“ภูมิธรรม” ส่งกำลังพล-สิ่งของ-กู้ภัยแผ่นดินไหวเมียนมา และช่วยคนไทยในเมียนมา ส่วนประเทศเพื่อนบ้านส่งเรือรบ-เครื่องบินพร้อมสิ่งของบรรเทาทุกข์-เจ้าหน้าที่กู้ภัยไปยังเมียนมาหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิต พุ่งทะลุ 1,644 ศพ บาดเจ็บ 3,408 ราย และสูญหาย 139 ราย
เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 30 มีนาคม ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานพิธีส่งกำลังพลจากกองทัพไทยเดินทางไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชน ประเทศเมียนมา หลังจากเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่สำคัญ ได้แก่ เมืองมัณฑะเลย์เนปิดอว์ และย่างกุ้ง เป็นต้น โดยมี พล.อ.ณัฐพล นาควานิชย์ รมช.กลาโหม พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. พล.อ.มนัส จันดี เสนาธิการกองบัญชาการกองทัพไทยเข้าร่วม โดย พ.อ.ขจรศักดิ์ พูลโพธิ์ทอง รอง ผอ.สำนักปฏิบัติการกรมยุทธการทหารกองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพันธกิจด้านมนุษยธรรมของประเทศไทย และเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่มีมายาวนาน
นายภูมิธรรม กล่าวว่า เหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ขอชื่นชมกำลังพลของกองทัพทันทีที่เกิดเหตุ ได้ส่งกำลังเข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยส่งกำลังพลเข้าไปเกือบ 1 พันนายการเกิดเหตุภัยพิบัติเป็นความร่วมมือของมนุษยชาติ ซึ่งที่เมียนมา ได้ร้องขอนานาประเทศเข้าไปให้ความช่วยเหลือ จึงขอชื่นชมและขอบคุณกำลังพลทุกนาย ที่เป็นตัวแทนคนไทย อยากให้ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ แม้จะมีอุปสรรคบ้าง ก็ขอให้มีความพร้อม สิ่งที่สำคัญยังมีพี่น้องชาวไทยในเมียนมา ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งต้องให้ความสำคัญและเข้าช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด เราเตรียมเครื่องบินไว้แล้ว ขอให้กำลังใจทุกคน
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งความช่วยเหลือให้เมียนมาครั้งนี้ รัฐบาลไทยมอบหมายให้กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหน่วยหลักในการจัดตั้ง“ชุดช่วยเหลือเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาในพื้นที่เมืองเนปิดอว์”ภายใต้การควบคุมและกำกับของสำนักปฏิบัติการ กรมยุทธการทหาร (สบก.ยก.ทหาร) ซึ่งได้วางแผนอย่างรัดกุมและครอบคลุมในทุกมิติของการช่วยเหลือ ตามหลักปฏิบัติด้าน Humanitarian Assistance and Disaster Relief (HADR)
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า ส่วนชุดช่วยเหลือฯ ประกอบด้วย กำลังพลทั้งหมด 55นาย แบ่งออกเป็น 8ชุด ได้แก่ ชุดควบคุม (5 นาย), ชุดงานด้านประชาสัมพันธ์ (4 นาย), ชุดค้นหาและกู้ภัยขั้นต้น (USAR) จากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (12 นาย), ชุดแพทย์ฉุกเฉิน (MERT) จากสำนักนายแพทย์ทหาร (18 นาย), ชุดประเมินความเสียหาย (4นาย), ชุดสื่อสาร (4 นาย), ชุดขนส่งทางอากาศ (4 นาย)และชุดประสานงาน (4 นาย) ซึ่งภารกิจหลัก คือการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนผู้ประสบภัยในประเทศเมียนมา และดูแลช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่นอกจากนี้ยังมีภารกิจด้านการค้นหาและกู้ภัย การแพทย์ฉุกเฉิน การตั้งโรงพยาบาลสนามระดับเบื้องต้น การประเมินความเสียหาย และการสนับสนุนด้านการสื่อสารและข้อมูลข่าวสาร
“การเดินทางไปภารกิจครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอากาศทั้งหมด 3 เที่ยวบิน ได้แก่ เที่ยวบินที่ 1 (30 มีนาคม 2568) จัดส่งกำลังพลจากกรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง-เนปิดอว์-กรุงเทพฯ
เที่ยวบินที่ 2 (2 เมษายน 2568) เดินทางเข้าสลับกำลัง เที่ยวบินที่ 3 (5 เมษายน 2568) เดินทางกลับถิ่นฐาน
ส่วนการปฏิบัติภารกิจในพื้นที่เมื่อเดินทางถึงที่หมาย ชุด USAR จะปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัย ชุด MERT ให้การแพทย์ฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ และปรับเป็น Mobile Clinic ตามคำสั่ง ชุด RDANA จะประเมินความเสียหายเพื่อวางแผนการช่วยเหลือต่อระยะต่อไป” นายภูมิธรรม กล่าว
ทั้งนี้ จะมีการประชุมร่วมกับศูนย์บัญชาการทางทหารผ่านระบบ VTC รายงานผลการปฏิบัติประจำวัน และรายงานพิเศษตามคำสั่ง รวมทั้งให้การช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่และดำเนินการส่งกลับโดยสมัครใจผ่านเที่ยวบินของกองทัพอากาศ และการดำเนินการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะบรรลุภารกิจในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนถึงความจริงใจของประเทศไทยในการยืนหยัดเคียงข้างประชาชนเมียนมาในยามยากลำบาก พร้อมทั้งเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนของกองทัพไทยในบทบาทด้านความมั่นคงเชิงมนุษยธรรม สนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แน่นแฟ้น อันจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ยั่งยืนในระดับภูมิภาคต่อไป
วันเดียวกัน ทีมสารสนเทศ สังกัดสภาบริหารแห่งรัฐของเมียนมา รายงานเมื่อช่วงค่ำวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ว่าเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.7 แมกนิจูด ในเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1,644 ราย บาดเจ็บ 3,408รายและสูญหาย139ราย โดยเมืองมัณฑะเลย์ พะโค มาเกว รัฐฉานทางตะวันออกเฉียงเหนือ สะกาย และเนปิดอว์ เป็นพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุด
สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐของเมียนมา ได้เดินทางถึงมัณฑะเลย์ด้วยเฮลิคอปเตอร์เมื่อช่วงเช้าวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อตรวจสอบพื้นที่ได้รับผลกระทบรุนแรง พร้อมออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลทหารเมียนมาระบุว่า ได้พบผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1,644รายและบาดเจ็บอีก 3,400 ราย จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ สื่อทางการเมียนมารายงานว่า พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวว่า โรงพยาบาลของทหารและพลเรือน รวมถึงเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ต้องทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่ามีการรับมือทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิผล
ด้านสหประชาชาติ ระบุว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งรุนแรงในเมียนมาครั้งนี้ สร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ๆ รวมถึงสนามบิน ทางหลวงและสะพาน ส่งผลให้การจัดส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเป็นไปอย่างล่าช้า
ขณะที่รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือเอ็นยูจี ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาและปฏิบัติการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา เปิดเผยว่า กองกำลังของเอ็นยูจี จะระงับปฏิบัติการทางทหารเป็นเวลา 2 สัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคมเป็นต้นไป และยังระบุในแถลงการณ์ด้วย ว่าเอ็นยูจี และกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทั้งหลาย องค์กรพันธมิตร และกลุ่มประชาสังคม จะร่วมกันปฏิบัติการกู้ภัยในเมียนมา ขณะเดียวกัน ประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรง ต่างระบุว่ายังแทบไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล ต้องดูแลกันเอง ส่วนประเทศอินเดีย จีน และไทย ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าให้ความช่วยเหลือแล้ว เช่นเดียวกับมาเลเซีย สิงคโปร์ และรัสเซีย
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) เปิดเผยว่า สำนักงานฯ เผชิญกับอุปสรรคในการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมในเมียนมา ซึ่งเป็นผลจากโครงสร้างพื้นฐานและถนนที่เสียหายภายหลังเกิดแผ่นดินไหว พร้อมเปิดเผยอีกว่า “ความเสียหายของทางด่วนย่างกุ้ง-เนปยีดอ-มัณฑะเลย์ ซึ่งเห็นได้จากรอยแยกและพื้นถนนที่เสียหาย ทำให้การเข้าให้ความช่วยเหลือหยุดชะงักเนื่องจากรถไม่สามารถผ่านเข้าไปได้”
ส่วนสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศว่าจะส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมูลค่า 12.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับเมียนมา ด้านกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ระบุว่า การให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้สอดคล้องกับการตอบสนองด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมากที่สุด โดยจะมุ่งเน้นที่การจัดหาอาหารและน้ำ ยา และสถานที่พักพิง นอกจากนั้นหน่วยรักษาพยาบาลของกองทัพอินเดีย118 คน กำลังเดินทางจากอัคราไปที่มัณฑะเลย์ เพื่อช่วยเหลือให้การปฐมพยาบาลและบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งตั้งศูนย์รักษาทางการแพทย์ที่มีเตียง 60 เตียงเพื่อดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี