"ประเสริฐ"โว! ค่าความเสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลดลง เหลือไม่ถึง 50 ล้านต่อวัน หลังตัดไฟ-ตัดอินเทอร์เน็ต เตรียมขยายสัญญาณฝั่งไทย ให้ ปชช.ที่ได้รับผลกระทบ แต่ยันสัญญาณไม่ถึงเพื่อนบ้านแน่ เพราะมีตัววัด เผยเตรียมทำความเข้าใจ 3 หน่วยงาน ร่วมรับผิดชอบความเสียหาย ก่อนประกาศใช้ พ.ร.ก.ไซเบอร์
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงความคืบหน้าการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ว่า เมื่อวานนี้ (3 มี.ค.) ก็มีออกหมายจับไปกว่า 100 คน และมีการติดตาม โดยให้รายงานผลการตรวจสอบสาย เสาสัญญาณ การใช้ซิม ทุกวันจันทร์ ซึ่งเท่าที่ได้รับรายงานเป็นไปด้วยดี มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง และยังไม่พบเหตุผิดปกติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังตัดสัญญาณ ทำให้คนในประเทศส่วนหนึ่งที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้รับผลกระทบไปด้วยเพราะไม่สามารถใช้สัญญาณโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตได้ นายประเสริฐยอมรับว่าก็มีบ้าง ซึ่งวันที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ ได้สั่งการให้ กสทช. ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยจะมีวิธีขยายสัญญาณในฝั่งไทย ในจุดที่สัญญาณอ่อน ได้พูดคุยกันว่าอาจจะเพิ่มสัญญาณ ในบางจุด โดยเพิ่มเฉพาะในฝั่งไทย
เมื่อถามว่า หากมีการเพิ่มจุดสัญญาณ จะมีสัญญาณไปถึงประเทศเพื่อนบ้านจนเขาสามารถกลับไปใช้งานได้ใช่หรือไม่ นายประเสริฐยืนยันว่าไม่สามารถใช้ได้ เพราะมีตัววัดสัญญาณอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า ภายหลังนายกรัฐมนตรีสั่งการ ได้รับความร่วมมือจากเอกชนดีหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ภาคเอกชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี หลายบริษัทมายืนยัน ความเป็นเจ้าของสายอินเตอร์เน็ต แล้ว ส่วนใครที่ไม่มายืนยัน เราก็จะดำเนินการตัดสัญญาณ ทั้งนี้เราจะตัดสัญญาณเฉพาะคนที่ไม่มายืนยันซึ่งมีประมาณ 10 ราย ส่วนคนที่มายืนยันก็สามารถใช้บริการได้ปกติ แต่ถ้าพบว่าสายที่ใช้งานได้ แต่ถูกลากไปในตึก หรือในอาคารที่สงสัยว่าอาจใช้ในกลุ่มมิจฉาชีพ หรือใช้เพื่อกระทำความผิด เราก็จะดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เรามีการตรวจสอบสายที่ลากข้ามไปประเทศเพื่อนบ้าน หากผู้ประกอบการปฏิเสธว่าไม่ใช่เจ้าของก็จะมีการตัดตามขั้นตอน
เมื่อถามว่า หลังจากตัดสัญญาณแล้ว ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ลดลงหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่าจากการตรวจสอบกับตำรวจ พบว่าปัญหาลดลง 20% สถิติการใช้ลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงสถิติของคดีก็ลดลงด้วย ในส่วนของศูนย์ AOC ปัจจุบันมีการร้องเรียนประมาณ 3,000 สายต่อวัน โดยหลังเปิดศูนย์ประมาณหนึ่งปี มีตัวเลขลง 40% หลังใช้มาตรการตัดไฟ ตัดสัญญาณ ความเสียหายลดลง 20 % ถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะลดลงทั้งความเสียหาย และจำนวนเงินก็ลดลง ก่อนหน้านี้ความเสียหายกว่า 100 ล้าน แต่หลังเปิดศูนย์ตัวเลขลดลง เหลือ 60-70 ล้าน และหลังมีมาตรการตัดไฟ ตัดสัญญาณ ความเสียหายต่ำกว่า 50 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่ มาจากการหลอกให้ลงทุนเงินดิจิทัล ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นมาก แต่ค่าเสียหายน้อย และลดลงอย่างมีนัยสำคัญคือซื้อของไม่ตรงปก
นายประเสริฐ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการบังคับใช้ พระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือพ.ร.ก.ไซเบอร์ ที่ ครม.เห็นชอบแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าจะแล้วเสร็จต้นเดือนมีนาคมนี้ โดยภายในเดือนนี้ตนจะเรียกสถาบันการเงิน telco provider และแพลตฟอร์ม เข้ามาพูดคุย ทีละกลุ่ม ถึงความเข้าใจ ความรับผิดชอบในค่าความเสียหายว่าหมายถึงอะไร เพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติงาน ก่อนประกาศใช้กฎหมาย ทั้งนี้คาดว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในเดือนมีนาคมนี้
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี