ไม่ร่วมสังฆกรรมแก้รัฐธรรมนูญ
มติ‘ภูมิใจไทย’
ชี้สุ่มเสี่ยงขัดคำวินิจฉัยศาลรธน.
‘อนุทิน’ยันไม่กระทบพรรคร่วมรบ.
แจ้ง‘นายกฯ-ชูศักดิ์-ภูมิธรรม’แล้ว
มติพรรคภูมิใจไทย ไม่ร่วมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามวาระรัฐสภา 13-14 กุมภาพันธ์นี้ ชี้สุ่มเสี่ยงขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ไม่สนเป็นแพะรับบาป เชื่อไม่กระทบพรรคร่วม เผยแจ้งนายกฯไปแล้ว ขณะที่สว.พันธุ์ใหม่ ค้านยื่นตีความแก้ รธน.ที่กระบวนการช้ามานาน ขู่หากสะดุดแล้วมีม็อบมาทวงถาม ต้องตอบให้ได้“จาตุรนต์”ชี้แก้หรือไม่สภาฯต้องมีความชัดเจนก่อน
‘วุฒิสภา’ส่งความเห็น‘วันนอร์’ยันแก้รัฐธรรมนูญ ต้องทำประชามติ3ครั้ง เชื่อถก13-14ก.พ.‘สว.ส่วนใหญ่’เดินตาม
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 ที่พรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม สส.พรรคภูมิใจไทย ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 13-14 ก.พ.ว่า พรรคภูมิใจไทยมีมติ ไม่ร่วมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าการบรรจุวาระมีความสุ่มเสี่ยงที่จะขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปี2564 ที่ระบุว่า ต้องมีการถามประชามติจากพี่น้องประชาชนก่อน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องเป็นไปตามครรลองที่ถูกต้อง
มติภท.ไม่ร่วมถกแก้รธน.13-14ก.พ.นี้
เมื่อถามว่าจะไม่เข้าห้องประชุมเลยใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เราต้องไปร่วมประชุม เนื่องจากการประชุมในวันพรุ่งนี้มีหลายวาระ เราจะไปเซ็นชื่อว่าเรามาประชุม แต่จะไม่ร่วมการพิจารณาเรื่องดังกล่าว และจะมีการเรียนต่อประธานรัฐสภาให้รับทราบถึงแนวทางการปฏิบัติของพรรคภูมิใจไทย เมื่อถามว่าได้มีการคุยกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องนี้แล้วหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เราไม่ได้คุยกับพรรคแกนนำ เพราะเรื่องนี้เป็นการนำเสนอของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่มีมติพรรคร่วม ไม่มีการหารือในพรรคร่วมรัฐบาล แต่เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละพรรคเกี่ยวกับการเสนอกฎหมายต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องของรัฐสภาล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล
ไม่สนแพะรับบาป-ไร้ปัญหาพรรคร่วม
เมื่อถามว่าเป็นห่วงว่าพรรคภูมิใจไทยจะเป็นแพะรับบาปขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ เราไม่ได้ขวาง แต่เราต้องการทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย พรรคภูมิใจไทยทุกคนเห็นตรงกันว่าเสี่ยงไม่ได้ เพราะขัดแย้งต่อคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ส่วนจะมี สส.สว.คิดแบบภูมิใจไทยหรือไม่ตนไม่ทราบ ะนี่คือแนวทางพรรคภูมิใจไทย เราไม่ต้องการบอกให้ใครทำ เราไม่ได้สนใจว่าเราจะเป็นแพะหรือเป็นอะไร แต่เรามั่นใจว่าเราได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ยืนยันว่าไม่ใช่ไม่แก้รัฐธรรมนูญ เรื่องนี้ต้องแก้ไขแต่ต้องเป็นไปตามแนวทางที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อถามว่าหนึ่งในสองร่างที่เสนอเป็นร่างของพรรคเพื่อไทย กลัวว่าจะมีปัญหากับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแยกระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องฝ่ายนิติบัญญัติล้วนๆ เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่มีแนวทางของตัวเอง พรรคภูมิใจไทยเคยเสนอกฎหมายกัญชาเขาก็ไม่เห็นด้วย เราก็ไม่ได้โวยวายอะไร เราก็รับสภาพ
แจ้ง’นายกฯ-ชูศักดิ์-ภูมิธรรม’ไปแล้ว
นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ตนได้แจ้งเรื่องนี้ไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว และแจ้งให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม รับทราบแนวทางของพรรคภูมิใจไทยว่าเป็นแบบนี้ ซึ่งนายชูศักดิ์บอกว่าให้ดูหน้างาน เมื่อถามว่าพรรคภูมิใจไทยจะเป็นหัวหอกในการไปยื่นให้ศาลวินิจฉัยหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ สส.ทุกคน ต้องรักษาอนาคตของตัวเองด้วย เขาต้องทำงานในพื้นที่ ต้องทำงานการเมืองในฐานะสส. ขอย้ำว่าไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ตอนที่เสนอญัตตินี้เขาก็ไม่ได้มาถามเราว่าจะเห็นชอบด้วยหรือเห็นต่าง
‘อ๋อย’ชี้แก้หรือไม่สภาฯต้องชัดเจนก่อน
นายจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า การที่ประธานรัฐสภาบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา256 โดยไม่รอการทำประชามติก่อนนั้นเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว มาตรา256 เป็นมาตราว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งปัจจุบันไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการร่างใหม่ทั้งฉบับ แต่การเสนอแก้มาตรา 256 ในครั้งนี้ก็นำมาเพื่อทำให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับต่อไป ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเป็นอำนาจของรัฐสภา แต่หากรัฐสภาต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องไปทำประชามติเสียก่อน คำถามสำคัญจึงอยู่ที่รัฐสภาต้องการแก้ไขทั้งฉบับหรือยัง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอร่างฯและประธานรัฐสภาสั่งให้บรรจุเข้าระเบียบวาระแล้วแต่รัฐสภายังไม่ได้พิจารณา รัฐสภาจึง “ยังไม่ได้ต้องการที่จะแก้ไขทั้งฉบับ” จึงไม่มีอำนาจที่จะไปบอกให้กกต.จัดให้มีการลงประชามติ แต่หากรัฐสภารับหลักการ ก็สามารถส่งเรื่องให้ กกต.เพื่อให้จัดการออกเสียงประชามติสอบถามความเห็นจากประชาชนต่อไปได้ หากรัฐสภาเห็นชอบให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ รัฐสภาก็คงต้องชะลอการพิจารณาไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาให้ชัดเจนซึ่งก็เป็นเรื่องดีที่จะทำให้หมดข้อสงสัยและมีข้อยุติในเรื่องการทำประชามติเมื่อใดเสียที
สว.แจ้ง‘วันนอร์’ต้องทำประชามติ3ครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ทำความเห็นเรื่องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช….(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา256 หลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและเพิ่มหมวด15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่)ของ นายพริษฐ์วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กับคณะเป็นผู้เสนอ ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติอย่างไร ซึ่งจะเป็นแนวทางเดียวที่ใช้กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด1หมวด 2ของพรรคเพื่อไทยด้วย โดยสำนักกฎหมายฯ พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ต้องมีการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ถามประชาชนก่อนว่าต้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหมหรือไม่ ครั้งที่ 2 (ถ้าผ่านครั้งที่ 1) นำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่เสนอแก้มาตรา 256+เพิ่มหมวด 15/1 เสนอที่ประชุมร่วมรัฐสภา ถ้าสภาเห็นชอบแล้ว จึงไปทำประชามติอีกที ครั้งที่3 (ถ้าผ่านครั้งที่ 2) ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มาร่วมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอต่อรัฐสภาพิจารณาแล้วจึงทำประชามติ
ประกอบกับรัฐธรรมนูญมาตรา 221 วรรคสี่ที่บัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา ครม.ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานรัฐ” ซึ่งความเห็นหลักฝ่ายนี้มีการอ้างอิงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่18- 22/2555 เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2555 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2564 ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยกลางของศาล (มิใช่คำวินิจฉัยส่วนตน) ตามที่วินิจฉัยว่า“...รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง” มาเป็นหลักในการพิจารณา ทั้งนี้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดเจนว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 มีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ต้องจัดให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อนว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ (การออกเสียงประชามติครั้งที่1)และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง (การออกเสียงประชามติ ครั้งที่ 3 ) ส่วนการออกเสียงประชามติ ครั้งที่ 2 เป็นไปโดยบทบัญญัติเฉพาะของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 256 (8)
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ความเห็นของสำนักกฎหมายฯ นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ได้ทำหนังสือแจ้งต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้ทราบแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเชื่อว่าความเห็นดังกล่าวจะเป็นท่าทีของ สว.ส่วนใหญ่ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการพิจารณาในการประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 13-14ก.พ.นี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี