‘บิ๊กอ้วน-แม้ว’ลงใต้
ตรวจพื้นที่ 23 ก.พ.
ร่วมรับฟังปัญหา
ปรับแผนดับไฟใต้
“ภูมิธรรม” เตรียมควง“ทักษิณ”ลงชายแดนใต้ 23 กุมภาพันธ์ ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน มอบนโยบาย 66/23 หากมีส่วนใดใช้ได้พร้อมปรับบรรจุยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ ยอมรับอาจช้าแต่เพื่อความแม่นยำ-รับฟังรอบด้านด้านปธ.รัฐสภาเผยพท.ยื่นญัตติให้ศาลรธน.ตีความปมทำประชามติแก้รธน.เมื่อไหร่ เรียกประชุมวิป3 ฝ่ายหารือเมื่อนั้น เชื่อองค์ประชุมไม่มีปัญหา
เมื่อวันที่ 19ก.พ.2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดเผยถึงกำหนดการลงพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์2568ว่า นายทักษิณ จะลงพื้นที่ในฐานะเป็นที่ปรึกษาประธานอาเซียน โดยจะนำข้อมูลต่างๆที่ได้พูดคุยมาประกอบกับการลงพื้นที่และตนในฐานะที่กำกับดูแลกองทัพภาคที่4 ตำรวจภูธรภาค9และศอ.บต.ก็จะไปร่วมรับฟังปัญหาด้วย ซึ่งหากมีประเด็นปัญหาก็จะได้นำมาดำเนินการ ส่วนตัวไม่มีอะไรที่ห่างไกลกับนายทักษิณสามารถพูดคุยกันได้ แต่ส่วนที่มีการนำเสนอว่าจะไปทำบุญที่อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาสเป็นเรื่องส่วนตัวของ นายทักษิณ
‘บิ๊กอ้วน’ควง’แม้ว’ลงใต้23ก.พ.นี้
ส่วนจะนำข้อมูลการลงพื้นที่ครั้งนี้ไปประกอบยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหา3จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรม ระบุว่า ยุทธศาสตร์ชายแดนภาคใต้ได้ดำเนินการมาถึงในระดับหนึ่งแล้ว รวมถึงในช่วง 2 วันที่ผ่านมาที่ได้ลงพื้นที่พูดคุยในประเด็นเหล่านี้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดบ้าง ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกับกองทัพภาค4ส่วนหน้า มีผู้บังคับบัญชาระดับสูงหลายระดับ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดี และหลังจากนี้จะต้องมีการพูดคุยกับผู้บังคับบัญชาในระดับกองพันขึ้นไป รวมไปถึงในระดับกองทัพภาค เพื่อนำแผนที่มีการปรับและทบทวนนำไปใช้ในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และได้แจ้งไปว่าจะกลับมาที่พื้นที่อีกครั้งเพื่อพูดคุยกัน แต่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบไม่ให้มีพิธีกรรมมาก จะเป็นในลักษณะการสนทนาวงเล็ก เพื่อนำเรื่องต่างๆมาพูดคุยกัน ซึ่งตนได้ย้ำไปว่าไม่ได้ไปในฐานะผู้บังคับบัญชา แต่อยากไปในฐานะที่เป็นผู้ที่ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา
เมื่อถามว่า จากประสบการณ์ที่เคยผ่านเหตุการณ์การเมืองมองอย่างไรหากมีการใช้นโยบาย 66/23 ในอดีต นายภูมิธรรม ระบุว่า เป็นการย้อนหลังไปถึง50ปี มองว่าหากเรื่องใดที่เคยใช้ได้ก็ต้องนำมาพิจารณา ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ของชีวิต แต่ต้องดูว่าสอดคล้องกับสภาพปัจจุบันหรือไม่ ส่วนใดที่เคยประสบความสำเร็จมากก็นำมาปรับใช้ แต่คงไม่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด ส่วนความคืบหน้าร่างยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ที่ถูกตีกลับไปยังสมช.เพื่อทบทวนนั้น นายภูมิธรรม ย้ำว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุย ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเมื่อเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนแล้ว ก็จะได้นำไปสู่หน่วยงานในพื้นที่ แต่ยอมรับว่า อาจจะช้าไปบ้าง แต่เพื่อที่จะเปิดรับฟังจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยทำให้การทำงานในพื้นที่แม่นยำมากขึ้น
‘วันนอร์’เล็งหารือวิป3ฝ่ายบรรจุวาระ
ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาฯ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะยื่นญัตติเพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องทำประชามติได้หรือไม่ จะมีการประชุมวิป3 ฝ่ายเมื่อไหร่ ว่า ถ้าได้รับญัตติมาเมื่อไหร่ ก็จะต้องเชิญวิปทั้ง 3 ฝ่ายค้าน รวมทั้งผู้แทนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาหารือกันว่าจะประชุมรัฐสภาเมื่อไหร่ และจะมีญัตติอะไรที่จะพิจารณาก่อนหลังตามลำดับ เพื่อความเรียบร้อยของการประชุม เพราะเรามีสมาชิกถึง 700 คน จึงจำเป็นต้องหาข้อยุติบางส่วนล่วงหน้า เพื่อความเรียบร้อยและไม่เกิดความสับสน ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในเร็วๆนี้ เมื่อถามว่า จะวางกรอบแนวทางการประชุมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาองค์ประชุมล่มอย่างไร นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า โดยปกติก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะวิปทั้ง 3 ฝ่ายและผู้แทนครม.ได้หารือกันแล้ว เมื่อได้ข้อยุติอย่างไรวิปก็จะนำไปแจ้งต่อสมาชิกของแต่ละฝ่ายทราบ ตนคิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร
ไม่มีปัญหาฝ่ายค้านมสอบคลิปหลุด
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฏร ยังกล่าวถึงกรณีฝ่ายค้านเตรียมตรวจสอบคลิปของตนและนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) คนใหม่ ว่า ต่างคนต่างทำหน้าที่ และตนได้ชี้แจงไปแล้วไม่มีปัญหาอะไร ก็ดำเนินการได้ตามสิทธิ ตามสิทธิ์ของแต่ละฝ่าย
เปิดญัตติเพื่อไทยชงตีความแก้รธน.
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) เปิดเผยว่า พรรคได้ยื่นญัตติขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา210 วรรคหนึ่ง (2) ต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำได้ก่อนการออกเสียงประชามติว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ต่อ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ผ่านระบบสารบัญของสภาฯแล้ว ส่วนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาช่วงใดนั้น ต้องรอการหารือกับประธานรัฐสภาอีกครั้ง ซึ่งเร็วๆนี้จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องที่ ครม.เสนอให้รัฐสภาพิจารณาอนุมัติ ประมาณ4-5เรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องด่วนที่รัฐสภาต้องอนุมัติให้แล้วเสร็จก่อน 9 มี.ค.ดังนั้นหากจะนำประเด็นแก้รัฐธรรมนูญรวถึงญัตติที่เสนอขึ้นมาพิจารณานั้นอาจต้องต่อท้ายเรื่องด่วนดังกล่าว เข้าใจว่าประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอาจไม่ทันการประชุมรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นเร็วนี้ เพราะมีเรื่องด่วนที่สำคัญต้องพิจารณาหลายเรื่อง อาจต้องรอการพิจารณาในรอบถัดไป แต่จะเป็นเมื่อใดนั้นต้องรอให้ประธานรัฐสภาพิจารณาบรรจุวาระอีกครั้ง
มีปัญหาเห็นต่าง2ฝ่ายต้องส่งตีความ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาญัตติด่วนที่ นายวิสุทธิ์ เป็นผู้เสนอญัตติ ลงวันที่14ก.พ.2568 ระบุอ้างอิงถึงร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา256และเพิ่มหมวด15/1 ตั้ง สสร.เพื่อจัดทำร่างฉบับใหม่ของร่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน ซึ่งมีหลักการทำนองเดียวกันและประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระในการประชุมเมื่อวันที่ 13-14กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาปรากฏว่า เกิดความขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่างกันของสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา โดยฝ่ายหนึ่งเห็นว่า รัฐสภาไม่มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2ฉบับ เนื่องจากยังมีการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ว่าประชาชนประสงค์ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับฉบับใหม่หรือไม่เสียก่อน ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 จึงได้แสดงออกด้วยการประกาศไม่เข้าร่วมประชุมและมีการอภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง
ขณะที่สมาชิกรัฐสภาส่วนหนึ่งเห็นว่ารัฐสภามีหน้าที่ทำหน้าที่พิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้มีหลักเกณฑ์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการเพิ่มเติมหมวด 15/1 เท่านั้น ซึ่งภายหลังเมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงไปดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติ โดยทำพร้อมกับประชามติว่าประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นการทำประชามติก่อนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เช่นกัน ซึ่งฝ่ายนี้เห็นว่าเป็นการสอดคล้องและเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่4/2564 ดังนั้นเมื่อสมาชิกรัฐสภามีความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาในการพิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในข้างต้น ทำให้รัฐสภาไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามหน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคการทำหน้าที่และถือเป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐสภา เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว จึงเสนอญัตติด่วนตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่
‘สมคิด’เชื่อรัฐมนตรีแจงซักฟอกได้
นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองเปิดเผยถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นเพื่อตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ว่า รัฐบาลไม่ได้มีความกังวลรวมทั้งถือเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลจะได้ชี้แจงการทำงานที่ผ่านมาให้ประชาชนรับทราบ จากการพูดคุยกับรัฐมนตรีที่คาดว่าจะถูกอภิปราย ทุกท่านพร้อมชี้แจงให้กับข้อกังวลของฝ่ายค้านอย่างแน่นอน ขอให้ฝ่ายค้านอภิปรายอยู่ในกรอบตามญัตติที่เสนอมา อย่าอภิปรายออกนอกกรอบ หรือนอกประเด็น เพราะจะเกิดการประท้วงเสียเวลาสภาเปล่าๆ หากอภิปรายถึง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯซึ่งเป็นบุคคลที่3 มันทำไม่ได้และไม่เกิดประโยชน์กับประชาชนและอาจจะก่อให้เกิดปัญหา รวมทั้งหากเกิดขึ้นจริงสส.ที่รักนายทักษิณ คงไม่ยอมมีการประท้วงแน่ ซึ่งประธานสภาต้องควบคุมการอภิปรายให้อยู่ในกรอบของญัตติที่เสนอมา
‘พรรคไม่ตั้งองครักษ์พิทักษ์รัฐมนตรี เพราะเชื่อมั่นในการทำงานที่ผ่านมาและมั่นใจว่ารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายสามารถชี้แจงได้ ส่วนจะเชื่อหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่แต่ละฝ่ายที่นำอภิปรายไม่น่ามีปัญหาอะไร การอภิปรายครั้งนี้เชื่อว่าประชาชนจับตาดูอยู่หากฝ่ายค้านอภิปรายนอกกรอบประชาชนก็จะเห็นเองหรือรัฐมนตรีชี้แจงไม่เคลียร์ประชาชนก็จะตัดสินเองในที่สุด ดังนั้นหากฝ่ายค้านอภิปรายในญัตติตามกรอบตามกติกาเชื่อว่าไม่น่าจะมีความวุ่นวายในสภาอย่างแน่นอน’นายสมคิด กล่าว
สส.ถามหา’พิชัย’ไม่เกี่ยวปรับครม.
ด้าน นาย ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่ประชุมสส.พรรคเพื่อไทย เมื่อวานนี้ (18 ก.พ.68) มี สส.หลายคนแสดงความเป็นห่วงเรื่องการทำงานของ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ เพื่อแก้ไขเกี่ยวกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ว่า ก็ต้องรับฟัง เมื่อถามว่า การออกมาพูดแบบนี้จะส่งสัญญาณถึงการปรับครม.หรือไม่ ซึ่งสอดรับกับวันนี้ที่มีม็อบชาวนามาชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับปรับ ครม.ซึ่งนายกฯก็พูดชัดเจนก่อนหน้านี้แล้วและในการประชุมพรรคเมื่อวาน เป็นการแสดงความคิดเห็นของสส.มีการประชุมทุกสัปดาห์อยู่แล้ว เป็นการสะท้อนปัญหาในพื้นที่ ที่นำมาสื่อสารกับรัฐมนตรีและพรรค เพื่อไปสู่การแก้ไขและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อไป ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา
อำนาจปรับครม.อยู่ที่นายกฯเท่านั้น
เมื่อถามว่า เรื่องนี้ นายพิชัย ต้องชี้แจงกับพรรคด้วยหรือไม่ เนื่องจากฝ่ายค้านกำลังจะอภิปรายไม่ไว้วาง นายประเสริฐ กล่าวว่า ตนคิดว่า นายพิชัย คงจะมีเวลามาชี้แจงกับสมาชิกพรรค ให้ได้รับทราบ ส่วนญัตติยื่นอภิปรายของฝ่ายค้านนั้น จะมีท่านใดบ้างนั้น ขณะนี้ฝ่ายค้านยังไม่ได้ยื่น เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ เนื่องจากฝ่ายค้านกำลังจะยื่นอภิปราย แต่พรรคเพื่อไทยก็มีความไม่พอใจรัฐมนตรีกันเอง นายประเสริฐ กล่าวว่า ไม่กังวลและจะใช้คำว่า ไม่พอใจ ก็ไม่ได้ เพียงแต่มีข้อสงสัย สส.ก็ซักถามได้ ซึ่งปกติแล้วก็เปิดโอกาสให้รัฐมนตรีได้ลาเพื่อไปประชุมพรรค ในช่วงบ่ายวันอังคาร ยกเว้นท่านใดติดภารกิจก็ไม่ได้เข้า แต่ถ้าท่านใดไม่ติดภารกิจก็ลาเพื่อเข้าไปรับฟังความคิดเห็น เพราะสส.จะสะท้อนปัญหาของประชาชนให้รัฐบาลได้รับทราบ เมื่อถามอีกว่า เรื่องการปรับครม.ขณะนี้นิ่งหรือยัง นายประเสริฐ กล่าวว่า ไม่มีอะไร เมื่อซักต่อว่า ทั้งที่นายกรัฐมนตรีและนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯก็บอกว่า ไม่มีอะไร แต่ดูเหมือนว่า ยังมีการเดินเกมใต้ดิน นายประเสริฐ กล่าวว่า ต้องการปรับ ครม.ต้องไปถามนายกฯ คนอื่นตอบแทนไม่ได้
ไม่เอา’ปูอัด’เข้าสภาฯเมอบตัวแล้ว
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฏร กล่าวถึงกรณีการขอตัว นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม.พรรคไทยก้าวหน้า ไปดำเนินคดีว่า การประชุมสภาฯวันที่ 20ก.พ.จะไม่มีอยู่ในวาระแล้ว เนื่องจากเลขาธิการสภาฯแจ้งว่า สภ.เชียงใหม่ ได้แจ้งมาว่า นายไชยามพวาน ได้มอบตัวแล้วและมีการดำเนินคดี มีการประกันตัวแล้ว เพราะฉะนั้นในภาระหน้าที่ในการจับกุมตัว จึงไม่มี
จับตาดูอัยการจะสั่งฟ้องคดีหรือไม่
ว่าที่ร้อยตำรวจตรีอาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แถลงหลัง นายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กรุงเทพฯ พรรคไทยก้าวหน้า ได้เข้ามอบตัวต่อ สภ.เมืองเชียงใหม่ ในคดีข่มขืนนักท่องเที่ยวชาวไต้หวันแล้วว่า เมื่อ นายไชยามพวาน ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้วและตำรวจได้ดำเนินการสอบสวนแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องขออนุญาตต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ดังนั้น วันนี้ (19 ก.พ.) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จะทำเรื่องถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อถอนวาระการพิจารณาหมายจับ นายไชยามพวาน ออกจากวาระการประชุม เนื่องจากหมดความจำเป็น เพราะ นายไชยามพวาน ได้มอบตัวแล้ว จึงจะนำเรื่องดังกล่าวออกจากการวาระการประชุม ที่สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาต่อไป ส่วนสถานะการเป็น สส.นายไชยามพวาน นั้น เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า นายไชยามพวาน ยังคงมีสถานะเป็น สส.อยู่ ซึ่งยังจะต้องรอพิจารณาว่า หลังจากนี้ว่า อัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี