'ดร.ณัฏฐ์'ชี้ปมฮั้ว สว.ไม่แปลก เพราะพ.ร.ป.สว.ออกแบบมาเช่นนั้น ยืนยันทุจริตเลือก สว.เป็นอำนาจศาลฎีกา หากพ้นจากตำแหน่ง เลื่อนบัญชีสำรอง ไม่ต้องเลือกใหม่
เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2568 ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณีดีเอสไอเตรียมพิจารณารับคดีฮั้ว สว.ในช่วงบ่ายวันนี้ว่า หากย้อนไปดูวิธีการออกแบบ วิธีการหาเสียงของผู้สมัคร สว.ตาม พ.ร.ป.สว.มาตรา 36 ที่ให้ผู้สมัครแนะนำตัวได้ โดยเป็นการแนะนำระหว่างผู้สมัครด้วยกันเองนั้นถือว่า เป็นการออกแบบให้มีการฮั้วคะแนนมาแต่แรก ระบบที่ออกแบบมาจะไปโทษผู้สมัครไม่ได้ จะเห็นได้จากการจดโพยหมายเลขผู้สมัคร โดยไม่มีบทบัญญัติใดห้ามมิให้ผู้สมัคร สว.จดโพยหมายเลขผู้สมัคร ซึ่งมีการอ้างว่า เหตุที่จดเพื่อป้องกันการลืม เพราะมีหลายหมายเลขที่ต้องจดจำ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า พรป.สว.มีบทบัญญัติห้ามเด็ดขาดในการฮั้วกันเรื่องผลประโยชน์ เพราะเป็นความผิดตามมาตรา 77
การออกแบบรัฐธรรมนูญ พ.ร.ป.กกต.และพรป.สว.ให้เป็นอำนาจในการสืบสวน การไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคดีทุจริตการเลือก สว.ให้เป็นอำนาจและดุลพินิจ กกต. ไม่ได้ให้อำนาจหน่วยงานอื่นของรัฐ กรณีความปรากฏแก่ กกต. กรณีหน่วยงานอื่นหรือพนักงานสอบสวน ได้รับคำร้องทุกข์ หรือรับเรื่องไว้ จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ กกต.ทราบ แนวทางปฏิบัติ 2 แนวทาง
แนวทางแรก กกต.จะดึงสำนวนไปทำเองก็ได้ หน่วยงานรัฐหรือพนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำนวน ให้แก่ กกต.ภายใน 7 วัน
แนวทางที่สอง กรณี กกต.มอบหมายให้หน่วยงานรัฐหรือพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแทน
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า แม้จะมีข้อหาฐานรอง มิใช่ข้อหาหลัก ย่อมเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนว่า กกต.จะยินยอมมอบอำนาจให้หน่วยงานอื่นหรือพนักงานสอบสวนดำเนินการแทนหรือไม่ ย่อมหมายถึง อำนาจสอบสวน เพราะแม้จะเป็นคดีอาญาข้อหาอื่นและหน่วยงานอื่นมีอำนาจ ย่อมต้องพิจารณาในข้อหาหลักว่า มีการกระทำทุจริตการเลือกตั้งหรือไม่ ตามมาตรา 77(1) ซึ่งจะเป็นความผิดฐานฟอกเงินได้จะต้องพิจารณาให้ได้ว่า ข้อเท็จจริง เป็นกรณีจูงใจผผู้สมัคร ในการ จัด ทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมจะให้ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เป็นความผิดตามมาตรา 77(1) หรือไม่ เพราะกฎหมายบัญญัติมาตรา 77 วรรคสอง เป็นความผิดมูลฐานฟอกเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในข้อหาหนึ่งด้วย เรียกว่า โดนสองเด้ง ซึ่ง พรป.สว.บัญญัติให้ กกต.ส่งเรื่องให้ ปปง.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ คือ ดำเนินคดีอาญาและยึดทรัพย์
โดย ดีเอสไอ ฉวยจังหวะใช้ช่องทางนี้รุกคืบ ใช้กฎหมายคนละฉบับ เพื่อกระตุ้นให้ กกต.เร่งตื่นตัวในการจัดการกลุ่ม สว.สีน้ำเงิน แต่ไม่มีอำนาจสอบสวน แม้ คกพ.จะรับคดีพิศษไว้พิจารณา ย่อมกระทำขัดรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.สว.เพราะเป็นอำนาจองค์กรอิสระ อย่าง กกต.
จะเห็นได้จาก การที่ กกต.ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับการคุ้มครอง ประกอบกับ ตาม พ.ร.ป.สว.มาตรา 32 วรรคสอง เป็นเกราะป้องกันตัว เพราะในการจัดการเลือก สว.ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ระดับประเทศ ได้มีการบันทึกภาพและเสียงในกระบวนการ เลือก สว.ไว้ เพราะหากได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับการคุ้มครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาและทางปกครอง
“ผลแนวทางการสืบสวนดีเอสไอ พบพยานหลักฐานและข้อเท็จจริที่ปรากฏ โพยฮั้ว สว.ที่มีลักษณะเป็นกระทำขบวนการองค์กรอาชญากรรม มุ่งหวังให้ได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.ป.สว.มาตรา 77(1) ปอ.มาตรา 209 (ความผิดฐานอั้งยี่) และความผิดฐานฟอกเงินข้อหาหลัก จะต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงตามข้อกล่าวหา ก่อนว่า กลุ่ม สว.138 คน และสำรอง 2 คน กระทำฝ่าฝืน พรป.สว.หรือไม่ อำนาจในการสืบสวน ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด เป็นอำนาจ ของ กกต.”ดร.ณัฐวุฒิ กล่าว
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า หากภายหลังวินิจฉัยชี้ขาดว่า กระทำฝ่าฝืน พรป.สว.หรือไม่ หากเป็นความผิด คดีอาญาจะตามมา เช่น ข้อหาอั้งยี่ และฟอกเงิน โดย กกต.จะมอบหมายให้นิติกรไปร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีอาญาปกติต่อพนักงานสอบสวนในเขตอำนาจ ซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง อำนาจพิจารณาพิพากษา เป็นไปตาม ป.วิอาญา อยู่ในเขตอำนาจของศาลอาญา ส่วนความผิดฐานฟอกเงิน มาตรา 77 วรรคสอง แห่ง พ.ร.ป.สว.กฎหมายบัญญัติให้อำนาจ กกต.มีหน้าที่ส่ง ให้ ปปง.ดำเนินคดี
กรณีเอกสารลับที่เผยแพร่ออกมา ระบุเป็น ตาม ปอ.มาตรา 209 ความผิดฐานอั้งยี่ เป็นความผิดทันทีเมื่อผู้นั้นได้เข้าเป็นสมาชิกคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีความแตกต่างจากความผิดฐานซ่องโจร เป็นขั้นตอนการกระทำความผิดที่ยกระดับถึงขั้นคบคิดกันหรือตกลงกันหรือวางแผนที่จะกระทำความผิด โดยสมคบกันเพื่อกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งตามท่าบัญญัติไว้ในภาค 2 และความผิดนั้นมีกำหนดอัตราโทษอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
หากพิจารณามาตรา 49 แห่ง พรป.กกต.เป็นเงื่อนไขหลัก กรณีความปรากฏแก่ กกต.ให้ดุลพินิจอำนาจของ กกต. เด็ดขาด จะมอบหมายให้หน่วยงานรัฐหรือพนักงานสอบสวนหรือไม่ก็ได้ พ.ร.ป.กกต.ที่ขยายความตามรัฐธรรมนูญให้อำนาจดุลพินิจเด็ดขาด ไม่ต่างจากคดีนอกราชอาณาจักร ป.วิอาญามาตรา 20 บัญญัติให้อำนาจสอบสวนเป็นของอัยการสูงสุดเว้นแต่จะมอบหมายให้พนักงานสอบสวนดำเนินการแทน
ส่วนที่ถามว่า หาก สว. 138 คน หลุดจากตำแหน่ง จะต้องมีการจีดการเลือก สว.ชุดใหม่หรือไม่นั้น ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า กลไกอุดช่องว่างกรณีตำแหน่ง สว.ไม่ครบจำนวน 200 คน กรณีตำแหน่งว่างลงหรือด้วยเหตุอื่นใด พรป.สว.มาตรา 45 วรรคหนึ่ง บัญญัติไม่จำต้องเลือกตั้ง สว.ใหม่ทดแทนตำแหน่งว่างลง โดยใช้วิธีการเลื่อนบุคคลบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น ขึ้นดำรงตำแหน่ง สว.แทนตามลำดับ และให้ผู้นั้นมีอายุเพียงเท่าที่วุฒิสภาที่เหลืออยู่ ซึ่งบัญชีสำรองที่กำหนดไว้กลุ่มละ 5 คน 20 กลุ่ม จำนวน 100 คน ปัจจุบันเท่าที่ทราบเหลือจำนวน 99 คน
“หาก สว.สีน้ำเงิน 138 คนพ้นจากตำแหน่ง และบัญชีสำรอง 2 คน ถูก กกต.ลบชื่อ ส่งผลทำให้ สว.เหลือเพียง 61 คน ซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน กรณีการขึ้นบัญชีสำรอง เลื่อนเข้ามาแทนที่ จำนวน 97 คน (61+97) รวมเป็น 158 คน ส่งผลให้ สว.เหลืออยู่ มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนเท่าที่มีอยู่ ไม่จำต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง สว.ใหม่ เพราะหลักเกณฑ์จะเลือก สว.ชุดใหม่แทนตำแหน่งที่ว่างลง ต้องเป็นกรณีทุกกลุ่มไม่มีบัญชีสำรองเหลืออยู่ ให้วุฒิสภา มีองค์ประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่ กรณีที่สว.เหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวน สว.ทั้งหมดและอายุของ สว.เหลือเกินหนึ่งปี ให้ดำเนินการเลือก สว.ใหม่ภายใน 60 วัน ให้ผู้รับเลือกอยู่ในตำแหน่งได้เท่าที่อายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่”ดร.ณัฐวุฒิ กล่าว
ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ข้อถกเถียงที่ว่า จุดแยกว่า เป็นอำนาจพิจารณาคดีของศาลใด เพราะระยะเวลาต่างกัน ผลทางกฎหมายต่างกัน กรณีกล่าวหาว่า กระทำความผิดอาญา เช่น อั้งยี่ ซ่องโจร ฟอกเงิน จะต้องดำเนินการ ตาม ป.วิอาญา ผ่านกระบวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน อำนาจสั่งคดีเป็นของอัยการ อำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญา ถือเป็นคดีอาญาปกติ ต้องไปต่อสู้กันถึง 3 ชั้นศาล ใช้เวลานานหลายปี เท่าที่ผ่านมา อัยการสั่งไม่ฟ้อง คดีของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นต้น หากเป็นการการกระทำทุจริตการเลือก สว. ตาม พ.ร.ป.สว. มาตรา 77(1) เป็นอำนาจพิจารณาและพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาเป็นไป ตาม พ.ร.ป.สว.มาตรา 62 วรรคหนึ่ง
กรณีขาดคุณสมบัติมาตรา 13 หรือลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 14 ภายหลัง กกต.ประกาศรับรองการเลือก สว. เป็นอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตาม พ.ร.ป.สว.มาตรา 63 เมื่อ กกต.ประกาศผลการเลือกสว.ตามมาตรา 42 วรรคสอง ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกหรือรู้เห็นการกระทำของบุคคลอื่น อันทำให้การเลือก สว.มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ กกต.ยื่นคำร้อง ต่อศาลฎีกา เพื่อให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น ตาม พรป.สว.มาตรา 62 วรรคหนึ่ง
ส่วนที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดินและอดีตผู้สมัคร สว.บางคนไปยื่นคำร้องต่อนายวิเชียร ชุบไธสงค์ นายกสภาทนายความ เพื่อให้ข้อมูลทุจริตฮั้ว สว.เพื่อให้นายวิเชียร ซึ่งเป็นหนึ่งในบอร์ด คณะกรรมการคดีพิเศษ เพื่อโน้มน้าวให้โหวตเสียงรับเป็นคดีพิเศษโดยระบุว่า กกต.ประกาศผลการเลือก สว.แล้ว เป็นอำนาจพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะ พ.ร.ป.สว.บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า การกระทำฝ่าฝืน พ.ร.ป.สว.มาตรา 62 วรรคหนึ่งให้เป็นอำนาจศาลฎีกา ส่วนกรณีขาดคุณสมบัติ มาตรา 13 หรือมีลักษณะต้องห้าม 14 พ.ร.ป.สว.ตามมาตรา 63 ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี