ภาคประชาสังคมไทย-ทั่วโลก 319 องค์กรร่วมค้านเชิญ'มินอ่องหล่าย'ประชุมบิมสเทค ชี้สร้างความชอบธรรมให้ผู้นำรัฐประหาร-นักฆ่าล้างเผ่าพันธุ์-อาชญากรรมสงคราม
เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2568 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนภาคประชาสังคมไทย-เมียนมา นำโดยนายวิชัย จันวาโร ผู้ประสานงานมูลนิธิเสมสิกขาลัย (SEM) ได้ยื่นจดหมายถึงรัฐบาลไทยเพื่อร้องเรียนให้ยกเลิกการเชิญ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า เข้าร่วมประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation-BIMSTECหรือ บิมสเทค) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 เม.ย.2568 ที่กรุงเทพมหานคร
นายวิชัย กล่าวระหว่างการยื่นหนังสือว่า แม้แต่หลังเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมายังคงส่งอากาศยานโจมตีประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการประชุมบิมสเทคที่มีวาระเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จะทำให้กองทัพเมียนมาสามารถซื้ออาวุธนำไปประหัตประหารประชาชนชาวพม่าอีก จึงขอให้รัฐบาลไทยงดการเชิญผู้แทนทหารเมียนมามาร่วมประชุมครั้งนี้ และไม่เชิญตัวแทนทหารอื่นใดจากกองทัพเมียนมาเข้าร่วมประชุม โดยการบระชุมบิมสเทคที่วางแผนไว้ยังคงสามารถดำเนินการได้
นายวิชัย กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาตอนนี้รุนแรงมาก การกู้ภัยเป็นไปอย่างลำบาก ทหารเมียนมาควรเปิดโอกาสให้ส่งความช่วยเหลือไปยังประชาชนผู้ประสบภัยในทันที เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากข้อมูลที่ทราบมาเวลานี้ มีคนจำนวนเพียงน้อยนิดที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปช่วย ในขณะที่ภูมิภาคสะกาย ซึ่งอยู่อีกฝั่งแม่น้ำอิรวดีซึ่งเป็นศูนย์กลางแผ่นดินไหวยังไม่มีการอนุญาตให้ส่งความช่วยเหลือเข้าไปได้แต่อย่างใด เราคาดการณ์ว่าเพราะภูมิภาคสะกายเป็นพื้นที่ที่ทหารพม่า SAC (สภาบริหารแห่งรัฐ- State Administrative Council) ไม่สามารถควบคุมพื้นที่ได้ จึงไม่ให้องค์กรไหนเข้าไปช่วยเหลือ แต่ประชาชนที่สะกายได้รับผลกระทบรุนแรงหนักมาก
“เราขอให้รัฐบาลไทยเรียกร้องให้ทหารเมียนมาเปิดให้มีความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวในพม่าและให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปรายงานข่าวเพื่อให้ประชาคมนานาชาติได้รับรู้และส่งความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที” นายวิชัย กล่าว
ทั้งนี้จดหมายที่ยื่นถึงรัฐบาลไทย และประเทศสมาชิกบิมสเทค ร่วมลงนามโดยภาคประชาสังคมจากทั่วโลก 319 องค์กร โดยผู้แทนศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ที่มารับหนังสือ กล่าวว่า จะรีบนำเสนอนายกรัฐมนตรีในทันที
หลังจากนั้นกลุ่มผู้คัดค้านการมาเยือนไทยของ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ยังเดินทางไปยื่นหนังสือนี้ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตบังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เนปาล และศรีลังกา
สำหรับเนื้อหาบางส่วนในจดหมายระบุว่า ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทย และผู้นำ BIMSTEC แสดงจุดยืนคัดค้านผู้นำทหารที่ผิดกฎหมาย และการก่ออาชญากรรมระดับสากลของพวกเขา โดยการห้ามไม่ให้ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอด BIMSTEC และห้ามไม่ให้ตัวแทนทุกคนของกองทัพเมียนมา และผู้ที่ได้รับแต่งตั้ง เข้าร่วมการประชุมและร่วมกิจกรรมใดๆ ของ BIMSTEC
จดหมายระบุว่านับแต่ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 กองทัพเมียนมาได้ทำการสังหารหมู่ โจมตีทางอากาศอย่างไม่เลือกเป้าหมาย ระดมยิงปืนใหญ่ ก่อเหตุความรุนแรงทางเพศ และความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ สังหารหมู่ และวางเพลิงสถานที่จำนวนมาก ทั้งยังได้จับกุมบุคคลโดยพลการกว่า 28,900 คน ในแต่ละปี กองทัพเมียนมายังได้เพิ่มการโจมตีทางอากาศบ่อยครั้งมากขึ้น ทำให้จำนวนพลเรือนที่เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นเช่นกัน กองทัพเมียนมาได้ทำการโจมตีทางอากาศ 4,631 ครั้ง รวมทั้งในพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศ สถานพยาบาล โรงเรียน และศาสนสถาน การก่ออาชญากรรมอย่างร้ายแรงนี้เป็นการละเมิดต่อกฏหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ทำให้ปัจจุบันจึงมีผู้พลัดถิ่นฐานในประเทศแล้วกว่า 3 ล้านคน กองทัพเมียนมากระทำการเข้ากับหลักเกณฑ์ที่จัดว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย ทั้งตามกฎหมายในประเทศของเมียนมา และตามที่นิยามในกฎหมายระหว่างประเทศ
“ความทารุณของกองทัพเมียนมารุนแรงถึงขั้นเป็นอาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ โดยต้องตกเป็นจำเลยในคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และอาชญากรรมระหว่างประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะพิจารณาจากนิยามใด กองทัพเมียนมาไม่ถือว่าเป็นรัฐบาล และจึงไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนชาวเมียนมาเพื่อเข้าร่วมในกิจกรรมหรือการประชุมใดๆ ของ BIMSTEC ไม่ว่าจะเป็นการประชุมในระดับใด หรือไม่ว่าจะเป็นตัวแทนใดจากกองทัพ” จดหมายระบุ
นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ไม่ควรเชิญ พล.อ.มิน อ่อง หล่าย มาเลย การเชิญมายิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยในเรื่องที่ว่าไทยสนับสนุนทหารเมียนมาหลายๆ เรื่องเป็นความจริง รวมทั้งกรณีต่างๆ ที่ชายแดน หากเชิญเมียนมาในฐานะประเทศสมาชิก ควรเชิญปลัดกระทรวงของเมียนมาก็พอได้ การเชิญผู้นำนั้นไม่ควร โดยหลักการคือเชิญชาติสมาชิก ไม่ควรเชิญทหาร
“ตอนนี้ไทยมีข้อหาข้อครหากับจีนอยู่แล้ว หากมีเรื่องเมียนมาเพิ่มก็จะไปกันใหญ่ สำหรับแรงงาน และผู้ลี้ภัยปัญหาก็จะไม่ได้ดีขึ้น เพราะพม่าไม่ได้มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ การเชิญมาประชุมครั้งนี้เป็นการฟอกขาวให้เมียนมามากกว่า” นายอดิศร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า อาจเป็นการปูทางไว้สำหรับการเจรจาสันติภาพในพม่าซึ่งผู้นำไทยต้องการเป็นแกนนำ นายอดิศร กล่าวว่า เวลาที่เหมาะสมนั้นได้เลยมาแล้ว ไทยไม่ชัดเจนเลยว่าเจรจาเรื่องอะไร ใครจะเจรจาบ้าง ไทม์ไลน์คืออะไร หากไทยตอบไม่ได้ ก็ไม่ควร และบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี ฯลฯ ก็ไม่ชัดเจน ควรใช้วิธีอื่นๆ เช่น อาเซียน อาจดีกว่า
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี