. ซึ่งเป็นตัวแทนของพ่อแม่พี่น้องประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มาร่วมกันแก้ไขปัญหาและแนะนำข้อเสนอต่อผู้นำประเทศ เนื่องจากเห็นว่าสาเหตุที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เป็นผลมาจากช่องว่างในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งในระดับประเทศและในระดับท้องถิ่น จึงต้องหันมาแก้ปัญหาร่วมกันเพื่อพี่น้องประชาชน เพราะปัญหาเรื่องฝุ่นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. จนถึงวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่าเป็นช่วงเวลาที่พี่น้องชาวกรุงเทพมหานครต้องอยู่ภายใต้วันที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานประมาณ 30 กว่าวัน จึงถือเป็นปัญหาวิกฤตอย่างมาก เพราะประชาชนคนไทยไม่ได้เพิ่งรู้จักปัญหานี้ แต่รู้จักมาเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า ตนมองว่าการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงปีที่ 3 ของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งเชื่อว่าถ้ามีการทำงานกันสอดประสานกันในผู้นำ 2 ระดับ เราจะดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้ดีกว่านี้ เพราะหากเทียบในช่วงระยะเวลาเดียวกันตั้งแต่ปี 2567 ถึง 2568 จะพบว่าปัญหาฝุ่นเพิ่มขึ้นถึงมากกว่าเดิมถึง 20% ขณะเดียวกันหากติดตามค่าฝุ่นจะรู้ว่ามีปริมาณเท่ากับการสูบบุหรี่ 1.7 มวนและที่ผ่านมาพรรคประชาชนจึงพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ อาทิการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาด ที่ขณะนี้อยู่ในรัฐสภา รวมถึงมาตรการอื่นๆ และการตั้งกระทู้ถามตลอดจนผลักดันข้อบัญญัติรถเมล์ในอนาคตและข้อบัญญัติเพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น
“ปัญหาฝุ่นไม่ได้กระทบกับประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กระทบตั้งแต่เด็กในครรภ์จนถึงผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงยังสร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจนับเป็นมูลค่าราวๆ 2 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้น ผมคิดว่าเป็นเวลาที่รัฐบาลและผู้บริหารท้องถิ่น จำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการร่วมกันอย่างจริงจัง อุดช่องว่างที่เกิดในการบริหารระหว่างกันและเดินหน้าแก้ไขเพื่อประชาชนโดยเร็วที่สุด” นายณัฐพงษ์ กล่าว
ขณะที่น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า ที่ผู้ว่าฯกทม.อ้างว่าไม่มีอำนาจเต็มมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ตนพบว่ามี 3 เรื่องที่ผู้ว่าฯกทม. มีอำนาจเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่กลับใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ 1.มาตรการเขตลดฝุ่น LEC ที่ห้ามรถบรรทุกเกิน6ล้อที่ไม่ได้ลงทะเบียนกรีนลิสต์เข้ามาวิ่งในโซนกทม.ชั้นใน เป็นจำนวน 2 วัน ซึ่งผู้ว่าฯกทม.มีอำนาจเต็มตามมาตรา29 ของพ.ร.บป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยในการจัดการแต่เหตุใดถึงประกาศแค่โซนกทม.ชั้นใน ไม่ประกาศทั่วกทม. 50 เขตที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเป็นสีแดง โดยผู้ว่าฯกทม.ได้แจ้งว่า ที่บังคับใช้มาตรการ LEC ในกทม.ชั้นใน เพราะมีฝุ่นPM2.5 จากรถยนต์ และรถสาธารณะมากกว่าโซนอื่น แต่หากเราใช้มาตรการ LEC ทั่วกทม. แล้วขยายเวลาจาก 2 วันเป็น 1 สัปดาห์ ตนคิดว่าจะสามารถลดฝุ่นได้จำนวนมาก 2.ไม่มีการประกาศมาตรการเวิร์คฟรอมโฮม ทั้งที่ กทม.ประกาศค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้มมาตลอดสัปดาห์ ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ว่าฯกทม.ก็มีอำนาจเต็ม ดำเนินการได้เลย ไม่ต้องรออะไร และ 3.กรณีที่ผู้ว่าฯกทม.เสนอไปยังรัฐบาลให้ลดเกณฑ์ตรวจค่าทึบแสงควันดำรถยนต์ จาก 30 เปอร์เซ็นต์เหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจ ไม่ทราบว่าได้ดำเนินการให้ลดเหลือ10เปอร์เซ็นต์หรือไม่ เนื่องจากยังพบว่ามีควันดำปล่อยออกมาจากรถอยู่
หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวอีกครั้งว่า ถ้าผู้นำทั้งสองระดับทั้งระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นร่วมมือสอดประสานกันจะสามารถดำเนินมาตรการหลายๆอย่าง เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงขอแนะข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มที่ผู้บริหารทั้งสองระดับอาจจะดำเนินการทำแล้วแต่ยังทำไม่เพียงเพียงพอ 2. กลุ่มที่สื่อสารมาแล้วแต่ยังไม่ได้ลงมือทำอย่างจริงจัง และ 3.กลุ่มที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการใดๆ ส่วนเรื่องนโยบาย Low emissions zone ในกทม.หลายพื้นที่ยังไม่ครอบครุม ข้อเสนอคืออยากให้มีการพลักดันมาตรการดังกล่าวให้ครอบคลุมมากขึ้น และเรื่องอำนาจที่ยังไม่มากพอที่รัฐบาลส่วนกลางยังไม่มอบให้กับท้องถิ่น ดังที่กรุงเทพมหานครระบุว่ายังไม่มีอำนาจในการตรวจ จับ ปรับรถควันดำ ซึ่งต้องอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.การขนส่งทางบก ที่รอการสอดประสานจากรัฐบาลส่วนกลาง
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า เราเสนอผลักดันข้อบัญญัติรถเมล์อนาคต แต่น่าเสียดายที่ก่อนหน้านี้กฤษฎีกาตีความว่ากรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจในการดำเนินการทำเอง แต่อย่าลืมว่ายังมีรัฐบาลระดับประเทศมีอำนาจเต็มในการที่จะออกกฎหมายลำดับรองหรือประกาศต่างๆ เพื่อกำหนดให้พื้นที่กทม.ต่อจากนี้อีกกี่ปีต้องใช้รถโดยสารพลังงานสะอาดส่วนเรื่องปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ที่ทำอย่างไรให้มีการปรับโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับอายุของรถ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น และการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งกรุงเทพมหานครยังขาดอำนาจในการจัดการมลพิษในกทม. คือการรอประกาศกรุงเทพมหานครเป็นเขตควบคุมมลพิษ ให้สามารถควบคุมมลพิษจากภาคขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม การเผาภาคการเกษตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อว่าหากกรุงเทพมหานครสามารถขจัดปัญหาฝุ่นได้ ก็จะสามารถเป็นโรลโมเดล หรือแบบอย่าง ให้กับพื้นที่อื่นๆต่อไป อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 ก.พ.นี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน สภาฯ จะมีการถกแนวการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี