‘วรวัจน์’ แจงยิบปมตัด ม.27 พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ออก ชี้ ใส่มาภายหลังสภารับหลักการ-ส่อขัดต่อ รธน.-เปิดช่องบุกรุกป่า ของคนหวังผลการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ หยุดส่งข้อมูลผิดๆ เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีมีโพสต์สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการพิจารณาพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … มาตรา 27 ว่าด้วยเรื่อง "พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์" ซึ่งมีสาระสำคัญคือ การประกาศเขตพื้นที่ฯ เป็นไปเพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตและวัฒนธรรม การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเสริมความเข้มแข็ง ของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อจัดทำเป็นแผนแม่บทและแผนที่แสดงพื้นที่การจัดการพื้นที่คุ้มครองฯ โดยในระหว่างการพิจารณามีการแทรกข้อความ “โดยไม่ต้องนำกฎหมาย มาบังคับใช้ ในพื้นที่ดังกล่าว”ที่ในขั้นรับหลักการรับกฎหมายเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 นั้น ไม่มีข้อความเกี่ยวกับการยกเว้นการนำกฎหมายมาบังคับใช้ในพื้นที่เลย
นายวรวัจน์กล่าวต่อว่า ซึ่งการให้ยกเว้นไม่ให้นำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้ในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ป่าไม้ หรืออุทยานต่างๆ เกิดขึ้นภายหลัง โดยการเติมของคณะกรรมาธิการ โดยการยกเว้นไม่ให้นำกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้นี้ จะทำให้กฎหมายทุกชนิดที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนถึงกฎหมายที่คุ้มครองดูแลไม่สามารถบังคับใช้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยได้ อาจทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ไม่มีกฎหมายบังคับใช้ ตรงนี้มีโอกาสที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญระบุให้คนไทยทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขใด ให้เกิดความแตกต่างกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
“นอกจากนี้ การทำกฎหมายโดยที่รู้อยู่แล้วว่า มีโอกาสขัดกับรัฐธรรมนูญและยังจงใจร่างกฎหมายที่มีลักษณะดังนั้นขึ้นมา เป็นการเปิดช่องให้มีการร้องผู้แทนราษฎรที่ร่วมร่างกฎหมายว่า จงใจทำผิดกฎหมายอาญาได้ ประการสำคัญ ผมเคยชี้แจงกมธ.ด้วยว่า หากไม่มีการบังคับใช้กฎหมายในบางพื้นที่แล้ว อีกหน่อยกฎหมายที่เป็นประโยชน์ เช่น เรื่องการจัดสรรที่ดิน หรือกฎหมายที่ให้ประโยชน์กับคนในพื้นที่ ก็ไม่สามารถนำไปบังคับใช้ได้ด้วย ซึ่งในกรณีนี้จะเกิดความเสียหายมากกว่า”นายวรวัจน์กล่าว และว่า ในเรื่องการคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น สภาฯเห็นด้วยและรับหลักการ อนุมัติให้เป็นกฎหมายแล้ว ทั้งหมด โดยไม่สามารถพิจารณาเพียงประเด็นการงดเว้นบังคับกฎหมายในพื้นที่เท่านั้น ซึ่งในประเด็นนี้กรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ ก็ได้ออกมาคัดค้าน เนื่องจากกังวลเรื่องการบุกรุกเข้าไปแผ้วถางทำลาย เพราะมาตรา 30 เขียนเปิดช่องให้ไปแผ้วถาง ทำกิน ทำเรื่องสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การเกษตรกรรม การประมง การเลี้ยงสัตว์ หรือการอื่นใดที่เป็นกิจกรรมได้ทั้งหมด อยู่แล้ว ซึ่งในส่วนนี้ หากไม่มีกฎหมายดูแลเลย อาจจะส่งผลกระทบต่อ ทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมได้
“ผมกังวลกับการที่มีคนพยายามให้ข้อมูลที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อการผ่านร่างกฎหมาย ที่มีในขั้นตอนของวุฒิสภาอีก ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง หากไม่มีการ นำประเด็นที่อ่อนไหวออก อย่างในข้อที่มีข้อกังวล และข้อท้วงติง อย่างมาก กฎหมายอาจจะสุ่มเสี่ยงที่จะตกทั้งฉบับโดยไม่ผ่านวุฒิสภาหรือถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกก็ได้ ซึ่งการพยายามผลักดันทำให้กฎหมายผ่านสภาให้ได้คือ การพิจารณาอย่างรอบด้าน ครอบคลุม นี่จึงจะเกิดประโยชน์ ดังนั้น ผมไม่อยากให้สร้างประเด็น จากกลุ่มคนที่พยายามผลักดันบางประเด็นเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าประโยชน์ที่จะเกิดกับประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนจริงๆ” นายวรวัจน์กล่าว
014
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี