“จักรภพ”ฟันธงยูเครนเสียดินแดน หลัง"ทรัมป์-ปูติน"ส่งสัญญายุติสงคราม ขณะที่นาโตและยุโรปหมดกำลังหนุน ยกเป็นบทเรียนลดการพึ่งมหาอำนาจและหันมาร่วมมือกันในระดับภูมิภาค
15 ก.พ.68 นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์สงครามยูเครนที่อาจใกล้ถึงจุดสิ้นสุด โดยชี้ว่า ไม่มีใครน่าเห็นใจไปกว่าประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ พร้อมสัญญาณว่าทั้งสองฝ่ายอาจตกลงแนวทางยุติสงครามล่วงหน้า
นายจักรภพ กล่าวว่า เซเลนสกีออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ข้อตกลงใดๆ ระหว่างมหาอำนาจ ซึ่งรวมถึงรัสเซียที่เป็นคู่สงครามกับยูเครน ต้องมีการปรึกษายูเครนก่อน อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ยูเครนกลับไม่มีอำนาจต่อรองอีกต่อไป เนื่องจากดินแดนที่รัสเซียยึดครอง เช่น แคว้นโดเนตสก์ ลูฮันสก์ และคาบสมุทรไครเมีย (ที่ถูกยึดมาตั้งแต่ปี 2557) นั้น ไม่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนคืนได้ ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรป ซึ่งเคยสนับสนุนยูเครนภายใต้กรอบนาโต้ เริ่มแสดงสัญญาณหมดแรง โดยเฉพาะเยอรมนีที่ออกมาระบุว่า หากต้องช่วยยูเครนต่อไป อาจต้องตั้งโรงงานผลิตอาวุธเอง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้ไม่สามารถนำงบประมาณมาสนับสนุนสงครามที่ไร้หนทางชนะได้อีกต่อไป แม้แต่โปแลนด์ ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของยูเครน ก็เริ่มลดระดับความเข้มแข็งในการเผชิญหน้ากับรัสเซีย
นายกจักรภพ ยังได้วิเคราะห์ถึงท่าทีของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งชนะการเลือกตั้งและกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งและได้ประกาศนโยบาย “America First” รอบใหม่ ซึ่งหมายถึงการลดการสนับสนุนทางทหารและการเงินแก่พันธมิตรทุกประเทศ เว้นแต่จะเป็นผลประโยชน์โดยตรงของสหรัฐฯ นี่หมายความว่า ยูเครนจะไม่ได้รับความช่วยเหลือมหาศาลจากวอชิงตันเหมือนในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดนอีกต่อไป
อดีต รมต.ประจำสำนักนายก กล่าวอีกว่า ด้วยแนวโน้มที่เปลี่ยนไป ยูเครนแทบไม่เหลือใครให้พึ่งพา สหประชาชาติก็ทำหน้าที่เพียงเป็น “เสือกระดาษ” ขณะที่นาโต้ก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือต่อไปได้อีก ทำให้ยูเครนต้องเริ่มพิจารณาฉากจบของตนเอง ซึ่งอาจหมายถึงการสูญเสียดินแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อรักษาส่วนที่เหลืออยู่ของประเทศ หากสงครามยุติลงด้วยข้อตกลงที่รวมถึงการสูญเสียดินแดน ประชาชนยูเครนอาจไม่สามารถยอมรับได้ และเซเลนสกีอาจต้องกลายเป็น “แพะบูชายัญ” ที่ต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจดังกล่าว
“เมื่อสงครามยูเครนใกล้ถึงบทสรุป โลกกำลังเรียนรู้บทเรียนสำคัญ มหาอำนาจเริ่มตระหนักว่าการแทรกแซงในประเทศอื่น ๆ อาจไม่คุ้มค่าหากต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงเกินไป นักวิชาการอย่างศาสตราจารย์พอล เคนเนดี เคยเตือนถึง “Overreach” หรือการขยายอำนาจเกินขอบเขต ซึ่งอาจนำไปสู่ความล่มสลายในที่สุด สงครามยูเครนจึงกลายเป็นตัวอย่างของผลกระทบจากการพึ่งพามหาอำนาจ และการแสวงหาผลประโยชน์จากความขัดแย้ง บทเรียนจากเหตุการณ์นี้อาจทำให้ประเทศต่าง ๆ หันกลับมามองหาความร่วมมือในระดับภูมิภาคมากขึ้น แทนที่จะพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอก และท้ายที่สุด ยูเครนอาจต้องยอมรับชะตากรรมและหาทางเดินหน้าต่อไปภายใต้เงื่อนไขที่อาจไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการตั้งแต่แรก แต่เป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่เพื่อรักษาประเทศของตน” นายจักรภพ กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี