เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.เมธี ครองแก้ว อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความเรื่อง "ป.ป.ช. กับอนาคตของ 44 สส.พรรคประชาชน" ดังนี้
ในที่สุด คณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็มีมติให้กล่าวหา สส. 44 คนของพรรคประชาชนหรือพรรคก้าวไกลเดิมว่ามีความผิดจริยธรรมร้ายแรงในการเข้าชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา และได้ส่งหนังสือให้แต่ละคนไปรับแจ้งข้อกล่าวหาที่สำนักงาน ป.ป.ช. และให้แก้ข้อกล่าวหาของแต่ละคนภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว เพื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้เริ่มกระบวนการไต่สวนว่าจะชี้มูลความผิดต่อไปหรือไม่ อย่างไร?
สาหรับผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับขั้นตอนการทำงานของ ป.ป.ช. การพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในขั้นนี้ไม่ใช่ขั้นสุดท้ายของการพิจารณาความผิด หากแต่เป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น หากคณะกรรมการฯ เห็นว่าใครผิดก็จะชี้มูลคนนั้น แล้วส่งสำนวนไปฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อพิจารณาว่ามีความผิดตามฟ้องหรือไม่ อย่างไร โดยโทษที่อาจจะได้รับคือการถูกถอนสิทธิ์ที่จะดำรงตาแหน่งทางการเมืองใดๆ ตลอดชีวิต
นักวิเคราะห์การเมืองหลายคน หรือแม้แต่ผู้นำพรรคฝ่ายค้านเองก็ออกมาให้ความเห็นว่า ทาง ป.ป.ช. อาจจะจงใจหรือตั้งใจเร่งเครื่องที่จะกล่าวหา สส. 44 คนของพรรคประชาชนในตอนนี้เพื่อสกัดหรือทำลายสมาธิของพรรคประชาชนในการจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงขบวนการ “เตะสกัด” การขยายตัวของพรรคก้าวไกล หรือพรรคประชาชนในปัจจุบันอีกด้วย
ในฐานะที่ผู้เขียนเองเคยทำงานอยู่ในองค์กรอิสระแห่งนี้ในฐานะกรรมการคนหนึ่ง ไม่เชื่อว่ากรรมการ ป.ป.ช. คนใดจะคิดทำเช่นนั้น ท่านเหล่านั้นมีเกียรติ ศักดิ์ศรี และความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง จะไม่ทำตามคำสั่งหรือใบสั่งของใครในทำนองนี้อย่างเด็ดขาด หากแต่ช่วงเวลาของการไต่สวนเบื้องต้นมาสำเร็จเสร็จสิ้นในตอนนี้มากกว่า มิได้มีเจตนาพิเศษหรือวาระซ่อนเร้นอื่นแต่อย่างใด
ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติกล่าวหา สส. ของพรรคประชาชน หรือพรรคก้าวไกลเดิมทั้ง 44 คนที่นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่ามีความผิดต่อมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตาแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 หรือที่เรียกย่อๆว่ามาตรฐานจริยธรรมนักการเมืองซึ่งได้ถูกใช้มาแล้วหลายคดีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ในทัศนะของผู้เขียนแล้วคิดว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีทางเลือกมากนักในชั้นนี้ เพราะวรรคสุดท้ายของมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ระบุว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ” ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำพิพากษาให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายชัยธวัช ตุลาธน และกรรมกาบริหารพรรคคนอื่นๆมีความผิดในการเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 112 “อันมีเนื้อหาเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งโดยการใช้ประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลคะแนนเสียงและชนะการเลือกตั้ง เป็นการมุ่งหมายให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน” นายพิธา นายช้ยธวัช และคณะ “มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทาลายสถาบันพระมหากษัตริย์หรือทำให้อ่อนแอลง อันนาไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด” การกระทำของบุคคลทั้งสองจึงเข้าลักษณะการกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอีกพฤติการณ์ด้วย” จะเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญต่อการกระทำความผิดของนายพิธาและนายชัยธวัชมีความรุนแรงมากจนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งถูกผูกพันโดยมาตรา 211 คงต้องกล่าวหา สส. ที่ร่วมลงชื่อในการเสนอกฎหมายดังกล่าวด้วยย่อมจะมีความผิดในภาพรวมด้วย และต้องตั้งข้อกล่าววหาไว้ก่อนให้แต่ละคนได้มีโอกาสต่อสู้ในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช.
ถ้าเรายอมรับในระบอบประชาธิปไตยที่องค์อำนาจทั้งสามมีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน (Checks and Balances) ตามแนวคิดดั้งเดิมของ Montesquieu โดยมีรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ การที่อำนาจฝ่ายตุลาการ หรือกึ่งตุลาการอย่างเช่นศาลรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะตรวจสอบการทำงานของอำนาจฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติย่อมทำได้ แต่ต้องไม่ก้าวล่วงจนเกินเลยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่หลักของแต่ละองค์อำนาจ แต่เผอิญปัญหาของประเทศไทยอยู่ตรงที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้อำนาจตุลาการเหนืออำนาจหลักบางประการของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างชัดเจน เช่น การเสนอหรือพยายามเสนอกฎหมายบางอย่างก็ถือเป็นความผิด ต้องถูกลงโทษโดยการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่เนื่องจากผู้ใช้อำนาจตุลาการดังกล่าวมีความเป็นอิสระเต็มที่ในการวินิจฉัยความถูกต้องของแต่ละเรื่อง อาจจะไม่ยอมใช้อำนาจที่ได้รับก็ได้หากเห็นว่าการใช้อำนาจนั้นๆไม่ถูกต้อง และจะก่อให้เกิดผลเสียที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นๆ ดังนั้น การพิจารณาความผิดในด่านแรกของ ป.ป.ช. ในเรื่องนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
การไต่สวนแก้ข้อกล่าวหาของ สส. ทั้ง 44 คนซึ่งคาดว่าคงใช้เวลานาน เพราะทางพรรคประชาชนคงตั้งเป้าต่อสู้เต็มที่ และทาง ป.ป.ช. เองก็คงไม่สามารถรวบรัดตัดความชี้มูลความผิดอย่างรวดเร็วตาม “ธง”ที่มีบางคนได้กล่าวหา ป.ป.ช. ไว้ก่อนแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะว่าฐานความผิดในคดีนี้กับคดียุบพรรคก้าวไกลเป็นคนละฐานกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาความผิดในฐานใหม่คือฐานจริยธรรมนักการเมืองโดยอิสระโดยแตกต่างจากความผูกพันของ พรบ. พรรคการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้ลงโทษพรรคก้าวไกลและกรรมการบริหารพรรคไปแล้ว จริงอยู่ มาตรฐานจริยธรรมฯ พ.ศ. 2561 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามมาตรฐานนี้ จะมีความผิดจริยธรรมร้ายแรงหากไม่ปฏิบัติตามข้อ 5 คือ “ต้องยึดมั่นและธารงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” และ ข้อ 6 คือ “ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพ แห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน” ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 44 คนอาจจะต่อสู้ว่าทุกคนยังเชื่อและยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และการดำเนินการทางนิติบัญญัติโดยการเสนอกฎหมายดังกล่าวตามที่ถูกกล่าวหาก็เพื่อที่จะจรรโลงและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์มากกว่าที่จะเป็นการ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” สถาบันที่มีความสาคัญสูงสุดนี้จากการถูกใช้ให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนบางกลุ่มบางพวก
ประเด็นที่ว่า ใครกันแน่ที่มีส่วนในการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์ของไทยนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ในประเทศไทยเราเอง เราอาจจะมองปัญหาในเรื่องนี้อย่างหนึ่ง และรัฐและกระบวนทางการเมืองและการยุติธรรมก็มีวิธีที่จะรับมือกับประเด็นดังกล่าวตามที่เราได้เห็นกันอยู่ แต่เราต้องไม่ปฏิเสธว่าหน่วยงานในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นองค์การระหว่างประเทศ หรือสถาบันวิจัยที่เป็นที่ยอมรับนับถือเป็นจำนวนมาก ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการอำนวยความยุติธรรมในเรื่องนี้เป็นอันมาก 1 เป็นไปได้หรือไม่ว่าความเห็นหรือความรู้สึกจากภายนอกประเทศไทยที่มีติดต่อกันมาเป็นสิบๆ ปี ต่อเหตุการณ์หรือสภาพการณ์ในประเทศไทยเป็นปัจจัยที่ “เซาะกร่อนบ่อนทำลาย” ความเชื่อมั่นของรัฐบาล ประชาชน หรือนักลงทุนจากต่างประเทศที่จะเข้ามาทำธุรกรรมกับประเทศไทย และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยตกต่ำเรี่ยดินมาจนถึงทุกวันนี้
เพราะฉะนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้จึงมีงานหนักมากที่จะต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างครบถ้วนรอบด้าน และไม่ติดอยู่ในกับดักของลัทธิทำตามกันมา การชี้มูลหรือไม่ชี้มูลความผิดในเรื่องนี้จะมีผลกว้างไกลต่ออนาคตทางสังคม การเมือง และ เศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างยิ่ง แต่ถึงแม้จะมีการชี้มูลเกิดขึ้นในชั้น ป.ป.ช. บรรดา สส. ทั้ง 44 คนนี้ก็ยังมีโอกาสที่จะต่อสู้ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตาแหน่งทางการเมือง แต่โอกาสที่จะรอดน่าจะยากกว่าการพิจารณาในชั้นของ ป.ป.ช. เพราะผู้พิพากษาและตุลาการท่านมีพันธะที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 191 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างเคร่งครัดในการปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
11 ยกตัวอย่างเช่น บทความที่นำเสนอในเว็บไซต์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations Human Rights Commissions) เรื่อง “Thailand must immediately repeal lèse-majesté laws, say UN experts” ซึ่งพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา หรือบทความเรื่อง “Thailand’s regressive royal insult law” ที่เขียนโดย David Hopkins และตีพิมพ์ในเว็บไซต์ของ Lowy Institute แห่งประเทศออสเตรเลียเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 หรือ ความเห็นอย่างเป็นทางการของกระทรวงการต่างประเทศและการค้า (Department of Foreign Affairs and Trade, DFAT) ของประเทศออสเตรเลีย ใน DFAT COUNTRY INFORMATION REPORT THAILAND 18 Decem 2023 เป็นต้น ข้อเขียนและแนวความคิดในต่างประเทศเช่นนี้มีอยู่มากมายให้ผู้ที่สนใจสืบค้นได้
ผลจะออกมาเป็นเช่นใดก็ตาม ผู้เขียนในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่อยากเห็นประเทศมีความสงบสุข ปราศจากความขัดแย้งที่ทำให้การพัฒนาประเทศประสบกับความชะงักงันมาเป็นเวลาหลายปี หวังว่าผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะทำหน้าที่ของตนอย่างตรงไปตรงมา ไม่ถูกอิทธิพลของความกลัว ความไม่รู้ หรือความลำเอียงอื่นใดในการทำหน้าที่ดังกล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี