‘รองนายกฯประเสริฐ’ เดินหน้าตัดตอน ‘โจรออนไลน์’ สั่งลุยมาตรการสกัดกั้น ‘บัญชีม้า-สัญญาณเน็ต’ ชายแดนไทย-เมียนมา
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า จากกรณีที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีมติให้ตัดไฟฟ้า สัญญาณอินเทอร์เน็ต และการส่งออกน้ำมัน ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา รวม 5 จุด ซึ่งต้องสงสัยว่าอาจเป็นฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. ของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 เป็นต้นมานั้น กระทรวงดีอีได้ติดตามความคืบหน้าของมาตรการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้ นายเอกพงษ์ หริ่มเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงดีอี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ร่วมเดินทางพร้อมกับคณะนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อประชุมหารือติดตามการปฏิบัติงานการแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ณ อ.แม่สอด จ.ตาก
ทั้งนี้ผลจากการหารือร่วมระหว่างกระทรวงดีอี และสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ตรวจพบว่ามีการลักลอบปล่อยสัญญาณอินเตอร์เน็ตบริเวณชายแดนไปยังพื้นที่ต้องสงสัย ดังนั้นที่ประชุมจึงได้ร่วมกำหนดมาตรการการป้องกัน ดังนี้ 1.เพิ่มการตรวจสอบ เฝ้าระวัง และสกัดปิดกั้นสัญญาณอย่างเข้มข้น โดยปิดกั้นสัญญาณอินเตอร์เน็ตของผู้ให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ทั้งหมด รวมทั้งการตัดกระแสไฟฟ้าตู้กระจายสัญญาณอินเตอร์เน็ตในจุดที่มีความเสี่ยงการส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ต้องสงสัย และมอบหมายให้ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ตรวจสอบสัญญาณอินเทอร์เน็ตในความดูแลอย่างเข้มงวด
2.ตรวจสอบและระงับการใช้งาน Mobile Banking ที่ขึ้นบัญชีต้องสงสัยว่าเป็นบัญชีม้า ในบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ทันที ซึ่งจะมีการตรวจสอบสัญญาณจาก IP Address ที่มีการใช้งานในพื้นที่ โดยกระบวนการนี้จะแบ่งเป็น (1) การร่วมกันตรวจสอบโดย ศูนย์ AOC กสทช. ธนาคาร (2) จากการแจ้งเบาะแสของประชาชน ผ่านศูนย์ AOC - ตำรวจ ก่อนส่งเรื่องให้กับธนาคาร กสทช. ตรวจสอบ และดำเนินการระงับสัญญาณและบัญชีธนาคารต่อไป
“กระทรวงดีอีไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องดังกล่าว โดยได้มีการทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อเกิดสถานการณ์บริเวณชายแดน ได้มอบหมายให้ ผอ.ศูนย์ AOC พร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวโดยตรง ลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติงานทันที สำหรับปัญหาที่พบในระหว่างปฏิบัติการตัดไฟฟ้า และสัญญาณอินเตอร์เน็ตบริเวณพื้นที่คือ การคำนึงถึงเรื่องของมนุษยธรรม เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่นอกจากจะมีการเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ต้องสงสัยว่าเป็นฐานของแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้ว ยังได้เชื่อมต่อไปยังชุมชน โรงพยาบาลและโรงเรียนอีกด้วย ซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอีกล่าว
นายประเสริฐ กล่าวด้วยว่า การป้องกันและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ถือเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล โดยกระทรวงดีอี ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2568 นี้ ได้มีการบรรจุวาระการติดตามความคืบหน้า และมาตรการการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์บริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเป็นพิเศษ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี