ผู้ว่าฯ กทม. แถลงสถานการณ์แผ่นดินไหวคลี่คลายเกือบ 100% เร่งให้เจ้าของอาคาร 1.2 หมื่นแห่งในกรุง ตรวจสอบซ้ำ ย้ำไม่หยุดค้นหาผู้รอดชีวิตเหตุตึกถล่ม กู้ภัยนานาชาติร่วมทีม เชื่อยังมีโอกาส
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 มีนาคม 2568 ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แผ่นดินไหว กรุงเทพมหานคร ศาลาว่าการกทม.(เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการติดตามความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ว่า สถานการณ์ทั่วไปคลี่คลายเกือบ 100% แล้ว วันนี้ทางด่วนดินแดง และรถไฟฟ้าสายสีชมพูเปิดบริการแล้ว ยกเว้นถนนกำแพงเพชร 2 ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุ และ ถนนบางโพ ที่อยู่ระหว่างรื้อถอน ยังคงปิดการจราจร
ส่วนกรณีประชาชนแจ้งตรวจสอบอาคาร มีแจ้ง Traffy Fondue แล้ว 13,000 ราย ซึ่งไม่ใช่จำนวนอาคาร มีบางรายแจ้งซ้ำซ้อน จึงต้องคัดกรองความเสียหาย เข้าไปตรวจต่อเนื่องโดยได้รับความร่วมมือจากวิศวกรอาสา วันนี้จะทำการตรวจอาคารที่มีปัญหาต่อ ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ของวิศวอาสาที่ผ่านมา มีเคสสีแดง 2 อาคาร มีปัญหาเรื่องเสาและกำแพง สีเหลือง 485 เคส จะเร่งตรวจสอบ ขณะเดียวกันได้ออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารเอกชน 12,000 อาคาร ตรวจสอบอาคารซ้ำ ในส่วนผู้ได้รับผลกระทบ 2,000 คน กทม.จัดหาที่อยู่ให้ 172 คน
นอกจากนี้ รับทราบว่าศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ได้รับความเสียหาย ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าไปตรวจสอบ เพราะมีการแบ่งหน้าที่ดูแลอาคารราชการ ขณะเดียวกันให้สำนักการโยธาร่วมตรวจสอบด้วย อย่างไรก็ตาม กทม.ยังเปิดรับแจ้งผ่าน Traffy Fondue หากใครไม่มั่นใจสามารถแจ้งเข้ามาได้ ส่วนการช่วยเหลือเยียวยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะสรุปแนวทางและหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นทางการ
ในส่วนการค้นหาผู้สูญหาย ขณะนี้ครบ 72 ชม. ยังคงเดินหน้าค้นหาต่อ และจากการประชุมกับทีมกู้ภัยนานาชาติ เชื่อว่ายังมีโอกาสพบผู้รอดชีวิต เพราะเหตุแผ่นดินไหวที่ต่างประเทศ ยังพบผู้รอดชีวิต แม้จะผ่านมา 1 สัปดาห์ ต้องเดินหน้าค้นหาต่อไป โดยจะเน้นในโซน B,C เพราะเป็นปล่องลิฟต์ และบันไดหนีไฟ หลังสอบถามผู้รอดชีวิตก่อนหน้านี้ทราบว่ามีผู้ติดค้างอยู่จำนวนมาก จะต้องเจาะเข้าไปในพื้นที่ เป็นไปตามขั้นตอนทำตามหลักวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมโดยมีผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ควบคุม ส่วนจะประเมินระยะเวลาในการค้นหาและกอบกู้ซากตึก จะใช้เวลาเท่าที่จำเป็น ไม่ว่าจะ 1 หรือ 10 ชีวิต ก็จำเป็น ขอให้ทำเต็มที่ เพื่อทุกชีวิต ส่วนผู้ประสบเหตุ เขตจตุจักร ได้ตั้งศูนย์ฯ กองอำนวยการแผ่นดินไหวร่วมบรรเทาสาธารณภัยตึกถล่ม(อาคาร สตง. กำลังก่อสร้าง) พร้อมล่ามไว้เรียบร้อยแลัว กรณีที่มีข่าวว่าการช่วยเหลือมีความล่าช้า ต้องทำด้วยความรอบคอบ ปลอดภัย เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ส่วนการทิ้งเศษวัสดุก่อสร้างจากเหตุตึกถล่ม การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เตรียมพื้นที่ติดกับศาลเยาวชน จึงต้องทยอยนำออกจากพื้นที่ ส่วนกรณีเศษปูนและฝุ่นลงท่อระบายน้ำสะสมเป็นก้อน อาจส่งผลต่อระบบระบายน้ำ เชื่อว่าหน้างานมีความพร้อมในการระบายน้ำ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการช่วยเหลือ
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวย้ำ เรื่องการรับบริจาคเงินจากประชาชนเพื่อซื้ออุปกรณ์เครื่องตัดถ่างไฟฟ้านั้น ยืนยันว่าไม่ใช่การร้องขอจากหน่วยงานราชการ ขณะนี้อุปกรณ์มีครบและเพียงพอแล้ว ทั้งรถเครนหลายขนาด 600 ตัน เครื่องตัดถ่าง รวมทั้งอาหาร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทีมนานาชาติ กองกำลังทหาร ตำรวจ หน่วยงานภาครัฐ เจ้าหน้าที่มูลนิธิจำนวนมาก
สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่เกิดเหตุ ด้านนอก เขตจตุจักรดูแล ด้านในทีมนานาชาติและมูลนิธิกู้ภัย ดูผู้รอดชีวิต ภายใต้การบริหารจัดการของ ผอ.สปภ.ในฐานะ ผอ.ศูนย์ฯ ทหารดูควบคุมการเข้า-ออก โดยห้ามบุคคลเข้าออกเด็ดขาด ส่วนการที่บุคคลบางกลุ่มเข้าไป เอาทรัพย์สินออกมาคงต้องเป็นหน้าที่ของภาครัฐว่ามีการขนทรัพย์สินอะไรออกมาบ้าง ซึ่งต้องให้ทางเจ้าของพื้นที่คือ สตง. ตรวจสอบ
“ยืนยันมั่นใจมาตรฐานอาคารที่ก่อสร้างตามกฎหมายฯ มีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งออกแบบมารองรับแผ่นดินไหว อาคาร 100% ในกรุงเทพฯ ปลอดภัย มีเพียงอาคารที่กำลังก่อสร้าง 1 อาคารที่ถล่ม” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าวย้ำในตอนท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี