‘รมว.แรงงาน’โร่เคลียร์ปม‘งบดูงาน-ทำปฏิทินสิทธิประโยชน์‘ผู้ประกันตน’-ยกเลิกเลือกตั้งบอร์ดฯ’ ยันโปร่งใสพร้อมให้ตรวจสอบได้
19 กุมภาพันธ์ 2568 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีงบจัดทำปฏิทินของสำนักงานประกันสังคม ว่า ในเรื่องนี้ขอให้ดูที่การปฏิบัติ โดยในปฏิทินประกันสังคมนอกจากด้านหน้าจะเป็นวันที่แต่ละเดือน ด้านหลังจะมีข้อความแสดงรายละเอียดสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนในแต่ละมาตรารวมอยู่ด้วย ทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 เพื่อสื่อสารสิทธิประโยชน์ไปยังผู้ประกันตน โดยเฉพาะแรงงานอิสระที่มีอยู่เกือบ 30 ล้านคน ซึ่งในแต่ละปีสำนักงานประกันสังคมจัดพิมพ์ปฏิทิน จำนวน 1 ล้านฉบับ แต่ขณะเดียวกันเรามีผู้ประกันตนมาตรา 40 อยู่ประมาณ 12 ล้านคนอีก 10 กว่าล้านคน ยังไม่ได้เข้ามาเป็นผู้ประกันตน ดังนั้นเราจึงสื่อสารสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่อยากเข้ามาเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับทราบว่าเมื่อเขาสมัครเข้ามาแล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง ซึ่งจะมีรายละเอียดอยู่ในปฏิทิน เพื่อในแต่ละปีจะได้ทราบว่าประกันสังคมจะให้สิทธิประโยชน์ในเรื่องอะไรบ้าง
“ผมขอเชิญชวนบริษัทต่างๆ ได้ยื่นข้อเสนอเข้ามาทางสำนักงานประกันสังคมในการจัดทำปฏิทิน ซึ่งเราไม่ได้ปิดกั้นสำนักงานประกันสังคมพร้อมเปิดตลอดเวลา” นายพิพัฒน์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีมีผู้นำปฏิทินประกันสังคมไปจำหน่ายในช่องทางออนไลน์นั้น รมว.แรงงาน กล่าวว่า ในเรื่องนี้ได้ให้ทางฝ่ายกฎหมายของสำนักงานประกันสังคมไปตรวจสอบ เราผลิตเพื่อแจกฟรีให้ผู้ประกันตนเท่านั้น ไม่ได้ทำมาเพื่อจัดจำหน่ายดังนั้นหากมีเบาะแสขอให้ช่วยแจ้งเข้ามา สำนักงานประกันสังคมพร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมาย
นายพิพัฒน์ ยังกล่าวถึงกรณีการยกเลิกการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมว่า ตามที่ พ.ร.บ.การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมได้มีการร่างขึ้นมาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกำหนดเงื่อนไขว่าหากผู้ประกันตนไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ ก็ขอให้มีคณะกรรมการสรรหาขึ้นมา ซึ่งเราได้มีการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมเมื่อวันที่ 24ธ.ค. 66 ขณะนี้คณะกรรมการประกันสังคมก็ได้ปฏิบัติหน้าที่มากว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งแสดงถึงความโปร่งใส และไม่คิดที่จะย้อนกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ เพราะเป็นการเสียเวลา และจะได้นำไปแก้ไข ตัดออกในขั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร
นายพิพัฒน์ ยังกล่าวถึงงบดูงานต่างประเทศของสำนักงานประกันสังคมว่า เราพร้อมที่จะเปิดเผย การที่บอร์ดประกันสังคมไปดูงานในเรื่องนี้ได้มีการประสานกับประเทศปลายทางว่าการไปดูงานนั้นมีวัตถุประสงค์อะไร ไปแล้วกลับมาเราต้องทำรายงาน ยกตัวอย่างเช่น ตนได้ไปดูงานที่ประเทศสวีเดน และเอสโตเนีย ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่มีระบบประกันสังคมที่ดีที่สุดในโลก เพื่อดูว่าประเทศเหล่านี้มีการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมอย่างไร เนื่องจากหลายฝ่ายทั้งILO (องค์การแรงงานระหว่างประเทศ) และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติวิเคราะห์ตรงกันว่าในปี 2597 กองทุนประกันสังคมจะล่มสลาย
ส่วนตัวเป็นห่วง กังวลในเรื่องนี้ เราจึงพยายามเปรียบเทียบว่าประเทศที่เจริญแล้วหรือทำสำเร็จแล้วเขาทำกันอย่างไร ซึ่งในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 31พ.ค.2567 สำนักงานประกันสังคมก็ได้เชิญนักวิชาการมหาวิทยาลัย พรรคการเมือง และประเทศต่างๆ ที่มีระบบประกันสังคมมาระดมสมองกันว่าจะทำอย่างไรให้กองทุนประกันสังคมของไทยยืนยาว
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี