"นายกฯอิ๊งค์"ถกแก้ไขปัญหาการเตือนภัยแผ่นดินไหว เผย Cell Broadcast มา ก.ค.ระหว่างนี้แอนดรอยด์ 70 ล้านเลขหมายใช้ Virtual Cell Broadcast ไปก่อน อีก 50 ล้านเลขหมาย IOS ส่ง SMS ไปพลาง "ดีอี-กสทช."เจรจาระบบ
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมติดตามและแก้ไขปัญหาการเตือนภัย SMS ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทันทีที่มาถึงจุดให้สัมภาษณ์ นายกฯ ได้สอบถามสื่อมวลชนว่า ได้รับข้อความแจ้งเตือนหรือไม่ โดยสื่อมวลชนส่วนใหญ่แจ้งว่าไม่ได้รับข้อความ ขณะที่ผู้สื่อมวลชนบางคนตอบนายกฯ ว่า ตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวยังไม่ได้รับข้อความแจ้งเตือนภัยแม้แต่ข้อความเดียว นายกฯ จึงระบุทันทีว่า เหมือนกันเลย และข้อความเมื่อสักครู่ที่ส่งเป็นการทดลองโดยจะจับในเรื่องของโลเคชั่น เลยเป็นบางคนที่ได้รับข้อความ บางคนก็ไม่ได้รับ แต่ผู้ที่เข้าร่วมประชุมในห้องได้รับหมด และผู้ที่จะได้รับข้อความต้องใช้โทรศัพท์มือถือระบบแอนดรอยด์ ซึ่งผู้สื่อข่าวได้แจ้งนายกฯ ว่าใช้โทรศัพท์แอนดรอยด์ก็ไม่ได้รับข้อความ ก่อนที่นายกฯ จะระบุว่า แอนดรอยด์ก็ไม่ได้หรอ แต่ในห้องประชุมแอนดรอยด์ได้หมด อาจจะด้วยระยะทางความไกล เมื่อสักครู่เป็นการทดสอบระบบ
นายกฯ กล่าวอีกว่า การประชุมวันนี้มีทั้ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โอเปอเรเตอร์ ผู้ให้บริการทั้งเครื่อข่ายเอไอเอส และทรู รวมถึง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (NT) วันนี้มารวมกันคิดว่าเป็นการถอดบทเรียนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและเราสามารถปรับปรุงแก้ไขตรงไหนได้บ้าง นี่คือสิ่งที่ได้ข้อสรุป เพราะ Cell Broadcast (CB) หรือวิธีการส่งข้อความสั้นๆ พร้อมกันไปยังผู้ใช้โทรศัพท์ จะมาในช่วงเดือน ก.ค.เพราะฉะนั้นระหว่างนี้ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นอีกจะทำอย่างไร สมมุติมีเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีกจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก็มีการเรียงลำดับงานทั้งหมด ตอนนี้ได้ข้อสรุปว่าตั้งแต่วันนี้จนถึงวันก่อนจะมี Cell Broadcast เราจะทำอะไรกันบ้าง โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา เพื่อที่จะได้ดำเนินงานได้ชัดเจน
นายกฯ กล่าวว่า เรื่องที่จะทำ 1.จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบระเบียบปฏิบัติประจำ หรือ Standard Operating Procedure (SOP) ส่งข้อความได้เลย จากที่รับข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา โดยที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ไม่ต้องมาวิเคราะห์เรื่องข้อความอีก ซึ่งเคยใช้เวลา 1 ชั่วโมง โดยจะมีการวางรูปแบบข้อความไว้เลย ต้องเป็นข้อความที่กระชับ เข้าใจง่าย เช่น แผ่นดินไหวเกิดขึ้นจะทำอย่างไร ซึ่งจะสามารถส่งข้อความได้เลย ซึ่งตอนนี้ประเด็นปัญหามีอยู่ว่า ตอนที่ Cell Broadcast ยังไม่ได้ มีเรื่องของการส่ง SMS ที่ได้เฉพาะระบบแอนดรอยด์อยู่ ซึ่งมี 70 ล้านเบอร์ IOS อีก 50 ล้านเบอร์ ตอนนี้ กสทช.ก็ติดต่อกับ Apple ว่าให้สามารถรับข้อความได้เช่นกัน เพื่อที่จะขยายเบอร์ให้มากยิ่งขึ้น
นายกฯ กล่าวว่า 2.ระหว่างรอ Cell Broadcast ระบบเต็ม ให้ใช้ระบบ Virtual Cell Broadcast (CBE) หรือการส่งข้อความเสมือนจริงก่อน ซึ่งระบบแอนดรอยด์ ปภ.สามารถส่งข้อความผ่านโอเปอเรเตอร์ได้เลย ส่วนอีก 50 ล้านเลขหมายในระบบ IOS ให้ส่ง SMS ไปก่อน โดย ปภ.ส่งข้อความผ่านโอเปอเรเตอร์ได้เลย เพื่อกระจายสู่เบอร์ประชาชน โดยกระทรวงดีอี และ กสทช.จะเร่งเจรจากับ IOS เพื่อให้ใช้ระบบ Virtual Cell Broadcast ทั้งหมดนี้จะสามารถใช้ได้ในทันที
นายกฯ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ขอเรียนว่าระบบเตือนภัย SMS หรือ Cell Broadcast เป็นเพียงวิธีการหนึ่งเท่านั้นในการแจ้งเตือนภัย แต่รัฐบาลจะมีการสื่อสารกับพี่น้องประชาชนผ่านแพลตฟอร์มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นไลน์ เฟซบุ๊ก รวมถึงโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย และยังมีแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ซึ่ง ปภ.จะส่งให้สื่อหลักอีกครั้ง รวมถึงให้กรมประชาสัมพันธ์ ได้ประชาสัมพันธ์เบื้องต้นไปแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่อง SMS ตามที่คุยทั้งหมดถือว่าเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น เมื่อ Cell Broadcast มาแล้วดีอย่างไร จะสามารถกระจายข้อความได้ทุกเลขหมายได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อสักครู่ที่ได้ทดลองจะมีเสียงเตือนดังขึ้นเหมือนเบอร์ที่ต่างประเทศ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์น้ำท่วม พายุเข้า จะมีเสียงดังขึ้นที่โทรศัพท์เลย ไม่ว่าจะปิดเสียงอยู่หรือไม่ มันจะดังเตือนขึ้นมา ซึ่งเอาไว้เตือนในเรื่องสำคัญ เช่นแผ่นดินไหวหรือเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้น
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี