‘วันนอร์’งัดคำวินิจฉัยศาลฯที่21/2567เคลียร์สงสัย ยันมีอำนาจบรรจุ‘แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ’ แจงขั้นตอนบรรจุระเบียบวาระให้ทราบความต้องการ‘รัฐสภา’หากผ่านค่อยไปทำ‘ประชามติ’ รอคุย‘วิป3ฝ่าย’เคาะกำหนดวันถกใหม่‘3ญัตติค้างพิจารณา’
14 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 11.30 น. ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวชี้แจงกรณีที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาล่ม ในการพิจารณาเรื่องด่วน 1.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา256 และเพิ่มหมวด15/1) ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และคณะ เป็นผู้เสนอ และ2.ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา256 และเพิ่มหมวด15/1) ที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอว่า การประชุมดังกล่าว ประธานเป็นผู้บรรจุ เมื่อมีผู้ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยให้บรรจุ ตนอยากเรียนเหตุผลว่าไม่ใช่อยากหรือไม่อยากบรรจุ แต่เป็นอำนาจหน้าที่
ส่วนใหญ่การอภิปรายหรือชี้แจง ก็จะบอกว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่4/2564 ระบุว่า ให้ทำประชามติก่อน แต่ต่อมานายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ ได้ส่งญัตติมาให้สภาฯพิจารณา เพื่อส่งไปให้ศาลฯวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง ทำตอนไหน ประธานรัฐสภามีอำนาจบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ สมาชิกรัฐสภามีอำนาจเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่
“ผมขอตอบเป็นข้อๆ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่21/2567 ลงวันที่17ม.ค.67 สาระสำคัญที่คนไม่ค่อยได้อ่าน ผมอยากชี้แจงตรงนี้ให้ทราบทั่วกัน เพราะผมไม่อยากชี้แจงเรื่องนี้ขณะทำหน้าที่ประธานการประชุม เพราะจะกลายเป็นว่าไม่เป็นกลาง และเสียเวลามาชี้แจงเหตุผลที่บรรจุร่างฯทั้ง2ญัตติของพรรคประชาชน กับพรรคเพื่อไทย ด้วยเหตุผลจากคำวินิจฉัยศาลฯที่21/2567 ประการแรกที่นายชูศักดิ์ กับคณะถามว่า สมาชิกรัฐสภาสามารถที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ ศาลฯตอบในนี้ชัดเจนว่า หน้าที่การออกกฎหมาย และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งรายมาตรา หรือทั้งฉบับ เป็นอำนาจหน้าที่ที่สมาชิกรัฐสภาจะกระทำได้ ถ้าเข้าชื่อกันครบแล้วเสนอมา คำถามที่สอง การบรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ประธานรัฐสภาสามารถบรรจุได้หรือไม่ หรือต้องไปถามประชามติก่อน ในคำวินิจฉัยฯ บอกชัดเจนว่า การบรรจุระเบียบวาระเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งรายมาตรา หรือทั้งฉบับ เป็นอำนาจหน้าที่ของประธานรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับของการประชุมรัฐสภา” ประธานรัฐสภา ระบุ
นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นคำถามที่ว่าต้องไปถามประชามติก่อนหรือไม่ ในคำวินิจฉัยศาลฯที่21/67 อาจต่างกับคำวินิจฉัยฯที่4/64บ้างเล็กน้อย ระบุว่า หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อน ซึ่งประเด็นนี้ คณะที่ปรึกษาทางกฎหมายของประธานสภาฯประชุมกัน2ครั้งแล้วลงมติเสียงข้างมากเห็นว่าประธานรัฐสภาบรรจุได้ และควรบรรจุ ทีนี้หากจะไปทำประชามติ ตนไม่ทราบว่าหากรัฐสภาต้องการ… ตามคำวินิจฉัยศาลฯที่21/67 จะดูที่ไหน จะดูได้แค่เพียงว่าพรรคการเมือง สมาชิก หรือประชาชนเสนอมา ถือว่าเป็นความต้องการของรัฐสภาหรือยังที่จะพิจารณาเรื่องนี้ ดังนั้นคณะที่ปรึกษาฯ และตนจึงเห็นว่าประธานรัฐสภาควรบรรจุ แล้วไปพิจารณาว่ารัฐสภาต้องการหรือยัง หมายความว่า รัฐสภาจะรับหลักการหรือไม่ ที่จะแก้รัฐธรรมนูญมาตรา256 หากไม่รับหลักการคือรัฐสภาไม่ต้องการ ต้องเป็นมติของรัฐสภา ไม่ใช่ของพรรคการเมืองใด
“หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ผ่านในวาระรับหลักการ ไปจนถึงวาระ3 ผมก็ยังไม่ให้เลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือสสร. และไม่ให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะต้องไปถามประชามติเสียก่อน ตรงนี้คือขั้นตอนว่าต้องไปทำประชามติเสียก่อนเมื่อรัฐสภาต้องการ ก็เลือกวิธีนี้ แต่ถ้าเลือกวิธีที่ยังไม่รู้ว่ารัฐสภาต้องการหรือไม่ ก็ไปถามประชามติเสียก่อนตามคำวินิจฉัยศาลฯที่4/64 หรือที่เข้าใจกันก็ได้ แต่ถามแล้วก็ต้องเสียเงิน3พันล้านไปให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น หากประชาชนไม่เอา ก็ตกไป หากประชาชนเอา ก็ต้องมาประชุมรัฐสภา หากรัฐสภาเกิดไม่เอา เป็นเพียงความต้องการพรรคการเมือง แต่มติรัฐสภาเป็นเสียงข้างมาก รวมถึงเสียงสว.อย่างน้อย67คนถ้าไม่เห็นด้วยก็แก้ไขไม่ได้ ดังนั้นก่อนเสียเงิน3พันล้าน จึงเลือกใช้วิธีให้รัฐสภาแสดงความต้องการก่อน” นายวันมูะมัดนอร์ กล่าว
ประธานรัฐสภา กล่าวด้วยว่า ขณะที่กรณีมีสมาชิกไม่เข้าร่วมประชุม เพราะเกรงว่าจะขัดคำวินิจฉัยของศาลฯ ถือเป็นสิทธิ์ของสมาชิก เพราะแม้แต่ศาลฯยังเห็นไม่ตรงกันทั้งเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อย และคำวินิจฉัยกลาง ส่วนประเด็นสุดท้าย จะต้องทำประชามติกี่ครั้ง คำวินิจฉัยศาลฯไม่ได้ระบุชัดเจน เพียงแต่บอกว่าให้ไปอ่านคำวินิจฉัยเอง ซึ่งหลังจากญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ที่เสนอส่งให้ศาลฯตีความเรื่องนี้ ไม่ให้ถูกเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อนการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในการประชุมเมื่อวันที่13ก.พ.ที่ผ่านมา และองค์ประชุมล่มในการประชุมฯวันนี้(14ก.พ.) ถือว่าญัตติยังคงค้างการพิจารณาจำนวน3ญัตติ คือญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ2ญัตติ และญัตติของนพ.เปรมศักดิ์ ส่วนจะมีการประชุมพิจารณาเมื่อใดนั้น ยังไม่สามารถตอบได้ ตน และวิป3ฝ่ายจะต้องประชุมนัดกันใหม่อีกครั้ง ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อม
เมื่อถามว่าญัตติที่ค้างอยู่แบบนี้แล้วมีผู้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการอย่างไร ประธานรัฐสภา กล่าวว่า การยื่นศาลฯตีความเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กร เรื่องนี้เกี่ยวกับความขัดแย้งของอำนาจประธานรัฐสภาจะบรรจุได้หรือไม่ ก็ต้องผ่านประธานฯ ต้องมีสมาชิกเข้าชื่อไม่น้อยกว่า40คน แล้วนำเข้าที่ประชุมฯว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นเป็นเช่นใด ประชาชนโดยตรงไม่สามารถส่งไปได้ เพราะไม่ถือว่าเป็นองค์กร
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี