‘รมว.ยุติธรรม’แจงคืบหน้าระเบียบ‘คุมขังนอกเรือนจำ’ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมของแต่ละเรือนจำ
19 กุมภาพันธ์ 2568 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงโครงการอ่านหนังสือลดวันต้องโทษ (Read for Release) หรือการอ่านหนังสือเพื่อเลื่อนชั้นผู้ต้องราชทัณฑ์ ว่า เราต้องยอมรับว่าผู้ที่อยู่ในเรือนจำ หรือผู้ที่ถูกคุมประพฤติ หรือผู้ที่กระทำความผิดส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่หลุดออกจากระบบการศึกษา หรือจบการศึกษาไม่ถึงเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน ถ้าประเทศไทยสามารถทำให้คนได้เรียนหนังสือตามที่รัฐบาลกำหนด จากที่เรือนจำทั่วประเทศต้องดูแลผู้ต้องราชทัณฑ์กว่า 300,000 ราย อาจจะลด 70,000 ราย เพราะผู้ต้องราชทัณฑ์ที่จบการศึกษาผ่านเกณฑ์ขั้นพื้นฐานมีเพียง 70,000 ราย ขณะเดียวกันในส่วนของผู้ที่ถูกคุมความประพฤติทั่วประเทศ จำนวน 400,000 ราย หากได้รับการศึกษาก็จะไม่กลับไปประพฤติผิด
“ดังนั้นกฎหมายราชทัณฑ์จึงได้มีการบอกว่าความคืบหน้าเรื่องการศึกษาเป็นเหตุให้ลดโทษได้ตามมาตรา 52 แม้ว่าเราอาจจะใช้เกณฑ์การศึกษาภายนอกไม่ได้ แต่การอ่านหนังสือ 1 เล่ม จะสามารถพิจารณาพักโทษได้ ส่วนจะได้กี่วันนั้นอยู่ระหว่างให้คณะกรรมการพิจารณา แต่ในส่วนของต่างประเทศที่เป็นโมเดลมาก่อนนั้น พบว่า ถ้าอ่านหนังสือจบ 1 เล่ม จะได้พักโทษ 4 วัน แต่ของเราต้องมีคณะกรรมการพิจารณาด้วย” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า เรามีความประสงค์ให้ผู้ต้องราชทัณฑ์อ่านออก เขียนได้ คำนวณคณิตศาสตร์เป็น หากรู้หนังสือก็จะสามารถไปประกอบอาชีพอื่นได้ในอนาคต เราอยากเปลี่ยนเรือนจำให้เป็นสถานที่สำหรับสร้างความปลอดภัยและความมั่นคงให้กับสังคม โดยเรือนจำต้องเปลี่ยนเป็นสถานที่สำหรับฟื้นฟูหรือเป็นมหาวิทยาลัยชีวิต เพื่อให้เขากลับเป็นคนใหม่และไปมีชีวิตที่ดี ตอนนี้จึงเป็นแนวความคิดที่เราจะทำ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวฯ แม้จะยังไม่ใช่การลดโทษได้ทันที แต่ในกฎกระทรวงของกรมราชทัณฑ์ ก็อาจจะเป็นการเลื่อนชั้นให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ได้จากการอ่านหนังสือ 1 เล่ม หรือหากในปีใดมีการพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณลดโทษอย่างไร ผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์จากในส่วนนี้ให้ได้รับการเลื่อนชั้นตามลำดับ ซึ่งตอนนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์ในส่วนของกฎกระทรวง แต่ก็อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการจัดทำ และในส่วนที่สังคมตั้งข้อสงสัยว่าอะไรคือหลักเกณฑ์การประเมินว่าผู้ต้องราชทัณฑ์ได้อ่านหนังสือจบเล่มและผ่านการพิจารณาเลื่อนชั้นนั้น ตนขอเรียนว่าเรามีคณะกรรมการที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ หรืออาจจะมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยที่สอนในเรื่องภาษาศาสตร์เข้าไปร่วมในการพิจารณาวัดผลด้วย เพราะเมื่ออ่านหนังสือจบหนึ่งเล่มก็ต้องให้มีการสรุปความการอ่าน การจับใจความ เป็นต้น
พ.ต.อ.ทวี กล่าวถึงเรื่องความคืบหน้าของระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือระเบียบคุมขังนอกเรือนจำฯ ว่า ในส่วนของการนำไปใช้ว่าผู้ต้องขังล็อตแรกที่จะอยู่ในเกณฑ์ใช้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำนั้น จะต้องสอบถามทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เนื่องจากคณะกรรมการราชทัณฑ์ฯ ได้เห็นชอบไปแล้ว
“ขณะนี้อาจอยู่ในช่วงของการปฏิบัติ ระเบียบฯมีผลแล้วสามารถใช้ได้เลย แต่ต้องถามทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่าได้มีการใช้แล้วหรือยัง เพราะเป็นเรื่องการปฏิบัติของแต่ละเรือนจำ ซึ่งในตอนนี้อาจจะมีการเตรียมความพร้อมมีการฝึกอบรมอยู่” รมว.ยุติธรรม กล่าว
รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า อยากเรียนให้สังคมทราบว่ามันเป็นเรื่องของกฎเกณฑ์ไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แล้วถ้าหากบุคคลใดได้ไปคุมขังนอกเรือนจำก็จะต้องมีการติดกล้องวงจรปิดอยู่แล้ว บางส่วนก็อาจจะต้องติดกำไล EM ซึ่งรายละเอียดอย่างไรขอให้สอบถามทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ จะเป็นผู้ให้คำตอบได้ เพราะระเบียบสามารถใช้ได้แล้ว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี