"นฤมล" นำทีมผู้บริหาร หารือ GACC สร้างความเชื่อมั่นสินค้าเกษตรไทย
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2568 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ นำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย นายถาวร ทันใจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง และนายชัยวัฒน์ โยธคล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ประชุมหารือกับ ดร.ซุน เหมยจุน รัฐมนตรีว่าการสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) พร้อมด้วย นายหวัง อี้หยู อธิบดีกรมกักกันพืชและสัตว์ นายหลี่ จิ้นซง อธิบดีกรมความปลอดภัยอาหารนำเข้าและส่งออก และ นางกัว ซั่วเยี่ยน อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ระหว่างการพบปะและหารือร่วมกันของทั้งสองฝ่ายครั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ GACC ได้แลกเปลี่ยนนโยบายและวิสัยทัศน์ ที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริม ขยายโอกาส และอำนวยความสะดวกสินค้าเกษตรระหว่างกันในหลายประเด็น ซึ่งรวมไปถึง ความมุ่งหวังที่จะร่วมกันสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านการเพิ่มเส้นทางการค้า เพื่อขนส่งสินค้าเกษตรระหว่างกัน โดยใช้รถไฟความเร็วสูง (เส้นทาง กรุงเทพฯ - หนองคาย - และเชื่อมต่อเส้นทาง one belt one road ของจีน) และประเด็นการเปิดตลาดสินค้าเกษตร และกลไกคณะทำงานร่วมด้านสุขอนามัยพืช ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ และ GACC ได้ประชุมและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547
นางนฤมล กล่าวว่า ไทยและจีนมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับผู้นำประเทศ รัฐบาล รวมถึงประชาชน ดังเช่นพี่น้องกัน ทั้งนี้ จีนนับเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเป็นอันดับ 1 ของไทย และสินค้าผลไม้มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในสินค้าเกษตรจากไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุเรียน มังคุด และมะม่วง ดังนั้น กระทรวงฯ จึงมุ่งหวังและตั้งใจว่าจะดำเนินนโยบายและมาตรการที่เข้มงวด เพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีน มั่นใจได้ว่าผลไม้และสินค้าเกษตรอื่นๆ จากไทย มีคุณภาพความปลอดภัยและได้มาตรฐานตามที่ฝ่ายจีนกำหนดไว้ทุกประการ
ทั้งนี้ รัฐมนตรี GACC ได้กล่าวชื่นชมในความมุ่งมั่นดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ โดยเฉพาะการเร่งดำเนินการที่รวดเร็ว และครอบคลุมทุกระดับทั้งระดับเกษตรกรผู้ผลิตโรงคัดบรรจุ และผู้ส่งออก ในกรณีสินค้าไทยตรวจพบปัญหาไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดของจีน สำหรับผลไม้ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดจีนกว่าร้อยละ 58 ของปริมาณการนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศทั้งหมด ด้วยปริมาณการนำเข้ากว่า 870,000 ตัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนไทยที่ครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนในจีนกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป และคิดเป็นร้อยละ 35 ของปริมาณการส่งออกออกสินค้าเกษตรไทยมายังจีน
นอกจากนี้ การหารือในด้านการเปิดตลาดสินค้าครั้งนี้ นับว่ามีความก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจ โดยในส่วนของสินค้าพืช GACC อยู่ระหว่างทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการนำเข้า ในขณะที่ การยื่นขอเปิดตลาดส่งออกสละและอินทผลัมมายังจีนอยู่ในขั้นตอนที่ GACC เตรียมส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจประเมินสวนและโรงคัดบรรจุที่ประเทศไทยในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนที่จะกำหนดเงื่อนไขการส่งออก และลงนามในพิธีสารไทย-จีนต่อไป
นางนฤมล กล่าวว่า สำหรับสินค้าปศุสัตว์ ฝ่ายจีนแจ้งว่า ได้รับเอกสารเพิ่มเติมการขอส่งออกโคเนื้อมีชีวิตไทยมาจีนผ่านเส้นทางแม่น้ำโขงมายังท่าเรือกวนเล่ยแล้ว และจะต้องรับข้อพิจารณาเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย และจะเร่งดำเนินการให้มีความคืบหน้าต่อไป
ส่วนจีน มีความกังวลกรณีการส่งออกบลูเบอรี่จากจีนมาไทย ขอให้ฝ่ายจีนคลายความกังวลว่าจะไม่กระทบต่อการส่งออกเดิม โดยไทยได้เข้าสู่กระบวนการตามขั้นตอนการประเมินความเสี่ยง และจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงความร่วมมือ และให้ความสำคัญในด้านคุณภาพและมาตรฐาน โดยฝ่ายจีนพร้อมร่วมมือกับไทยในการอำนวยความสะดวกทางการค้า เพื่อให้ผู้บริโภคของทั้งสองฝ่ายได้สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และเป็นไปตามมาตรฐาน และฝ่ายไทยหวังว่าจะมีความร่วมมือในด้านต่าง ๆ รวมทั้งพิธีสารที่คาดว่าจะสามารถลงนามได้ในปีนี้
.-008
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี