'เจ๊มอลลี่-บุญยอด'จี้ถามเดือดตร.ไซเบอร์ บุกค้นบ้านผู้ประกาศคดีหมิ่น'ทักษิณ' ใช้อำนาจตรงตามข้อกฎหมายหรือไม่?
20 ก.พ. 2568 นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ผันตัวไปเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ให้สัมภาษณ์กับรายการ “แนวหน้าข่าวค่ำ” ในประเด็นตำรวจไซเบอร์บุกค้นบ้านผู้ประกาศข่าวหญิงรายหนึ่ง ที่บ้านพักย่านตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ซึ่งสืบเนื่องจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ทนายความไปแจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีสำนักข่าวที่ผู้ประกาศข่าวรายนี้เผยแพร่คลิปข่าวในลักษณะทำให้นายทักษิณได้รับความเสียหาย
โดยนางมัลลิกา ระบุว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ประกาศใช้ในปี 2550 ต่อมาได้แยกฐานความผิดในฉบับแก้ไข ปี 2560 กล่าวคือ ในกฎหมายเดิม ความผิดฐานหมิ่นประมาท ถูกรวมไว้ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่หลังจากแก้ไขในปี 2560 บทบัญญัติของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติหรือสาธารณประโยชน์ ดังนั้นสิ่งที่นายทักษิณทำได้คือการแจ้งความฐานหมิ่นประมาท ขณะที่นักข่าวที่ถูกดำเนินการนี้สามารถแจ้งความกลับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กับเจ้าหน้าที่ที่ไปดำเนินการได้
“หมายค้นเป็นเรื่องของศาล เราจะไม่แตะศาล แต่ขณะเดียวกันศาลก็ต้องฟังว่าคุณมีเหตุผลอะไร ฉะนั้นต้องไปดูรายละเอียดว่าศาลอนุญาตให้ไปค้นบ้านนักข่าว เขาเอาเหตุผลอะไรไปแจ้งศาล ฉะนั้นกองบัญชาการนี้ต้องรับผิดชอบ คุณเอาเหตุผลอะไร 1.เด็กคนนี้เป็นอาชญากรร้ายแรงไหม? 2.เป็นอาชญากรรมข้ามชาติไหม? 3.นักข่าวคนนี้ได้ไปกระทำการอะไรที่ทำให้ประเทศชาติเสียหายต่อความมั่นคงไหม? กรณีคำพูดที่บอกว่าคนนี้เลว มันหมิ่นประมาทต่อส่วนตัว” นางมัลลิกา กล่าว
นางมัลลิกา กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่บอกว่าเลว ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ก็ต้องพิสูจน์กันอีก เพราะเป็นข้อความจากหนังสือ เช่นเดียวกับที่พาดพิงเรื่องถูกถอนสัญชาติ ก็เป็นเรื่องหมิ่นประมาทต่อส่วนตัว และหากจะอ้างเรื่องกระทบความมั่นคง สามารถอ้างได้กรณีกำลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ใช่อดีตนายกฯ แต่เป็นคนแก่คนหนึ่ง ไม่ใช่บุคคลที่ใครไปกระทบแล้วจะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ
"กรณีถือว่าเป็นการคุกคามสื่อ และเจ้าหน้าที่เองก็ยังไม่ชัดเจนว่าเด็กทำผิดอะไร แถมยังมีการไปค้นบ้าน และยึดมือถือไป เข้าข่ายเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อ รวมทั้งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบมาตรา 157 หรือไม่ สามารถที่จะฟ้องกลับได้ ดังนั้นจากนี้ไปสื่อ หรืออินฟูลเอนเซอร์ ก็จะต้องตั้งหลักให้ดี อย่างกรณีนี้นายทักษิณมอบอำนาจให้ทนายไปแจ้งความข้อหาคดีหมิ่นประมาท โดยที่นายทักษิณก็เท่าๆกับคนอื่น ซึ่งไม่ใช่นายกฯ ไม่ใช่ผบ.ตร. ไม่ใช่ประมุขแห่งรัฐ ไม่ใช่ฝ่ายความมั่นคง ดังนั้นนายทักษิณจะใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ได้ แต่ใช้ได้แค่กฏหมายหมิ่นประมาทเท่านั้น ดังนั้นบุคคลธรรมดาไม่ว่าจะเป็นดารา หรือใคร จะไปแจ้งความเอาผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ได้ "นางมัลลิกา กล่าว
ด้าน นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ กล่าวเสริมว่า หากไปดูอำนาจหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ อ้างอิงจากฐานข้อมูลห้องสมุดสำนักงานวุฒิสภา จะพบว่ามีดังนี้ 1.คดีเกี่ยวกับทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป 2.คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีจำนวนผู้เสียหายรวมตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป 3.คดีเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีทั้งมูลค่าความเสียหาย 10 ล้านบาทขึ้นไป และมีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป
4.คดีที่มีการกระทำผิดเป็นขบวนการหรือกลุ่มบุคคล ซึ่งต้องใช้เครื่องมือพิเศษในการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน 5.คดีที่มีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 6.คดีที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และ 7.คดีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายป้องกันและปราบปรามเป็นพิเศษ จึงตั้งคำถามว่าการค้นบ้านนักข่าวในครั้งนี้เข้าข่ายข้อใด??
ทั้งนี้ มีรายงานว่า การบุกค้นบ้านผู้ประกาศข่าวรายดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในความผิดฐาน หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังหรือได้รับความอับอาย
สำหรับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นั้น ฉบับเดิมคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ในส่วนที่เกี่ยวข้องคือ มาตรา 14 ระบุว่า ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบาง ส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”
ขณะที่มาตรา 16 ระบุว่า ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ , ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่ง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด , ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ , ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาได้มีการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 โดยในส่วนของมาตรา 14 (1) ได้แก้ไขเป็น “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”
นอกจากนั้น ยังมีบทบัญญัติเพิ่มเติมด้วยว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้”
ขณะที่มาตรา 16 ได้เพิ่มข้อความว่า “ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อภาพของผู้ตาย และการกระทำนั้นน่าจะทำให้บิดามารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง” , “ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง เป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด” และ “ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย”
ส่วนความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ระบุว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 328 “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสีภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”
มาตรา 329 “ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”
มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”
ชมคลิปเต็มได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=NVyuy0fOuuQ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี