นั่งไม่ติด!‘สว.’ถกลับตั้งแต่เช้าตรู่ 1 ชม.เต็ม หาทางแก้ลำ‘ทวี-ดีเอสไอ’สอบปมฮั้ว เจอถามทำไมโพยฮั้วตรงเป๊ะ 138 คน ทำช็อตไปครู่หนึ่ง ด้าน‘มงคล’แจงโต้ยิบเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่ ยันไม่กลัวตรวจสอบ ลั่นหากมา‘ขอเอกสาร-ให้ถ้อยคำ’พร้อมไป อัดคนไม่มีอำนาจพยายามเข้าแทรกแซง ยันต้องดำเนินคดี ปัดหลังบ้านล็อบบี้‘คณะกรรมการคดีพิเศษ’ ขณะที่‘บิ๊กเกรียง’ประกาศเดินหน้าใช้เวที‘ตั้งกระทู้-อภิปรายทั่วไป’ให้ทันสมัยประชุมนี้ ส่วน‘บุญส่ง’โยนอำนาจเป็นของ‘กกต.’ ถามกลับความรู้สึกของวิญญูชนเป็นเช่นไร คงดำเนินการตามกฎหมาย
เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) นำโดยนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา และพล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่1 ประชุมหารือกรณีการฮั้วเลือก สว. ที่อาคารรัฐสภา โดยมี สว.ผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา จำนวน 21 คณะ ร่วมประชุมด้วย ซึ่งการประชุมเป็นการหารือภายในแบบลับ ใช้เวลา 1 ชั่วโมง โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้าไปเก็บภาพหรือติดตามการประชุม บรรยากาศภายนอกห้องประชุมมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยดูแลความเรียบร้อยอย่างเข้มงวดแตกต่างจากทุกครั้ง ภายหลังการประชุม ได้มีการแถลงข่าว
นายมงคล กล่าวว่า สืบเนื่องจากเรื่องที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ในวันพรุ่งนี้ (25 ก.พ. 68) เพื่อมีมติให้คดีเกี่ยวกับการตรวจสอบการเลือกสมาชิก วุฒิสภา พ.ศ. 2567 เป็นคดีพิเศษนั้น ตนได้มีการหารือกับท่านรองประธานวุฒิสภา และ สว. จึงขอแถลงข่าวชี้แจงในประเด็นต่าง ๆ ต่อสื่อมวลชนเพิ่มเติม อีกครั้งหนึ่ง
ประการที่ 1 แต่เดิม ก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 การจัดการเลือกตั้งสส.เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร คือ กระทรวงมหาดไทยที่ทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง แต่มีการเอื้อกันและไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะฉะนั้น จึงได้มีการแก้ไข ให้จัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาหลายองค์กร เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหาร รวมทั้ง การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และได้บัญญัติสืบต่อมาจนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รัฐธรรมนูญทุกฉบับได้บัญญัติให้การจัดการเลือกตั้ง สส.และการได้มา ซึ่ง สว. โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายไม่ให้ถูกแทรกแซงของฝ่ายบริหาร หรือคณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีคนใด รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการคดีพิเศษ
“เพื่อมิให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจในการแทรกแซงหรือก้าวก่ายการได้มาและการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น ตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. พ.ศ. 2561 และพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 จึงบัญญัติให้การจัดการเลือกตั้งและการควบคุมการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา และการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยเฉพาะ” นายมงคล กล่าว
ประการที่ 2 เมื่อการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่และอำนาจของ กกต.แล้ว การที่ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้แถลงข่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคำร้อง และเตรียมเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติให้คดีเกี่ยวกับการตรวจสอบการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นคดีพิเศษ โดยที่ กกต. ยังไม่ได้มีการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว หรือมอบหมายให้ดีเอสไอดำเนินการ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยหน้าที่และอำนาจของดีเอสไอ อีกทั้งการตั้งข้อหาอั้งยี่และความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 116 กับสมาชิกวุฒิสภา ต้องถือว่าเป็นการตั้งข้อหาและเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการก่อการร้าย หรือการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ รวมถึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานต่าง ๆ ดังกล่าวแต่อย่างใด
หากแต่ สว.ที่ถูกกล่าวหาได้สมัครเข้ารับการเลือกและผ่านกระบวนการเลือกมาอย่างถูกต้อง จนกระทั่งได้รับการรับรองจาก กกต. เข้ามาปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ การตั้งข้อกล่าวหาดังกล่าวจึงเป็นความพยายามที่จะเชื่อมโยงให้เป็นไปตาม ข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง และเป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหาร เป็นเครื่องมือโดยส่อเจตนาที่จะทำลายองค์กรวุฒิสภาด้วยการเผยแพร่ข่าวและเอกสารลับต่าง ๆ อันทำให้วุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภาถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง เพื่อล้มล้างฝ่ายนิติบัญญัติ
“เราไม่กลัวการตรวจสอบ เราพร้อมและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบกับองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่คือกกต.มาโดยตลอด ขอเอกสารก็ส่งให้ เรียกบุคคลไปให้ถ้อยคำ ก็ไป ทุกคนพร้อมที่จะทำให้กับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ แต่ผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่พยายามเข้ามาแทรกแซงหรือตรวจสอบเรา ฉะนั้น ที่ประชุมในวันนี้ได้มีมติร่วมกันคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป” นายมงคล กล่าว
จากนั้น เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสอบถาม เมื่อถามว่า การที่ดีเอสไอรับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษนั้น มองว่าเป็นการล้ม สว.ชุดนี้หรือไม่ นายมงคล กล่าวว่า เราไม่อยากทราบเจตนารมณ์ของใครได้ แต่พฤติการณ์ต่างๆ ที่ออกมา ทั้งการประโคมข่าว ออกมาให้ข่าว รวมถึงเผยแพร่เอกสารลับนั้น ก็ขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณดูแล้วกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าดีเอสไอได้รับใบสั่งจากใครมาหรือไม่ นายมงคล กล่าวว่า เช่นเดียวกับเรื่องเมื่อสักครู่นี้
เมื่อถามถึงกรณีที่ดีเอสไอ ระบุ การดำเนินคดีในส่วนนี้ คือส่วนของอาญา ไม่เกี่ยวข้องกับ กกต. สามารถทำได้หรือไม่ นายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่2 กล่าวว่า การสืบสวนในเบื้องต้นเป็นหน้าที่ของ กกต. เรื่องการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งในกฎหมายนี้ ก็จะมีกฎหมายอาญาตามมาทีหลัง
เมื่อถามถึงกรณีดีเอสไอ ระบุ โพยฮั้วเลือกตั้ง สว. ตรงกันถึง 138 คน จาก 140 คน มีมูลพอที่จะตรวจสอบหรือไม่ คณะ สว.นิ่งอยู่ช่วงหนึ่ง
ก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะหันไปทางนายบุญส่งพยักหน้าให้ตอบคำถาม ซึ่งนายบุญส่ง จะย้ำสั้นๆ ว่า เป็นหน้าที่ของ กกต. ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามถึงกรณีที่จะมีการยื่นถอดถอน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีความคืบหน้าอย่างไร พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า เราทำตามอำนาจหน้าที่ของ สว. ในการตรวจสอบองค์กรที่ดำเนินการดังกล่าว เนื่องจาก สว.ทุกคนของเรายอมรับว่าเรามาตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นกระบวนการตรวจสอบ สว.ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายเช่นเดียวกัน ดังนั้น เราจึงมีการเตรียมการในการอภิปรายทั่วไป ในเรื่องและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เขามีโอกาสมาตอบคำถาม หรือการตั้งกระทู้
เมื่อถามว่าจะทันในสมัยประชุมนี้หรือไม่ พล.อ.เกรียงไกร กล่าวว่า ตามไทม์ไลน์แล้ว น่าจะทัน โดยจังหวะนี้ นายอลงกต วรกี สว.ที่ยืนอยู่ด้านหลัง ได้พูดแทรกขึ้นมาด้วยว่า “ปีหน้ามั้ง”
เมื่อถามว่าจะมีการนำข้อมูลที่ได้ ไปให้ฝ่ายค้าน เพื่อทำการซักฟอกรัฐมนตรีหรือไม่ นายมงคล กล่าวว่า เราทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจ เราไม่มีสังกัด เราก็ทำของเรา เขาก็ทำของเขา เราจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งต้องตั้งมั่นอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ด้วยความยุติธรรม เรื่องนี้เราตอบไม่ได้ และเราไม่ได้มีความคิดที่จะทำ
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ หากฝ่ายค้านนำเรื่องนี้ไปเป็นกรอบญัตติของการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย นายมงคล หัวเราะ ส่ายหน้า ก่อนกล่าวว่า เป็นเรื่องสิทธิ์ของแต่ละคน เราตอบเรื่องนี้ไม่ได้
เมื่อถามถึงการโต้ตอบของฝ่ายบริหารและวุฒิสภา จะถูกมองเป็นความขัดแย้งของสามเสาหลัก หรือไม่ นายมงคล กล่าวว่า เป็นเรื่องของการปกป้อง ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปกป้อง ย้ำว่า เราไม่ได้กลัวการตรวจสอบ แต่เราพร้อมให้ความร่วมมือกับผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวมีการโทร.ล็อบบี้คณะกรรมการคดีพิเศษนั้น นายมงคล กล่าวว่า ไม่ทราบ
เมื่อถามว่า หากดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ พร้อมเข้าสู่กระบวนการใช่หรือไม่ นายมงคล กล่าวว่า จริงๆ แล้วเรายังไม่ทราบ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต
เมื่อถามถึงการระบุ ใช้ข้อหาอั้งยี่ ที่อาจมีกระบวนการฉ้อฉลนั้น ถือว่าใช้คำแรงไปหรือไม่ ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา หัวเราะ จากนั้น นายบุญส่ง กล่าวว่า ความรู้สึกของวิญญูชนเป็นเช่นไร ก็คงดำเนินการตามกฎหมาย ///-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี