เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่ตรวจพิจารณาแล้ว และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เพื่อแก้ไขปัญหาที่จะได้เกิดขึ้นจากการที่บทบัญญัติบางมาตรากำหนดให้ทรัพย์สินหรือเงินที่เจ้าของไม่มาขอรับภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ตกเป็นของแผ่นดินซึ่งอาจขัดหรือแย้งต่อมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เป็นประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติอันเกิดจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนี้
1. แก้ไขระยะเวลาที่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนมีอำนาจอนุมัติให้ขยายระยะเวลาในการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นของคณะกรรมการกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์เบื้องต้นและเงินค่าทดแทน โดยกำหนดให้ขยายได้เท่าที่จำเป็นแต่ต้องไม่เกิน 180 วัน เพื่อให้คณะกรรมการฯ มีระยะเวลาดำเนินการที่เหมาะสม (เดิมขยายได้ไม่เกิน 90 วัน)
2. แก้ไขเพิ่มเติมให้เจ้าของทรัพย์สินที่ถูกรื้อถอนหรือผู้มีสิทธิได้เงินค่าทดแทนยังคงมีสิทธิขอรับเงินที่เกิดจากการเวนคืนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของตนตามกฎหมาย โดยไม่ตัดสิทธิในเงินดังกล่าวแม้แพ้กำหนดระยะเวลาขอรับเงินตามที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
2.1 กำหนดให้ในการรื้อถอนโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรืออสังหาริมทรัพย์เจ้าหน้าที่มีหน้าที่แจ้งให้เจ้าของทรัพย์สินมารับทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่รื้อถอนคืนไปภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วเจ้าของไม่มารับทรัพย์สินคืนไป ให้เจ้าหน้าที่ขายทรัพย์สินนั้นโดยวิธีการขายถอดตลาดหรือวิธีอื่นตามที่เห็นสมควรแล้วนำเงินที่ได้จากการขายส่งคืนแก่เจ้าของทรัพย์สิน นอกจากนี้หากเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ขายทรัพย์สินนั้นและเจ้าของมารับคืน ให้เจ้าหน้าที่คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่เจ้าของไป โดยไม่มีเงื่อนไขเวลา (จากเดิมในกรณีที่เจ้าของมิได้เรียกเอาทรัพย์สินหรือเงินที่เจ้าหน้าที่เก็บรักษาไว้คืน ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่มีการรื้อถอนหรือขนย้าย ให้ทรัพย์สินหรือเงินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน)
2.2 กำหนดให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ถอนเงินค่าทดแทนที่วางไว้ต่อศาล1 หรือสำนักงานวางทรัพย์ หรือฝากไว้กับธนาคารออมสิน เพื่อส่งคืนคลัง เมื่อผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนไม่มารับภายใน 5 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับเงินค่าทดแทนหรือนับแต่วันที่คดีที่สุดหรือนับแต่วันที่ได้ฝากเงินไว้ โดยไม่ได้ตัดสิทธิของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่จะยื่นคำร้องขอรับเงินค่าทดแทนคืนภายหลังจากพ้นระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าว (เดิมเงินค่าทดแทนที่วางไว้ถ้าผู้มีสิทธิไม่ไปขอรับเงินภายใน 10 ปีนับแต่วันที่มีหนังสือแจ้งหรือวันที่ปิดประกาศ ให้เงินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน)
3. แก้ไขเพิ่มเติมให้บุคคลผู้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลกรณีไม่พอใจเงินค่าทดแทนครอบคลุมถึงผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในทุกกรณี เช่นเดียวกับการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 492 โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลและมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทน ซึ่งผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน ได้แก่ เจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืน เจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น เจ้าของต้นไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่ในที่ดินผู้เช่าหรือผู้เช่าช่วงที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นในที่ดินที่ต้องเวนคืน บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้าผ่านที่ดินที่ต้องเวนคืน และผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากต้องการออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน (เดิมกำหนดให้เจ้าของที่เท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลและมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทน ซึ่งตามบทนิยามเจ้าของ หมายถึงเจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยชอบด้วยกฎหมาย)
5. กำหนดให้องค์ประกอบของคณะกรรมการซึ่งทำหน้าที่พิจารณาการคืนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของเดิมหรือทายาทประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เวนคืนเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกรมที่ดินเป็นกรรมการ (ได้ตัดผู้แทนสำนักงบประมาณและผู้แทนสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ออก เนื่องจากมิใช่หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับอสังหาริมทรัพย์ให้แก่เจ้าของเดิมหรือทายาท เพื่อให้คณะกรรมการมีความคล่องตัวมากขึ้น)
___________________________
1กรณีเงินค่าทดแทน ประกอบด้วย 1) ค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ได้แก่ ที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ที่ดินพร้อมโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ต้นไม้ยืนต้น 2) ค่าทดแทนความเสียหายที่ได้รับจากการเวนคืน เพื่อจ่ายค่าทดแทนความเสียหายจากการขาดประโยชน์การขาดรายได้ หรือการเสียสิทธิในการใช้สอยทรัพย์สินที่ถูกเวนคืน เช่น การที่ผู้เช่าต้องออกจากที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างก่อนสัญญาเช่าระงับการเสียสิทธิในการใช้ทาง วางท่อน้ำ หรือสายไฟ
กรณีที่รัฐมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะจะดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อให้เจ้าที่เข้าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ กำหนดราคาค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ และออกหนังสือเชิญผู้ถูกเวนคืนให้มาทำสัญญาซื้อขาย หากตกลงได้เจ้าของที่ดินจะเข้าทำสัญญาและรับเงินค่าทดแทน และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของรัฐ ส่วนกรณีตกลงไม่ได้และมีความจำเป็นเร่งด่วนเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์จะออกประกาศกำหนดให้การเวนคืนเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากเจ้าของทรัพย์สินไม่ยินยอมทำสัญญาซื้อขาย หรือยินยอมทำสัญญาซื้อขายแต่ไม่มารับเงินค่าทดแทน เจ้าหน้าที่จะนำเงินค่าทดแทนไปวางต่อศาล หรือสำนักงานวางทรัพย์หรือฝากไว้กับธนาคารออมสิน และออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ เพื่อให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของรัฐ
2มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 40 ผู้ใดไม่พอใจเงินค่าทดแทนที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายตามมาตรา 25 และเงินค่าทดแทนเพิ่มเติมมาตรา 26 วรรคสองเงินค่าทดแทนที่ได้รับหรือวางเงินค่าทดแทนตามมาตรา 28 วรรคสอง ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับเงินจากเจ้าหน้าที่หรือรับเงินที่วางไว้ แล้วแต่กรณี
2. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กค. เสนอว่า
1. โดยที่แผนปฏิรูปการบริหารจัดการกำลังพลของ กห. กำหนดเป้าหมายการปรับลดกำลังพลลงร้อยละ5 ของยอดกำลังพล ตั้งแต่ปีงบประมาณ พุทธศักราช 2563 - 2570 และปรับลดกำลังพลนายทหารชั้นนายพลในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ และนายทหารปฏิบัติการให้เหลือร้อยละ 50 ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 - 2571 เพื่อให้เกิดความสมดุลของสัดส่วนกำลังพลในทุกระดับ มุ่งสู่ “การเป็นกองทัพที่กะทัดรัด ทันสมัย มีการบริหารจัดการกำลังพลที่มีประสิทธิภาพ” ในการนี้ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการปรับลดกำลังพลตามแผนข้างต้น โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหาความคับคั่งของกำลังพลในกลุ่มชั้นยศสูงซึ่งเป็นปัญหาในการบริหารจัดการกำลังพลของ กห. ในปัจจุบัน สืบเนื่องมาจากการผลิตกำลังพลจำนวนมากเพื่อรองรับสถานการณ์ความมั่นคงในอดีต ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการกำลังพลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การจัดทำแนวทางการดำเนินโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของ กห. โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะกลุ่ม จึงเป็นเครื่องมือที่จะสามารถแก้ไขปัญหาด้านกำลังพลของ กห. ได้ตรงจุด ซึ่งจะส่งผลให้ กห. เกิดความสมดุลของสัดส่วนกำลังพลในทุกระดับ รวมถึงเป็นการประหยัดงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐในระยะยาว ทำให้การพัฒนาระบบบริหารจัดการของ กห. และการพัฒนากองทัพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นการสนับสนุนนโยบายและเจตนารมณ์ของรัฐบาลในปัจจุบัน
2. โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของ กห. มีหลักการเป็นการจูงใจข้าราชการทหารที่ดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายทหารปฏิบัติการและประจำหน่วยให้ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุราชการโดยสมัครใจ เพื่อลดความคับคั่งของกำลังพลในกลุ่มชั้นยศสูง โดยให้ข้าราชการทหารที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น ต้องเป็นทหารชั้นยศ พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอกขึ้นไป ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒิ นายทหารปฏิบัติการ และประจำหน่วยที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และมีเวลาราชการ 25 ปีขึ้นไป (ไม่รวมเวลาราชการทวีคูณ)] ที่ลาออกจากราชการก่อนเกษียณอายุได้รับสิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินก้อน 7 - 10 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย รวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) โดยไม่รวมเงินหรือค่าตอบแทนพิเศษอื่น ๆ ตามสูตรการคำนวณ ดังนี้
เงินก้อน = [5 + อายุราชการที่เหลือ (ปี)] X เงินเดือนเดือนสุดท้ายรวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี)
แต่สูงสุดไม่เกิน 10 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย รวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี)
นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เช่น การยกเว้นภาษีเงินก้อนที่ได้รับตามโครงการ การยกเว้นภาษีในส่วนของเงินที่ได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น
3. กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การจ่ายเงินช่วยเหลือตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของ กห. ประจำปีงบประมาณ พุทธศักราช 2568 - 2570 ถูกต้องตามกฎหมายและเพื่อให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของกระทรวงกลาโหม พ.ศ. .... มาเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
1. บทนิยาม |
· “ข้าราชการทหาร” หมายความว่า ข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบราชการทหาร · “โครงการ” หมายความว่า โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของ กห. ประจำปีงบประมาณ พุทธศักราช 2568 - 2570 · “เงินเดือนเดือนสุดท้าย” หมายความว่า เงินเดือนที่ได้รับจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนเดือนสุดท้ายที่ออกจากราชการ รวมทั้งเงินเดือนที่ได้เลื่อนครั้งสุดท้ายก่อนออกจากราชการ และเงินประจำตำแหน่งแต่ไม่รวมถึงเงินเพิ่มทุกประเภท · “เงินช่วยเหลือ” หมายความว่า เงินที่จ่ายให้แก่ข้าราชการทหารซึ่งได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตามโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของ กห. · “เวลาราชการ” หมายความว่า เวลาที่ข้าราชการทหารรับราชการมาตั้งแต่ต้นจนถึงวันสุดท้ายที่ได้รับเงินเดือนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการแต่ไม่รวมถึงเวลาราชการที่มีสิทธิได้นับเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ · “เวลาราชการที่เหลือ” หมายความว่า เวลาตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการจนถึงวันที่ 30 กันยายน ของปีงบประมาณที่ข้าราชการทหารผู้ประสงค์จะลาออกจากราชการมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ |
2. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการ |
· ต้องเป็นข้าราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบราชการทหาร · ต้องเป็นข้าราชการทหารขั้นยศ พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก (อัตราเงินเดือนพันเอกพิเศษ นาวาเอกพิเศษ นาวาอากาศเอกพิเศษ) ขึ้นไป ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ผู้ทรงคุณวุฒินายทหารปฏิบัติการ และประจำหน่วย ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และมีเวลาราชการ 25 ปีขึ้นไป (ไม่รวมเวลาราชการทวีคูณ) ทั้งนี้ ให้นับถึงวันก่อนวันที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตามโครงการ (วันที่ 30 กันยายน) · มีเวลาราชการเหลือ 2 ปีขึ้นไปนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตามโครงการ (วันที่ 1 ตุลาคม) [การนับเวลาราชการที่เหลือ ให้คำนวณเป็นปี แต่ถ้ามีเศษของปีถึงครึ่งปีให้ได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอีกครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเดือนสุดท้าย] · ไม่เป็นผู้อยู่ระหว่างถูกสั่งพักราชการ ถูกสอบสวน หรือสอบหาข้อเท็จจริงทางวินัย พิจารณาโทษทางวินัย รายงานการลงโทษทางวินัย หรือพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย หรือไม่เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาซึ่งมิใช่ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือไม่ตกเป็น บุคคลล้มละลายตามคำพิพากษาของศาล · ไม่เป็นผู้ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องปลดออกจากราชการในทุกกรณี หรือมีผลการสอบสวนพิจารณาให้ปลดออกจากราชการ แต่อยู่ในระหว่างดำเนินการปลดออกจากราชการ หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลายเพราะทำหนี้สินขึ้น · ถ้าเป็นผู้อยู่ระหว่างปฏิบัติราชการชดใช้ตามสัญญาที่ได้ทำไว้กับส่วนราชการในการไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย จะต้องปฏิบัติราชการชดใช้มาแล้วไม่น้อยกว่าระยะเวลาศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัยและจะต้องยินยอมชดใช้เงินตามสัญญาผูกพันที่ได้ทำไว้กับราชการสำหรับเวลาที่ยังปฏิบัติราชการชดใช้ไม่ครบ · กรณีที่ทางราชการตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการมีหนี้สินกับทางราชการผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องมีหนังสือยินยอมให้หักหนี้สินจากสิทธิประโยชน์ (เงินก้อนและหรือเงินบำนาญ) ที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับ |
3. สิทธิประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมโครงการ |
· สิทธิประโยชน์ที่เป็นเงินก้อน 7 - 10 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย รวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) โดยไม่รวมเงินหรือค่าตอบแทนพิเศษอื่น ๆ ตามสูตรการคำนวณ ดังนี้ เงินก้อน = [5 + อายุราชการที่เหลือ (ปี) X เงินเดือนเดือนสุดท้ายรวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) แต่สูงสุดไม่เกิน 10 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้าย รวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) ทั้งนี้ การเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กค. กำหนด |
4. ระยะเวลาโครงการ |
· 3 ปีต่อเนื่อง เริ่มจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (ออกจากราชการ 1 ตุลาคม 2567) |
5. ข้อกำหนดอื่น ๆ |
· กรณีข้าราชการทหารซึ่งมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการถึงแก่ความตายก่อนได้รับเงินช่วยเหลือ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีสิทธิรับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (บุตร บิดา มารดา พี่น้องร่วมบิดามารดา เป็นต้น) · ภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการ หากข้าราชการทหารซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ส่วนราชการเรียกเงิน ช่วยเหลือคืน ภายในเวลาและตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กค. กำหนด · ห้ามบรรจุกลับเข้ารับราชการประจำในฝ่ายบริหาร หรือส่วนราชการสังกัดรัฐสภาอีก (หากกลับเข้ารับราชการอีก จะต้องคืนเงินช่วยเหลือที่ได้รับทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ย) · หากประสงค์บรรจุเป็นพนักงานราชการ หรือพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ให้บรรจุได้ในกรณีมีสัญญาจ้างไม่เกิน 1 ปี โดยไม่มีการต่อสัญญาอีก (หากมีสัญญาจ้างเกิน 1 ปี จะต้องคืนเงิน ช่วยเหลือที่ได้รับทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ย) |
ตารางเปรียบเทียบกับการดำเนินโครงการที่ผ่านมา
ประเด็น |
โครงการเกษียณอายุราชการ ก่อนกำหนดฯ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 - 2561 |
โครงการที่เสนอคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ |
1. คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ |
· เป็นข้าราชการทหารทุกขั้นยศที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือ มีเวลารับราชการ 25 ปีขึ้นไป (ไม่รวมเวลาราชการทวีคูณ) และมีเวลาราชการเหลือตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป |
· เป็นข้าราชการทหารชั้นยศ พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก (อัตราเงินเดือนพันเอกพิเศษ นาวาเอกพิเศษ นาวาอากาศเอกพิเศษ) ขึ้นไปซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ พิเศษผู้ทรงคุณวุฒิ นายทหารปฏิบัติการ และประจำหน่วย ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และมีเวลาราชการ 25 ปีขึ้นไป (ไม่รวมเวลาราชการทวีคูณ) และมีเวลาราชการเหลือตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป (กำหนดกลุ่มเป้าหมายจำกัดเฉพาะกำลังพลในกลุ่มชั้นยศสูง เพื่อแก้ปัญหาตามสถานภาพกำลังพลของ กห. ในปัจจุบัน) |
2. สิทธิประโยชน์ |
· เงินก้อน 10 - 15 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้ายรวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) แต่สูงสุดไม่เกิน 15 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้ายรวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) |
· เงินก้อน 7 - 10 เท่าของเงินเดือนเดือนสุดท้ายรวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) แต่สูงสุดไม่เกิน 10 เท่าของเงินเดือน เดือนสุดท้ายรวมเงินประจำตำแหน่ง (ถ้ามี) |
3. เงื่อนไข |
· ห้ามบรรจุกลับเข้ารับราชการประจำ · ห้ามทำสัญญาจ้างกลับเข้าเป็นพนักงานราชการ (เว้นแต่มีระยะเวลาสัญญาจ้างไม่เกิน 1 ปี) (ไม่ได้มีการยุบเลิกตำแหน่ง) |
· ห้ามบรรจุกลับเข้ารับราชการประจำ · ห้ามทำสัญญาจ้างกลับเข้าเป็นพนักงานราชการ (เว้นแต่มีระยะเวลาสัญญาจ้างไม่เกิน 1 ปี) (มีการยุบเลิกตำแหน่ง) |
4. กค. ได้จัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยการดำเนินโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของ กห. จะใช้เงินงบบุคลากรของ กห. ภายในกรอบวงเงิน 600 ล้านบาท โดยไม่ต้องของบกลางเพิ่มเติม ระยะเวลาการดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2568 - พ.ศ. 2570 (วงเงิน 200 ล้านบาท/ปี) โดยประมาณการผู้เข้าร่วมโครงการฯ รวม 3 ปี ประมาณ 732 นาย (ปีละ 244 นาย) ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งของกำลังพลในกลุ่มชั้นยศสูงซึ่งเป็นปัญหาในการบริหารจัดการกำลังพลของ กห. ในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความสมดุลของสัดส่วนกำลังพลในทุกระดับ รวมถึงเป็นการประหยัดงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐในระยะยาว ทำให้การพัฒนาระบบบริหารจัดการของ กห. และการพัฒนากองทัพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตรงตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและเป็นการสนับสนุนนโยบายและเจตนารมณ์ของรัฐบาลในปัจจุบัน
3. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้บริเวณหมู่เกาะมัน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้บริเวณหมู่เกาะมัน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาโดยให้รับความเห็นของกระทรวงกลาโหมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญในร่างกฎกระทรวง
ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้บริเวณหมู่เกาะมัน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้บริเวณหมู่เกาะมัน อำเภอ แกลง จังหวัดระยอง เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อประโยชน์ในการสงวน การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงสภาพธรรมชาติและมีสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดนิยามคำว่า “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ”
2. กำหนดพื้นที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ดังนี้
(1) บริเวณที่ 1 พื้นที่บนแผ่นดินนับจากแนวชายฝั่งที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดเข้าไปในแผ่นดินของเกาะมันใน กำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์และการศึกษาวิจัย (บริเวณหินต่อยหอย)
(2) บริเวณที่ 2 บริเวณแนวปะการังของเกาะมันใน และพื้นที่น่านน้ำทะเลภายในเส้นล้อมรอบตามกฎกระทรวงนี้ กำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์และการศึกษาวิจัย (บริเวณเกาะมันใน)
(3) บริเวณที่ 3 พื้นที่ตั้งแต่แนวน้ำขึ้นสูงสุดลงมา จนถึงแนวปะการังธรรมชาติของเกาะมันนอก มันกลาง หินฝรั่ง และหินต่อยหอย และพื้นที่น่านน้ำทะเลภายในเส้นล้อมรอบตามพิกัดแผนที่แนบท้าย (บริเวณเกาะมันกลาง)
(4) บริเวณที่ 4 พื้นที่น่านน้ำทะเลถัดจากบริเวณที่ 2 และ 3 (บริเวณเกาะมันนอก และหินญวน (หินฝรั่ง)
3. กำหนดให้ภายในพื้นที่ตามข้อ 2 ห้ามกระทำหรือประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การทิ้งขยะ ปล่อยน้ำเสีย การทำประมง การก่อสร้าง การทำเหมืองแร่ในทะเล การจอดเรือโดยการทอดสมอเรือในบริเวณแนวปะการัง เป็นต้น
4. กำหนดให้การประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำในบริเวณที่ 2 และบริเวณที่ 3 ต้องดำเนินการตามมาตรการ หลักเกณฑ์ และวิธีการ ตามที่ประกาศกำหนด
5. ให้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบ กำกับดูแลและออกหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติอื่นใดเพิ่มเติมเพื่อการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งบริเวณหมู่เกาะมัน หรือแต่งตั้งคณะทำงานอื่นใดเพื่อปฏิบัติงานตามที่จำเป็น โดยรับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดระยอง
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบอร์ดจ่ายไฟฟ้าประสงค์ให้ใช้งานโดยบุคคลทั่วไปต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชุดประกอบสวิตช์เกียร์และเกียร์ควบคุมไฟฟ้าแรงดันต่ำ เล่ม 3 บอร์ดจ่ายไฟฟ้าประสงค์ให้ใช้งานโดยบุคคลทั่วไป พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบอร์ดจ่ายไฟฟ้าประสงค์ให้ใช้งานโดยบุคคลทั่วไปต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญ
ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบอร์ดจ่ายไฟฟ้าประสงค์ให้ใช้งานฯ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชุดประกอบสวิตช์เกียร์และเกียร์ควบคุมไฟฟ้าแรงดันต่ำ มาตรฐานเลขที่ มอก. 1436-2540 เนื่องจากประกาศใช้เกิน 5 ปี (มาตรฐานบังคับ) และเพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชาการและมาตรฐานระหว่างประเทศที่แก้ไขปรับปรุงเป็นอนุกรม โดยการรับมาตรฐานระหว่างประเทศมาใช้โดยวิธีการพิมพ์ซ้ำในระดับเหมือนกันทุกประการ รวม 7 มาตรฐาน ซึ่งมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชุดประกอบสวิตช์เกียร์และเกียร์ควบคุมไฟฟ้าแรงดันต่ำเล่ม 3 บอร์ดจ่ายไฟฟ้าประสงค์ให้ใช้งานโดยบุคคลทั่วไป มาตรฐานเลขที่ มอก. 436 เล่ม 3-2564 เป็นหนึ่งในอนุกรมมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมชุดประกอบสวิตช์เกียร์ควบคุมไฟฟ้าแรงดันต่ำ เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ รวมทั้งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีความปลอดภัยในการใช้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้ทำหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบอร์ดจ่ายไฟฟ้าประสงค์ให้ใช้งานโดยบุคคลทั่วไป จะต้องขอรับใบอนุญาตทำหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าว และผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบอร์ดจ่ายไฟฟ้าประสงค์ให้ใช้งานโดยบุคคลทั่วไปจะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวที่ได้รับใบอนุญาตและเป็นไปตามมาตรฐานโดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
5. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนิการต่อไปได้ รวมทั้ง ให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญในร่างพระราชกฤษฎีกา
1. พระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นกฎหมายอนุวัติการพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ เพื่อการรวบรวมกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศ ซึ่งทำขึ้น ณ เมืองมอนตริออล เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 หรืออนุสัญญามอนตริออล ค.ศ. 1999 ซึ่งพระราชบัญญัติฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศที่มีต่อคนโดยสาร สัมภาระของคนโดยสาร และของตามสัญญารับขน ผู้ตราส่ง และผู้รับตราส่ง รวมทั้งกำหนดเกณฑ์การจำกัดความรับผิด (limits of liability) โดยกำหนดเป็นหน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights ; SDR) และมาตรา 7 บัญญัติให้เกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัตินี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
2. ปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศ พ.ศ. 2563 มาตรา 3 บัญญัติให้เปลี่ยนแปลงเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง ดังนี้
เกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในกรณีต่าง ๆ |
หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน |
คนโดยสารถึงแก่ความตายหรือได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย (มูลค่าความเสียหายที่ผู้ขนส่งไม่อาจบอกปัดหรือจำกัดได้) (มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ) |
128,821 (ประมาณ 5,462,491 บาท) |
ความล่าช้าในการรับขนคนโดยสาร (มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ) |
5,346 (ประมาณ 226,690 บาท) |
สัมภาระลงทะเบียนถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือสัมภาระล่าช้า (มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ) |
1,288 (ประมาณ 54,616 บาท) |
ของถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือสัมภาระล่าช้า (มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนทางอากาศฯ) |
22/กิโลกรัม (ประมาณ 933 บาท) |
3. ต่อมาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในฐานะผู้เก็บรักษา (Depository) ของอนุสัญญาเพื่อการรวบรวมกฎเกณฑ์บางประการเกี่ยวกับการรับขนระหว่างประเทศทางอากาศ ค.ศ.1999 ได้แจ้งผลการทบทวนเกณฑ์จำกัดความรับผิดว่าเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามอนุสัญญามอนตริออล ค.ศ.1999 ที่ทบทวนตามรอบระยะเวลา 5 ปี (ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2019 ถึง ค.ศ. 2023) โดยอ้างอิงตามอัตราเงินเฟ้อสะสมซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.9 ตามตารางอัตราเงินเฟ้อ-ดัชนีราคาผู้บริโภค (Inflation, Consumer Price Index: CPI) (เกินร้อยละ 10 จากรอบระยะเวลาที่ทบทวนครั้งล่าสุด เมื่อปี ค.ศ. 2009) โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป เนื่องจากไม่มีกรณีรัฐภาคีส่วนใหญ่แจ้งไม่เห็นด้วยกับการทบทวนดังกล่าว ดังนั้น ICAO จึงขอให้รัฐภาคีอนุสัญญามอนตริออล ค.ศ. 1999 ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายภายในของตน เพื่อให้เกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งที่ทบทวนดังกล่าวมีผลใช้บังคับและเป็นไปตามพันธกรณีของรัฐภาคีตามอนุสัญญามอนตริออล ค.ศ. 1999 ต่อไป
4. คค. จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงเกณฑ์จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการรับขนทางอากาศระหว่างประเทศในส่วนมูลค่าความเสียหายที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อคนโดยสาร สัมภาระของคนโดยสาร และของตามสัญญารับขน ในกรณีที่คนโดยสารถึงแก่ความตาย บาดเจ็บทางร่างกายการล่าช้าในการรับขนคนโดยสาร สัมภาระถูกทำลาย สูญหาย เสียหายหรือสัมภาระล่าช้า และในกรณีที่ของที่ขนส่งถูกทำลาย สูญหาย เสียหายหรือขนส่งของล่าช้า ให้มีความเหมาะสมตามสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและเพื่อให้คนโดยสาร ผู้ตราส่ง หรือผู้รับตราส่ง ได้รับการชดเชยความเสียหายอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อสะสมที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศ และผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการผลักดันประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) อีกด้วย ซึ่ง คค. ดำเนินการซักซ้อมความเข้าใจ และจัดเตรียมความพร้อมของผู้ขนส่งในการดำเนินการให้เป็นไปตามเกณฑ์จำกัดความรับผิดตามอนุสัญญามอนตริออล ค.ศ. 1999 ที่ได้ปรับแก้ใหม่นี้ด้วยแล้ว ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงเพดานจำนวนค่าเสียหายที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อคนโดยสาร สัมภาระของคนโดยสาร และของตามสัญญารับขน เพื่อให้เป็นไปตามข้อเสนอของ ICAO ที่ให้ปรับปรุงจำนวนค่าเสียหายโดยอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อสะสมซึ่งเพิ่มขึ้น ดังนี้
4.1 กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการที่คนโดยสารถึงแก่ความตาย หรือได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย ให้เป็น 151,880 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารแต่ละคน (โดยประมาณ 6,760,953 บาท ต่อคนโดยสาร)
4.2 กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีล่าช้าในการรับขนคนโดยสาร ให้เป็น 6,303 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารแต่ละคน (โดยประมาณ: 280,579 บาท ต่อคนโดยสาร)
4.3 กรณีที่สัมภาระถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือในกรณีที่สัมภาระล่าช้า ให้เป็น 1,519 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อคนโดยสารแต่ละคน (โดยประมาณ 67,618 บาท ต่อคนโดยสาร)
4.4 กรณีที่ของถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหาย หรือในกรณีที่ของล่าช้า ให้เป็น 26 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงินต่อหนึ่งกิโลกรัม (โดยประมาณ 1,157 บาทต่อหนึ่งกิโลกรัม)
ทั้งนี้ ผู้ขนส่งทางอากาศต้องรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability) ตามเกณฑ์จำกัดความรับผิดตามร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ผู้ขนส่งจะปฏิเสธว่าตนไม่จงใจ หรือประมาทเลินเล่อให้เกิดความเสียหายไม่ได้ อีกทั้ง เกณฑ์จำกัดความรับผิดดังกล่าวจะเป็นข้อมูลที่บริษัทประกันภัย (ผู้รับทำประกัน) จะใช้ประมาณการความเสียหายในการทำประกันความรับผิดของผู้ขนส่งทางอากาศ (ผู้เอาประกันภัย) กับบริษัทประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยง ซึ่งหากเกิดความเสียหายในกรณีตามข้อ 4.1 ถึงข้อ 4.4 จะมีการชดเชยความเสียหายตามที่เกิดความเสียหายขึ้นจริงและเป็นไปตามที่มีการพิสูจน์ได้ว่ามีความเสียหายจริง และแม้ว่ายังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ ผู้ขนส่งทางอากาศได้ปรับจำนวนเงินเอาประกันความรับผิดที่ครอบคลุมความรับผิดตามสัญญาประกันภัยการรับขนทางอากาศให้เป็นไปตามเกณฑ์จำกัดความรับผิดที่เป็นสากลตามอนุสัญญามอนตริออล ค.ศ. 1999 ด้วยแล้ว เพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงภัยในความรับผิดและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ในการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ
ข้อบทในอนุสัญญา ค.ศ. 1999 |
เกณฑ์จำกัดความรับผิดดั้งเดิม (SDRs) |
การแก้ไขเกณฑ์จำกัดความรับผิด (SDRs) (ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2019)
|
เกณฑ์จำกัดความรับผิดครั้งนี้ |
|
(SDRs) |
เงินบาท*โดยประมาณ |
|||
ข้อ 21 คนโดยสารถึงแก่ความตาย หรือได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย |
100,000 (ต่อคนโดยสาร) |
128,821 (ต่อคนโดยสาร) |
151,880 (ต่อคนโดยสาร) |
6,760,953 (ต่อคนโดยสาร) |
ข้อ 22 วรรคหนึ่ง ความล่าช้าในการรับขนคนโดยสาร |
4,150 (ต่อคนโดยสาร) |
5,346 (ต่อคนโดยสาร) |
6,303 (ต่อคนโดยสาร) |
280,579 (ต่อคนโดยสาร) |
ข้อ 22 วรรคสอง สัมภาระถูกทำลาย
|
1,000 (ต่อคนโดยสาร) |
1,288 (ต่อคนโดยสาร) |
1,519 (ต่อคนโดยสาร) |
67,618 (ต่อคนโดยสาร) |
ข้อ 22 วรรคสาม ของ (Cargo) ถูกทำลายสูญหายหรือเสียหาย หรือของล่าช้า |
17 (ต่อหนึ่งกิโลกรัม) |
22 (ต่อหนึ่งกิโลกรัม) |
26 (ต่อหนึ่งกิโลกรัม) |
1,157 (ต่อหนึ่งกิโลกรัม) |
*หมายเหตุ: คำนวณเกณฑ์จำกัดความรับผิดที่อาจมีการปรับแก้เพิ่มเติมตามที่ ICAO ได้แจ้ง โดยนำข้อมูลจาก
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2567 มาคำนวณเพื่อประกอบการพิจารณาทบทวน และเมื่อมีการปริวรรตเป็นเงินบาท โดย 1 SDRs เท่ากับ 1.33 USD และ 1 USD เท่ากับ 33.47 บาท
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
6. เรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดให้บุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดให้บุคคลธรรมดาและห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และส่งให้คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วนที่มิได้จดทะเบียนเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี พ.ศ. 2544 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับงาช้างเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี พ.ศ. 2551 เพื่อให้บุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้มีไว้เพื่อจำหน่าย ผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักร หรือผู้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งสินค้าประเภทแถบเสียงเพลง แถบวิดีทัศน์ และแผ่นซีดี หรือผู้ประกอบธุรกิจโรงงานแปรสภาพ แกะสลักและการทำหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีก การค้าส่งงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง ไม่เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีอีกต่อไป เนื่องจากปัจจุบันผลิตภัณฑ์ซีดีไม่ได้รับความนิยม โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ซีดีได้ปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก และการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เปลี่ยนรูปแบบจากการทำซ้ำแผ่นซีดีเป็นการละเมิดทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี พ.ศ. 2548 ในส่วนมาตรการควบคุมการค้า การนำเข้าส่งออก การนำผ่านและการครอบครองงาช้าง จะเป็นไปตามพระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะสามารถออกกฎเกณฑ์เพื่อให้รวบรวมข้อมูลครบถ้วนได้1 ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้บุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ซีดีและงาช้างเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 อีก ดังนั้น การยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ทั้ง 2 ฉบับ จึงเป็นการยกเลิกกฎที่หมดความจำเป็น ลดภาระของผู้ประกอบการ และลดความซ้ำซ้อนของกฎหมาย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศดังกล่าวแล้ว ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้วเห็นชอบในหลักการ อย่างไรก็ดีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า หากยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับงาช้างเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี พ.ศ. 2551 อาจทำให้การรายงานข้อมูลไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งประเด็นดังกล่าวกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแจ้งว่า ได้มีประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการค้างาช้าง พ.ศ. 2558 โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผู้ค้างาช้างลงบันทึกทั้งบัญชีการได้มาซึ่งงาช้าง (แบบ งช.9) บัญชีการได้มาซึ่งงาช้างเพิ่มเติมจากที่แจ้งไว้ (แบบ งช.10) บัญชีการแปรสภาพงาช้างหรือเปลี่ยนรูปร่างงาช้าง (แบบ งช.11) และบัญชีการค้างาช้าง (แบบ งช.12) ซึ่งรายการที่กำหนดไว้ในแบบฟอร์มต่าง ๆ เป็นรายการที่ต้องมีในบัญชีสินค้าตามประกาศกรมทะเบียนการค้า เรื่อง กำหนดชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชี ระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชี และเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี พ.ศ. 2544 แล้ว
_________________________
1มาตรา 18 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. 2558 บัญญัติให้การยื่นคำขออนุญาตและการจัดทำบัญชีการได้มา การแปรรูปและการค้างาช้าง และการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เศรษฐกิจ-สังคม
7. เรื่อง แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) (แผนปฏิบัติการฯ) และมอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนข้อเสนอดังกล่าวให้เกิดผลในทางปฏิบัติตามที่คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม (คสป.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570) ที่ คสป. นำเสนอคณะรัฐมนตรีเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากแผนปฏิบัติการระยะที่ 1 (พ.ศ. 2564 - 2565) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (30 มีนาคม 2564) เห็นชอบ เพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางการส่งเสริมองค์กรภาคประชาสังคม ให้ภาคีภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ภายใต้กรอบแนวคิดหลัก คือ กระแสการพัฒนาโลกให้ความสำคัญกับองค์กรภาคประชาสังคมในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ โดยแผนปฏิบัติการดังกล่าวประกอบด้วยแผนงาน 4 แผนงาน ได้แก่ (1) การพัฒนานโยบาย กฎหมาย มาตรการ ในการสร้างความเข้มแข็งองค์กรภาคประชาสังคม (2) การพัฒนาขีดความสามารถองค์กรภาคประชาสังคมต่อการเข้าถึงทรัพยากร (3) การเสริมศักยภาพการทำงานองค์กรภาคประชาสังคมให้มีสมรรถนะในการทำงานเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสังคมที่ซับซ้อน และ (4) การพัฒนานวัตกรรม กลไก ระบบฐานข้อมูล องค์ความรู้และสื่อสาธารณะเพื่อยกระดับคุณภาพการทำงานองค์กรภาคประชาสังคมให้เกิดความเข้มแข็งและความร่วมมือในการทำงานกับภาคีทุกภาคส่วน ซึ่งในแต่ละแผนงานจะมีการกำหนดกลยุทธ์และโครงการที่จะดำเนินการตามกลยุทธ์รวมทั้งสิ้น 32 โครงการ ภายใต้กรอบวงเงินทั้งสิ้น 105.4 ล้านบาท โดยแผนปฏิบัติการฯ ฉบับนี้มีกรอบแนวคิด วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และการดำเนินการ ที่สอดคล้องและต่อเนื่องจากแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 1 แต่จะมุ่งเน้นไปที่การยกระดับและพัฒนาศักยภาพหรือขีดความสามารถให้องค์กรภาคประชาสังคมสามารถเป็นผู้ร่วมดำเนินการในบางภารกิจของภาครัฐผ่านการมีส่วนร่วมของกลไกรัฐในระดับท้องถิ่นกับองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายภาคส่วนอื่นในการทำงานเชิงหุ้นส่วนร่วมกันทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างสอดคล้องกับบริบทพื้นที่และบริบทประชากรแต่ละจังหวัด รวมทั้งเป็นกลไกช่วยเสริมสวัสดิการและความคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางสังคมต่อไป ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการฯ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้ว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่มีข้อขัดข้อง
8. เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 เพื่อขยายระยะเวลาตรึงกรอบอัตรากำลังขององค์การมหาชนและการขอทบทวนกรอบอัตรากำลังขององค์การมหาชน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) เสนอดังนี้
1. ให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 เรื่อง การกำหนดและทบทวนกรอบอัตรากำลังขององค์การมหาชนให้มีขนาดที่เหมาะสม ดังนี้
1.1 ขยายระยะเวลาการตรึงกรอบอัตรากำลังขององค์การมหาชนจาก “สิ้นสุดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” เป็น “สิ้นสุดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2570”
1.2 มอบหมายให้ กพม. พิจารณาทบทวนปรับปรุงกรอบอัตรากำลังขององค์การมหาชนในกรณีที่ไม่เพิ่มกรอบอัตรากำลังภาพรวม เพื่อให้สอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 เรื่อง การกำหนดและทบทวนกรอบอัตรากำลังขององค์การมหาชนให้มีขนาดที่เหมาะสม
2. ให้เพิ่มอัตรากำลังแก่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ) จำนวน 16 อัตรา และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ) จำนวน 46 อัตรา โดยมีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ และมีเงื่อนไขว่า สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำฯ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ฯ ต้องควบคุมกรอบวงเงินรวมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร หากมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเกินอัตราที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ให้คืนอัตรากำลังดังกล่าวภายใน 1 ปี โดยพิจารณาระยะเวลาของสัญญาจ้างให้เหมาะสมกับลักษณะงานสอดคล้องหรือรองรับหลักเกณฑ์การคืนอัตรากำลังตามเงื่อนไขข้างต้น
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 255 เห็นชอบแนวทางการกำหนดและทบทวนกรอบอัตรากำลังขององค์การมหาชนให้มีขนาดที่เหมาะสมโดยให้ตรึงกรอบอัตรากำลังขององค์การมหาชนจนถึงสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งขณะนี้ระยะเวลาการตรึงกรอบอัตรากำลังตามแนวทางดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า องค์การมหาชนส่วนใหญ่สามารถดำเนินภารกิจได้ภายใต้อัตรากำลังที่มี ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบให้ตรึงอัตรากำลังข้าราชการพลเรือนตามมาตรการบริหารจัดการกำลังคนภาครัฐ พ.ศ. 2566-2570 ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการดังกล่าว อีกทั้งเป็นการลดภาระงบประมาณภาครัฐและควบคุมอัตรากำลังขององค์การมหาชนซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน (กพม.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 จึงมีมติให้ขยายระยะเวลาการตรึงกรอบอัตรากำลังขององค์การมหาชนออกไปอีก 3 ปี จาก “สิ้นสุดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567” เป็น “สิ้นสุดในปีงบประมาณ พ.ศ. 2570”
2. แนวทางตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ได้กำหนดให้คณะกรรมการองค์การมหาชนสามารถเสนอต่อ กพม. เพื่อขอทบทวนกรอบอัตรากำลังขององค์การมหาชนและขอยกเว้นการดำเนินการในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน เช่น การเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การจัดตั้งองค์การมหาชน การปรับบทบาทภารกิจตามยุทธศาสตร์ชาติแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายของรัฐบาลให้เสนอ กพม. พิจารณาเป็นรายกรณี พร้อมแผนปรับปรุงโครงสร้างองค์กรและวิธีการปฏิบัติงานโดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ด้วย รวมทั้งต้องคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่ให้เกินกรอบวงเงินรวมที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (ไม่เกินร้อยละ 30 ของแผนการใช้จ่ายเงินประจำปี) โดย กพม. จะพิจารณากลั่นกรองและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติเป็นรายกรณี ซึ่ง กพม. ได้พิจารณาคำขอทบทวนกรอบอัตรากำลัง (มีองค์การมหาชนเสนอขอเพิ่มกรอบอัตรากำลังจำนวนทั้งสิ้น 4 แห่ง) และเห็นชอบให้เพิ่มกรอบอัตรากำลังขององค์การมหาชนจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ (1) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) จำนวน 16 อัตรา (เห็นชอบให้เพิ่มอัตรากำลังเฉพาะในภารกิจหลักที่ขับเคลื่อนผลผลิตที่สำคัญและเป็นภารกิจที่ต้องดำเนินการในระยะยาว) เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การจัดตั้งหน่วยงานและมีภารกิจที่เพิ่มขึ้น และ (2) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จำนวน 46 อัตรา (เห็นชอบเพิ่มอัตรากำลังเฉพาะในส่วนงานที่มีนโยบายหรือมติคณะรัฐมนตรีรองรับหรือเกี่ยวข้องกับภารกิจสำคัญ) เนื่องจากได้รับภารกิจตามนโยบาย/โครงการสำคัญเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ทั้ง 2 หน่วยงานมีเงินทุนสะสมและรายได้เพียงพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายสำหรับอัตรากำลังที่ขอเพิ่ม
3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 27 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สบร.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พิจารณาแล้วส่วนใหญ่เห็นชอบตามที่ กพม. เสนอ
9. เรื่อง ขอยกเว้นมติคณะรัฐมนตรีที่ห้ามใช้ประโยชน์ในเขตป่าที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นสมบัติของชาติป่าฝั่งซ้ายห้วยศาลาพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาบริเวณจุดชมวิวผาพญากูปรีท้องที่ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 เรื่อง ขอผ่อนผันใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ เพื่อก่อสร้างทางเพื่อความมั่นคง เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาบริเวณจุดชมวิวผาพญากูปรี ท้องที่ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์จังหวัดศรีสะเกษ (โครงการพัฒนาจุดชมวิวผาพญากูปรีฯ) เพื่อนำข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุญาตของกรมป่าไม้ต่อไป ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยองค์การบริหารส่วนตำบลไพรพัฒนา (อบต. ไพรพัฒนา) ได้ดำเนินโครงการพัฒนาบริเวณจุดชมวิวผาพญากูปรี ท้องที่ตำบลไพร อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ (โครงการพัฒนาจุดชมวิวผาพญากูปรีฯ) ซึ่งมีการก่อสร้าง สิ่งปลูกสร้าง เช่น ห้องน้ำ ลานจอดรถ สวนหย่อม ร้านอาหาร เป็นต้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐาน สามารถรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ และสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวแก่ชุมชน มาตั้งแต่ปี 2558 แต่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และยังไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ (23 มิถุนายน 2563) ให้ส่วนราชการที่เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ก่อนได้รับอนุญาตยื่นคำขออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าไม้ประกอบกับ มท.มีแผนพัฒนาโครงการเพิ่มเติม จึงยื่นคำขออนุญาตโดยต้องจัดทำรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Accounting Report: รายงาน EAR) เนื้อที่ 14 ไร่ 2 งาน ซึ่งคณะกรรมการเพื่อพิจารณารายการข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมได้เห็นชอบรายงาน EAR แล้ว แต่โดยที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แจ้งว่าเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ มท. ต้องขอผ่อนผันมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2532 ที่ไม่อนุมัติให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ อีกไม่ว่ากรณีใดก่อนดำเนินการต่อไป
2. อบต. ไพรพัฒนาจะพัฒนาโครงการพัฒนาจุดชมวิวผาพญากูปรีฯ เพิ่มเติมในขอบเขตพื้นที่เดิมที่มีการเปิดใช้ประโยชน์แล้ว โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน ดังนี้
พื้นที่ |
การใช้ประโยชน์ |
เนื้อที่ (ไร่ - งาน) |
โซนแปลง A |
สำหรับเป็นที่จอดรถ ห้องสุขา อาคารประชาสัมพันธ์ ร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกและสินค้าชุมชน |
6 - 2 |
โซนแปลง B |
สำหรับเป็นศาลาที่พัก สวนหย่อมร้านอาหาร และจุดชมวิว (SKY WALK) |
7 - 2 |
โซนแปลง C |
สำหรับเป็นเส้นทางเดินในการศึกษาธรรมชาติ |
0 - 2 |
รวม |
14 - 2 |
ซึ่ง อบต. ไพรพัฒนาได้กำหนดการพัฒนาเพิ่มเติมจากที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเป็น 2 ส่วน ได้แก่
2.1 ส่วนการพัฒนาด้านสิ่งปลูกสร้าง ได้แก่ (1) จุดชมวิวสกายวอล์ค (Skywalk) หรือสะพานลอยเดินเท้า (2) ปรับปรุงทัศนียภาพภูมิทัศน์โดยรอบและพัฒนาพื้นที่อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มศักยภาพบริเวณจุดชมวิวผาพญากูปรี เช่น ที่จอดรถ ร้านค้า อาคารประชาสัมพันธ์ และห้องน้ำ เป็นต้น
2.2 ส่วนสวนป่าสมุนไพรหรือแหล่งศึกษาธรรมชาติซึ่งจะพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่สวนป่าสมุนไพรให้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติ
ทั้งนี้ โครงการได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบด้านต่าง ๆ เพื่อที่จะบรรเทาผลกระทบจากกิจกรรมจากโครงการ ซึ่งจากรายงาน EAR โครงการพัฒนาจุดชมวิวผาพญากูปรีฯ ของ อบต. ไพรพัฒนาพบว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะอยู่ในระดับต่ำ
3. กระทรวงกลาโหม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม ทส. สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) และคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง
10. เรื่อง ขออนุมัติขยายระยะเวลาโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 [เรื่อง ขออนุมัติขยายระยะเวลาโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ)] ดังนี้ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ
สาระสำคัญ
วัน/เดือน/ปี |
มติคณะรัฐมนตรี |
16 มิถุนายน 2558 |
- เห็นชอบในหลักการโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ ตามที่ อก. เสนอ - ส่วนการดำเนินการและงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณที่ให้ อก. ดำเนินโครงการเฉพาะในส่วนศูนย์ทดสอบและสนามทดสอบยางล้อ (ศูนย์ทดสอบยางล้อฯ) ตามมาตรฐาน UNECE ก่อน ในวงเงิน 602.82 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี (พ.ศ. 2558 – 2559) ในส่วนของศูนย์ทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วนและสนามทดสอบยานยนต์ (ศูนย์ทดสอบ - ให้ อก. พิจารณาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงการใช้ยางพาราในประเทศ โดยให้นำยางพาราในประเทศไปใช้ในปริมาณที่สูงกว่าที่กำหนดเป้าหมายไว้ |
29 มีนาคม 2559 |
อนุมัติให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2558 โดยให้ อก. ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ ในส่วนของการทดสอบเพื่อรองรับรายการมาตรฐานที่จะบังคับหรือที่ต้องดำเนินการตามพันธกรณีข้อตกลงอาเซียนจำนวน 21 รายการ โดยเป็นการลงทุนเองของภาครัฐเฉพาะในส่วนนี้ วงเงินงบประมาณ รวม 3,705.7 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ดำเนินการจนแล้วเสร็จในช่วงปี พ.ศ. 2559 – 2563 ตามที่ อก. เสนอ ทั้งนี้ ให้ อก. ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ โดยคำนึงถึงการรองรับการทดสอบยางล้อที่มีส่วนผสมของยางพาราเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการยางพาราของรัฐ |
23 มีนาคม 2564 |
เห็นชอบให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 โดยให้ อก. ขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบ จาก ให้ดำเนินการจนแล้วเสร็จในช่วง ปี พ.ศ. 2559 – 2563 เป็น ให้ดำเนินการจนแล้วเสร็จในช่วงปี พ.ศ. 2559 – 2567 ตามที่ อก. เสนอ (วงเงินงบประมาณเท่าเดิม) |
2. ตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น โครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 9 ปี (พ.ศ. 2559 - 2567) ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าว ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้วทั้งสิ้น 2,669.09 ล้านบาท และแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ
2.1 ระยะที่ 1 ส่วนทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 ซึ่งประกอบด้วย สนามทดสอบยางล้อ อาคารสำนักงาน และอาคารปฏิบัติการทดสอบยางล้อ พร้อมระบบสาธารณูปโภคสำหรับใช้ในโครงการระยะที่ 1 โดยให้มีการดำเนินการจัดทำแผนหลักการใช้พื้นที่ในภาพรวมทั้งโครงการ (Master Plan and Layout) ปรับพื้นที่ 200 ไร่ ออกแบบและก่อสร้างสนามทดสอบยางล้อ พร้อมทั้งดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งชุดเครื่องมือทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 แล้วเสร็จ และเปิดให้บริการทดสอบแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2566 รวมทั้งได้ก่อสร้างอาคารสำนักงาน และระบบสาธารณูปโภคสำหรับโครงการระยะที่ 1 แล้วเสร็จ
2.2 ระยะที่ 2 ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งประกอบด้วย สนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ สนามทดสอบระบบเบรก สนามทดสอบระบบเบรกมือ สนามทดสอบพลวัต สนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง และระบบสาธารณูปโภค โดยได้มีการดำเนินการแล้ว ได้แก่ ปรับพื้นที่ 700 ไร่ ออกแบบสนามสำหรับทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน และก่อสร้างสนามทดสอบระบบเบรก/ระบบเบรกมือ สนามทดสอบพลวัต และสนามทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง พร้อมทั้งดำเนินการจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบเข็มขัดนิรภัยสำหรับรถยนต์ตามมาตรฐาน UN R16 ชุดเครื่องมือทดสอบจุดยึดเข็มขัดนิรภัย ระบบยึดแบบไอโซฟิก และจุดยึดไอโซฟิกทอปเทเทอร์ ตามมาตรฐาน UN R14 และชุดเครื่องมือทดสอบที่นั่ง จุดยึดที่นั่ง และพนักพิงศีรษะสำหรับใช้ในยานยนต์ ตามมาตรฐาน UN R17 และตามมาตรฐาน UN R25 แล้วเสร็จ
3. ปัจจุบันการดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ อยู่ในระหว่างดำเนินการในส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งต้องมีการดำเนินการปรับพื้นที่เพื่อติดตั้งชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนด้านหน้าตามมาตรฐาน UN R94 และเกิดการชนด้านข้างของยานยนต์ตามมาตรฐาน UN R95 (เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นเนิน ต้องปรับพื้นที่ดังกล่าวสำหรับการจัดทำฐานวางชุดเครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้พื้นที่มาก เพราะต้องมีพื้นที่เพียงพอในการนำรถยนต์ทั้งคันเข้าไปทำการทดสอบ รวมทั้งต้องจัดทำโครงหลังคาสำหรับคลุมพื้นที่ดังกล่าวด้วย) และดำเนินการก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 ทั้งนี้ ต้องใช้เวลาในการดำเนินโครงการจนถึงปี พ.ศ. 2570
4. ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางการทดสอบยานยนต์และยางล้อของภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับการทดสอบและรับรองยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และยางล้อ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพที่สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่สำคัญของโลก ซึ่งหากไม่ได้รับการขยายระยะเวลาโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบฯ และดำเนินการไม่แล้วเสร็จจะส่งผลกระทบต่อการเสียโอกาสในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์และยางล้อในการส่งออกยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทยในตลาดโลก และความเป็นศูนย์กลางในการผลิต การทดสอบยานยนต์และยางล้อของไทยในตลาดโลก และความเป็นศูนย์กลางในการผลิต การทดสอบยานยนต์และยางล้อที่ประเทศไทยเคยมีสมรรถนะและความได้เปรียบในอุตสาหกรรมดังกล่าว
5. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้ว ไม่มีข้อขัดข้อง/เห็นควรให้ความเห็นชอบตามที่ อก. เสนอ
11. เรื่อง มาตรการลดผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระยะวิกฤต ระหว่างวันที่ 25 – 31 มกราคม 2568 ภาคการคมนาคมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลและขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สำหรับดำเนินการตามมาตรการวงเงิน 190.43 ล้านบาท
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้หน่วยงานในสังกัด คค. และกรุงเทพมหานครใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 190.43 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามมาตรการลดผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระยะวิกฤต ระหว่างวันที่ 25 – 31 มกราคม 2568 ตามปริมาณผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง ตามความเห็นของ สงป.ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. คค. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) ได้จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของภาคคมนาคม ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อลดและบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และได้ดำเนินการติดตามผลการดำเนินงานสำหรับมาตรการระยะเร่งด่วน ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2567 – 15 มกราคม 2568 (ช่วงวิกฤติ) ดังนี้
1.1 มาตรการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ตรวจสภาพรถของหน่วยงาน (เป็นประจำทุกเดือน) ซึ่งมีจำนวนยานพาหนะที่ผ่านการบำรุงรักษา/ตรวจสอบ ประกอบด้วยรถยนต์ของหน่วยราชการจำนวน 6,528 คัน รถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกจำนวน 104,866 คัน เรือโดยสารสาธารณะจำนวน 35 ลำ ยานพาหนะ/เครื่องจักรผู้รับเหมา จำนวน 1,404 คัน/เครื่อง
1.2 มาตรการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ซึ่งมีระบบขนส่งสาธารณะที่เปลี่ยนมาใช้น้ำมัน B20/B10 ได้แก่ รถโดยสาร (B20) จำนวน 2,073 คัน หัวรถจักร (รถไฟ) (B20/B10) จำนวน 21 คัน
1.3 มาตรการแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ได้แก้ปัญหารถติดหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางของกรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และจัดให้มีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกหน้าด่านและติดตั้งระบบ M-Flow
1.4 มาตรการลดฝุ่น ซึ่งได้ดำเนินการปล่อยละอองน้ำลดฝุ่น จำนวน 80 จุด และควบคุมฝุ่นในพื้นที่ก่อสร้างจำนวน 81 จุด
2. ต่อมาในช่วงระหว่างวันที่ 20 – 24 มกราคม 2568 ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน คค. จึงเห็นว่าจำเป็นต้องมีมาตรการเสริมเพิ่มเติมเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองดังกล่าวลงทันทีและกลับมาอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะและลดจำนวนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล รวมทั้งกวดขันมาตรการอื่น ๆ ดังนี้
2.1 มาตรการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนบุคคลในช่วงเวลาวิกฤติ จากข้อมูลของกรุงเทพมหานครพบว่า แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาจากรถยนต์ส่วนบุคคลที่เป็นรถยนต์สันดาปภายในถึงร้อยละ 65 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ คค. กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จึงได้ร่วมกันดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ให้ใช้การยกเว้นค่าบริการ เป็นแรงจูงใจให้ประชาชนงดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะระยะเวลาดำเนินมาตรการ 7 วัน ตั้งแต่วันที่
25 - 31 มกราคม 2568 ประกอบด้วย
2.1.1 การยกเว้นค่าบริการรถโดยสารสาธารณะของ ขสมก. ประกอบด้วย รถโดยสารธรรมดา จำนวน 1,520 คัน และรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 1,364 คัน
2.1.2 การยกเว้นค่าบริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) สายนัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง) และสายสีชมพู รถไฟชานเมืองสายนครวิถีและธานีรัถยา (สายสีแดง) และรถไฟฟ้าและรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยได้มีมติอนุมัติแล้ว รวมทั้งรถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) และรถไฟฟ้าสายสีทอง
โดยมีสถิติปริมาณผู้โดยสารและรายได้เฉลี่ยต่อวันย้อนหลัง 7 วัน (ระหว่างวันที่ 17-23 มกราคม 2568) ที่เกิดขึ้นจริง สรุปได้ ดังนี้
โครงการ/บริการ |
ผู้โดยสาร (คน/วัน) |
รายได้ (ล้านบาท/วัน) |
รายได้รวม 7 วัน (ล้านบาท) |
ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (คค.) |
|||
1) โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) |
455,270 |
13.54 |
94.78 |
2) โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) |
70,444 |
1.03 |
7.21 |
3) โครงการรถไฟฟ้ามหานครสาย นัคราพิพัฒน์ (สายสีเหลือง) |
42,227 |
1.33 |
9.31 |
4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู |
58,485 |
1.91 |
13.37 |
5) รถไฟชานเมืองสายนครวิถี และธานีรัถยา (สายสีแดง) |
35,845 |
0.70 |
4.90 |
6) โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ |
71,040 |
2.09 |
14.63 |
รวม |
733,311 |
20.60 |
144.20 |
ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (กรุงเทพมหานคร) |
|||
1) รถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) |
752,880 |
19.01 |
133.07 |
2) รถไฟฟ้าสายสีทอง |
7,168 |
0.11 |
0.77 |
รวม |
760,048 |
19.12 |
133.84 |
รถโดยสารสาธารณะ (ขสมก.) |
|||
1) รถโดยสารธรรมดา |
261,123 |
2.09 |
14.60 |
2) รถโดยสารปรับอากาศ |
264,709 |
5.30 |
37.09 |
รวม |
525,832 |
7.39 |
51.69 |
รวมทั้งหมด |
2,019,191 |
47.11 |
329.73 |
2.2 มาตรการคุมเข้มตรวจค่าควันดำรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก โดยมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจวัดค่าควันดำอย่างจริงจังและครอบคลุมพื้นพื้นที่สำคัญ
2.3 มาตรการคุมเข้มพื้นที่ก่อสร้าง โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่มีพื้นที่ก่อสร้างในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้าบริหารจัดการพื้นที่ทันทีและให้ดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นในพื้นที่ก่อสร้างอย่างเคร่งครัด เช่น การฉีดพรมน้ำ การทำความสะอาดล้อรถที่เข้าออกพื้นที่ก่อสร้าง การกวาดล้างถนนที่เปื้อนดินจากการก่อสร้าง เป็นต้น
3. การดำเนินการตามมาตรการเพิ่มเติมตามข้อ 2 ได้รับประโยชน์ เช่น ช่วยลดปัญหาการจราจรและมลพิษที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยผู้โดยสารเข้ามาใช้ระบบขนส่งมวลชนเพิ่มขึ้น และปริมาณการจราจรลดลง ตลอดช่วงของ ขสมก. และการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ตั้งแต่วันที่ 25-31 มกราคม 2568 สรุปได้ ดังนี้
โครงการ/บริหาร/สายทาง/เส้นทาง |
ปริมาณผู้โดยสาร (ต่อเที่ยว) |
เปลี่ยนแปลง [เพิ่มขึ้น/(ลดลง)] |
||
ก่อนดำเนินการมาตรการ |
ระหว่างดำเนินมาตรการ |
จำนวน |
ร้อยละ |
|
(1) ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (คค.) เช่น โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) โครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น ที่มา: กรมการขนส่งทางราง |
5,087,960 คน |
7,069,181 คน |
1,981,221 คน |
38.94 |
(2) ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (กรุงเทพมหานคร) ได้แก่ รถไฟฟ้า ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) และรถไฟฟ้าสายสีทอง ที่มา: กรมการขนส่งทางราง |
5,301,806 คน |
7,437,031 คน |
2,135,225 คน |
40.27 |
(3) รถโดยสารสาธารณะ (ขสมก.) ทั้งรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสาร ปรับอากาศ ที่มา: ขสมก. |
3,589,264 คน |
5,007,869 คน |
1,418,605 คน |
39.52 |
(4) รถยนต์ส่วนบุคคลบนสายทางพิเศษ เช่น สายศรีรัช สายเฉลิมมหานคร สายกาญจนาภิเษก เป็นต้น ที่มา: การทางพิเศษแห่งประเทศไทย |
11,668,280 คัน |
11,612,088 คัน |
(56,192 คัน) |
(0.48) |
(5) รถยนต์ส่วนบุคคลบนท้องถนน เช่น ถนนพระราม 4 และถนนพหลโยธิน ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
|
32,635 คัน |
29,184 คัน |
(3,451 คัน) |
(10.57) |
3.2 ลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ประหยัดเวลาในการเดินทางลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุทางถนน และลดการใช้พลังงานน้ำมัน
3.3 กระตุ้นให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นการสร้างความคุ้นเคยและแรงจูงใจให้กับประชาชนกลุ่มที่ไม่เคยใช้ระบบขนส่งสาธารณะมาก่อน ให้เข้ามาใช้ระบบขนส่งสาธารณะในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป
4. มาตรการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนบุคคลในช่วงเวลาวิกฤติ เป็นการยกเว้นค่าใช้บริการระบบรถไฟฟ้าและรถโดยสารประจำทางให้ประชาชนทั้งหมดตามปริมาณผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด 329.73 ล้านบาท โดยมีแหล่งที่มาจาก (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 190.43 ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณ (สงป.) แจ้งว่านายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินมาตรการลดผลกระทบฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระยะวิกฤติ ระหว่างวันที่ 25-31 มกราคม 2568 ของ คค. วงเงิน 190.43 ล้านบาท แล้วด้วย และ (2) รายได้ของรัฐวิสาหกิจจำนวน 139.30 ล้านบาท
12. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของ Non – Banks ภายใต้โครงการคุณสู้ เราช่วย และหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และกระบวนการเบิกจ่ายโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ Non – Banks ของธนาคารออมสิน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของผู้ประกอบการธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non – Banks) ภายใต้โครงการคุณสู้ เราช่วย และหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และกระบวนการเบิกจ่ายโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ Non – Banks ของธนาคารออมสิน ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการหลัง (กค.) เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังนี้
1. มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non - Banks) ภายใต้โครงการคุณสู้ เราช่วย ซึ่งประกอบด้วย (1) มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดภาระดอกเบี้ยโดยการเน้นตัดต้นเงิน โดยลดภาระการผ่อนชำระค่างวดเป็นร้อยละ 70 ของค่างวดก่อนเข้าร่วมมาตรการ และลดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 10 ทั้งนี้ คาดว่ามีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายการได้รับการช่วยเหลือ จำนวน 1.7 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาท และ (2) มาตรการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็น NPLs ที่มียอดหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้ ร้อยละ 10 ของภาระหนี้คงค้าง เพื่อเป็นการชำระหนี้ปิดบัญชี ทั้งนี้ คาดว่ามีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายการได้รับการช่วยเหลือ จำนวน 31,000 บัญชี คิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 120 ล้านบาท โดย Non - Banks จะใช้วงเงินสินเชื่อที่ได้รับจากโครงการดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) (โครงการ Soft Loan) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non - Banks ของธนาคารออมสิน เพื่อบริหารสภาพคล่องของธุรกิจและชดเชยการสูญเสียต้นทุนเงินจากการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการดังกล่าว
2. หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และกระบวนการเบิกจ่ายโครงการ Soft Loan สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non - Banks ของธนาคารออมสิน โดยเป็นการปรับปรุงรายละเอียดบางประการให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพิ่มเติม ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบหลักการโครงการ Soft Loan เดิมที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567 (ไม่มีการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรีเคยอนุมัติไว้ จำนวน 3,000 ล้านบาท) ซึ่งได้มีการหารือร่วมกันระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กค. และธนาคารออมสินเรียบร้อยแล้ว เช่น (1) วิธีการคำนวณวงเงินสินเชื่อที่ Non – Banks จะได้รับ (เดิมไม่ได้กำหนด) (2) วงเงินสินเชื่อต่อรายสูงสุดไม่เกิน 5,000 ล้านบาท (เดิมไม่ได้กำหนด) (3) ระยะเวลายื่นขอสินเชื่อ จากเดิม ภายใน 30 ธันวาคม 2568 เป็น 30 มิถุนายน 2568 (4) เงื่อนไขอื่น ๆ เพื่อกำกับดูแลการให้สินเชื่อ Soft Loan ของ Non - Banks เช่น ธนาคารออมสินจะติดตามผลการให้ความช่วยเหลือเพื่อทบทวนจำนวนวงเงินกู้เป็นประจำปีละครั้ง โดยธนาคารออมสินสามารถกำหนดเงื่อนไขให้ Non - Banks ชำระหนี้คืน เพื่อลดภาระหนี้คงเหลือให้เท่ากับวงเงินลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ และกรณีที่ ธปท. ตรวจสอบพบว่า Non - Banks ไม่ได้ให้ช่วยเหลือลูกหนี้มาตรการ Non - Banks จะต้องแจ้งผลการตรวจสอบของ ธปท. ให้ธนาคารออมสินทราบด้วย โดย Non - Banks ต้องชำระคืนเงินกู้ในส่วนที่ไม่ได้ช่วยเหลือลูกหนี้ภายในระยะเวลา 30 วัน เป็นต้น
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมีลักษณะเดียวกับการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567
(ตามข้อ 2) โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่แตกต่างกันบางประการ สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย |
|
ของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2567) |
ของ Non – Banks (ขอเสนอคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้) |
|
(1) มาตรการ ปรับโครงสร้างหนี้ แบบลดภาระดอกเบี้ย โดยการเน้นตัดต้นเงิน
|
- ลดภาระการผ่อนชำระค่างวดเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ชำระค่างวด ร้อยละ 50 70 และ 90 ตามลำดับ และดอกเบี้ยจะพักการชำระไว้ในช่วงระยะเวลามาตรการหากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ตลอด 3 ปี สถาบันการเงินจะยกเว้นดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ลูกหนี้ - ดอกเบี้ยที่ยกเว้นให้ลูกหนี้ข้างต้น ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะรับภาระร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 มาจากการลดอัตราที่ธนาคารพาณิชย์นำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) (กรณีธนาคารพาณิชย์) และเงินงบประมาณตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อชดเชย (กรณีสถาบันการเงินเฉพาะกิจ) |
- ลดภาระการผ่อนชำระค่างวดเป็นร้อยละ 70 ของค่างวดก่อนเข้าร่วมมาตรการ และลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 จากอัตราดอกเบี้ยก่อนเข้าร่วมมาตรการ เป็นระยะเวลา 3 ปีโดยดอกเบี้ยส่วนที่ลดจะพักชำระไว้ทั้งหมดหากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ - ต้นทุนทางการเงินของดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ Non - Banks รับภาระเองร้อยละ 10 และส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 90 ภาครัฐอุดหนุนผ่านโครงการ Soft Loan สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non - Banks ของธนาคารออมสิน
|
(2) มาตรการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้น เป็น NPLs ที่มียอดหนี้ ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท
|
การปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลดภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้ร้อยละ 10 ของภาระหนี้คงค้าง เพื่อเป็นการชำระหนี้ปิดบัญชี ส่วนที่เหลือให้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรับภาระร้อยละ 45 และอีกร้อยละ 45 ให้ใช้จ่ายจากการลดอัตราที่ธนาคารพาณิชย์นำส่งเงินเข้ากองทุน FIDF (กรณีธนาคารพาณิชย์) และเงินงบประมาณตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อชดเชย (กรณีสถาบันการเงินเฉพาะกิจ) |
การปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลดภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระหนี้ร้อยละ 10 ของภาระหนี้คงค้าง เพื่อเป็นการชำระหนี้ปิดบัญชี ส่วนที่เหลือให้ Non - Banks รับภาระเอง ร้อยละ 9 ของภาระหนี้คงค้าง และภาครัฐอุดหนุนผ่านโครงการ Soft Loan สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non - Banks ของธนาคารออมสินร้อยละ 81 ของภาระหนี้คงค้าง
|
แหล่งเงินที่ใช้ในการดำเนินมาตรการ (1) และ (2)
|
(1) เงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ของธนาคารพาณิชย์ (ที่ได้รับการละเว้นจากการปรับลดอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุนดังกล่าว) จำนวน 39,000 ล้านบาท (2) เงินงบประมาณตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อชดเชยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 6 แห่ง จำนวน 38,920 ล้านบาท |
โครงการ Soft Loan สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ Non - Banks ของธนาคารออมสิน วงเงิน 50,000 ล้านบาท (โดยภาครัฐจะใช้เงินงบประมาณตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติ วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จำนวน 3,000 ล้านบาท) |
3. กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและ ธปท. พิจารณาแล้วเห็นชอบ/เห็นชอบในหลักการ/ไม่ขัดข้อง/ไม่ขัดข้องในหลักการ โดย มท. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ขอให้ปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 อย่างเคร่งครัดและรอบคอบต่อไป ในขณะที่ สศช. เห็นควรให้ กค. กำกับและติดตามการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจ Non - Banks ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดและ สงป. ขอให้ธนาคารออมสินจัดทำเเผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและตามผลการดำเนินงานจริงต่อไป
13. เรื่อง (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2570 ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2570 [(ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ] ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 (พระราชบัญญัติฯ) และให้คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงบประมาณ รวมทั้งข้อสังเกตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (คณะกรรมการฯ) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการต่อ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2570 [(ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ] ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากยุทธศาสตร์การป้องกันแก้ไขปัญหาและการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ. 2560-2569 (ยุทธศาสตร์ฯ) โดย (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ มีวิสัยทัศน์ในการให้วัยรุ่นมีความรู้ด้านเพศวิถีศึกษา มีทักษะชีวิตที่ดี สามารถเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่เป็นมิตร เป็นส่วนตัว รักษาความลับ และได้รับสวัสดิการสังคมอย่างเสมอภาค ซึ่งสามารถสรุปสาระสำคัญและสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ ดังนี้
(1) ปรับเป้าหมายเพื่อให้เหมาะสม สอดคล้องกับการดำเนินงานและสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมถึงยกระดับความสำเร็จของการดำเนินงานให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากอัตราคลอดในหญิงอายุ 15-19 ปี ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป้าหมายประสบผลสำเร็จก่อนปี 2569 โดยในปี 2566 อัตราคลอดในหญิงอายุ 15-19 ปี มีค่าเท่ากับ 20.9 ต่อ 1,000 คน ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่เคยกำหนดไว้ยุทธศาสตร์ฯ (ไม่เกิน 25 คน ต่อ 1,000 คน)
(2) ปรับปรุงชื่อของยุทธศาสตร์หรือประเด็นการพัฒนา และเพิ่มเติมหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการนำแผนปฏิบัติการฯ ไปดำเนินการ เพื่อให้มีความครอบคลุมต่อการดำเนินงานมากขึ้น
(3) ปรับตัวชี้วัดเป้าหมายรายประเด็นการพัฒนา เนื่องจากตัวชี้วัดหลายตัวชี้วัดบรรลุผลสำเร็จเกินกว่าค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ และบางตัวชี้วัดไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงได้มีการทบทวนเพื่อปรับปรุงตัวชี้วัดให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งเพื่อให้ตัวชี้วัดรายประเด็นการพัฒนาสามารถใช้กำกับติดตามการดำเนินงานของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำและตอบสนองต่อเป้าหมายในรายประเด็นการพัฒนามากยิ่งขึ้น
หัวข้อ |
รายละเอียด |
||
เป้าหมาย |
เดิม (ภายในปี 2569) |
ใหม่ (ภายในปี 2570) |
|
เป้าหมาย |
อัตราการคลอดมีชีพในหญิง อายุ 15-19 ปี |
ไม่เกิน 25 คนต่อประชากรหญิง อายุ 15-19 ปี 1,000 คน |
ไม่เกิน 15 คนต่อประชากรหญิง อายุ 15-19 ปี 1,000 คน |
อัตราการคลอดมีชีพในหญิง อายุ 10-14 ปี |
ไม่เกิน 0.5 คนต่อประชากรหญิง อายุ 10 -14 ปี 1,000 คน |
คงค่าเป้าหมายตามเดิม |
|
ยุทธศาสตร์/ประเด็นการพัฒนาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
เดิม (ยุทธศาสตร์ฯ) |
ใหม่ [(ร่าง)] แผนปฏิบัติการฯ] |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : พัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริม การเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพ และมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
|
ประเด็นการพัฒนาที่ 1: การพัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพ และมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวง แรงงาน (รง.) ศธ. และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) |
||
ยุทธศาสตร์ที่ 2: ส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชน และสถานประกอบกิจการในการเลี้ยงดู สร้างสัมพันธภาพและการสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) รง. และ ศธ. |
ประเด็นการพัฒนาที่ 2: การส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชนและสถานประกอบกิจการในการสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น การเลี้ยงดูบุตรหลาน และการสร้างสัมพันธภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) พม. มท. และกระทรวงวัฒนธรรม |
||
ยุทธศาสตร์ที่ 3: พัฒนาระบบบริการสุขภาพทางเพศ และอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพ และเป็นมิตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: ศธ. และ สธ. |
ประเด็นการพัฒนาที่ 3: การพัฒนาระบบบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: พม. ยธ. สธ. กรุงเทพมหานคร (กทม.) |
||
ยุทธศาสตร์ที่ 4: พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือ การคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการจัด สวัสดิการสังคมในกลุ่มวัยรุ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: พม. และ ศธ. |
ประเด็นการพัฒนาที่ 4: การพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือ การคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการจัดสวัสดิการสังคมในกลุ่มวัยรุ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: ดศ. พม. ยธ. รง. สธ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และ กทม. |
||
ยุทธศาสตร์ที่ 5: ส่งเสริมการบูรณาการการจัดการ ฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: พม. มท. รง. ศธ. สธ. และ ตร.
|
ประเด็นการพัฒนาที่ 5: การบูรณาการฐานข้อมูลงานวิจัย การจัดการความรู้ และนวัตกรรมด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง: อว. พม. มท. รง. ศธ. และ สธ. |
||
ตัวชี้วัด |
32 ตัวชี้วัด |
22 ตัวชี้วัด |
[เปรียบเทียบความแตกต่างของตัวชี้วัดระหว่างยุทธศาสตร์ฯ (ฉบับเดิม) กับ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ (ที่เสนอในครั้งนี้)
2. สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะกรรมการฯได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตามพระราชบัญญัติฯ แล้ว
14. เรื่อง สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พร้อมผลการวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น และมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงแรงงาน รวมทั้งข้อสังเกตของกระทรวงยุติธรรมไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
สปน. รายงานว่า ได้จัดทำสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนที่มีมาถึงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567พร้อมผลการวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
1.1 สถิติการแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชนที่ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการร้องทุกข์ 1111 รวมทั้งสิ้น 120,853 ครั้ง หรือคิดเป็น 59,471 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ จำนวน 51,208เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 86.11 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 8,263 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 13.89
1.2 หน่วยงานที่ได้รับการประสานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้
(1) ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (5,683 เรื่อง) กระทรวงการคลัง (2,838 เรื่อง) กระทรวงคมนาคม (1,747 เรื่อง) กระทรวงมหาดไทย (มท.) (1,695 เรื่อง) และกระทรวงสาธารณสุข (1,343 เรื่อง)
(2) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (572 เรื่อง) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (430 เรื่อง) การประปาส่วนภูมิภาค (329 เรื่อง) การไฟฟ้านครหลวง (281 เรื่อง) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (240 เรื่อง)
(3) จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (2,845 เรื่อง) จังหวัดนนทบุรี (809 เรื่อง) จังหวัดสมุทรปราการ (606 เรื่อง) จังหวัดปทุมธานี (595 เรื่อง) และจังหวัดชลบุรี (565 เรื่อง)
2. การประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สรุปได้ ดังนี้
2.1 สถิติจำนวนเรื่องร้องทุกข์เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีเรื่องร้องทุกข์ จำนวน 59,471 เรื่องมากกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 2,072 เรื่อง (มีเรื่องร้องทุกข์ จำนวน 57,399 เรื่อง)
2.2 ประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่
(1) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน เช่น เสียงดังจากการเปิดเพลง การแสดงดนตรีสด การรวมกลุ่มดื่มสุรา การรวมกลุ่มแข่งรถจักรยานยนต์ ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาล/งานประจำปีจะมีการร้องเรียนในประเด็นการรวมกลุ่มสังสรรค์ การเปิดเครื่องขยายเสียง การจัดงานวัด การจัดคอนเสิร์ต การจุดพลุและดอกไม้ไฟเพิ่มขึ้น รวม 5,657 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 5,414 เรื่อง (ร้อยละ 95.70)
(2) ไฟฟ้า เช่น ปัญหาการบริการด้านไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกลขาดการบำรุงรักษา ประชาชนขอให้แก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ไฟฟ้าตกบ่อยครั้ง ขอขยายเขตไฟฟ้า ขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับค่าไฟฟ้า ขอผันผ่อนการชำระค่าไฟฟ้า รวม 3,011 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 2,680 เรื่อง (ร้อยละ 89.01)
(3) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอความช่วยเหลือเนื่องจากถูกฉ้อโกง ถูกลักทรัพย์ ขอให้แก้ไขปัญหามิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนผ่านระบบออนไลน์และแก๊งคอลเซนเตอร์ หลอกลวงให้ซื้อสินค้า หลอกลวงให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจ หลอกลวงให้โอนเงิน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปีงบประมาณที่ผ่านมาพบว่ายังคงมีจำนวนเรื่องร้องทุกข์ในประเด็นดังกล่าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเด็ดขาด ประกอบกับกลุ่มมิจฉาชีพมีการปรับเปลี่ยนวิธีการและขยายกลุ่มเป้าหมายในการหลอกลวง รวม 2,806 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 2,181 เรื่อง (ร้อยละ 77.73)
(4) นโยบายและโครงการของรัฐ เช่น การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและโครงการของรัฐมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับปีงบประมาณที่ผ่านมาเนื่องจากประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (แจกเงิน 10,000 บาท) เช่น การตรวจสอบสิทธิ การลงทะเบียนรับสิทธิ เงื่อนไขการใช้จ่าย รวม 2,164 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 2,016 เรื่อง (ร้อยละ 93.16)
(5) โทรศัพท์ เช่น การให้บริการทางโทรศัพท์ของหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรอสายนาน มีการต่อสายไปยังหน่วยงานย่อยภายในหลายครั้ง และคู่สายเต็มทำให้อัตราการร้องเรียนเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลต่อความพึงพอใจของการให้บริการ รวม 2,148 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,956 เรื่อง (ร้อยละ 91.06)
(6) ถนน เช่น ถนนที่มีสภาพทรุดโทรมจากการใช้งานและไม่ได้รับการบำรุงรักษา ขอให้ปรับปรุงถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางแอสฟัลต์หรือถนนคอนกรีตขอให้ซ่อมแซมไฟจราจร ขอให้ตีเส้นจราจรให้ชัดเจน รวม 1,857 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,433 เรื่อง (ร้อยละ 77.17)
(7) น้ำประปา เช่น ขอให้แก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่ไหลหรือไหลอ่อนขอขยายเขตการให้บริการ ท่อน้ำประปาแตกชำรุด น้ำประปาไม่สะอาด ขุ่นและมีตะกอน ขอผ่อนผันการชำระค่าน้ำประปา รวม 1,836 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,687 เรื่อง (ร้อยละ 91.88)
(8) ประเด็นเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เสรีภาพ เช่น ขอความช่วยเหลือกรณีการถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลขอให้เร่งรัดการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวม 1,796 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,569 เรื่อง (ร้อยละ 87.36)
(9) การนำเข้าและส่งออกสัตว์นอกราชอาณาจักร เช่น ขอให้นำช้างพลายประตูผากับพลายศรีณรงค์ที่ถูกส่งไปเป็นทูตสันถวไมตรีที่ประเทศศรีลังกากลับสู่ประเทศไทยเป็นประเด็นที่มีกลุ่มมวลชนเดินทางมายื่นข้อเรียกร้องและประชาชนในกลุ่มสื่อสังคมออนไลน์แจ้งเรื่องเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวม 1,790 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,777 เรื่อง (ร้อยละ99.27)
(10) ยาเสพติด เช่น การแจ้งเบาะแสการลักลอบจำหน่ายและเสพยาเสพติด ขอความช่วยเหลือในการเข้ารับการบำบัดยาเสพติด ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเทียบกับปีงบประมาณที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนมีความวิตกกังวลต่อปัญหายาเสพติดที่ส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว รวม 1,420 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,275 เรื่อง (ร้อยละ 89.79)
3. ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงาน ดังนี้
ประเด็น |
แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหา |
(1) ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ 1) ถนนขาดการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอทำให้เกิดความทรุดโทรมและไม่มีการก่อสร้างหรือปรับปรุงถนนให้มีสภาพดีเพื่อรองรับการใช้งานของประชาชน ให้มีความมั่นคงและกำลังการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอ กับความต้องการ รวมถึงอัตราค่าไฟฟ้าที่สูง
|
- เห็นควรให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบจัดทำแผนบำรุงรักษาถนนอย่างสม่ำเสมอ กำหนดมาตรฐานการก่อสร้างถนนและเร่งดำเนินการซ่อมแซมบริเวณที่เกิดความเสียหายโดยทันที - ควรให้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาเป็นประจำ ควรพัฒนาให้มีระบบเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนอัตโนมัติเมื่อมีการรั่วไหลเพื่อป้องกันการซ่อมบำรุงที่ล่าช้า - ควรขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและพัฒนาพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดค่าไฟฟ้าและเพิ่มความมั่นคงควบคู่กับการตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าอย่างเป็นระบบ |
(2) ปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มลพิษทางเสียงยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากขาดการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเสียงดังอย่างเข้มงวดประชาชนขาดการเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันในสังคม และหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถเข้าดำเนินการกับปัญหาอย่างทันท่วงทีจึงเกิดการร้องเรียนซ้ำ
|
เห็นควรเสนอให้บังคับใช้กฎหมายควบคุมเสียงดังอย่างเครัดพร้อมกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน สร้างความรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบของเสียงดังต่อสุขภาพและสิทธิของผู้อื่นผ่านสื่อสาธารณะ ควรจัดกิจกรรมให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในสังคมอย่างมีความรับผิดชอบและสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีลดเสียงในอาคารและพื้นที่สาธารณะ |
(3) ปัญหาสังคมกรณีถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวง ทรัพย์สิน ส่วนใหญ่เกิดจากการล่อลวงด้วยสถานการณ์เสมือนจริงมีความน่าเชื่อถือ เช่น การส่งลิงก์สิทธิประโยชน์ข้าราชการเกษียณอายุราชการ ลิงก์การต่ออายุประกันอัคคีภัย การปลอมแปลงเสียงคนในครอบครัวเพื่อขอความช่วยเหลือให้โอนเงิน การใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงในการนำเสนอข้อมูลการลงทุน หรือโฆษณาสินค้าเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ และสร้างแรงจูงใจทางอารมณ์ต่อประชาชน หรือผู้บริโภค ทำให้ประชาชนขาดความรอบคอบ ในการให้ข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบกับปัจจุบัน ประชาชนนิยมทำธุรกรรมหรือการซื้อขายสินค้า ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ปัญหาจึงขยายวงกว้าง อย่างรวดเร็ว รวมถึงขาดการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลหรือแหล่งที่มาทำให้ประชาชน ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย |
- เห็นควรให้หน่วยงานภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชน จัดทำโครงการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการรักษา ความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล การระมัดระวังกลโกงออนไลน์และวิธีการตรวจสอบข้อมูลก่อนทำธุรกรรม - เร่งรัดให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบและปราบปราม กลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ เพิ่มงบประมาณและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการติดตามการฉ้อโกงบนแพลตฟอร์มดิจิทัล - เห็นควรส่งเสริมการพัฒนาระบบที่ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมออนไลน์ เช่น ระบบยืนยันตัวตนผ่านหลายขั้นตอน (Two-Factor Authentication: 2FA) และการให้คะแนนความน่าเชื่อถือของผู้ขายในแพลตฟอร์ม e-Commerce รวมทั้งภาครัฐควรให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายในการ เรียกร้องความเป็นธรรม |
15. เรื่อง ขอเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันรายการค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามความเห็นของสำนักงบประมาณให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเพิ่มวงเงินรายการค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ จากวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันไว้เดิม จำนวน 76,800,000 บาท เป็น 84,371,916 บาท ตามนัยข้อ 7 (3) ของระเบียบว่าด้วยการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สำหรับวงเงินของรายการค่าควบคุมงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ให้ใช้จ่ายจากเงินรายได้ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินสมทบเงินงบประมาณรายจ่าย ร้อยละ 30 และใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่าย ร้อยละ 70 โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับมติคณะรัฐมนตรี และสัญญาที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน และต่อรองราคาตามสัดส่วนผลงานที่ผู้ให้บริการได้เข้าควบคุมงานจริงจนถึงที่สุดด้วย เพื่อจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณในการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินรับความเห็นของกระทรวงการคลังไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ให้ก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ รายการค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง. (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ วงเงินก่อหนี้ผูกพัน จำนวน 76,800,000 บาท ผูกพันงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2566 ต่อมา สตง. ได้จ้างผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้างเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 จำนวนเงินตามสัญญา 74,653,200 บาท โดยขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ เป็นตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2569 และได้มีการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน ครบกำหนดสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ซึ่งในระหว่างการก่อสร้าง สตง. มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาก่อสร้าง (จากสาเหตุ เช่น การหยุดงานก่อสร้างตามประกาศของทางราชการอันเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การแก้ไขแบบก่อสร้าง) ออกไปอีก จำนวน 155 วัน โดยขยายระยะเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 และครบกำหนดสัญญาในวันที่ 3 มิถุนายน 2567 ทำให้ค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้างที่ สตง. จะต้องจ่ายเพิ่มเติมจากสัญญาเพิ่มขึ้น จำนวน 9,718,716 บาท [อัตราค่าจ้างวันละ 65,667 บาท x 148 วัน (เป็นการคำนวณตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้างโดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2567 ที่ผู้ให้บริการควรควบคุมงานได้เริ่มงาน จนถึงวันครบกำหนดสัญญา 3 มิถุนายน 2567) ตามข้อ 3.4] รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 84,371,916 บาท (74,653,200 บาท + 9,718,716 บาท) ซึ่งเป็นวงเงินเกินกว่าที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี จำนวน 7,571,916 บาท (84,371,916 บาท – 76,800,000 บาท)
หน่วย : บาท
วงเงินรายการค่าควบคุมงานก่อสร้างอาคาร ที่ทำการ สตง. (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ[ตามมติคณะรัฐมนตรี (4 กุมภาพันธ์ 2563)] (ตามข้อ 2.6) |
วงเงินตามสัญญา |
วงเงินที่เสนอขอในครั้งนี้ |
วงเงินที่เกินกว่าที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี |
76,800,000 |
74,653,200 |
84,371,916 |
7,571,916 |
6.2 กระทรวงการคลัง (กค.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแล้ว เห็นควรอนุมัติตามที่ สตง. เสนอ โดย กค. มีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ สำหรับวงเงินของรายการค่าควบคุมงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สงป. เห็นควรให้ใช้จ่ายจากเงินรายได้ของ สตง. สมทบเงินงบประมาณรายจ่าย ร้อยละ 30 และใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายร้อยละ 70 โดยปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และสัญญาที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน และต่อรองราคาตามสัดส่วนผลงานที่ผู้ให้บริการได้เข้าควบคุมงานจริงจนถึงที่สุดด้วย เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณในการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป
16. เรื่อง รายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับแนวทางและมาตรการเชิงป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถขนส่งสาธารณะ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการเชิงป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถขนส่งสาธารณะในส่วนที่เกี่ยวข้องของกระทรวงคมนาคมต่อไป ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 นายกรัฐมนตรีเสนอว่า จากเหตุการณ์เพลิงไหม้รถโดยสารสาธารณะที่นำนักเรียนของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานีไปทัศนศึกษา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 จนเป็นเหตุให้มีอาจารย์และนักเรียนเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในทำนองเดียวกันอีก รวมทั้งเพื่อให้รถขนส่งสาธารณะทุกประเภท โดยเฉพาะรถที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น จึงขอให้ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนั้น เพื่อรายงานผลการดำเนินการกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4 (12)
2. กระทรวงคมนาคมมีคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 1142/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณามาตรการเชิงป้องกันสำหรับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ สั่ง ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2567 และคำสั่งกระทรวงคมนาคม ที่ 1194/2567 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณามาตรการเชิงป้องกันสำหรับการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะ สั่ง ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2567 โดยมี รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เป็นประธานกรรมการและมีผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาวิศวกรและมหาวิทยาลัย ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าว เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุ และปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสารสาธารณะกรณีนี้ อันนำไปสู่การกำหนดมาตรการเชิงป้องกัน และแนวทางปฏิบัติของหน่วยงาน และผู้มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงคมนาคม รวมทั้งข้อเสนอแนะอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียในลักษณะดังกล่าวจากการให้บริการขนส่งด้วยรถโดยสาธารณะขึ้นซ้ำอีกในอนาคต
3. คณะกรรมการฯ พิจารณาศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุในเชิงวิชาการและหลักวิศวกรรมพร้อมทั้งข้อเสนอแนะและกำหนดมาตรการแนวทางเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาแบ่งเป็น 4 มิติ และ 3 ระยะ (ระยะเร่งด่วน/ระยะกลาง/ระยะยาว) ประกอบด้วย
1) มิติที่ 1 การแก้ไขปัญหามิติยานพาหนะสำหรับรถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งอุปกรณ์ความปลอดภัย เช่น
- ให้กรมการขนส่งทางบกจัดทำระบบ Safety Rating List สำหรับรถโดยสารสาธารณะ
- ให้กรมการขนส่งทางบกออกข้อกำหนดทางเทคนิคยานยนต์สำหรับรถโดยสารสาธารณะ
- ให้กรมการขนส่งทางบกจัดทำแบบแนะนำ (Vehicle Prototype) สำหรับรถโดยสารสาธารณะแต่ละประเภทเพื่อเป็นแบบมาตรฐานการผลิตรถ
2) มิติที่ 2 การแก้ไขปัญหามิติการบังคับใช้กฎหมายและการสื่อสาร เช่น
- กรมการขนส่งทางบกเพิ่มจุด Checkpoint สำหรับรถโดยสารสาธารณะทุกคัน ทั้งแบบประจำทาง และไม่ประจำทาง
- ให้กรมการขนส่งทางบกกำหนดมาตรการเกี่ยวกับการตรวจสภาพรถ
3) มิติที่ 3 การแก้ไขปัญหามิติผู้ขับขี่ และพนักงานประจำรถ เช่น
- ให้กรมการขนส่งทางบกกำหนดมาตรการให้มีพนักงานขับรถอย่างน้อย 2 คน ในการให้บริการรถโดยสารสาธารณะในระยะทางไกล และในกรณีรถโดยสารสาธารณะที่ใช้สำหรับรับส่งเด็ก หรือนักเรียนโดยเฉพาะ ต้องจัดให้มีพนักงานประจำรถอย่างน้อย 1 คน
- ให้กรมการขนส่งทางบกกำหนดให้พนักงานขับรถ และพนักงานประจำรถโดยสารสาธารณะ ต้องชี้แจงข้อมูล การปฏิบัติตัว และวิธีการใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยต่าง ๆ ที่ติดตั้งในตัวรถ ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินต่อผู้โดยสารทุกครั้งก่อนการเดินทาง รวมถึงจัดให้มีเอกสารความปลอดภัยติดตั้งอยู่ทุกที่นั่ง
4) มิติที่ 4 การแก้ไขปัญหามิติสนับสนุนเชิงนโยบาย เช่น
- ให้กรมการขนส่งทางบกประสานงานกับกรมธุรกิจพลังงานภายใต้กระทรวงพลังงาน หาความชัดเจนของแนวทางและนโยบายในอนาคตของรัฐเกี่ยวกับพลังงานที่จะส่งเสริมใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถโดยสารสาธารณะ
- ให้กรมการขนส่งทางบกประสานงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดมาตรฐานของอุปกรณ์ตกแต่งที่ใช้กับรถโดยสารสาธารณะ เช่น ฟิล์มกรองแสง โคมไฟประดับ และเครื่องเสียง รวมถึงวัสดุตกแต่ง และเครื่องเสียงภายในรถโดยสาร หรือวัสดุที่ลามไฟในรถ ให้มีความปลอดภัยเป็นมาตรฐานของ มอก.
- ให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในการยกระดับความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ เช่น การให้เงินช่วยเหลือกู้ยืมเพื่อปรับสภาพรถโดยสารสาธารณะเพื่อความปลอดภัย หรือการจัดทำ Revolving Fund เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นชอบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ในการกำหนดมาตรการแนวทางเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการและให้รายงานกระทรวงคมนาคมทราบทุก 15 วัน รวมทั้งให้คณะกรรมการฯ ติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ของกรมการขนส่งทางบก พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อดำเนินในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วยแล้ว
ประโยชน์และผลกระทบ
มาตรการและแนวทางเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการพิจารณามาตรการเชิงป้องกันสำหรับการให้บริการขนส่งด้วยโดยสารสาธารณะนับว่า เป็นมาตรการและแนวทางที่มีความสำคัญและเป็นประโยชน์สำหรับให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และความสูญเสียแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของผู้ใช้บริการและประชาชนทั่วไปในอนาคตต่อไป
ต่างประเทศ
17. เรื่อง การจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรตองกาว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ดังนี้
1. การจัดทำความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรตองกา (ตองกา) ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสําหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต และหนังสือเดินทางราชการ (Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Kingdom of Tonga on Exemption of Visa Requirements for Holders of Diplomatic and Official Passports) (ความตกลงฯ)
2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนเป็นผู้ลงนามในความตกลงฯ ทั้งนี้ ในกรณีมอบหมายผู้แทน ให้ กต. จัดทําหนังสือมอบอํานาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่ผู้ลงนามที่ได้รับมอบหมายดังกล่าว
3. ให้ กต. ดําเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมีผลใช้บังคับของความตกลงฯ
ทั้งนี้ หากมีความจําเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างความตกลงฯ โดยไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบไว้ ให้ กต. สามารถดําเนินการได้โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมชี้แจงเหตุผล และประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว
สาระสำคัญ
1. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) นําเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดทําความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรตองกา (ตองกา) ว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสําหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการ (ความตกลงฯ) โดยร่างความตกลงฯ มีสาระสําคัญเป็นการยกเว้นการตรวจลงตราสําหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการระหว่างประเทศไทยและตองกาสําหรับการเดินทางเข้า เดินทางออกจาก และเดินทางผ่านดินแดนของภาคีอีกฝ่าย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ในช่วงเวลา 180 วัน นับจากวันที่เดินทางเข้า โดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลนั้นต้องไม่รับการจ้างงานใด ๆ ในดินแดนของภาคีอีกฝ่าย และกําหนดว่า ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจระงับการบังคับใช้ความตกลงนี้ ด้วยเหตุผลในการธํารงไว้ซึ่งการปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือสาธารณสุข โดยต้องแจ้งภาคีอีกฝ่ายให้ทราบเกี่ยวกับการระงับและการยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านช่องทางทางการทูตในทันที แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ในการนี้ กต. และสํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นสอดคล้องกันว่า ร่างความตกลงฯ เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาประเภทอื่นตามมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2. กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ สํานักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสํานักงานตํารวจแห่งชาติ (ตร.) พิจารณาแล้วเห็นชอบ/ไม่มีข้อขัดข้อง
18. เรื่อง การจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงศึกษาธิการ อาชีวศึกษาและการกีฬาแห่งราชอาณาจักรสเปนว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงศึกษาธิการ อาชีวศึกษาและการกีฬาแห่งราชอาณาจักรสเปน (สเปน) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา (บันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญก่อนลงนาม ศธ. จะหารือกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ
สาระสำคัญ
กระทรวงศึกษาธิการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงศึกษาธิการอาชีวศึกษาและการกีฬาแห่งราชอาณาจักรสเปนว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาและอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย โดยร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาผ่านการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมการพัฒนาวิชาชีพ และการแลกเปลี่ยนทางวิชาการซึ่งครอบคลุมถึงการสำรวจความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศตามนโยบายของรัฐบาล เช่น โครงการด้านภาษาสเปนและสเปนศึกษา โครงการผู้ช่วยสอนภาษาและวัฒนธรรมสเปนประจำปีภายในโรงเรียนของประเทศไทย โครงการนำครูจากสเปนมาปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนไทยเป็นเวลาหนึ่งปีการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงวัฒนธรรมพิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง/เห็นควรให้ความเห็นชอบ ส่วนกระทรวงการต่างประเทศไม่ขัดข้องในสารัตถะและถ้อยคำ รวมทั้งมีความเห็นสอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงศึกษาธิการแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงศึกษาธิการ อาชีวศึกษาและการกีฬาแห่งราชอาณาจักรสเปนว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
19. เรื่อง รายงานผลการเจรจาการบินระหว่างไทย – มองโกเลีย
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย – มองโกเลีย (บันทึกความเข้าใจฯ) และเห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของไทย รวมทั้งมอบให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตยืนยันการมีผลใช้บังคับของบันทึกความเข้าใจดังกล่าวต่อไป โดยให้ กต. สามารถปรับถ้อยคำตามความเหมาะสมที่ไม่กระทบกับสาระสำคัญ ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. รายงานว่า
1. คณะผู้แทนรัฐบาลไทยและคณะผู้แทนประเทศมองโกเลียได้ประชุมหารือในห้วงการประชุม ICAO Air Service Negotiation Event (ICAN 2022) ครั้งที่ 14 ในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ณ กรุงอาบูจา สหพันธ์สาธารณรัฐไนจีเรีย เพื่อจัดทำความเข้าใจฯ ที่ปรับปรุงแก้ไขความตกลงฯ และบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับเดิม ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
(1) การแก้ไขความตกลงฯ |
ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแก้ไขวรรค 1 ของข้อ 6 “การกำหนดสายการบินและการอนุญาตดำเนินการ” ของความตกลงฯ โดยกำหนดให้ภาคีแต่ละฝ่ายสามารถแต่งตั้งสายการบินได้หลายสายการบิน |
(2) การแก้ไขบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับเดิม |
(1) ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแก้ไขวรรค 3 “สิทธิความจุและความถี่” ของบันทึกความเข้าใจฯ โดยกำหนดให้สายการบินของแต่ละฝ่ายสามารถใช้สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3 และ 41 เพื่อทำการบินได้ฝ่ายละ 14 เที่ยวต่อสัปดาห์ ด้วยอากาศยานแบบใด ๆ ตามเส้นทางที่ระบุ2 สำหรับเที่ยวบินรับขนผู้โดยสารและเที่ยวบินรับขนสินค้า (2) ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะแก้ไขวรรค 5 “ข้อตกลงการทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน3” ของบันทึกความเข้าใจฯ โดยกำหนดให้สายการบินของแต่ละฝ่ายสามารถทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันได้ ในลักษณะดังนี้ (2.1) การใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับสายการบินของประเทศเดียวกัน : ความจุความถี่ของสายการบินผู้ดำเนินบริการจะถูกนับหักจากสิทธิความจุความถี่ของสายการบินนั้น (2.2) การใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับสายการบินของคู่ภาคี : (2.2.1) ในส่วนของเส้นทางบินระหว่างประเทศ ความจุความถี่ ของสายการบินที่ไม่ได้ดำเนินบริการจะไม่ถูกนำมานับหักจากสิทธิความจุความถี่ของสายการบินนั้น (2.2.2) ในส่วนของเส้นทางบินภายในประเทศ สายการบินที่ทำการบิน ในเส้นทางการบินในอาณาเขตของอีกฝ้ายหนึ่ง ความจุความถี่ในช่วงเส้นทางบินดังกล่าวจะไม่ถูกนับ โดยมีเงื่อนไขว่าเส้นทางภายในประเทศจะต้องเป็นเส้นทางที่ต่อเนื่องมาจากการเดินทางระหว่างประเทศ (2.3) การใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันกับสายการบินของประเทศที่สาม : ความจุความถี่ของสายการบินที่ไม่ได้ดำเนินบริการจะไม่ถูกนำมานับหักจากสิทธิความ ของสายการบินนั้น |
(3) ประเด็นอื่น ๆ เพิ่มเติม |
(1) ทั้งสองฝ่ายตกลงให้สายการบินของแต่ละฝ่ายสามารถทำการบินเชื่อมจุด (2) บันทึกความเข้าใจฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อมีการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตระหว่างกัน |
2. คณะกรรมการผู้แทนรัฐบาลเพื่อพิจารณาทำความตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับรัฐบาลต่างประเทศเป็นประจำ (ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน) ในการประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ได้มีมติรับทราบผลการเจรจาดังกล่าวแล้ว
3. ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูตของไทย มีสาระสำคัญเป็นการยืนยันผลการเจรจาในการแก้ไขบทบัญญัติของความตกลงฯ รวมถึงการแก้ไขรายละเอียดในบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อให้ผลการเจรจาดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป
ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ มีดังนี้
1) ผลการเจรจาการบินระหว่างไทยกับมองโกเลียในครั้งนี้ ให้สิทธิกับภาคีแต่ละฝ่ายสามารถแต่งตั้งสายการบินที่กำหนดได้หลายสายการบิน ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีสายการบินเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้นส่งผลให้เกิดการแข่งขันในด้านราคาและคุณภาพ และผู้โดยสารจะมีทางเลือกในการรับบริการมากขึ้น
2) การลดข้อจำกัดด้านความจุและการขยายสิทธิความถี่ส่งผลให้สายการบินที่กำหนดของทั้งสองฝ่ายสามารถวางแผนการให้บริการได้ยืดหยุ่นมากขึ้น อีกทั้งจะเป็นการเตรียมการรองรับการขยายบริการและความเชื่อมโยงของสายการบินต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งหากเมื่อมีความพร้อม สายการบินของทั้งสองฝ่ายก็สามารถทำการบินตามที่ระบุได้ทันที
3) การปรับปรุงข้อตกลงการทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกันการเพิ่มทางเลือกให้สายการบินในการวางแผนให้บริการ นอกเหนือจากการให้บริการด้วยตนเอง โดยสายการบินสามารถทำความร่วมมือทางการตลาดเพื่อขยายความเชื่อมโยงไปยังจุดต่าง ๆ ระหว่างกันได้
4) การตกลงแลกเปลี่ยนสิทธิการทำการบินเชื่อมจุดจะเป็นการสนับสนุนเมืองรองและเป็นแรงจูงใจให้สายการบินวางแผนการทำการบินให้เกิดความคุ้มทุนมากขึ้น
1สิทธิรับขนการจราจร (Traffic Rights) หมายถึง สิทธิในการดำเนินบริการเดินอากาศแบบประจำระหว่างประเทศ โดยแต่ละประเภทมีความหมาย ดังนี้ สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 1 อนุญาตให้สายการบินบินผ่านน่านฟ้า สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 2 อนุญาตให้สายการบินแวะจอด เช่น เติมน้ำมันกรณีฉุกเฉิน สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3 อนุญาตให้สายการบินขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากประเทศของตนไปยังประเทศอื่น สิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 4 อนุญาตให้สายการบินขนส่งผู้โดยสารและสินค้า
จากประเทศอื่นไปยังประเทศของตน
2เส้นทางที่ระบุ หมายถึง เส้นทางที่ระบุตามความตกลงฯ โดยจุดเริ่มต้นคือจุดใด ๆ ในประเทศไทยหรือมองโกเลีย จุดระหว่างทางคือสองจุดระหว่างทางใด ๆ ที่เลือก และจุดลงจอดคือจุดใด ๆ ในประเทศมองโกเลียหรือไทย
3การทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน (Code Sharing) คือ การที่สายการบินตั้งแต่สองสายขึ้นไปร่วมมือกันให้บริการเที่ยวบินเดียวกัน โดยใช้หมายเลขเที่ยวบินของแต่ละสายการบิน แต่เที่ยวบินนั้น ๆ อาจดำเนินการบินโดยสายการบินอื่น
4การทำการบินเชื่อมจุด 2 จุด (Co-terrninalization) คือ การที่สายการบินของประเทศหนึ่งสามารถรับขนผู้โดยสารและสินค้าได้ 2 จุด ในอีกประเทศหนึ่งในเส้นทางการบินเดียวกัน เช่น เส้นทางอูลาตอร์ (มองโกเลีย) - กรุงเทพมหานคร (ไทย) - กระบี่ (ไทย)
5สิทธิทำการบินพักค้าง คือ สิทธิของสายการบินในการรับขนผู้โดยสารของฝ่ายหนึ่งไปยังระหว่าง 2 จุด ในอาณาเขตของอีกฝ่าย โดยการรับขนจราจรนั้นสามารถพักค้าง ณ จุดนั้น ๆ เป็นระยะเวลาชั่วคราวก่อนจะรับขนไปอีกจุดหนึ่ง เช่น เส้นทางอูลานบาตอร์ (มองโกเลีย) - กรุงเทพมหานคร (ไทย) - กระบี่ (ไทย) แต่ผู้โดยสารหรือสินค้าสามารถพักค้างที่กรุงเทพมหานครได้ก่อน (เช่น พักค้างที่กรุงเทพมหานคร 2 วัน) ก่อนจะเดินทางต่อไปกระบี่
20. เรื่อง แผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ระยะที่ 12 พ.ศ. 2568 - 2572
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology: AIT) (แผนความร่วมมือฯ) ระยะที่ 12 พ.ศ. 2568 - 2572
2. อนุมัติงบประมาณแผ่นดิน งบเงินอุดหนุน เงินอุดหนุนทั่วไปรายการเงินอุดหนุน AIT งบประมาณแผนงานผลิตบัณฑิต จำนวนรวม 938.79 ล้านบาท โดยผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2572 รวม 5 ปี ปีละ 187.76 ล้านบาท
3. อนุมัติงบประมาณแผ่นดิน งบประมาณแผนการดำเนินงานเพื่อการพัฒนา AIT จำนวนรวม 400.22 ล้านบาท โดยผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2572 รวม 5 ปี สรุปได้ ดังนี้
หน่วย : ล้านบาท
ปีงบประมาณ พ.ศ. |
2568 |
2569 |
2570 |
2571 |
2572 |
รวม |
งบประมาณ |
76.30 |
83.18 |
83.18 |
80.38 |
77.16 |
400.22 |
(ขออนุมัติงบประมาณตามข้อ 2 และ 3 รวมทั้งสิ้น 1,339.01 ล้านบาท)
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (แผนความร่วมมือฯ) ระยะที่ 12 พ.ศ. 2568 - 2572 และขออนุมัติงบประมาณแผ่นดิน รายการเงินอุดหนุนสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย จำนวน 938.79 ล้านบาท และงบประมาณแผนการดำเนินงานเพื่อการพัฒนา AIT จำนวน 400.22 ล้านบาท รวมจำนวน 1,339.01 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียเพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเพื่อการพัฒนาประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการให้ทุนการศึกษาพระราชทานและทุนการศึกษาจากรัฐบาลไทยผ่านแผนความร่วมมือฯ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2513 - 2567) ถึงแผนความร่วมมือฯ ระยะที่ 11 (พ.ศ. 2563 - 2567) รวมเป็นเงินจำนวน 4,299.96 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจัดสรรทุนการศึกษารวม 4,386 ทุน ทั้งนี้ เนื่องจากแผนความร่วมมือฯ ระยะที่ 11 ได้สิ้นสุดลงในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียจึงได้จัดทำแผนความร่วมมือฯ ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2568 - 2572) ที่มีหลักการและเป้าหมายเช่นเดียวกับแผนความร่วมมือฯ ระยะที่ 11 แต่มีการปรับรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการดำเนินงาน เช่น การปรับเพิ่มค่าเบี้ยเลี้ยงรายเดือนสำหรับผู้ได้รับทุนการศึกษาจาก 6,950 บาทต่อคนเป็น 7,950 บาทต่อคน การขอรับการจัดสรรทุนการศึกษาจากรัฐบาลไทยระดับปริญญาเอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานวิจัยเพิ่มเติมรวม 50 ทุน กรอบวงเงิน 76.70 ล้านบาท และมีการจัดทำแผนการดำเนินงานเพิ่มเติม จำนวน 2 แผน ประกอบด้วย (1) แผนการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาAIT ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2568 - 2572) และ (2) แผนความร่วมมือเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมของอาเซียนผ่านสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (ASIAN Innovation Hub) ดังนั้น แผนความร่วมมือฯ ระยะที่ 12 (พ.ศ. 2568 - 2572) จึงประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่ (1) แผนงานผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม และวิทยาการการจัดการในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ให้ทุนการศึกษารวม 875 ทุน และขอรับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 938.79 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2572 รวม 5 ปี ปีละ 187.76 ล้านบาท (2) แผนการดำเนินงานเพื่อการพัฒนา AIT ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2568 - 2572) เพื่อพัฒนาศักยภาพของ AIT โดยจะขอรับสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินเพื่อดำเนินงานพัฒนา AIT จำนวน 400.22 ล้านบาท และ (3) แผนความร่วมมือเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมของอาเซียนผ่านสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (ASIAN Innovation Hub) เพื่อจัดตั้งภาคีวิจัยนวัตกรรมขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี โดยจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการทำวิจัยดังกล่าวจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม จำนวน 264.50 ล้านบาท สรุปแหล่งงบประมาณได้ ดังนี้
รายการ |
งบประมาณร่วม (ล้านบาท) |
(1) งบประมาณแผ่นดิน (เสนอขออนุมัติงบประมาณต่อคณะรัฐมนตรีเฉพาะในส่วนนี้) |
1,339.01 |
(1.1) แผนการผลิตบัณฑิต |
938.79 |
(1.1.1) โครงการทุนการศึกษาพระราชทาน |
487.09 |
1) ปริญญาโท (300 ทุน) |
336.57 |
2) ปริญญาเอก (75 ทุน) |
150.52 |
(1.1.2) ทุนการศึกษาจากรัฐบาลไทย |
375.00 |
1) ปริญญาโท (400 ทุน) |
300.80 |
2) ปริญญาเอก (50 ทุน) |
74.20 |
(1.1.3) ทุนการศึกษาจากรัฐบาลไทยระดับปริญญาเอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานวิจัย (50 ทุน) |
76.70 |
(1.2) แผนการดำเนินงานเพื่อการพัฒนาสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2568 - 2572) |
400.22 |
(2) งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม |
264.50 |
แผนความร่วมมือเพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านนวัตกรรมของอาเซียนผ่านสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (ASIAN Innovation Hub) |
264.50 |
รวม |
1,603.51 |
ซึ่งกระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นควรให้ความเห็นชอบ/ไม่ขัดข้อง
21. เรื่อง การดำเนินการตามข้อบท 22 วรรค 3 (บี) ของอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน การแจ้งไม่สามารถยอมรับการแก้ไขภาคผนวก เอ (การเลิกใช้) โดยบรรจุรายชื่อสาร Dechlorane Plus และ UV-328 เพิ่มเติม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีแห่งอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (อนุสัญญาฯ) ดำเนินการตามข้อบท 22 วรรค 3 (ปี) แจ้งไม่สามารถยอมรับการแก้ไขภาคผนวก เอ (การเลิกใช้) โดยบรรจุรายชื่อสาร Dechlorane Plus และ UV-328 เพิ่มเติม เพื่อไม่ให้การแก้ไขภาคผนวกดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยและให้ภาคอุตสาหกรรมที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีมีระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนการใช้สารทดแทน
2. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) มีหนังสือแจ้งองค์การสหประชาชาติ (ผู้เก็บรักษาอนุสัญญาฯ) ก่อนการแก้ไขภาคผนวกเพิ่มเติมนี้จะมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. โดยที่ประเทศไทยให้สัตยาบันในการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (อนุสัญญาฯ) เมื่อปี 2548 ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน โดยการลดและเลิกการผลิต การใช้ และการปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ซึ่งถูกย่อยสลายได้ยาก มีคุณสมบัติเป็นพิษ สะสมในสิ่งมีชีวิตตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม ซึ่งในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 11 เมื่อปี 2566 ที่ประชุมภาคีอนุสัญญาฯ ได้มีมติให้แก้ไขภาคผนวก เอ โดยบรรจุรายชื่อสารเคมีที่ให้ประเทศภาคีเลิกผลิตและเลิกใช้เพิ่มเติม จำนวน 3 รายการ คือ (1) Dechlorane Plus (2) UV-328 และ (3) Methoxychlor และคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (16 กรกฎาคม 2567) เห็นชอบการแก้ไขภาคผนวก เอ ดังกล่าว ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
2. ต่อมา ทส. พบว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีในการเลิกใช้สาร Dechlorane Plus (ใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอเพื่อให้มีคุณสมบัติติดไฟยาก) และ UV-328 (ใช้เป็นส่วนผสมในสีหรือพลาสติกเพื่อให้มีคุณสมบัติดูดซับรังสียูวี) ได้ในขณะนี้ เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการที่ใช้งานสารทั้งสองชนิดดังกล่าวอยู่ ซึ่งการเลิกใช้สารข้างต้นจะต้องมีระยะเวลาปรับเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนและการจัดการสารที่ยังเหลือคงค้างภายในประเทศ จึงจำเป็นต้องแจ้งองค์การสหประชาชาติ (ผู้เก็บรักษาอนุสัญญาฯ) ว่าประเทศไทยยังไม่สามารถยอมรับการแก้ไขภาคผนวก เอ ในส่วนของการบรรจุสาร Dechlorane Plus และ UV-328 ที่ห้ามมิให้มีการผลิตหรือใช้งานสาร ทั้งสองชนิดกล่าวได้ เพื่อไม่ให้การแก้ไขภาคผนวก เอ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย ส่วนสาร Methoxychlor ทส. ตรวจสอบแล้วว่าประเทศไทยไม่มีการใช้สารดังกล่าว
22. เรื่อง ผลการประชุมคณะรัฐมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 24
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 24 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้นำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 24 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ ดังนี้
1.1 ด้านเศรษฐกิจภายใต้วาระการเป็นประธานอาเซียนของ สปป. ลาว รวมทั้งสิ้น 14 ประเด็น1 ดำเนินการได้เสร็จสมบูรณ์และเสร็จในสาระสำคัญจำนวน 10 ประเด็น ได้แก่ (1) ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน (2) ยุทธศาสตร์เพื่อลดช่องว่างการพัฒนาและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ (3) การบรรลุข้อสรุปสำคัญของการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (4) การทบทวนความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาของอาเซียนเพื่อยกระดับความตกลงฯ (5) แนวทางการลดการเผาซากพืชผลทางการเกษตร (6) แผนปฏิบัติการอาเซียน ด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืน (7) การบรรลุความคืบหน้าสำคัญในการสรุปข้อตกลงต่อเนื่องของโครงการระบบส่งไฟฟ้าอาเซียนและการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีในภูมิภาค (8) มาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของอาเซียน (9) การเสริมสร้างการหารือเชิงนโยบายเพื่อแก้ไข ช่องว่างทางการเงินในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และ (10) การจัดทำแพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์ของอาเซียนสำหรับอุตสาหกรรม
1.2 การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของอาเซียน มีความคืบหน้าสำคัญ ดังนี้ (1) กรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ได้เน้นย้ำให้เป็นความตกลงที่มีความทันสมัย ครอบคลุม รองรับอนาคต และสอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน ทั้งนี้ จะเร่งรัดให้สามารถบรรลุผลการเจรจาได้ทันภายในปี 2568 (2) การจัดทำเลขทะเบียนนิติบุคคลเดียวภายในอาเซียน และการปรับปรุงและพัฒนาระบบจดทะเบียนธุรกิจซึ่งตั้งเป้าสรุปผลภายในสิ้นปี 2568 และ (3) การเชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการเชื่อม QR payment กับ 8 ประเทศ (กัมพูชา เวียดนามมาเลเซีย อินโดนีเซีย ลาว สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และฮ่องกง)
1.3 การพัฒนาด้านความยั่งยืนของอาเซียน มีความคืบหน้าสำคัญ ดังนี้
(1) กรอบเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้จัดตั้งกลุ่มดำเนินการเฉพาะด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อพัฒนาแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน (2) กรอบความร่วมมือเศรษฐกิจภาคทะเลได้จัดตั้งคณะทำงานประสานงานด้านเศรษฐกิจภาคทะเล เพื่อกำกับดูแล ประสาน และติดตามการดำเนินการตามข้อริเริ่มต่าง ๆ (3) ยุทธศาสตร์อาเซียนด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนได้รับรองแนวทางการจัดทำร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference - TOR) คณะทำงานอาเซียนด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (4) การเกษตรยั่งยืน ได้มีการเสริมสร้างการเกษตรยั่งยืน เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือเกี่ยวกับการเกษตรแบบยั่งยืน และ (5) การลงทุน ยั่งยืน ได้มีการจัดทำแนวปฏิบัติด้านการลงทุนที่ยั่งยืนของอาเซียน เพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ประเทศอาเซียนมีมาตรการการลงทุนที่มีความรับผิดชอบและครอบคลุม
1.4 การจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนหลังปี 2568 ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำร่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนฉบับใหม่ พร้อมทั้งแผนยุทธศาสตร์ประกอบวิสัยทัศน์ฯ โดยตั้งเป้าจะรับรองร่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2588 ในการประชุม สุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 ในเดือนพฤษภาคม 2568 ณ มาเลเซีย
1.5 การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ - เลสเต โดยติมอร์ฯ ได้ส่งหนังสือแสดงความต้องการที่จะจัดส่งข้อเสนอการเปิดตลาดเพื่อขอเข้าร่วมความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน และได้จัดส่งผลการประเมินตนเองถึงความพร้อมในการเข้าร่วมความตกลงเศรษฐกิจที่อยู่ในเงื่อนไขรายการความตกลงฯ แล้ว
1.6 เอกสารผลลัพธ์ด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมฯ ได้รับรองและเห็นชอบมีจำนวน 5 ฉบับ2 โดยรับรองเอกสาร 1 ฉบับ คือ (1) เอกสารการกำหนดกลยุทธ์ใหม่เพื่อลดช่องว่างการพัฒนาและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมในภูมิภาคอาเซียนและเห็นชอบเอกสาร 4 ฉบับ คือ (2) ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างการเชื่อมโยง ห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน3 (3) ปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืน4 (4) แนวทางการลดการเผาซากพืชผลทางการเกษตรของอาเซียน และ (5) แผนปฏิบัติการอาเซียน ด้านเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
1.7 ประเด็นการหารือทวิภาคีระหว่างไทย - สปป.ลาว ทั้งสองฝ่ายร่วมผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการค้า ภายในปี 2568 และเร่งการเจรจาจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน นอกจากนี้ ไทยพร้อมสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือ สปป.ลาว ในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการฝุ่นควันข้ามแดน โดยเฉพาะการส่งเสริมการค้า สินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการทำการเกษตรที่ยั่งยืน รวมถึงไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมแผนความร่วมมือทางการค้าระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทย กับกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว ครั้งที่ 8 และประเด็นการหารือกับภาคเอกชนไทยที่ประกอบธุรกิจใน สปป.ลาว ได้มีการหารือภาคธุรกิจไทยรวม
9 ธุรกิจ เพื่อรับฟัง ถึงสถานการณ์ของธุรกิจไทย รวมถึงโอกาสและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาวโดยให้เน้นการใช้ประโยชน์จากการเปิดใช้เส้นทางรถไฟขนส่งสินค้า และเส้นทางคมนาคมขนส่ง ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขง ซึ่งทำให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกจะได้รับประโยชน์จากต้นทุน ด้านโลจิสติกส์ที่ลดลงอย่างมากซึ่งถือว่าเป็นโอกาสทองในการลงทุนของนักธุรกิจไทย
2. นอกจากนี้ยังได้มีการหารือกับภาคเกษตรเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์การเจรจาจัดทำความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าภายในอาเซียนให้เอื้อกับการค้ายุคใหม่ และช่วยสนับสนุนการค้าสินค้าให้เติบโตและขยายตัว รวมถึงการดึงดูดการค้าและการลงทุนทั้งภายในและจากภายนอกภูมิภาคและนำไปสู่การเป็นตลาดเดียวในอนาคต และในส่วนของการพัฒนาที่ยั่งยืน อาเซียนได้วางรากฐานและเตรียมความพร้อมอาเซียนในการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน อย่างไรก็ตามภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมพร้อมรองรับและปรับตัวในเชิงรุกทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบของภาครัฐ การเสริมสร้างทักษะ และเปลี่ยนทักษะที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลและวาระความยั่งยืนในภาคเอกชนและผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมต่อไป และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises - MSMEs) เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าไปมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคอาเซียนและของโลก
_______________________________
1ประเด็นที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 4 ประเด็น ได้แก่ (1) การมีผลบังคับใช้ของพิธีสารฉบับที่ 2 เพื่อแก้ไขความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (2) การศึกษาเรื่องระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว รูปแบบใหม่ ของอาเซียน (3) การรับรองแผนงานว่าด้วยมาตรฐานการค้าดิจิทัลของอาเซียน และ (4) การรับรองแผนงานเพื่อจัดทำหมายเลขทะเบียนนิติบุคคลที่สามารถเทียบเคียงและยอมรับร่วมกันได้ในอาเซียน
2เอกสารผลลัพธ์ ฉบับที่ (1) (4) และ (5) เข้าข่ายเป็นเอกสารที่ไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรี
(16 กรกฎาคม 2567)
3คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (17 กันยายน 2567) เห็นชอบร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานระหว่างกัน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำในการยกระดับนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขันและความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค
4คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (8 ตุลาคม 2567) เห็นชอบร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมการเกษตรที่ยั่งยืนเพื่อแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำในการกำหนดแนวทางสำหรับความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนในภาคการเกษตร
23. เรื่อง รายงานผลการเดินทางเยือนนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการเดินทางเยือนนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะผู้บริหารระดับสูง พณ. ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย การค้าระหว่างไทย – จีน ในปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวม 3.65 ล้านล้านบาท หดตัวลงร้อยละ 0.19 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยมีมูลค่าการส่งออกไปจีน 1.18 ล้านล้านบาท และมูลค่าการนำเข้าจากจีน 2.47 ล้านล้านบาท
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางเยือนนครเซี่ยงไฮ้ จีน ระหว่างวันที่ 4 – 6 พฤศจิกายน 2567 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
(1) เข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองพิธีเปิดและเยี่ยมชมงาน China International Import Expo (CIIE) ครั้งที่ 7 หรือ CIIE 2024 โดยได้พบกับนายกรัฐมนตรีจีนและได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ซึ่งฝ่ายจีนแจ้งว่า ชาวจีนนิยมสินค้าไทย โดยเฉพาะอาหาร และพร้อมสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากไทย โดยปีหน้าไทยและจีนจะครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตจึงต้องการให้มีความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น ทั้งนี้ พณ. ได้นำผู้ประกอบการสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 20 บริษัท เข้าร่วมแสดงสินค้า โดยจัดเป็นคูหา Thai Food and Agricultural Products Pavilion มีมูลค่าสั่งซื้อทันทีและมูลค่าคาดการณ์ภายใน 1 ปี รวม 64.97 ล้านบาท และคูหา Thailand Pavilion เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้า/บริการของไทย โดยปีนี้เน้นการจัดแสดงกลุ่มสินค้า/บริการในกลุ่มอุตสาหกรรม Soft Power ได้แก่ อาหาร ไลฟ์สไตล์ แฟชั่นและธุรกิจบริการเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยังได้เป็นประธานในพิธีเปิดดูหา Thailand Pavilion และสาธิตทำอาหารไทยเมนูมัสมั่นไก่ ทานกับข้าวหอมมะลิ นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมพิธีเปิดคูหาของหอการค้าไทย – จีน ซึ่งนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วม จำนวน 27 คูหา
(2) หารือกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (บริษัท หัวเว่ยฯ) โดยบริษัท หัวเว่ยฯ ได้เสนอแนวทางความร่วมมือกับ พณ. เช่น การรวมแพลตฟอร์มคลาวด์ของ พณ. เป็นแพลตฟอร์มเดียว การใช้ Artificial Intelligence (AI) และ Big Data เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มตลาดอุปสงค์และช่วยกำหนดนโยบาย รวมถึงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาทักษะดิจิทัล SMEs ทั้งนี้ ปัจจุบัน พณ. โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจ มีขอบเขตความร่วมมือครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาบุคลากร พณ. 2) การสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ 3) การเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของภาครัฐโดยการใช้เทคโนโลยีของบริษัท หัวเว่ยฯ
(3) หารือแลกเปลี่ยนความเห็นกับหอการค้าไทยในจีน และกลุ่มนักธุรกิจไทย โดยได้ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักธุรกิจไทย ซึ่งมีประเด็นหลักที่ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐช่วยแก้ไข/ผลักดัน ได้แก่ 1) ต้องการให้ผู้ประกอบการไทยมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันการเข้ามาลงทุนในไทยของต่างชาติมีลักษณะที่มาทั้งห่วงโซ่อุปทาน 2) ต้องการให้ภาครัฐพิจารณามาตรการเพื่อให้ไทยสามารถส่งออกรังนกสดและแปรรูปได้มากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดจีนที่สูงขึ้นทุกปี 3) ต้องการให้มีการประชาสัมพันธ์สินค้าที่ผลิตในประเทศไทย รวมถึงอาหารที่มีรสชาติไทยแท้ และเห็นว่าตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พณ. เช่น Thai SELECT และ Thailand Trust Mark ยังขาดการประชาสัมพันธ์ ให้กลุ่มเป้าหมายรู้จัก 4) ต้องการให้กระบวนการขออนุญาตต่าง ๆ ในไทยมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การขออนุญาตปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากคู่แข่งในตลาดจีนมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และ 5) ต้องการให้มีมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำโฆษณาในไทย นอกเหนือจากการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์
3. พณ. ได้เสนอแนวทางการดำเนินงานต่อไป ดังนี้
3.1 พณ. โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะสนับสนุน ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้า CIIE อย่างต่อเนื่อง
3.2 ดำเนินกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจกับบริษัท หัวเว่ยฯ ให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาช่วงต้นปีหน้า
3.3 ติดตามประเด็นที่เอกชนต้องการให้ช่วยผลักดัน และดำเนินการประสัมพันธ์ตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น THAI Select และ Thailand Trust Mark ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น
3.4 การเดินทางเยือนนครเซี่ยงไฮ้ จีน ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในครั้งนี้จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระดับสูงของภาครัฐไทย - จีน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปิดโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ ตลอดจนช่วยเปิดประตูทางการค้าให้ผู้ประกอบการไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจในตลาดจีนได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสในการรับทราบปัญหาอุปสรรคของธุรกิจไทยในจีน เพื่อ พณ. จะได้ดำเนินนโยบายช่วยเหลือธุรกิจไทยในการทำการค้าในต่างประเทศได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
24. เรื่อง ผลการเดินทางไปราชการ ณ สาธารณรัฐอิตาลี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการเดินทางไปราชการ ณ สาธารณรัฐอิตาลี (อิตาลี) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญ
กษ. รายงานว่า
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินทางไปราชการ ณ กรุงโรม อิตาลี ระหว่างวันที่ 13 – 19 ตุลาคม 2567 โดยผลการเดินทางไปราชการ ณ อิตาลี มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 การลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการเกษตร [International Fund for Agricultural Development (IFAD)] ว่าด้วยการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคของ IFAD สำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ณ กรุงเทพมหานคร (กรุงเทพฯ) ประเทศไทย (ไทย) (ข้อตกลงฯ) ณ สำนักงานใหญ่ IFAD กรุงโรม อิตาลี ในวันที่ 14 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และประธาน IFAD ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งประธาน IFAD ได้แสดงความขอบคุณ กษ. ที่ร่วมผลักดันให้ไทยเป็นที่ตั้งสำนักงาน IFAD ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเพียงหนึ่งเดียว เนื่องจากเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางด้านการเกษตรของเอเชีย มีบุคคลที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร และพร้อมที่จะดำเนินการแปลกเปลี่ยนความร่วมมือกันต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ การลงนามในข้อตกลงฯ ทำให้กรุงเทพฯ เป็นสถานที่ตั้งหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติด้านอาหารและการเกษตรครบทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ [FOOD and Agriculture Organization of the United Nations (FAO)] โครงการอาหารโลก World Food Program (WFP)] และ IFAD เช่นเดียวกับกรุงโรม
1.2 การประชุมอาหารโลก [World Food Forum (WFF) 2024] ณ สำนักงานใหญ่ FAO ระหว่างวันที่ 14 – 18 ตุลาคม 2567 ภายใต้หัวข้อ อาหารที่ดีกว่าเพื่อทุกคนทั้งในวันนี้และอนาคต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการเสริมสร้างเครือข่ายของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนระบบเกษตรและอาหารสู่ความยั่งยืน ซึ่งมีรายละเอียดของการประชุมย่อยภายใต้การประชุม WFF ดังนี้
1.2.1 การประชุม WFF 2024 ในพิธีการประชุมดังกล่าว ณ วันที่ 14 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยผู้นำระดับสูงของนานาประเทศ ได้เยี่ยมชมกิจกรรมและนิทรรศการที่จัดขึ้นคู่ขนาน ได้แก่ (1) การประชุมเยาวชนโลกเพื่อขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของเยาวชน (2) การประชุมความร่วมมือด้านการลงทุนของ FAO เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศในประเด็นที่มีความเร่งด่วนหรือความสนใจร่วมกัน เพื่อขจัดความยากจน ลดจำนวนผู้หิวโหย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท และ (3) การประชุมด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของ FAO เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการใช้นวัตกรรมเพื่อพลิกโฉมระบบเกษตรและอาหาร และต่อมาในพิธีเปิดการประชุม WFF 2024 ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีขึ้นกล่าวในหัวข้อวิสัยทัศน์ด้านระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินงานของไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 เช่น ไทยมุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการเสริมสร้างการวิจัยและพัฒนาและการปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรเพื่อให้มั่นใจว่าไทยเป็นผู้นำด้านเกษตรและอาหารและเป็นครัวสีเขียวของโลก ทั้งนี้ ได้เชิญชวนผู้นำประเทศและนักวิชาการจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมนานาชาติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรดิน และน้ำเพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน (ไทย โดย กษ. เป็นเจ้าภาพร่วมกับ FAO) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2567 ณ กรุงเทพฯ
1.2.2 การประชุมความร่วมมือด้านการลงทุนของ FAO ในพิธีเปิดการประชุมดังกล่าว ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2567 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ การส่งเสริมการลงทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนระบบเกษตรและอาหารสู่ความยั่งยืน และการดำเนินงานของไทยร่วมกับผู้แทน เช่น ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย และสภาเศรษฐกิจโลก โดยได้มีการเน้นย้ำว่า ไทยกำลังเร่งปรับเปลี่ยนระบบเกษตรและอาหารเพื่อความยั่งยืน เพิ่มรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรผ่านการใช้นวัตกรรมเพื่อการผลิตที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ยังได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาผ่านกลไกการลงทุนและความร่วมมือเพื่อปรับเปลี่ยนระบบเกษตรและอาหารสู่ความยั่งยืน
1.3 การประชุมหารือทวิภาคี เช่น
1.3.1 การประชุมหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรอธิปไตยทางอาหารและป่าไม้อิตาลี ในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 โดยขอให้ฝ่ายอิตาลีมั่นใจต่อการสานต่อการดำเนินงานของฝ่ายไทยที่ยังคงตั้งมั่นในการสร้างความร่วมมือด้านวิชาการโดยเฉพาะเทคโนโลยีทางการเกษตร นอกจากนี้ ฝ่ายไทยได้ขอรับการสนับสนุนจากอิตาลีเพื่อผลักดันการดำเนินการเคลื่อนย้ายม้าจากไทยไปยังสหภาพยุโรป เนื่องจากองค์กรสุขภาพสัตว์โลกได้รับรองให้ไทยเป็นประเทศปลอดกาฬโรคแอฟริกาในม้าตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2566 และไทยหวังว่าอิตาลีจะช่วยผลักดันให้สหภาพยุโรปคืนสถานะให้กับไทยภายในปีนี้ เพื่อให้นักกีฬาสามารถนำม้าจากสหภาพยุโรปเข้ามาแข่งในไทยในห้วงเดือนธันวาคม 2568 ทั้งนี้ ฝ่ายอิตาลีได้รับทราบประเด็นดังกล่าวและจะติดตามการดำเนินงานของสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด
1.3.2 การประชุมหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ภายใต้ประเด็นความร่วมมือด้านการเกษตรของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการด้านเกษตร (ดำเนินการประชุมมาแล้ว 4 ครั้ง) และกรอบการประชุมระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นต้น ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน และมุ่งดำเนินนโยบาย/มาตรการที่เอื้อประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย เช่น การขนส่งทุเรียนไทยโดยใช้เส้นทางผ่าน สปป. ลาวไปสาธารณรัฐประชาชนจีน
1.3.3 การประชุมหารือทวิภาคีกับสภาเศรษฐกิจโลก [World Economic Forum (WEF)] ในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 โดยฝ่าย WEF ได้กล่าวชื่นชมวิสัยทัศน์และนโยบายสนับสนุนการลงทุนภาคเกษตรไทย และได้นำเสนอการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนข้อริเริ่มร่วมเพื่อเคลื่อนไหวครั้งแรก (First Mover Coalition) ที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมเบื้องต้น 13 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ องค์กร WEF ได้ต่อยอดโครงการดังกล่าวโดยมุ่งหวังจะเป็นตัวกลางในการจับคู่ภาคเอกชนที่จะต้องซื้อขายสินค้าเกษตรกับภาครัฐที่มีนโยบายสนับสนุนการเกษตรคาร์บอนต่ำ
25. ผลการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอผลการประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 6 (The Sixth Session of the United Nations Environment : UNEA 6) รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อมติและข้อตัดสินใจจากการประชุม UNEA 6 ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป และให้ ทส. รับความเห็นของ อว. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญ
1. เดิมคณะรัฐมนตรีมีมติ (27 กุมภาพันธ์ 2567) เห็นชอบในหลักการร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีสำหรับการประชุม UNEA 6 และร่างแถลงการณ์ระดับสูง High-Level Statement on Plastic Pollution, including in the Marine Environment ภายใต้หัวข้อหลัก “การดำเนินการพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และยั่งยืน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ”เพื่อเตรียมความพร้อมและระดมความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วนในการร่วมแก้ไขวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม
2. รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ) ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม UNEA 6 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม 2567 ณ สำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กรุงไนโรปี สาธารณรัฐเคนยา โดยมีผลลัพธ์การประชุมสรุปได้ ดังนี้
2.1 แถลงการณ์ระดับสูง High-Level Statement on Plastic Pollution, including in the Marine Environment (แถลงการณ์ระดับสูงฯ) ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแสดงให้เห็นถึง ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมที่แข็งแกร่งของภูมิภาคในการสนับสนุนและส่งเสริมความพยายามระดับโลกในเรื่องมลพิษจากพลาสติก เช่น (1) สนับสนุนแนวทางที่ครอบคลุมเพื่อจัดการกับมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล (2) ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงและการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนของพลาสติก และ (3) พยายามเสริมภูมิปัญญาดั้งเดิม ความรู้ของชนเผ่าพื้นเมือง และระบบภูมิปัญญาท้องถิ่นในการแก้ปัญหาของมลภาวะจากพลาสติก
2.2 ปฏิญญาระดับรัฐมนตรี ซึ่งมีสาระสำคัญการเน้นย้ำการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติและมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือในทุกระดับและการดำเนินงานภายใต้ความตกลงพหุภาคี รวมทั้งเน้นย้ำและตระหนักถึงบทบาทของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) ในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้กำหนดนโยบายและนักวิทยาศาสตร์ และบทบาทของสำนักงานภูมิภาคของ UNEP ในการเสริมสร้างความร่วมมือร่วมกับประเทศสมาชิก
2.3 ข้อมติ (Resolutions) จำนวน 15 ข้อ และข้อตัดสินใจ (Decisions) จำนวน 2 ข้อ ซึ่งครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในมิติต่าง ๆ เช่น การหมุนเวียนที่มีความยืดหยุ่นและแนวทางคาร์บอนต่ำในอุตสาหกรรมอ้อย การส่งเสริมความร่วมมือด้านมลพิษทางอากาศระดับภูมิภาคเพื่อคุณภาพอากาศระดับโลก การจัดการสารกำจัดศัตรูพืชที่อันตราย และแนวทางแก้ไขด้านการเสริมสร้างนโยบายน้ำที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมเพื่อให้บรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทของวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ทส. เห็นควรมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อมติและข้อตัดสินใจดังกล่าว โดย ทส. จะติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการจัดทำท่าทีของประเทศไทยสำหรับการประชุม UNEA 7 ระหว่างวันที่ 8 - 12 ธันวาคม 2568 ณ สำนักงานใหญ่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา ต่อไป
3. ที่ประชุม UNEA 6 ได้มีการปรับถ้อยคำในแถลงการณ์ระดับสูงฯ และปฏิญญาระดับรัฐมนตรีเพื่อให้มีความกระชับ ยืดหยุ่น และเหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ โดยยังคงไว้ซึ่งสาระสำคัญตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567
4. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาแล้วไม่ขัดข้องต่อการมอบหมายการดำเนินการตามข้อมติและข้อตัดสินใจจากการประชุม UNEA 6 โดย อว. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า การจะส่งเสริมเรื่อง sustainable lifestyle ควรพิจารณาขอบเขตก่อนว่าวิถีชีวิต ควรประกอบด้วยอะไรบ้าง เพื่อให้สามารถสื่อสารและปรับเปลี่ยนสังคมไปสู่วิถีชีวิตยั่งยืนได้
แต่งตั้ง
26. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงสาธารณสุข)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นางสาววรางคนา เวชวิธี ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านทันตสาธารณสุข) กรมอนามัย ให้ดำรงตำแหน่ง ทันตแพทย์ทรงคุณวุฒิ (ด้านทันตสาธารณสุข) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี