"นักวิชาการ"เตือนรัฐบาลรอบคอบ หลัง"นายกฯ"สั่งศึกษาทบทวนกฎหมายห้ามขายเหล้าวันพระใหญ่-ช่วงเวลาห้ามขาย 14.00-17.00 น.หวังกระตุ้นเศรษฐกิจตามข้อเรียกร้องของภาคธุรกิจ ชี้กระทบกับสังคมโดยรวม หลายชาติมีมาตรการจำกัด ไม่มีเสรี 100% กระตุกปม"กัญชา"เป็นบทเรียน คุมไม่ได้ ทำเยาวชนติดงอมแงม
ตามที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำการศึกษาและทบทวนกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอออล์ในวันพระใหญ่ และการห้ามขายในช่วงเวลา 14.00 - 17.00 น.ภายหลังได้รับข้อร้องเรียนจากภาคธุรกิจว่ากฎหมายเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุปสรรคต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มีการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ล่าสุดวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ไชยสงค์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า เข้าใจว่าเป้าหมายนโยบายของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะต้องยอมรับว่าวันนี้เศรษฐกิจฝืดเคือง และคิดว่าเป็นนโยบายที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดที่แล้วที่อนุญาตให้ขยายเวลาเปิดผับได้จนถึงตี 4 โดยมองว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากระตุ้นเศรษฐกิจรายได้มากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าปกติ ดื่มแล้วเมาทำให้ขาดสติ เป็นสาเหตุของปัญหาสังคม การดื่มแล้วขับ การทำร้ายร่างกายทะเลาะวิวาท ซึ่งจะเห็นว่ามีเยอะมากในสังคมปัจจุบัน
นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การใช้สารเสพติดชนิดอื่น รวมถึงเรื่องการพนันด้วย ซึ่งแพทย์ประจำห้องฉุกเฉินบอกว่า เคสที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์จะมาที่ห้องฉุกเฉินเยอะโดยเฉพาะช่วงหลัง ปิดสถานบันเทิง ทำให้เกิดภาระงานเพิ่มขึ้น และเกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทำให้มีการจำกัดเวลาขายเพื่อป้องกันปัญหาจากการดื่มแอลกอฮอล์ในบางช่วงเวลา
ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า จากการรีวิวรายงานมาตรการเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในต่างประเทศจะพบว่า ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน โดยมีทั้งประเทศที่เคยขาย ดื่มได้ตลอดเวลา สุดท้ายต้องออกมาตรการจำกัดการขาย กับประเทศที่เคยมีการจำกัดการขาย ต่อมาขอเปิดขายแล้วสุดท้ายก็ต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุม จำกัดการขายอีก เช่น ฝั่งยุโรป และสหรัฐอเมริกาในบางรัฐห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันอาทิตย์ เพราะถือเป็นวันครอบครัวที่จะอยู่และทำกิจกรรมร่วมกันในพื้นที่ที่มีความปลอดภัย ส่วนสวีเดนจะห้ามขายในวันเสาร์ ซึ่งถ้านับแล้ว 1 ปี มี 52 สัปดาห์ เท่ากับว่าประเทสเหล่านี้ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 52 วัน บางประเทศห้ามขายในวันชาติ หรือกระทั่งห้ามขายในวันคริสมาสต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลก นอกจากนี้บางประเทศจะห้ามขายหลังเที่ยงคืน หรือตี 1 ตี 2 เพราะเห็นว่าเป็นช่วงที่คนพักผ่อน การสัญจรควรปลอดภัน
"ประเทศบราซิล มีเมืองอุตสาหกรรม จากเดิมที่ขายตลอดเวลาไม่ห้ามเลย ก็เกิดเคสทำร้ายร่างกาย อาชญากรรมสูงจึงมีการทบทวน และขอจำกัดเวลาห้ามขายหลัง 23.00 น.ซึ่งก็ทำให้เคสอาชญากรรมลดลงการทะเลาะวิวาทลดลง หรือที่รัฐเซีย เป็นเมืองที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ ต่อหัวประชากรเยอะมาก ปัญหาที่เกิดขึ้นช่วงหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 อายุไขเฉลี่ยของประชากรสั้นลง เสียชีวิตเร็วขึ้นจากหลายปัจจัยหนึ่งในนั้น คือ เพราะเดิมแอลกอฮอล์มาก จากนั้นรัฐสภารัสเซียก็มาเจอปัญหาในปี 2009 ขอควบคุมการขายในปี 2010 จากที่เคยกินดื่มฟรีได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยบางพื้นที่ขายได้น้อยกว่า 8 ชั่วโมง บางพื้นที่ขาย 10 ชั่วโมง แต่การจำกัดเช่นนี้ทำให้ปัญหาเขาลดลงมาก"
ดังนั้น รัฐบาลต้องไม่รีบร้อน ต้องมีการศึกษาอย่างรอบด้าน จริงๆ เป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลคืออะไร เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจมีหลายแบบ ที่ควรทำคือนโยบายที่สร้างผลกระทบน้อยที่สุด และไม่ใช่แบบที่เอาตัวเลขรายได้ที่ได้มาลบจากผลกระทบสุขภาพในด้านต่างๆ แล้วเห็นว่ายังพอมีกำไรก็เลือกทำ แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือต้องทำนโยบายที่มีผลกระทบกับสุขภาพน้อยที่สุด และที่จริง คนต่างชาติมาเที่ยวไทยเพราะต้องการดูบ้านเมือง วัฒนธรรมไทย ไม่ใช่หวังเข้ามาดื่มแอลกอฮอล์ แล้วที่จริงวันพระใหญ่ก็มีแค่ 4 วันใน 356 วัน เมื่อเทียบกับบางประเทศเขาห้ามขายถึง 52 วันใน 1 ปี ถ้ามองในมุมนี้ ถือว่าประเทศไทยมีวัน เวลาที่ขายได้ สร้างเศรษฐกิจได้ หลายวันอยู่แล้ว แล้วการส่งเสริมงดขายเหล้าในวันพระก็เป็นวัฒนธรรมพื้นฐาน
"คิดว่ารัฐบาลตั้งหลักด้วยการศึกษาก่อนก็ดี แต่การศึกษานี้ไม่ใช่ว่าจะต้องไปล้างกฎหมาย หรือจะต้องไปทำให้เกิดเสรีทุกอย่าง 100% ถ้าเป็นแบบนั้นก็จะยังทำให้เกิดผลกระทบมากอยู่ดี จึงไม่ควรเป็นมาตรการแรกๆ แน่นอนว่าเศรษฐกิจมาจากการค้าขาย ถ้าคนดื่มน้อยมันคงไม่ได้กำไร แต่ถ้าส่งเสริมให้คนบริโภคมันจะมี 2 แบบก็คือเรามีคนที่บริโภคอยู่แล้ว 30% ประเด็นก็คือจะให้คุณ 30% ที่ดื่มอยู่แล้วนี่ดื่มมากขึ้น หรือจะส่งเสริมให้อีก 70% ที่ไม่ได้ดื่มนี้หันมาช่วยกันดื่มให้มากขึ้น เพื่อทำให้คนขายของให้ได้มากขึ้น อาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมามากขึ้น โดยเฉพาะเด็กเยาวชน คนเปราะบาง" ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าว
เรื่องนี้รัฐบาลต้องรอบคอบ ต้องไม่รีบ เพราะสุดท้ายคงไม่ได้ทำนโยบายนี้กับเฉพาะนักท่องเที่ยว สุดท้ายคือคนไทย สังคมไทยที่ต้องอยู่กันไปในระยะยาว ถ้าจะทำต้องมีการเตรียมพร้อมหลายอย่างทั้งเชิงโครงสร้าง กฎหมายที่เข้มงวด มีการสนับสนุนงบประมาณจริงจัง ทรัพยากรเพียงพอ คนเพียงพอ เพราะเราไม่รู้ว่ารัฐบาลนี้ กับรัฐบาลปีต่อๆ ไปจะเป็นชุดเดิมหรือไม่ หากมีนโยบายมาแต่ไม่มีอะไรสนับสนุนจริงจังสุดท้ายผู้ปฏิบัติงานก็คือคนที่จะถูกต่อว่าจากทุกฝ่าย ส่วนผู้ประกอบการ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และปฏิบัติตาม มีการเซ็ตระบบป้องกันปัญหาที่ตามมา มีบริการดูแลคนเมาจริงจัง ส่วนฝั่งผู้บริโภคเชื่อว่ามีความรู้อยู่แล้ว ที่ต้องทำคือการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ขอย้ำว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ คือการกระตุ้นการใช้จ่าย แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจแบบนี้การกระตุ้นการใช้จ่ายควรพุ่งไปที่สิ่งของจำเป็น ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย ไม่ใช่มุ่งเรื่องเอนเตอร์เทน รัฐควรส่งเสริมให้คนใช้จ่ายเป็น ควบคู่กับการออมเงินเป็นด้วย
"ผมขอพาดพิงเรื่องนี้ อย่างเราพูดเรื่องกัญชาก็ยังมีปัญหาอยู่ เรารู้ว่ามันเสพติดชัดเจนมาก ผมทำโครงการเฝ้าระวังพบว่ามีการเข้าถึงในเด็กนักเรียนเยอะมาก แล้วกฎหมายที่จะมาควบคุมก็ยังยากอีก นี่คือจุดประสบการณ์ของบ้านเรา ถ้ารัฐบาลจะออกนโยบาย แบบนี้อีกก็ลองนึกดู ว่าสิ่งที่เคยมีแนวทางมาก่อนก็ยังแก้ไม่ได้ จะต้องแก้อย่างไรเคสนี้ก็น่าจะเหมือนกัน" ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี