‘พรรคประชาชน’แถลงผิดหวัง‘สภาล่ม’วันที่2 จี้นายกฯ‘ยุบสภา’หากแก้รัฐธรรมนูญตามนโยบายไม่ได้ ชี้ขาดเจตจำนงทางการเมือง-นิติรัฐ-ไม่เคารพเสียงประชาชน เชื่อเดินทางตรงได้ไม่ จำเป็นต้องเดินอ้อม ท้า‘เพื่อไทย’ไปชวน‘ภูมิใจไทย’ลงมติหนุนส่งศาลรัฐธรรมนูญหากกลัวติดขัดข้อกฎหมายจริง ‘ไอติม’ชี้รอยร้าวพรรคร่วมอุปสรรคแก้รัฐธรรมนูญ
14 กุมภาพันธ์ 2568 ที่รัฐสภา สส.พรรคประชาชน นำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) และผู้นำฝ่ายค้านฯ , นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุมรัฐสภาล่มเป็นวันที่ 2 ทำให้ไม่สามารถพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้ ว่า สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมร่วมรัฐสภาพรรคประชาชนรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญวันนี้ แทบจะเป็นด่านสุดท้ายที่พวกเราคิดว่าหากสามารถเดินหน้าแก้ไขได้เพราะมีโอกาสที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันต่อการเลือกตั้งปี 2570 ซึ่งเราเชื่อว่าการเดินหน้าแก้ไขในครั้งนี้มีกระบวนการที่สามารถเดินทางอย่างตรงไปตรงมาได้ไม่จำเป็นต้องเดินอ้อม ซึ่งเราไม่เชื่อว่าการเดินอ้อมอย่างที่เป็นอยู่จะนำไปสู่ปลายทางที่ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ระหว่างพักการประชุมได้มีการหารือ 2 ฝ่าย เพื่ออย่างน้อยหากสมาชิกจากฝั่งรัฐบาลยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ถ้าเดินหน้าเข้าสู่วาระการประชุมครั้งนี้อาจจะมีการฟ้องร้องทางข้อกฎหมายนั้น เราจึงเปิดโอกาสเพื่อที่จะให้มีการหารือกันหรือเปิดอภิปรายเพื่อให้สังคมและเพื่อนสมาชิกได้เข้าใจมากขึ้น แต่ผลปรากฏว่าเมื่อมีการประชุมพรรคร่วมพบว่าฝั่งรัฐบาลกลับยังเดินหน้าที่จะให้มีการนับองค์ประชุมต่อ จนนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์สภาล่มตามที่ปรากฏ แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าเราจะพยามเดินออย่างไร ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ สิ่งที่เราจะเชื่อว่าเป็นทางออกคือการเดินหน้าตรงเพื่อแก้ปัญหา
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า โดยปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหา 3 เรื่องหลัก คือ การขาดเจตจำนงทางการเมือง ขาดเจตนารมณ์ความเป็นนิติรัฐ และความไม่เคารพเสียงของประชาชน หากก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยได้คุยกับพรรคร่วมรัฐบาลอย่างจริงจัง ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอเข้ามาควรเป็นร่างของ ครม. แต่ปรากฏว่าร่างที่เสนอเข้ามาเป็นร่างของพรรคเพื่อไทย จนทำให้พบกับเหตุการณ์ใน 2 วันที่ผ่านมา คือการไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล และเมื่อคืนที่ผ่านมานายอนุทิน ชาญวีระกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ที่ผ่านมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่เคยหารือเรื่องนี้กับพรรคภูมิใจไทย เพื่อพยายามผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อให้เป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีความจริงใจที่จะผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ส่วนที่บอกว่าต้องเดินอ้อมเพื่อทำให้สภาล่ม เพื่อให้ญัตตินี้ยังคงค้างอยู่ในรัฐสภา ตนเชื่อว่าทุกคนเห็นว่าเป็นเพียงแค่ข้ออ้าง
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ส่วนประการต่อมาการขาดเจตนารมณ์ความเป็นนิติรัฐ เราจะเห็นสมาชิกรัฐสภาหลายส่วนออกมาให้ความเห็นมีข้อกังวลในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญในภายหลังซึ่งจะมีผลพัวพันทางกฎหมาย ทั้งที่เวทีรัฐสภาควรเป็นเวทีที่ปลอดภัยที่สุด ซึ่งปัจจุบันความเป็นนิติรัฐไม่ได้ถูกปกครองภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่เราอยู่ภายใต้กฎหมายของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกลายเป็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใหญ่กว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภาควรที่จะกล้าใช้กฎหมายและกล้าตีความ แต่สุดท้ายไม่ว่าจะทำอะไรเพื่อประโยชน์ของประชาชนก็ต้องวิ่งกลับไปเพื่อสอบถามศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้มองว่าเป็นปัญหาและจำเป็นต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“สำหรับการไม่เคารพเสียงของประชาชน ที่ผ่านมาในการหาเสียงเลือกตั้งทุกพรรคการเมือง มีข้อเสนอเดียวกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และยังเป็นนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ดังนั้นวิธีหาทางออกสำหรับเรื่องนี้ หากนายกฯ ในฐานะผู้นำรัฐบาล และถืออำนาจสูงสุดในการยุบสภา นายกฯ สามารถเข้าไปเจรจาพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลและแสดงเจตจำนงชัดเจนเพื่อให้เห็นว่าพรรคเพื่อไทยเคารพเสียงของประชาชน แต่หากไม่สามารถทำได้ นายกฯ ก็มีอำนาจในการยุบสภาเพื่อคืนเสียงให้กับพี่น้องประชาชน” นายณัฐพงษ์ กล่าว
ด้านนายพริษฐ์ กล่าวว่า พรรคประชาชนยืนยันว่าต้องการผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100 เปอร์เซ็นต์ และให้ สส.แก้ปัญหาประชาชนได้อย่างตรงจุดและรวดเร็วขึ้น ซึ่งตนเข้าใจถึงบทบัญญัติเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยให้เหตุผลเรื่องความกังวลใจในการเดินหน้าแก้ไข หากมีการลงมติจะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอ จากพรรคภูมิใจไทยและเสียง สว. ที่มีชุดความคิดคล้ายกับพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากมีข้อกังวลด้านกฎหมาย แต่ตนอยากชวนทุกคนตั้งคำถามว่าสาเหตุของอุปสรรคนี้ที่เราไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย เป็นเพราะข้อกฎหมายจริงๆ หรือความขัดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล หากเป็นเรื่องทางกฎหมายพรรคประชาชนยืนยันว่าสิ่งที่รัฐสภาดำเนินการไม่ได้ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า หากพรรคเพื่อไทยร่วมเป็นองค์ประชุมก็จะมีโอกาสได้ชี้แจงว่าเพราะอะไรจึงไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยดังกล่าว และเมื่อส่งเรื่องไปก็ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะได้รับคำตอบเพราะก่อนหน้านี้เคยมีการส่งเรื่องไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยเพราะมีการวินิจฉัยในปี 2564 เรียบร้อยแล้ว แต่หลักฐานที่ชัดเจนว่าสาเหตุที่เราไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย และสว.ดังกล่าว คงไม่ใช่เรื่องของข้อกฎหมายเพราะทั้ง 2 กลุ่มไม่ได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนให้ยื่นญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญ หลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์ของต้นตอและสาเหตุที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทั้ง 2 กลุ่มคือความขัดแย้งพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่แค่เรื่องรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น กฎหมายกลาโหม พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เป็นต้น
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ทางออกจึงไม่ใช่อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแต่ทางออกอยู่ที่นายกฯ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร หัวหน้ารัฐบาลผสมที่ต้องรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพแก้ไขปัญหาความคิดเห็นที่แตกต่างและผลักดันนโยบายของรัฐบาล หากนายกฯ ไม่สามารถเป็นเจ้าภาพและแก้ปัญหาความแตกต่างในรัฐบาล หรือใช้อำนาจในฐานะนายกฯ ได้ก็ควรยุบสภาและคืนอำนาจให้ประชาชน
เมื่อถามว่าพรรคประชาชนจะเดินต่อไปอย่างไร นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ถ้าเรามองย้อนเหตุการณ์กลับไปในภาพรวม ถ้าพรรคเพื่อไทยมีเจตจำนง ในการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง ที่ผ่านมาจะต้องมีการเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะยิ่งพรรคภูมิใจไทย ย้ำว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องแก้ไขสถานการณ์ในเรื่องนี้
นายพริษฐ์ กล่าวเสริมโดยแยก 2 ขั้นตอน คือขั้นตอนแรก เราไม่เห็นถึงเหตุผล หรือความจำเป็นที่ต้องยุติการประชุม เพราะมีนัดประชุมรัฐสภาแล้ว หากกังวลว่า เมื่อเข้าญัตติแล้วปลายทางเมื่อมีการลงมติ เสียงสนับสนุนจะไม่เพียงพอ ก็ไม่เป็นประเด็น เพราะเราสามารถเดินหน้าอภิปรายต่อได้ ซึ่งเมื่อถึงขั้นที่ต้องลงมติ และมีความกังวลใจ ก็เข้ามาหารือกันได้อีกครั้งหนึ่งว่า จะเลื่อนการลงมติออกไปหรือไม่ เพราะเราไม่เข้าใจเหตุผลที่จะเสียเวลา 2 วันเต็มๆ แทนที่เราจะได้ใช้พื้นที่รัฐสภาเพื่อสื่อสารกับประชาชนที่รอฟังอยู่ และการที่บทสัมภาษณ์ของนายอนุทินและนายกรัฐมนตรีที่แตกต่างนั้น ตนขอฝากคำถามกับสื่อมวลชนไปด้วยว่า "ตกลงใครพูดจริง"
เมื่อถามถึงกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทยระบุ ควรชะลอ เนื่องจากหากปล่อยให้โหวตจะตกเหว นายพริษฐ์ กล่าวว่า หากจุดหมายปลายทางการอภิปรายยังไม่สามารถโน้มน้าวสมาชิกรัฐสภาได้ มองซ้ายมองขวาไปแล้วเห็นว่า จำนวน สว.ที่เข้าห้องประชุมมีไม่ถึง 67 คน หรือ 1 ใน 3 ที่เพียงพอต่อการจะทำให้สามารถผ่านวาระ 1 ได้นั้น ก็สามารถหารือกันได้ว่า จะเลือกการลงมติต่อหรือไม่ ถ้ากังวลใจเรื่องการลงมติ ตามการใช้คำพูดของพรรคเพื่อไทย คือลงเหว ก็ยังไม่ต้องลงมติก็ได้ แต่ควรให้มีการอภิปรายต่อไปก่อน
“คำถามที่ต้องถามกลับไป ถ้าเราเห็นว่า การเดินตรง มีเหว มีอุปสรรคอยู่ข้างหน้า แล้วที่ผ่านมา ท่านนายกฯ เห็นไหม ได้พยายามเต็มที่แล้วหรือยัง ในการพยายามคุยกับพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเคลียร์อุปสรรคนี้” นายพริษฐ์ กล่าว
เมื่อถามว่าหากมีการส่งคำร้องอื่นที่ไม่ซ้ำกับ สว. พรรคประชาชนมีจุดยืนอย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า เราศึกษาข้อมูลกฎหมายมาแล้ว พรรคประชาชน ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 สามารถเดินหน้าได้เลย ไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องชะลอ เรื่องนี้ไว้ โดยการส่งไปศาลก่อน ส่วนมั่นใจหรือไม่ว่าจะผ่าน นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า คำว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ถ้าให้ตนตอบตามข้อเท็จจริงตามระบบของการเมืองปัจจุบัน แน่นอนปัจจัยที่สำคัญที่สุด ก็คือฝั่งของพรรคภูมิใจไทย และต้องตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า อาจจะไม่ผ่าน มีแนวโน้มสูง
เมื่อถามถึงความกังวลเรื่องเสียง สว.นั้น นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า สุดท้ายก็กลับมาที่เรื่องของการควบคุมเสียงทั้งฝั่งรัฐบาล ถ้าพรรคเพื่อไทยยืนยันจริงๆ ว่า สิ่งที่พรรคต้องการในการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือความชัดเจนของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ก็ไปเชิญชวนพรรคภูมิใจไทยให้มาลงมติสนับสนุนการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี