"รวิศ สอดส่อง"ผู้แทน รมว.ยุติธรรม ร่วมงานเฉลิมฉลองและระลึกถึงวันสตรีสากล/เดือนสตรีสากล เพื่อเสริมสร้างพลังสตรี
เมื่อเวลา 19.30 น.วันที่ 27 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานจากฮาร์ดร็อค คาเฟ่ กรุงเทพฯ อาคารมณียา เซ็นเตอร์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ว่า ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children : ACWC) ร่วมกับ ฮาร์ดร็อคคาเฟ่ กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลอง และระลึกถึงวันสตรีสากล/เดือนสตรีสากล เพื่อเสริมสร้างพลังสตรี โดยมีวิทยากรผู้ทรงเกียรติจากหลากหลายสาขา อาทิ วงการกีฬา, บันเทิง, สาขา STEM, ภาครัฐ, องค์กรระหว่างประเทศ, องค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) ฯลฯ เข้าร่วมงาน
ในโอกาสนี้ นายรวิศ สอดส่อง หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระ ทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้แทน พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เดินทางมาร่วมงานด้วย โดยมี ดร.รัชดา ไชยคุปต์ ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียน ว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) ให้การต้อนรับ
นายรวิศ สอดส่อง หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้แทน รมว.ยุติธรรม กล่าวแสดงทัศนะในการเปิดงานว่า ตนเองและกระทรวงยุติธรรม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนการจัดงานฯและขอบคุณเครือข่ายพันธมิตรที่ร่วมจัดงานฯทุกองค์กร และทุกท่านที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเสมอภาค และการเสริมสร้างพลังของสตรี
นายรวิศ กล่าวอีกว่า กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงพัฒนาพฤตินิสัยให้ผู้กระทำความผิดกลับตัวเป็นคนดี และอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข ภายใต้วิสัยทัศน์ “อำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม” โดยที่ผ่านมา ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ได้มีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้ม ครองสิทธิสตรีในหลายมิติ ดังนี้ ได้กำหนดเป็นนโยบายระดับชาติที่กำหนดทิศทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศที่จะต้องเร่งดำเนินการในห้วงปี 2566 - 2570 ไว้หลายประการในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 จนถึงฉบับที่ 5 อาทิ การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยว ข้องให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล การพัฒนาช่องทางและมาตรการอำนวยความยุติธรรมให้สตรี การแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นต้น
ขณะที่กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567 หรือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวให้กับบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงได้แก้ไขบทบัญญัติบางประการให้ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น เพิ่มอายุขั้นต่ำในการสมรสจาก 17 ปี เป็น 18 ปี นอกจากนั้น ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นกฎหมายกลางที่ขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ และยืนยันการปฏิบัติต่อบุคคลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งรวมถึงความแตกต่างทางเพศด้วย รวมทั้งได้มีการแก้ไขและกำชับระเบียบปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติกับสตรีอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความต้องการของแต่ละบุคคลด้วย
พร้อมกันนี้ กระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความช่วยเหลือโดยไม่เลือกปฏิบัติกับทุกคนที่มายื่นเรื่องราวร้องทุกข์ การให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การให้ความช่วยเหลือทนายความ การอำนวยความยุติธรรมผ่านทางกองทุนยุติธรรม การไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท การช่วยเหลือเยียวยาเหยื่ออาชญา กรรม การคุ้มครองพยาน เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมยังมีบทบาทนำในการผลักดันมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในระดับระหว่างประเทศ จนพัฒนามาเป็นข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) รวมถึงได้ร่วมผลักดันข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ซึ่งเป็นต้นแบบให้กับนานาอารยประเทศในปัจจุบัน อีกทั้งข้อกำหนดดังกล่าว ยังเป็นประโยชน์ต่อการดูแลผู้ต้องราชทัณฑ์หญิงอีกมากกว่า 37,000 คน อีกด้วย
"สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้ง ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าเราทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกภาคส่วนสามารถร่วมมือร่วมใจกันเป็นพลังสำคัญในการผลักดัน และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในครอบครัว องค์กรสังคม เพื่อให้เป็นพื้นที่แห่งความเสมอภาคและเท่าเทียมสำหรับทุกคนอย่างแท้จริง" นายรวิศ กล่าว
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี