‘เด็กปชน.’ถามทำไมดัน‘แจกเงินหมื่น’ต่อทั้งที่ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ เย้ยรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจจนสอบตก โตแค่ 2.5% ยังจะเดินหน้าปี 68 หรือไม่ ‘เผ่าภูมิ’ยันแรงเหวี่ยงเศรษฐกิจผงกหัวขึ้นต่อเนื่อง ‘เงินดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 1’ลดความเหลื่อมล้ำได้ ‘ไอซ์ รักชนก’เปิดศึก‘รองประธาน’ถามเป็นกลางไหมเร่งคนตั้งกระทู้จนเสียจังหวะพูด ขณะ‘พิเชษฐ์’โต้เขาให้ถาม ไม่ใช่อภิปรายไปเรื่อย
20 กุมภาพันธ์ 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม พิจารณาวาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา ของนายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ถามนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เป็นผู้ชี้แจงแทน เรื่องแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจีดีพี โต 2.5 % ในปี 22567 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมาย ว่า เพิ่งมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของไทย ปรากฏว่าเป็นปีแรกภายใต้การบริหารของพรรคเพื่อไทย ที่จีดีพี ปี 67 โต 2.5 % น้อยที่สุดในอาเซียน ถือว่าน้อยกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายหรือไม่ จะมองได้หรือไม่ว่ารัฐบาลสอบตกในการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ เหมือนคนที่ตั้งคะแนนเต็ม 100 คะแนน สอบได้ 50 คะแนน อย่าลืมว่านี่คือสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเคยอวดว่าเศรษฐกิจจะโตถึง 5 % ต่อปี แต่ครบปีแรกทำได้แค่ 2.5 % ก็ต้องถามว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ถือว่าสอบตกหรือไม่ เพราะมาตรการเรือธงของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจคือดิจิทัลวอลเล็ต หรือแจกเงินหมื่น และ 90 %ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของมาตรการทั้งหมดอยู่ที่มาตรการนี้
นายวรภพ กล่าวว่า การแจกเงินหมื่น ทำมาแล้วในเฟสที่1 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวพันในการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต เพราะการแจกเงินหมื่นก็ยังคงเป็นมาตรการหลักต่อจากนี้ ในเฟส2 และ 3 ที่ต้องใช้เงินอีกประมาณเพิ่มอีก 2 แสนกว่าล้านบาท จึงอยากทราบว่ามาตรการแจกเงินหมื่นที่ผ่านมาจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมายอย่างที่รัฐบาลคาดการไว้หรือไม่ ถึงยังคงเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจแบบเดิมในปี 2568 ด้วยงบประมาณที่มากขึ้น และรัฐบาลจะยอมรับหรือไม่ว่าเศรษฐกิจปีแรกของรัฐบาลเพื่อไทยโตน้อยกว่าเป้าหมาย
นายวรภพ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจที่เติบโต 2.5% น้อยที่สุดในอาเซียนยังเป็นเพียงแค่ครึ่งเดียวของที่อวดอ้างไว้ ส่วนที่ท่านยอมรับว่าดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการลดความเหลื่อมล้ำที่ลงไปที่ลงไปยังกลุ่มเปราะบางก็ถูกต้องแล้ว และข้อมูลของทางธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และสภาพัฒน์ ก็ยืนยันเหมือนกันว่ามาตรการแจกเงินหมื่นกู้เงินมา 3 บาทกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 1 บาท ในเมื่อเฟส 1 มีผลลัพธ์แล้วว่าไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำไมยังเดินหน้าเฟส 2 เฟส 3 ที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง สรุปแล้วรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรกันแน่ต่อจากนี้
นายวรภพ กล่าวต่อว่า ในเรื่องเร่งด่วนสำคัญเพราะปัญหาเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ภาคการผลิตที่จีดีพีลดลงมา 2 ปีต่อต่อแล้ว ส่งออกมากขึ้น แต่นำเข้ามากกว่าส่งออก ทำให้การลงทุนลดลง โรงงานปิดตัว เพราะเจอปัญหาสินค้านำเข้าที่มาตีตลาดที่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลยังทำไม่พอ รวมถึงความกังวลสถาบันการเงินที่ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ เพราะไม่มั่นใจต่อการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นเรื่องเร่งด่วนสำคัญในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปีนี้ ถ้าไปดูสินเชื่อภาคธนาคารลดลง 0.4% ต่ำสุดในรอบ 15 ปี ถ้าร่วมทั้งธนาคารพาณิชย์เอกชนและสถาบันการเงินของรัฐ จะพบว่าลดลงในรอบ 21 ปี ตั้งแต่ปี 2546 เวลาผ่านวิกฤติอะไรมารัฐบาลอื่นอย่างน้อยยังทำให้ธนาคารของรัฐปล่อยกู้ช่วยภาคการเงินได้ แต่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่อวดอ้างว่าเชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจแต่ก็ทำไม่ได้ ทั้งที่รัฐบาลช่วยสร้างความมั่นใจได้ แต่ไม่เห็นทำอะไรในการแก้ปัญหาเรื่องเร่งด่วนเลย และทำไมรัฐบาลไม่ทำให้มาตรการช่วยเหลือเกิดขึ้นในปีนี้เลย
นายวรภพ กล่าวต่อว่า นอกจากเรื่องเร่งด่วนที่ยังไม่มีอะไรใหม่เรื่องสำคัญที่เป็นเรื่องโครงสร้างของประเทศไทยคือขีดความสามารถการแข่งขันที่บอกว่าประเทศไทยส่งออกมากขึ้น แต่ส่งออกโตน้อยกว่าโลก สะท้อนถึงปัญหาใหญ่ๆที่ต้องขอความชัดเจนในเรื่อง จึงอยากถามว่าเมื่อไหร่รัฐบาลจะทำเรื่องการพัฒนาคน การสร้างนวัตกรรม การกำกับตลาดทุน การทะลายทุนผูกขาด ที่ยังไม่มีความคืบหน้า
ด้านนายเผ่าภูมิ กล่าวชี้แจงว่า แรงเหวี่ยงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นรายไตรมาส ซึ่งมีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเป็นการที่ทิศทางเศรษฐกิจผงกหัวขึ้นทุกปี ตัวเลขที่ออกมานั้น หากย้อนกลับไปในช่วงต้น หลายสำนักปรามาสว่า จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ที่ 2.1% หรือ 2.2% แต่สุดท้ายเราปิดได้ที่ 2.5% โดยส่วนต่าง 0.3-0.4% นี้ ถือว่ามหาศาลในทางเศรษฐกิจ เป็นการเติบโตสูงสุด ในรอบ 9 ไตรมาส รวมถึงตัวเลขด้านอื่นๆ ก็เติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน และปี 68 ไตรมาสแรกก็คาดการณ์ว่า ตัวเลขจะออกมาดี มีแรงเหวี่ยงทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง และยังมีมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกหลายเรื่อง ส่วนโครงการแจกเงินหมื่นเฟส1 นั้น ยืนยันว่า เป็นการกระจายที่ถูกฝาถูกตัว ลงไปในจังหวัดที่มีสัดส่วนคนยากจนสูงเป็นจังหวัดแรกๆ และกระจายไปทุกพื้นที่ ส่วนข้อกังวลที่ว่า เงินจะกระจุกอยู่ที่รายใหญ่นั้น กว่า 68% ลงไปที่รายย่อย และการที่ประชาชนใช้เงินหมดอย่างรวดเร็วภายใน 3 เดือน ถือว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวดเร็วรุนแรงทันท่วงที รวมถึงการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ในไตรมาสที่ 4 ก็เพิ่มขึ้นถึง 11% สูงสุดในรอบ 14 ไตรมาส
“ถ้าดูแค่ที่ตัวเลข ไม่ได้มีอคติ ผมคิดว่าคำตอบ เราคงเป็นคำตอบเดียวกัน โครงการนี้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี รัฐบาลสามารถปิดการบริหารเศรษฐกิจในปี 67 ได้ดี และมีแรงเหวี่ยงเชิงบวกส่งต่อไปถึงปี 68 ยืนยันว่าการกระจายเงินเฟส 1 ที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ 0.01% หากเปรียบเทียบกับระยะเวลา ถ้าไม่มีการทำอะไรเลย คือเวลาถึง 3 ปี ดังนั้นโครงการนี้ร่นระยะเวลาให้น้อยลง” นายเผ่าภูมิ กล่าว
นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ส่วนปัญหาการผลิต การล้นทะลักของสินค้า ซึ่งทางกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ทำงานร่วมกัน ในการเตรียมการรับมือ ส่วนการกระจายเม็ดเงินทางด้านสินเชื่อ เราเห็นตรงกัน เนื่องจากสินเชื่อจากธนาคารสถาบันเฉพาะกิจของรัฐมีการเร่งรัดอย่างเต็มที่ และมีผลการปล่อยสินเชื่อที่น่าพึงพอใจลงไปสู่รายย่อย แต่ปัญหาและข้อจำกัดอยู่ที่สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถไปบีบคอบอกให้เขาปล่อยได้ ทั้งนี้เรามีกลไกในการลดความเสี่ยงของคน เพื่อทำให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในกลไกการค้ำสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องนี้ โดยทั้งหมดนี้ บ่งบอกว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องสินเชื่อ และสภาพคล่องในตลาด
นายเผ่าภูมิ ชี้แจงว่า รัฐบาลใช้กลไกที่มากกว่างบประมาณ ในการลดสัดส่วนการใช้กำไรในการประเมิน เพื่อให้ธนาคาร อย่างธนาคารออมสิน ตัดกำไรของตัวเอง ไปปล่อยสินเชื่อ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้เงินแม้แต่แบบเดียว เป็นกลไกที่เราเข้าไปแก้ที่ต้นตอ เพื่อให้ธนาคารนำเงินมาช่วยเหลือประชาชน ยืนยันว่า บสย. กำลังดำเนินการอยู่ ส่วนการที่ยังใช้งบประมาณไม่หมดนั้น เนื่องจากเราให้งบประมาณที่สูง จะได้ไม่ต้องมาขอเรื่อยๆ และเรามีแผนจะขยายให้ครอบคลุมสินเชื่ออื่นๆ ด้วย ส่วนเรื่องโครงสร้าง เรามี พ.ร.บ.ศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งจะเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่สำคัญของประเทศ แต่เป็นเรื่องยากที่จะต้องเขียนกฎหมายฉบับใหม่ ยืนยันว่า รัฐบาลดูแลทั้งปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ทั้งนี้ ช่วงหนึ่ง นางสาวรักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคประชาชน ลุกประท้วงประธานว่า ขอให้ควบคุมการประชุมและวางตัวให้เป็นกลางด้วย เพราะผู้ตั้งกระทู้ถามเวลายังเหลืออีก 1 นาที แต่ท่านประธานเร่งถึง 3 ครั้ง ทำให้มันขัดจังหวะการพูด แต่ท่านรัฐมนตรีตอบเกินไป 1 นาทีท่านไม่เตือนเลยสักครั้ง กลางไหมคะ
ทำให้นายพิเชษฐ์ ตอบกลับว่าการตอบกระทู้ถามถามได้ 3 ครั้งภายใน 30 นาที ตนดูแล้วเวลาของผู้ถามกับเวลาของผู้ตอบ เราสามารถอะลุ่มอล่วยให้อยู่ใน 30 นาทีได้ ผู้ถามก็อภิปราย จริงๆแล้วไม่สามารถอภิปรายไปเรื่อยได้ แต่ก็ให้ท่านอภิปรายจนเวลาหมด
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี