กมธ.อุตสาหกรรม เรียกหน่วยงาน สอบปม “โรงงานเหล็ก” ผลิตของไม่ได้คุณภาพ ส่อเป็นต้นเหตุ ตึก สตง.ถล่ม ระบุต้องทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้ เข้มบทลงโทษโรงงานที่ทำผิดกฎหมาย
วันที่ 1 เมษายน 2568 นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า กมธ.เตรียมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาต่อกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้เหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานเพื่อก่อสร้างอาคารสูง ซึ่งเป็นกรณีที่ตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่มหลังมีเหตุแผ่นดินไหว เมื่อ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ระบุถึงความผิดปกติ และมีผลตรวจสอบเหล็กที่ใช้ก่อสร้างว่าไม่ได้มาตรฐาน ผิดสเปค ทั้งนี้โรงงานที่ผลิตเหล็กที่เป็นประเด็นดังกล่าวเป็นโรงงานผลิตเหล็กที่นายเอกนัฏเคยสั่งปิดไปแล้ว สิ่งที่กมธ.ต้องติดตามต่อ คือ การปฏิบัติงานของหน่วยงานต่อการเรียกเหล็กที่ไมได้มาตรฐานกลับมา จากการวางจำหน่ายหรือที่จำหน่ายและใช้ในการก่อสร้างไปแล้ว และส่วนของการอายัดเหล็กนั้นยังถูกอายัดตามจำนวนเท่าเดิมหรือไม่
“กมธ.เตรียมพิจารณาเรื่องนี้ ในวันที่ 9 เม.ย. ซึ่งจะเชิญหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับและควบคุมมาตรฐานของสินค้า เหล็ก รวมถึงจะพิจารณาในประเด็นการตรวจสอบเหล็กที่ได้มาจากพื้นที่ก่อสร้าง เพราะมีข้อสงสัยว่า เหล็กที่ถูกใช้ก่อสร้างแล้ว เมื่อนำไปตรวจสอบผลจะมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน” นายอัครเดช กล่าว
เมื่อถามว่ากมธ.จะต้องตรวจสอบบริษัทที่เป็นนอมินีของคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจผลิตของที่ไม่ได้มาตรฐานในไทยหรือไม่ นายอัครเดช กล่าวว่า บริษัทที่มาลงทุนผลิตเหล็กในปัจจุบัน กระทรวงอุตสาหกรรมมีประกาศไม่ให้เพิ่ม หรือขยายยการผลิตเหล็กก่อสร้าง เพราะมีการผลิตเกินใช้แล้ว จึงไม่อนุญาตให้เพิ่ม รวมถึงขยายการผลิตเหล็กเส้น เมื่อหลายปีที่ผ่านา ดังนั้นโรงเหล็กคือโรงงานที่มีใบอนุญาตเก่า ซึ่งผู้ที่มาลงทุนใหม่ คือ ผู้ที่มาซื้อใบอนุญาตเดิม ดังนั้นสิ่งที่ต้องหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมโรงงานอุตสาหกรรม คือ วิธีตรวจสอบหรือการป้องกันในกรณีที่ผู้ประกอบการซึ่งเข้ามาเทคโอเวอร์กิจการเดิม
“กมธ.มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องสินค้าให้ได้มาตรฐานอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตึก สตง.ถล่ม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทบทวน โดยเฉพาะกฎหมายที่บังคับใช้ปัจจุบันว่ามีช่องว่างหรือไม่ รวมถึงต้องมีบทลงโทษผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งที่มีมาตรฐานอุตสาหกรรมภาคบังคับกำกับ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ นอกจากนั้นแล้วต้องพิจารณากฎหมายให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบัน ทั้งนี้ในการออกตรวจของเจ้าหน้าที่อาจมีการตรวจประจำปีก็จริง แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีเติร์ดปาร์ตี้ เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปตามมาตฐานอุตสาหกรรม” นายอัครเดช กล่าว
เมื่อถามว่ากรณีที่เกิดขึ้นกมธ.ได้หารือกับรมว.อุตสาหกรรมบ้างหรือไม่ นายอัครเดช กล่าวว่า ได้หารือเมื่อวันก่อน โดยรมว.อุตสาหกรรมให้ความสำคัญต่อการควบคุมมาตรฐานโรงงานที่ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ที่ผ่านมาได้สั่งปิดโรงงานผลิตเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานรวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท รวมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องสายไฟฟ้าที่ต้องได้มาตรฐานไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต หรือเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งรมว.อุตสาหกรรมได้สั่งการอย่างเด็ดขาด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี