ท่านพุทธทาสเตือนสติคนไทยมานานหลายปีว่า เมื่อศีลธรรมไม่กลับมาโลกาจะวินาศ
โลกกำลังวุ่นวายทั้งเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ผู้นำมหาอำนาจก็ออกคำสั่งที่สร้างความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจและความมั่นคง ครั้นเหลียวมองประเทศไทยก็เกิดปรากฏการณ์นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจับมือกันผลักดันนโยบายเสรีนิยม ทำให้อบายมุขเกลื่อนเมือง
แก้กฎหมายคลายการควบคุม เปิดเสรีผลิตและขายเหล้าชุมชนกันได้เต็มที่
ผลพวงจากสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับที่พ.ศ.ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2551 และจะกลับเข้าสู่สภาฯอีกครั้งอย่างเร็วที่สุดในวันที่ 5 ก.พ.นี้ ทำให้เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.), ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.), คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, เครือข่ายสื่อมวลชนขับเคลื่อนสุขภาวะเพื่อสังคมไทยยั่งยืน (สสสย.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
(สสส.) ร่วมกันจัดประชุมเสวนาวิชาการ เรื่อง “ชำแหละร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์...สังคมไทยได้อะไร”
งานนี้ วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้านการสื่อสารมวลชน กล่าวเปิดประเด็นว่ากฎหมายเมื่อบังคับใช้มานานพอสมควรก็ต้องมีการทบทวนเป็นเรื่องปกติแต่ควรจะสร้างสมดุลระหว่างกิจกรรมการหารายได้ทางเศรษฐกิจกับผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น แม้จะเพิ่มเนื้อหาหลายอย่างที่ดีขึ้น เช่น มีการบำบัดรักษาผู้ได้รับผลกระทบมีตัวแทนเยาวชนในคณะกรรมการระดับจังหวัด แต่การที่ตัวแทนธุรกิจแอลกอฮอล์เข้าไปนั่งเป็นกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติไม่น่าจะเหมาะสม
สอดคล้องกับความเห็นของ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นักกฎหมายมหาชนชื่อดัง
ร่างกฎหมายมาหลายฉบับบอกว่าการเปิดโอกาสให้ตัวแทนธุรกิจแอลกอฮอล์ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าและสมาคมการท่องเที่ยว เข้ามาเป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีโอกาสที่คนกลุ่มนี้จะ เจือสมผลประโยชน์ร่วมกัน หากบอกว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียก็อาจจะให้แสดงความคิดเห็นได้แต่ไม่ควรเข้ามานั่งเป็นกรรมการ
ในประเด็นเดียวกัน ธีรภัทร์ คหะวงศ์ โฆษกคณะกรรมาธิการฯซึ่งเป็นตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่เสนอร่างกฎหมายเข้าไปประกบร่างของฝ่ายการเมืองยอมรับว่าทางกรรมาธิการฝ่ายรณรงค์เป็นห่วงมากที่สุดและขอสงวนความเห็นไว้ เพราะอำนาจของคณะกรรมการนั้นสามารถออกกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับนโยบายควบคุมสุราได้ อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะผ่อนคลายการควบคุม เช่นให้ขายและดื่มในสถานที่ราชการที่มีการจัดกิจกรรมพิเศษได้เป็นครั้งคราว ให้ขายผ่านเครื่องขายอัตโนมัติที่สามารถยืนยันตัวตนและอาการมึนเมาของผู้ซื้อได้ แต่เชื่อว่าหลายเรื่องจะเป็นประโยชน์ต่อควบคุมและการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การควบคุมการโฆษณาที่จะระบุว่าใครทำอะไรได้บ้าง และลดโทษต่อการกระทำผิดต่อการโฆษณาของประชาชนทั่วไป การห้ามผู้มีชื่อเสียงโฆษณา รวมทั้งการควบคุมตราเสมือน การให้อำนาจผู้ขายในการขอดูบัตรประชาชนเพื่อตรวจสอบอายุและตรวจสอบอาการของคนเมา การเพิ่มความร่วมรับผิดทางแพ่งต่อผู้ขายที่ฝ่าฝืนกฎหมายและผู้ซื้อที่ก่อความเสียหายแก่บุคคลภายนอก มีการเพิ่มโทษปรับสูงขึ้นจากเดิม 5 เท่า กรณีขายให้เด็กและคนเมา พร้อมกับเพิ่มอำนาจของเจ้าหน้าที่ให้สามารถตักเตือนระงับการโฆษณา พักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขายสุราและสั่งปิดกิจการที่ใช้กระทำความผิดได้
ส่วนการแก้ไขเรื่องการโฆษณาแอลกอออล์นั้น รศ.ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ นักวิชาการ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวว่า เป็นห่วงเรื่องการโฆษณาตามมาตรา 32 ที่ว่า เว้นแต่เป็นการสื่อสารทางวิชาการให้แก่สมาชิกในวงจำกัด ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจเกิดช่องโหว่ นอกจากนี้ยังไม่ครอบคลุมการสื่อสารโดยใช้อัลกอริที่มคอมพิวเตอร์หรือระบบ AI แทนการใช้มนุษย์รวมทั้งการส่งโฆษณาแบบจำเพาะรายบุคคลและการดำเนินการของผู้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์นอกราชอาณาจักร พฤติกรรมเลียนแบบจากสื่อต่างๆ ในกรณีของซีรี่ส์เกาหลี การนำเสนอพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ อาจเปลี่ยนทัศนคติของคนดูให้มองว่าการดื่มเป็นเรื่องปกติ มีการใช้ซีรี่ส์เกาหลีเป็นกรณีศึกษา โดย นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพในสหรัฐฯ ศึกษาผลกระทบต่อคนดู
ในประเทศอิสราเอลและอินโดนีเซียทางออนไลน์ จำนวน 638 คน พบว่า กลุ่มที่ติดซีรี่ส์เกาหลีมีโอกาสดื่มโซจู ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 3 เดือน และดื่มหนักในช่วง 12 เดือน มากกว่ากลุ่มที่ไม่ติดซีรี่ส์
ด้าน นพ.วิธู พฤกษนันต์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกว่าประเด็นที่เป็นประโยชน์คือ มีการกำหนดความรับผิดทางแพ่งของผู้ขายแอลกอฮอล์ให้คนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ หรือผู้มีอาการมึนเมา และต่อมาผู้รับบริการดังกล่าวไปกระทำความผิดที่เป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ และเรียกร้องให้เพิ่มการห้ามขายให้สตรีมีครรภ์ด้วยเพราะอาจทำให้แท้งลูกหรือเด็กพิการแต่กำเนิดได้
ปิดท้ายวันนั้นสื่อมวลชนและผู้เข้าร่วมประชุมบอกว่า หากฝ่ายธุรกิจเรียกร้องมากขนาดนี้ก็ต้องเรียกร้องให้คนผลิต คนขายแอลกอฮอล์ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญาด้วย
ปรับกฎหมายในวาระ 2 เพิ่มเรื่องนี้เข้าไปจะยอมรับกันได้มั้ยล่ะ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี