“ธนกร” ค้าน แก้ม.256 ปูทางยกร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ เตือน ระวังขัดคำวินิจฉัยศาล 4/2564 ลั่น ห้ามแตะหมวด1-2 ตัดอำนาจสว.-องค์กรอิสระ ชี้ ต้องทำประชามติก่อน แนะ คิดรอบคอบอย่ารีบร้อน เสี่ยงโดน ม.157กราวรูด เชื่อ ผ่านยาก
วันที่ 8 ก.พ.2568 นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รองหัวหน้าพรรคและสส.บัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ ว่า หลังจากที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้บรรจุระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 13 -14 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมีการเสนอมา 2 ร่าง คือร่างของพรรคเพื่อไทย กับร่างของพรรคประชาชนนั้น ซึ่งตนไม่เห็นด้วยและคัดค้านมาโดยตลอดโดยเฉพาะร่างของพรรคประชาชน เรื่องการแก้ไขในมาตรา 256 (8) แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไปและหมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงเรื่องเกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ ซึ่งที่มีอยู่ถือว่าดีอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ในการเสนอแก้ไขมาตรา 256(6) ตนก็ขอคัดค้านที่จะมีการถอดอำนาจของวุฒิสภาที่จะต้องใช้เสียงในการเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 1 กับวาระที่ 3 จำนวน 1 ใน 3 ออกในการเห็นชอบผ่านร่าง เพราะเป็นการริบอำนาจสว.อย่างชัดเจน ซึ่งขัดต่อเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญเรื่องอำนาจหน้าที่การตรวจสอบถ่วงดุลของสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ยังมีสิ่งที่สำคัญที่สมาชิกรัฐสภาทุกคนจะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบร่วมกันคือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4 / 2564 ที่เป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่าในการแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องจัดทำประชามติก่อนและหลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ หากไม่ทำประชามติท้ายที่สุด จะมีปัญหาภายหลังเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมตามมาอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560 ผ่านการทำประชามติมาแล้ว หากจะมีการแก้ไขและยกร่างฉบับใหม่ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนก่อน
“ผมย้ำจุดยืนชัดเจนมาตลอด ว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราสามารถแก้ได้ แต่ต้องไม่แตะหมวด1 หมวด 2 ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และถ้าจะยกร่างทั้งฉบับโดยไม่ทำประชามติขอเตือนว่าเป็นความสุ่มเสี่ยงอย่างมาก ทั้งต่อผู้เสนอร่างและสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมพิจารณาเห็นชอบร่างด้วย ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องเอาผิดฐานละเว้นหรือปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรงและอาจถูกส่งให้ป.ป.ช.ถอดถอนได้ ผมเชื่อว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ครั้งนี้ คงยากที่จะผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เพราะอยู่บนฐานความเสี่ยง“ นายธนกร ระบุ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี