ฮึ่ม! ขู่ปิดถนน-ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง
ม็อบชาวนาบุก
จี้รัฐบาลแก้ราคาข้าวตกต่ำ
เลิกมาตรการห้ามเผาตอซัง
แกนนำลุ้นผลหารืออนุฯนบข.
ไร้ความชัดเจนยกระดับชุมนุม
ม็อบชาวนาภาคกลาง 7 จว.บุกประชิดรั้วทำเนียบฯ ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง “ให้กำหนดราคาประกันข้าว 1.1 หมื่นบาท ไม่เกิน50 ตันต่อราย – เยียวยาเกษตรกรผู้ทำนาในพื้นที่รับน้ำ 300บ./ไร่ต่อเดือน–เลิกมาตรการห้ามเผาตอซังข้าว” ลั่นปัญหานี้ต้องนายกฯเท่านั้นที่แก้ได้ “รมช.พาณิชย์”ลงรับหนังสือระบุให้รอประชุมอนุฯนบข.20กพ.เชื่อได้คำตอบ ยันนายกฯไม่นิ่งนอนใจ ด้านปธ.ชมรมชาวนาอยุธยาลั่น ถ้าพรุ่งนี้ไม่ได้คำตอบชาวนาทั่วปท.รวมตัวปิดถนนแน่ ติดคุกเป็นติด
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเกษตรกรชาวนาผู้ได้รับความเดือดร้อนจังหวัดพื้นที่ภาคกลาง ประกอบด้วย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, สุพรรณบุรี อ่างทอง ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท และปทุมธานี ประมาณ 200 คน นำโดย นายฐิติวัฒน์ กลีบมาลัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล มารวิชัย อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และนายสอาด สุขสแดน กำนันต.ไม้ตรา อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เดินทางมายื่นหนังสือถึงนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาอย่างเร่งด่วน โดยกลุ่มชาวนาได้ยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ดังนี้
1.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ทำนา โดยกำหนดราคาประกันข้าวที่ 11,000 บาทต่อตัน และกำหนดปริมาณรับประกันราคาไม่เกิน 50 ตันต่อราย หรือดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในราคารับจำนำข้าว 11,0000 บาทต่อตัน สำหรับเกษตรกรรายละ 50 ตัน 2.เรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาเกษตรกรผู้ทำนาในพื้นที่รับน้ำ โดยจัดสรรเงินชดเชย 300 บาทต่อไร่ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือนในแต่ละปี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นพื้นที่รับน้ำ 3.เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการห้ามเผาตอซังข้าวในพื้นที่ทำการเกษตร เนื่องจากชาวนาที่อยู่ในพื้นที่ไม่มีทางเลือกในการกำจัดฟางข้าวนอกจากการเผาทำลาย หรือขอให้ตั้งงบรับซื้อตอซังข้าว เพื่อช่วยลดภาระชาวนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างรอยื่นหนังสือถึงนายกฯ กลุ่มเกษตรกรได้ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง บริเวณถ.พิษณุโลก หน้าประตู 4 ทำเนียบฯ ระบุปัญหาราคารับซื้อข้าวตกต่ำ พร้อมชูป้ายระบุข้อความว่า “ต้นทุน 6,000 ขายได้ 6,500 เอาเงินที่ไหนจ่ายดอกเบี้ย ธ.ก.ส.” “กำแพงเพชรเกวียนละ 5,000 - 6,000 จะอยู่อยู่รอดได้อย่างไร ขอ 12,000 ต่อเกวียน” “หยาดเหงื่อของชาวนาต้องมาเป็นน้ำตาในวันนี้โคตรช้ำใจรัฐบาล” เป็นต้น
จากนั้น เวลา 12.50 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ เดินทางมารับหนังสือข้อเรียกร้องของชาวนาพร้อมกล่าวว่า นายกฯไม่ได้นิ่งนอนใจ นายกฯเข้าใจปัญหาเกษตรกรชาวนาทุกคน วันนี้ต้องขอโทษทุกคน ที่ผ่านมาตนเป็นรมช.พาณิชย์ เอาข้อมูลมาดู 2 ปีที่ผ่านมาอินเดียไม่ได้ส่งออกไม่ได้แข่ง แต่พอเขาส่งออกทำให้ข้าวราคาตก ตรงนี้ไม่ใช่ข้อแก้ตัว นายกฯกำชับกระทรวงพาณิชย์ว่าการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด (อนุ นบข.) ที่จะกำหนดแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวเปลือกลดลง จากการกลับมาส่งออกของอินเดียหลังหยุดไป 2 ปี ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ กระทรวงพาณิชย์ต้องเสนอว่าจะให้ราคาเท่าไหร่
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนที่รัฐบาลเพิ่มภาระให้เกษตรกรเรื่องห้ามเผาฟาง ถือเป็นนโยบายแก้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 การประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวฯวันที่ 20 กุมภาพันธ์ จะบรรจุเรื่องนี้เข้าหารือด้วย เพราะสร้างปัญหาให้เกษตรกร รวมถึงเรื่องเงินชดเชยที่จะสอบถามรมว.คลัง ยืนยัน นายกฯไม่ทอดทิ้ง แต่ตั้งใจแก้ปัญหา วันนี้ตนมาติดตามปัญหา ไม่ใช่แค่มาพบรับหนังสือแล้วกลับการที่ตนมาวันนี้ ถือว่าเอาหน้าตัวเองมาการันตี
จากนั้น เกษตรกรบางส่วนได้ขอความชัดเจนจากนายสุชาติว่า การประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายข้าวฯวันที่ 20 กุมภาพันธ์ จะได้ตัวเลขราคาข้าวที่ชัดเจนหรือไม่ พร้อมระบุว่าที่ผ่านมารัฐบาลสนใจแต่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้นายสุชาติ ชี้แจงว่า วันนี้ตนไม่ได้พูดสักคำถึงเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ เพราะตั้งใจจะแก้ปัญหาราคาข้าวจึงมาชี้แจง พร้อมบอกด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า “วันนี้ไม่คุยเรื่องการเมือง แต่มาคุยเรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกร วันนี้ผมคุยให้ชัดว่าจะคุยเรื่องความเดือดร้อน เพราะเป็นลูกผู้ชาย”
นายสุชาติยืนยันด้วยว่า พรุ่งนี้ (20 ก.พ.)หลังประชุมคณะอนุ นบข. เมื่อมีผลชัดเจนจะแถลงให้เกษตรกรทราบ เรื่องข้าวไม่ได้มีแค่เฉพาะกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้อง แต่ยังมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงหน่วยงานอื่นเกี่ยวข้องด้วย การทำงานต้องบูรณาการกันทุกฝ่าย ไม่ใช่ลูบหน้าปะจมูกกันทุกครั้งไป
ด้านนายสมชัย ไตรถาวร ประธานชมรมชาวนาอยุธยา กล่าวว่า พรุ่งนี้ (20 กุมภาพันธ์) ถ้าไม่ได้รับคำตอบจากที่ประชุมชัดเจน เกษตรกรชาวนาทุกจังหวัดทั่วประเทศจะรวมตัวกันปิดถนน ติดคุกก็ติดคุก และเชื่อว่า คนที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้คือ นายกฯ ซึ่งนายสุชาติย้ำว่า การมาพูดคุยกับชาวนาวันนี้ เรามาด้วยความจริงใจ แต่ที่ยังบอกราคาชัดเจนไม่ได้ เพราะต้องรอการประชุมก่อน แต่เชื่อว่าก็ต้องได้บ้าง
วันเดียวกัน ที่หน้าศาลากลางจังหวัดชัยนาท เกษตรกรชาวนาจาก 8 อำเภอกว่า 300 คน รวมตัวกันชุมนุมยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทไปยังรัฐบาล ให้ช่วยเหลือหลังราคาข้าวตกต่ำ โดยนายวิทยา ชพานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทเป็นผู้แทนผู้ว่าฯชัยนาท รับหนังสือชาวนาส่งต่อให้รัฐบาล ทั้งนี้ในหนังสือเรียกร้องระบุว่า 1.ให้รัฐบาลมีมาตรการประกันราคาข้าวเปลือกเจ้า ความชื้นไม่เกิน15% ราคาไม่ต่ำกว่า 12,000บาทต่อตัน ความชื้นไม่เกิน25 % ราคาไม่ต่ำกว่า 10,000บาทต่อตัน 2.ให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาไม่เผาฟางตอซังข้าว โดยชดเชยให้เกษตรกรชาวนาที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรอัตราไร่ละ 500 บาท 3.ให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยชาวนาลดต้นทุนปัจจัยการเพาะปลูก ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ยยาปราบศัตรูพืช 4.ให้รัฐบาลมีมาตรการควบคุมราคาปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และน้ำมันเชื้อเพลิง นายวิทยาเผยว่า ปัจจุบันราคาข้าวปีนี้ตกต่ำ ชาวนาหลายจังหวัดได้ออกมาเรียกร้องแล้ว และวันที่ 20 กุมภาพันธ์ คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวจะประชุมแก้ปัญหาให้ชาวนาทั้งประเทศ ข้อเรียกร้องวันนี้ จังหวัดรับแล้ว พร้อมส่งต่อไปยังหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี