หอการค้าไทยแถลงเสนอรัฐ 8 แนวทาง เรียกความเชื่อมั่นหลังเหตุ‘แผ่นดินไหว’
31 มีนาคม 2568 นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ หากมีการบริหารจัดการร่วมกันจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างเป็นระบบ โปร่งใส และมีการสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องแผ่นดินไหวครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนโดยตรง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่น พัฒนาระบบเตือนภัย และจัดตั้งศูนย์กลางเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้ทั้งในและต่างประเทศเข้าใจสถานการณ์อย่างชัดเจน นักลงทุนยังคงให้ความสนใจต่อภาคการผลิตและการส่งออกที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ยังคงดำเนินต่อไปได้ แต่จำเป็นต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นโดยเร็ว
นอกจากนี้ ควรมีการตรวจสอบโครงสร้างอาคารทั่วประเทศเพื่อระบุความเสี่ยงและเร่งแก้ไข หอการค้าไทยเสนอแนวทาง 8 ประการ ได้แก่
1) เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยร่วมมือกับหน่วยงานภายในและต่างประเทศ พร้อมศึกษาข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันเหตุซ้ำ
2) ตรวจสอบโครงสร้างอาคารทั่วประเทศเพื่อรับรองความปลอดภัย
3) จัดทำระบบเตือนภัยพิบัติและแผนบริหารความเสี่ยง โดยสนับสนุนระบบสื่อสารฉุกเฉินและอบรมเจ้าหน้าที่
4) ยกระดับมาตรฐานการก่อสร้างและควบคุมอาคารให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
5) เร่งมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการรายย่อย พร้อมประสานงานด้านวัสดุก่อสร้างเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน
6) สื่อสารเชิงรุกเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนและนักลงทุน
7) จัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อเผยแพร่ข่าวสารที่ถูกต้องและทันเหตุการณ์
8) ตั้งศูนย์ช่วยเหลือ SMEs สำหรับซ่อมแซมอาคารและสนับสนุนสินเชื่อเพื่อบรรเทาผลกระทบ
หอการค้าไทยพร้อมประสานงานกับผู้ประกอบการทั่วประเทศเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและฟื้นฟูประเทศให้มั่นคงและยั่งยืน พร้อมทั้งแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้สูญเสียและผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวในเมียนมา ซึ่งส่งผลกระทบมายังหลายพื้นที่ของไทย รายงานล่าสุดจากศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 30 มีนาคม 2568 เวลา 18.00 น. ระบุว่ามีผู้บาดเจ็บ 33 ราย เสียชีวิต 18 ราย และสูญหาย 78 ราย ซึ่งยังอยู่ระหว่างการค้นหาและให้ความช่วยเหลือ
ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ หอการค้าไทยขอส่งกำลังใจถึงผู้ประสบภัยและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ พร้อมชื่นชมมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ เช่น โครงการ “พักหนี้-ลดดอกเบี้ย” ของธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ รวมถึงมาตรการสนับสนุนจาก SMED Bank และ บสย. ที่ช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการและประชาชน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการด้านประกันภัยจาก คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ที่เร่งดำเนินการจ่ายค่าสินไหมให้ผู้ถือกรมธรรม์ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ หอการค้าไทยมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี