‘กมธ.เศรษฐกิจฯ’หวั่น‘ไทย’เสี่ยงโดน‘มะกัน’ขึ้นภาษี จากพิษส่ง‘อุยกูร์’กลับจีน แนะ‘พาณิชย์’เร่งมาตรการช่วยเหลือ 3 ข้อ บี้รัฐบาลสื่อสารให้ชัดจะช่วยเหลือภาคเอกชนอย่างไร
27 มีนาคม 2568 ที่รัฐสภา นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมกมธ.ฯว่า จากที่เชิญกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงว่าได้พิจารณาถึงที่ประเทศไทยได้ส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน และมิติการค้าไทยกับสหรัฐอเมริกา จากคำแถลงของรมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ที่แสดงออกมากังวลในเรื่องนี้เช่นเดียวกันว่ามีผลต่อการค้าไทยกับสหรัฐฯหรือไม่ โดยเฉพาะในวันที่ 2 เม.ย. นี้ สหรัฐฯจะออกบัญชีรายประเทศและรายสินค้าว่ามีประเทศไหนที่เสี่ยงโดนขึ้นภาษี และสินค้าไหนที่ถูกขึ้นภาษีบ้าง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากไทยเกินดุลสหรัฐฯมาก เราอยู่ในลำดับที่ 21
“ดังนั้น วันที่ 2 เม.ย. นี้มีความเป็นไปได้ว่า เราจะโดนภาษี ทั้งภาษีเรียกเก็บจากสินค้าทั่วไป และภาษีเรียกเก็บรายเฉพาะประเทศ โดยเขาจะดูว่าสินค้าใดบ้างที่ประเทศไทยเก็บภาษีสูงกว่าสหรัฐฯ เช่น สินค้าเกษตร และมีสินค้าใดบางที่ไทยเกินดุลสหรัฐฯเยอะเช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์ เครื่องปรับอากาศ ถือเป็นสินค้าที่มีความเสี่ยง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าอัตราภาษีที่ไทยเรียกเก็บจากสหรัฐฯ สูงกว่าที่สหรัฐฯเรียกเก็บจากไทยประมาณ 4-6% ถ้าเอาอัตรานี้มาคำนวณร่วมกับมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไทยส่งไปสหรัฐฯ เรามีความเสี่ยงที่ถูกขึ้นภาษี และหากคิดเป็นเงินบาทเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบอยู่ที่ 1-1.4 แสนล้านบาท”
นายสิทธิพล กล่าวต่อว่า ในเรื่องของการค้าไทยและสหภาพยุโรปในมุมมองของหน่วยงานที่มาชี้แจง ทั้งส่วนราชการและเอกชนมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่าเนื่องจากไทยและสหภาพยุโรป มีความต้องการเร่งเจรจา FTA ซึ่งในสภาพของสงครามการค้าสหภาพยุโรปจำเป็นต้องเร่งหาตลอดใหม่ๆ ในมุมของคู่เจรจา เห็นว่าน่าจะกระทบต่อการเจรจาFTA ไทย-สหภาพยุโรปไม่มากนัก แต่สิ่งที่เป็นข้อกังวลคือหลังจากที่มีการเจรจาผ่านไปแล้ว แต่ละประเทศที่อยู่ในกลุ่มสหภาพยุโรป จะมีการดำเนินการตามข้อตกลง FTA มากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ทางกมธ.ได้ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์คือ 1.เร่งพิจารณามาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ 2.ตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าต่างๆให้ชัดเจน เพราะปัจจุบันมีจำนวนมากที่สินค้าต่างประเทศใช้ไทยเป็นทางผ่านเพื่อส่งออกไปประเทศอื่น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย และ3. ภาคเอกชนขอให้กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการรายย่อย หรือSME เพื่อเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของ FTA มากขึ้น
นายสิทธิพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมโดยเฉพาะภาคเอกชนมีความกังวลว่าในเดือนมิ.ย. ทางสหรัฐฯจะออกรายงานเกี่ยวกับเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งประเทศไทยมีผลกระทบในเรื่องชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน อาจจะเป็นประเด็นหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการจัดลำดับของประเทศไทยหรือไม่ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลสื่อสารไปยังผู้ประกอบการว่าใครได้รับผลกระทบมากก็จะทำให้ภาคเอกชนรับมือได้ทัน และขณะเดียวกันรัฐบาลคงต้องออกแพ็คเกจเพื่อมาช่วย SME รวมถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ว่าเขาจะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างไร ซึ่งตนเห็นว่าเป็นความเร่งด่วนที่รัฐบาลอาจจะทำน้อยไป และบอกกับภาคเอกชนน้อยไปว่าควรเตรียมตัวอย่างไร
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี