สว.รุมสับรัฐบาล
ล้มเหลวเตือนภัย
เหตุแผ่นดินไหว
มิจฉาชีพยังไวกว่า
สว.รุมสับรัฐบาล ล้มเหลว สื่อสารในภาวะวิกฤตแผ่นดินไหว หยันมิจฉาชีพ ยังส่งข้อความเร็วกว่า ชี้คนไทยยังไม่ได้รับการฝึกซ้อมเตรียมพร้อม ส่วน สว.นันทนา เดือดซัด นายกฯอิ๊งค์ไม่นำบทเรียนสมัยพ่อมาใช้
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้ที่ประชุมพิจารณากรณีเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ของ พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร ซึ่งเป็นผู้เสนอ
โดยน.ต.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สว.อภิปรายว่า ช่วงเกิดเหตุตนได้ออกจากรัฐสภา แล้วผ่านถนนกำแพงเพชร เวลานั้นมีแผ่นดินไหวและเห็นตึกถล่มลงมากับตาตัวเอง เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ขับรถไปอีกสักพัก ก็เห็นคนวิ่งลงมาจากตึกเหมือนในภาพยนตร์ ตนคิดว่าประชาชนสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบของประเทศไทย ทำไมการเตือนภัยพิบัติหลังจากเกิดเหตุ ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย
น.ต.วุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า ได้กลับไปศึกษาเพื่อมาอภิปรายเรื่องการแจ้งเตือนของภาครัฐ แทบจะไม่มีเลย SMS ก็ไม่มา บอกว่าจะส่งแต่ส่งเมื่อไหร่ กี่โมงกว่าจะได้ บางคนได้รับตอนเกือบ 1-2 ทุ่ม หรือหลังจากเกิดเหตุแล้วกว่า 5-6 ชั่วโมง แบบนี้ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วนหรือไม่
“คนตกอกตกใจ ส่งอะไรกันเรื่อยเปื่อย มิจฉาชีพยังส่งข้อความได้เร็วกว่าภาครัฐอีก แถมส่งลิงค์มาด้วย เสร็จแล้วถ้าคนพลาดกดเข้าไป ก็นึกว่าเตือนภัยจากภาครัฐ ที่ไหนได้ กลายเป็นมิจฉาชีพ” น.ต.วุฒิพงศ์ กล่าว และว่า หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงมหาดไทย ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน ประชาชนก็ไม่ได้รับการฝึกซ้อมที่ดี
น.ต.วุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า พอถึงเวลาแม้กระทั่งอาจารย์ชั้นนำ ที่เป็นไอคอนของประเทศนี้ ยังวิ่งออกมาก่อนเลย จากศูนย์ฯ สิริกิติ์ ก็เพราะมันไม่มีการซ้อม ตั้งแต่เด็กจนโต ผมก็ไม่เคยเห็นการสอน ในสภาแห่งนี้ก็เพิ่งเริ่มตื่นเต้นกัน หน่วยงานภาครัฐใช้งบประมาณไปมาก แต่ไม่เกิดผล รัฐบาลกำหนดให้ดำเนินการเกี่ยวกับ Cell Broadcast มานานแล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำ ยังจัดซื้อจัดจ้างไม่แล้วเสร็จ
พร้อมกันนั้น น.ต.วุฒิพงศ์ ยังยกคำพูดของนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวในที่ประชุม ที่บอกว่าท่านต้องตอบคำถามตรงนี้ให้ได้ เพราะดิฉันต้องตอบคำถามประชาชน ดิฉันสั่งไปตั้งแต่ก่อนเวลา 14.00 น.แต่ระบบไม่ออก ก่อนจะย้ำว่า ถึงเวลาปฏิรูปแล้ว
ขณะที่ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.อภิปรายอย่างดุเดือดว่า แผ่นดินไหวที่ผ่านมาเปลือยเปล่าระบบราชการไทยและรัฐบาล อย่างชัดเจนที่สุด จนทำให้คนไทยตาสว่างกันเลยทีเดียว นี่เป็น Once in a lifetime แต่เราคงไม่ใช้คำว่าเป็นบุญที่ได้เจอแน่นอน แม้จะเป็นครั้งแรกที่ประสบ แต่รัฐบาลก็ไม่อาจแสดงความรักไร้เดียงสา ปฏิเสธความรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ถ้าจะว่าไปแล้วครอบครัวของท่านนายกฯเคยเผชิญวิกฤตแล้ว รุ่นพ่อเจอสึนามิ รุ่นอาเจอน้ำท่วมใหญ่ มาถึงท่านนายกฯ น่าจะเอาประสบการณ์การบริหารภาวะวิกฤติมาใช้ได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่นี่หาได้มีความเป็นมืออาชีพไม่
น.ส.นันทนา กล่าวว่า แผ่นดินไหวสะท้อนการจัดการของรัฐบาลมากมาย ประการที่ 1 คือขาดการสื่อสารในภาวะวิกฤติอย่างมีประสิทธิภาพ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประชาชนตะลึง ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้สูงอายุโทษตัวเองว่าโรคความดัน หัวใจ บ้านหมุน ทำอะไรไม่ถูก เพราะไม่มีใครมาบอกว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องรอจนโซเชียลมาช่วยกันแชร์ภาพ ถึงได้รู้ว่านี่คือแผ่นดินไหว ก่อนหน้านี้หาทางออกชีวิตไม่เจอ ประการที่ 2 คือปัญหาการบริหารจัดการ ขาดเจ้าภาพสั่งการในที่เกิดเหตุ หน่วยงานภาครัฐไปถึงช้ากว่าองค์กรเอกชน ที่สำคัญภาครัฐไม่มีใครบัญชาการสถานการณ์ ปล่อยตามธรรมชาติ เรียกว่าตามมีตามเกิด
ประการที่ 3 การช่วยเหลือผู้ประสบภัยล่าช้า จนไม่รู้จะร้องขอความช่วยเหลือจากใคร มีแต่องค์กรเอกชนที่ประชาชนต้องช่วยกันเอง ประการที่ 4 ได้แก่ ขาดการปฏิบัติการแบบมืออาชีพ ในสถานการณ์ที่ตึกถล่ม ไม่มีการปิดล้อมพื้นที่ทันทีที่เกิดเหตุ ทุกคนกรูเข้าไป ไม่มีการรักษาหลักฐาน คนที่บาดเจ็บอยู่ใต้ซากปรักหักพัง เขาต้องการเรื่องการกู้ภัยแบบมืออาชีพ แต่กลายเป็นว่าทุกอาชีพเข้าไปอยู่ในพื้นที่ประสบภัย การช่วยเหลือจะมีประสิทธิภาพได้อย่างไร เรายังไม่ทราบเลยว่ามีกี่คนที่เขาไปทำงานในที่เกิดเหตุ เราจะเยียวยาอย่างไร ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนมาก
น.ส.นันทนา กล่าวต่อว่า การสื่อสารในภาวะวิกฤตเป็นเรื่องที่รัฐบาลทำช้าและทำน้อยเกินไป เพราะทันทีที่เกิดแผ่นดินไหว รัฐต้องแจ้งต่อประชาชนให้ทราบทันทีว่าเกิดอะไรขึ้น มันจะต้องเกิดภัยพิบัติอีกเท่าไหร่ รัฐบาลถึงจะเตือนภัยประชาชน รัฐบาลไม่เคยสื่อสารให้ประชาชนอุ่นใจ มีแต่คอลเซ็นเตอร์ที่อยู่กับเรา แม้ว่าจะไม่ได้ต้องการ เรื่องนี้ตนทราบว่ารัฐบาลได้ตั้งงบประมาณพันล้านบาท เพื่อสร้างระบบเตือนภัย
“ท่านนายกฯ พูดว่าสั่งการไปตั้งแต่ 14.00 น.แต่ระบบไม่ออก ปัญหาใหญ่ขนาดนี้ หน่วยงานภาครัฐเกี่ยงกันทำงานอีก มีกระแสข่าวว่าบริษัทอินเทอร์เน็ต ทั้ง 2 ค่าย พร้อมส่ง SMS แต่ กสทช.และ ปภ.ไม่พร้อม ไม่รู้ว่าจะส่งข้อความอะไร มัวแต่ลังเลไป 23 ชั่วโมงผ่านไป ดิฉันได้รับ SMS ถึงวิธีการปฏิบัติตัวหากเกิดอาฟเตอร์ช็อก ดิฉันไม่แน่ใจว่า SMS นี้ ท่านส่งมาเตือนตัวเองหรือไม่ ให้รวบรวมสติแล้วรีบส่งข้อความอย่างเร็วไปให้ประชาชนรับรู้” น.ส.นันทนา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การอภิปรายส่วนใหญ่ สว.พุ่งเป้าไปที่การแจ้งเตือนภายหลังเกิดเหตุ โดยยกประสบการณ์ตนเอง และยกตัวอย่างการแจ้งเตือนของต่างประเทศที่รวดเร็ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี