'อดีตเลขาฯสมช.'ไม่เชื่อ‘ทักษิณ’เอาอยู่ดับไฟใต้ แนะรัฐบาลทำ2ข้อแล้วปัญหาจะคลี่คลาย
เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2568 พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งล่าสุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ไปเยือนพื้นที่ดังกล่าว ว่า นายทักษิณเองก็เป็นหนึ่งในเหตุปัจจัย เพราะสมัยที่เป็นนายกฯ ไปใช้คำพูดว่า “โจรกระจอก” แล้วสถานการณ์ก็ยาวมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่การแก้ไขปัญหาถือว่าพัฒนาช้า กฎหมายไม่ได้ถูกแก้ไขให้นำไปสู่การดำเนินการที่สัมฤทธิ์ผล
อีกทั้งการที่นายทักษิณเลือกใช้คำว่า “ขออภัย” แทนคำว่า “ขอโทษ” ก็ไม่โดนใจคนในพื้นที่ อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘ทักษิณ’เอ่ยปากเหตุการณ์‘ตากใบ’ ถ้ามีอะไรไม่เป็นที่พอใจ ขออภัย เพราะคำว่าขอโทษคือการทำผิดต้องได้รับโทษแต่มาขอให้ไม่ต้องลงโทษ แต่คำว่าขออภัยหมายถึงจะเกิดภัยขึ้นแล้วมาขอว่าอย่าให้ภัยมาถึงตัว คำว่าขออภัยจึงมีนัยเชิงน้ำหนักที่บางกว่าคำว่าขอโทษ และที่ล่าสุดบอกว่าปัญหาชายแดนใต้จะจบใน 1 ปี เหมือนกับครั้งก่อนที่บอกว่าโจรกระจอกจบใน 3 เดือน ประชาชนจึงมองว่าเป็นเพียงวาทะทางการเมือง
แต่หากมองผลสัมฤทธิ์จากโครงสร้างการแก้ไขปัญหา กฎหมายที่เกี่ยวข้อง บริบทสภาวะแวดล้อม อย่างที่บอกว่าจะนำนโยบาย 66/23 มาใช้ ตนก็มองว่าหลงโจทย์เพราะบริบทที่ครอบคลุมนั้นแตกต่างกันจึงไม่สามารถนำมาใช้ได้ และแม้นายทักษิณต้องการแก้มือ แต่เมื่อดูนโยบายความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนใต้ของรัฐบาล พบว่าถูกกล่าวถึงเพียงประโยคเดียว แสดงถึงการไม่ให้น้ำหนัก ทั้งที่จริงๆ แล้วเรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องถือเป็นวาระแห่งชาติและเป็นวาระเร่งด่วน เพราะแม้จะเป็นปัญหาเชิงพื้นที่แต่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศไปทั้งโลกมุสลิมและทั่วโลก
ส่วนคำถามว่าอะไรทำให้นายทักษิณมั่นใจว่าขอเวลา 1 ปี จะแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ให้จบ ตนมองว่านายทักษิณยังติดกับชุดความคิดเดิมๆ เช่น การไปพบนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แล้วเชื่อว่าหากดึงมาเลเซีย รวมถึงอินโดนีเซียมาร่วมได้ก็จะมีพลังในการแก้ไขปัญหา แต่จริงๆ ภัยคุกคามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสลับซับซ้อน จากฐานเดิมของกลุ่มที่มีความคิดสุดโต่งมุ่งแบ่งแยกดินแดน แม้ยังมีอยู่แต่ไม่ได้มีพลังมาก แต่ที่ไปเกิดภัยแทรกซ้อนเพราะรัฐบาลพลาดท่าที่ไม่เกิดความยุติธรรมและสร้างความรุนแรง อย่างเหตุการณ์กรือเซะและตากใบ
“ประกอบกับสถานการณ์ภัยคุกคามใหม่ของโลก มันไปเกิดขึ้นทั่วคืออาชญากรรมทางเทคโนโลยี พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะเกี่ยวข้องกับแรงงานเถื่อน แรงงานข้ามชาติ ค้ามนุษย์ แน่นอนผสมยาเสพติดเข้าไปอีก ดังนั้นภัยเหล่านี้มันซ้อนอยู่กับภัยเรื่องอุดมการณ์ด้วย ความยากตรงนั้นเรื่องอุดมการณ์ก็ยากอยู่แล้วเพราะทั้งชาติพันธุ์ ทั้งศาสนา ทั้งวัฒนธรรม ตรงนี้พอมาซ้อนกัน แล้วสถานการณ์ผ่านมา 20 ปี กลไกโครงสร้างที่จะรับมือก็ไม่มีการพัฒนาการไป ฉะนั้นตรงนี้ไม่ง่าย” พล.ท.ภราดร กล่าว
พล.ท.ภราดร กล่าวต่อไปว่า แต่หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาชายแดนใต้จริงๆ 1.ต้องยกระดับนโยบายเร่งด่วนขึ้นมา เรื่องนี้ต้องเป็นวาระแห่งชาติ 2.ต้องชูเรื่องสันติวิธี 3.ชูขีดความสามารถของรัฐบาล จะปรับแก้โครงสร้าง ปรับแก้กฎหมายเพื่อรับมืออย่างไร จึงจะเกิดความเชื่อมั่นในสายตาประชาชน แต่ไม่ใช่ไม่มีกลไกอะไรรับผิดชอบ อย่างกรณีตากใบ อายุความ 20 ปียังทำให้หมดอายุ กลายเป็นเงื่อนไขเพิ่มขึ้นอีก เพราะหมดอายุความแล้วก็ไม่เห็นว่าจะทำอะไรต่อ ซึ่งแม้คดีจะหมดอายุความ แต่หากพิสูจน์ว่าเรื่องนี้ใครผิด มีการออกมาขอโทษและมีมาตรการเยียวยาความเสียหาย อย่างน้อยก็ยังช่วยบรรเทาได้ แต่เมื่อไม่ทำอะไรเลยจึงไม่เกิดความเชื่อมั่น
ที่สำคัญคือ พรรคเพื่อไทยสูญเสียความน่าเชื่อถือไปตั้งแต่ตัดสินใจข้ามขั้วจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ดังนั้นประชาชนจะเชื่อก็ต่อเมื่อลงมือทำให้เห็นก่อน อีกเรื่องหนึ่งคือ แม้แต่เรื่องเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยชอบบอกว่าเป็นทีเด็ด แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) หากไม่นับเมียนมาที่มีปัญหาสงคราม ไทยก็รั้งท้ายอาเซียน ส่วนเรื่องความมั่นคงกับเรื่องต่างประเทศ ผ่านมาปีเศษๆ นับตั้งแต่สมัยที่ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ มาจนถึงนายกฯ คนปัจจุบันคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รัฐบาลนี้ก็ยังไม่มีพัฒนาการเชิงบวก
ดังนั้นแล้ว ตนไม่เชื่อว่านายทักษิณ จะเอาอยู่ในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์! ‘ทักษิณ’ขายฝันพี่น้อง 3 จชต. คุยคืนสันติสุขสัญญาณดี แม้กระทั่ง สมช. ก็ยังถูกนักวิชาการบางท่านตั้งฉายาว่าสภาความมึนงงแห่งชาติ อย่างตนเคยเป็นเลขาฯ สมช. คำถามที่เจอเสมอเวลาไปพูดคุยสันติสุข คือไปคุยถูกคนหรือไม่ แต่ก็ต้องให้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะการไปคุยไม่ใช่จินตนาการขึ้นมาว่าคนคนนี้ควรไปคุยด้วย แต่มาจากข้อมูลข่าวกรองทั้งฝ่ายไทย มาเลเซียและโลกมุสลิม ขบวนการ BRN มีอิทธิฤทธิ์ มีกองกำลัง ก็ต้องไปคุยแล้วก็เกิดพัฒนาการ
“ปัญหาว่า ณ ตอนนี้ ถ้าเราดูนโยบายของรัฐบาลและชุดความคิด ติดกับดักเดิมแล้วยังไม่เข้าใจโจทย์พื้นๆ ก็ไม่เข้าใจ แล้วอย่างนี้จะคาดหวังได้อย่างไร จริงๆ แล้วการพูดคุย เมื่อมีนโยบายว่าใช้สันติวิธี เครื่องมือกลไกสำหรับสันติวิธีคือการพูดคุย คณะพูดคุยจะมีประสิทธิภาพ มีผลสัมฤทธิ์ ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุย นั่นก็คือพื้นที่ของการพูดคุยจะต้องมีสิทธิเสรีภาพทำให้พูดคุย หมายความว่ากฎหมายที่เป็นกฎหมายพิเศษมาจำกัดสิทธิเสรีภาพมันต้องมีน้อยหรือไม่มีเลย เพื่อจะเอื้อต่อการพูดคุย มันถึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์” พล.ท.ภราดร ระบุ
พล.ท.ภราดร ยังกล่าวอีกว่า แต่เมื่อดูพื้นที่ มีทั้งใช้กฎอัยการศึก ใช้ พรก.ฉุกเฉิน ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งอาจต้องลดลงบ้าง ให้มีพอเป็นน้ำจิ้ม แต่ก็ยังไม่เอื้อต่อการพูดคุย ซึ่งการพูดคุยต้องเริ่มจากการทำให้เกิดความไว้วางใจกันก่อนแล้วจึงไปถึงการพิสูจน์ฝีมือ เมื่อไว้วางใจได้ รับฟังกัน การพิสูจน์ฝีมือก็เริ่มจากการเริ่มสร้างพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนชี้แต่ต้องไปคุยกับประชาชนในพื้นที่ว่าอยากได้พื้นที่ใดแล้วมาเริ่มทำกัน
ขณะเดียวกัน ด้วยความที่พื้นที่มีความหลากหลาย เป็นพหุวัฒนธรรมทั้งพุทธ มุสลิมและจีน สิ่งที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้คือกระบวนการอำนวยความยุติธรรม ที่ต้องยุติธรรม เป็นธรรมและทันเวลา สิ่งเหล่านี้ต้องยืนอยู่ตลอดเวลา รัฐต้องมีพัฒนาการ โดยสรุปอยู่ที่ 2 ข้อ 1.มีกระบวนการอำนวยความยุติธรรม กับ 2.สร้างพื้นที่ปลอดภัย หากทำได้ 2 ข้อนี้ สถานการณ์ชายแดนใต้จะคลี่คลายลง ส่วนที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บอกว่าขอดูสถานการณ์ช่วงเดือนรอมฏอนก่อน ตนมองว่าสามารถทำได้เลยทันที
ส่วนการลงพื้นที่ของนายทักษิณ ที่บอกว่าไปในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน แม้ดูเหมือนนายทักษิณมีพลัง แต่ผลที่ออกมาคือทำให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่มีพลัง จึงต้องดูให้ถูกว่าอะไรเป็นอะไร ขณะเดียวกันสิ่งที่คนต้องการฟังคือชุดความคิด แต่ก็ไม่มี ที่บอกว่า 1 ปีแก้ได้คืออะไร แถมจะถูกถามกลับด้วยว่าเรื่องตากใบไปถึงไหนแล้ว ถึงคดีจะหมดอายุความไปแล้วแต่ช่วยพิสูจน์อะไรมาหน่อยได้หรือไม่ ซึ่งก็ไม่เกิด
ยิ่งมีกรณี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีตากใบที่หมดอายุความไปก็ยิ่งหนัก อย่างตนเคยไปช่วยพรรคเพื่อไทยหาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แทนที่จะได้พูดเรื่องนโยบาย กลับต้องมาตอบคำถามประชาชนและชี้แจงเรื่องที่พรรคใส่ชื่อ พล.อ.พิศาล ในลำดับต้นๆ ของบัญชีรายชื่อ สส. ตนจึงมองว่าเป็นเรื่องยากในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้
“ยากมาก ไม่ใช่ยากธรรมดา จากองค์ประกอบอย่างที่บอก จากภัยคุกคามเดิมก็ยากอยู่แล้ว ยังมาเจอภัยคุกคามที่แทรกซ้อนขึ้นมาในมิติใหม่ อาชญากรรมข้ามชาติและทางเทคโนโลยี แล้วทางเทคโนโลยีมันสื่อที่ทำให้พี่น้องประชาชนเขารับข่าวเร็ว แล้วตอนนี้พื้นฐานที่บอกว่าการอำนวยความยุติธรรมมีปัญหา พี่น้องประชาชนก็ไม่ร่วมมือ ข่าวกรองที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา ตาสับปะรดคือประชาชน พอประชาชนนิ่งเฉยกับเรา จะไปอย่างไรทีนี้ ข่าวกรองอย่างไรมันไม่ขึ้นเบอร์หนึ่งแน่ถ้าประชาชนไม่เอากับเรา” พล.ท.ภราดร กล่าว
ชมคลิปเต็มได้ที่ : สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง : พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร 25/02/68
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี