21 ก.พ. 2568 เพจเฟซบุ๊ก “หมาเฝ้าบ้าน” เผยแพร่คลิปวีดีโอ “LIVE 21-02-68 ทำไม สว.ไม่ควรมีสี #มุมมองของเจิมศักดิ์” โดย รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้ความเห็นว่า หากมีคนบอกว่า สว. เป็นสีนั้นสีนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่น่าสบายใจของประเทศไทย และเป็นความล้มเหลวในกระบวนการได้มาซึ่ง สว. ทั้งนี้ แม้จะมีการถกเถียงกันมาตลอดว่าประเทศไทยควรมี สว. หรือไม่ หรือจะมีเพียงสภาเดียว แต่ท้ายที่สุดก็เห็นว่ายังควรมี สว. เป็นสภาช่วยกลั่นกรอง ช่วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จัดทำกฎหมายให้รอบคอบมากขึ้น และตรวจสอบรัฐบาลด้วย
จากนั้นในสมัยรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีการไปประดิษฐ์องค์กรอิสระ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น เพื่อให้เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร จะได้มีการตรวจสอบ ตามด้วยการคัดเลือกบุคคลมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระเหล่านี้ ได้ถูกมอบหมายให้เป็นอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา จึงเป็นที่มาของวิธีคิดที่ว่า สว. ควรเป็นอิสระ
อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ก่อนจะมาให้ที่ประชุมวุฒิสภารับรอง จะมีคณะกรรมการสรรหา อันประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ ร่วมกันคัดรายชื่อมาเบื้องต้น 2 เท่าของคณะกรรมการองค์กรอิสระนั้นๆ เช่น ป.ป.ช. มีกรรมการ 9 คน คกก.สรรหา จะคัดเลือกมาเบื้องต้น 18 คน แล้วให้ที่ประชุม สว. ลงมติเลือกให้เหลือ 9 คน หรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีคณะกรรมการ 5 คน รายชื่อจาก คกก.สรรหา จะคัดมาเบื้องต้น 10 คน แล้วให้ สว. ลงมติเลือกกันให้เหลือ 5 คน ไปเป็น กกต.
แต่ด้วยความ สว. ถูกมองว่ามีการเมืองแทรกแซง เช่น ฝ่ายบริหารจะช่วยสนับสนุนญาติพี่น้อง สว. ที่รับราชการให้เติบโต แลกกับการสนับสนุนบุคคลตามโพยให้ได้มีตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทำให้ในยุครัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ปรับแนวทางการคัดเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ โดยให้ คกก.สรรหา คัดเลือกรายชื่อมาในจำนวนที่พอดีกับตำแหน่งในองค์กรนั้นๆ เช่น องค์กรที่มีกรรมการ 9 คน คกก.สรรหา ก็คัดเลือกรายชื่อมา 9 คน สว. จะมีหน้าที่รับรองว่าเอาหรือไม่เอา หากไม่เอา คกก.สรรหา จึงค่อยไปหารายชื่ออื่นมาให้ สว. พิจารณากันใหม่
“คุณลองคิดดู จะเป็นแบบสมัยก่อนหรือสมัยหลังที่รัฐธรรมนูญเปลี่ยนอำนาจวุฒิ วุฒิจำเป็นจะต้องเป็นอิสระ ถ้าวุฒิไม่เป็นอิสระ จะมี สว. ไปทำไม? ก็ให้พรรคการเมืองเขาเลือกองค์กรอิสระเสียเลยแล้วกัน ระบบก็ล้มทั้งครืนเลย องค์กรอิสระมีหน้าที่ในการมาตรวจสอบฝ่ายบริหาร มาคานมาดุล เป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ที่จะต้องมาดูแลฝ่ายบริหาร มันล้มหมดเลย ถ้าวุฒิไม่เป็นอิสระมันล้มเลย องค์กรอิสระก็ไม่จำเป็นต้องมี เพราะถ้ามีมันก็กลับไปอยู่กับหน่วยงานของฝ่ายบริหาร” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว
ชมคลิปที่นี่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี