วันนี้ 1 เมษายน 2568 เวลา 10.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
กฎหมาย
1. เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในท้องที่ตำบลพระยืน อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันในท้องที่ตำบลพระยืน อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ที่ดินสาธารณประโยชน์ แปลง “ที่สาธารณประโยชน์” ตั้งอยู่บ้านพระยืน หมู่ที่ 1 ตำบลพระยืน อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน ในปี พ.ศ. 2545 เทศบาลตำบลพระยืนได้ใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าวสร้างอาคารศูนย์ฝึกอาชีพสำหรับฝึกอาชีพให้กับราษฎรในชุมชน ต่อมาปี พ.ศ. 2548 ได้มีการเลิกใช้อาคารเนื่องจากไม่มีกลุ่มอาชีพหรือบุคคลที่จะทำการฝึกอาชีพ ทำให้อาคารเกิดการชำรุด ไม่สามารถใช้งานได้ เทศบาลตำบลพระยืนจึงมีความประสงค์ที่จะปรับปรุงอาคารและขอใช้ที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวทางราชการได้ออกหลักฐานหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ขก 4190/2551 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2551 เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 27 ตารางวา ที่ดินอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะถอนสภาพตามมาตรา 8 (1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพ การจัดขึ้นทะเบียน และการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2550 จึงเห็นควรให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกั้น ในท้องที่ตำบลพระยืน อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น พ.ศ. .... เพื่อมอบหมายให้เทศบาลตำบลพระยืนใช้เป็นที่ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลพระยืน
2. ร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ถอนสภาพที่ดิน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ในท้องที่ตำบลพระยืน อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ในแปลง “ที่สาธารณประโยชน์” ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ ขก 4190/2551 เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 27 ตารางวา เพื่อใช้เป็นที่ตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลพระยืน
3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบในหลักการ โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความเห็นเพิ่มเติมบางประการ เช่น กระทรวงมหาดไทยควรคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้คุ้มค่ามากที่สุด การรักษาสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ รวมทั้งกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องในการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงการก่อสร้างที่ไม่กีดขวางทางน้ำและป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน
2. เรื่อง ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. .... (ยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2568)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ
สาระสำคัญ
ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ภายในระยะเวลาที่กำหนด พ.ศ. .... ที่ คค. เสนอ มีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) ตอนบางปะอิน - บางพลี และตอนพระประแดง - บางแค ช่วงพระประแดง – ต่างระดับบางขุนเทียน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประจำปี พ.ศ. 2568 ตั้งแต่เวลา 00.01 นาฬิกา ของวันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 ถึงเวลา 24.00 นาฬิกา ของวันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน 2568 เพื่อเป็นการช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้การจราจรมีความคล่องตัว ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งเป็นการลดการใช้พลังงานของประเทศ และลดมลพิษทางอากาศ
2. การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว จะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 183.68 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจโดยสามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้ประมาณ 274.51 ล้านบาท ซึ่งประเมินจากมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถและมูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง รวมทั้งยังมีผลประโยชน์ทางอ้อมที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าเงินได้รวมอยู่ด้วยจากการที่ประชาชนนำเงินที่ประหยัดได้จากการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองนำไปใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีค่าผลทวีคูณของการใช้จ่ายต่อระบบเศรษฐกิจ (Multiplier Effects) ประมาณ 1.38 เท่า คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 253 ล้านบาท
3. เรื่อง ขอถอนร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการและศาลแรงงานจังหวัดระยอง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ถอนร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการและศาลแรงงานจังหวัดระยอง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรม (ศย.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้เมื่อมีการเปิดทำการศาลแรงงานจังหวัดในท้องที่ของศาลแรงงานภาคใด ห้ามมิให้ศาลแรงงานภาคดังกล่าวรับคดีที่อยู่ในท้องที่ของศาลแรงงานนั้นไว้พิจารณาพิพากษา และร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการและศาลแรงงานจังหวัดระยอง พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการ และจัดตั้งศาลแรงงานขึ้นในจังหวัดระยองโดยมีเขตอำนาจตลอดท้องที่ในจังหวัดสมุทรปราการ และตลอดท้องที่ในจังหวัดระยอง คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติ (เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน2567) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งในชั้นการตรวจพิจารณาสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 11) มีความเห็นว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดให้รัฐพึงมีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นและเนื่องจากคดีแรงงานมีลักษณะเฉพาะ ซึ่งผู้พิพากษาในศาลแรงงานจะต้องใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์อย่างมากในการพิจารณาพิพากษาคดีแรงงาน รวมทั้งควรมีอาวุโสเทียบเท่ากับผู้พิพากษาสมทบ นอกจากนี้ ในกรณีที่เหตุเกิดในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง บางคดีขึ้นศาลแรงงานภาค 2 แต่ในขณะที่บางคดีขึ้นศาลแรงงานจังหวัดระยอง จึงอาจทำให้เกิดความลักลั่นได้ รวมถึงเมื่อมีการจัดตั้งศาลแรงงานจังหวัดระยองและศาลแรงงานจังหวัดสมุทรปราการแล้ว จะทำให้ประชาชนไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำฟ้องคดีแรงงานต่อศาลจังหวัดระยองหรือศาลจังหวัดสมุทรปราการตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ได้อีกต่อไป จึงเห็นควรที่สำนักงานศาลยุติธรรมจะพิจารณาแก้ไขปัญหาผู้พิพากษาไม่เพียงพอต่อจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นด้วยการบริหารจัดการโดยการจัดกลุ่มจังหวัดของศาลแรงงานภาคเสียใหม่ หรือจัดตั้งศาลแรงงานภาคเพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถทำได้โดยการตราพระราชกฤษฎีกา ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว มีความประสงค์ที่จะขอถอน ร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ รวม 2 ฉบับ เพื่อไปดำเนินการจัดตั้งเป็นศาลแรงงานภาคและจะเปิดทำการโดยการตราพระราชกฤษฎีกาต่อไป
4. เรื่อง ร่างกฎกระทรวง ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 รวม 9 ฉบับ
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 เพื่อจัดทำสำมะโน หรือสำรวจตัวอย่าง รวม 9 ฉบับ 1. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. .... 2. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างภาวะการทำงานของประชากร พ.ศ. .... 3. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างการย้ายถิ่นของประชากร พ.ศ. .... 4. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. .... 5. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. .... 6. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. .... 7. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. .... 8. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... และ 9. ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างความพิการ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ปัจจุบันกฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 เพื่อจัดทำสำมะโนหรือจัดทำการสำรวจตัวอย่าง ซึ่งมีผลใช้บังคับ 10 ปี นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 จะครบกำหนดอายุ 10 ปี ในวันที่ 29 ธันวาคม 2568 ด.ศ. จึงมีความจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงฉบับใหม่เพื่อมาทดแทนกฎกระทรวงฉบับเดิม 5 ฉบับ (ตามข้อ 1.1 – 1.5) และเพื่อให้การสำรวจตัวอย่าง มีความครอบคลุมมากขึ้น จึงยกร่างกฎกระทรวงเพิ่มเติมใหม่ อีก 4 ฉบับ (ตามข้อ 1.6 – 1.9) รวมเป็น 9 ฉบับ ดังนี้
1.1 กฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2558
1.2 กฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างภาวะการทำงานของประชากร พ.ศ. 2558
1.3 กฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างการย้ายถิ่นของประชากร พ.ศ. 2558
1.4 กฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2558
1.5 กฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างประชากรสูงอายุในประเทศไทย พ.ศ. 2558
1.6 ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. ....
1.7 ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร พ.ศ. ....
1.8 ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างแรงงานนอกระบบ พ.ศ. ....
1.9 ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่างความพิการ พ.ศ. ....
2. ดศ. ได้เสนอร่างกฎกระทรวง ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติสถิติ พ.ศ. 2550 รวมจำนวน 9 ฉบับ เพื่อสำรวจตัวอย่างเกี่ยวกับ (1) ภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (2) ภาวการณ์ทำงานของประชากร (3) การย้ายถิ่นของประชากร (4) อนามัยและสวัสดิการ (5) ประชากรสูงอายุในประเทศไทย (6) สถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย (7) พฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากร (8) แรงงานนอกระบบ และ (9) ความพิการโดยมีผลใช้บังคับ 10 ปี ซึ่งมีสาระสำคัญและประโยชน์ที่จะได้รับ สรุปได้ดังนี้
เรื่อง |
สาระสำคัญ |
ประโยชน์ที่จะได้รับ |
1. ร่างกฎกระทรวง การสำรวจตัวอย่าง ภาวะเศรษฐกิจและ สังคมของครัวเรือน พ.ศ. ....
|
• ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจ ตัวอย่าง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ เกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน ทรัพย์สิน โครงการสร้างของสมาชิกในครัวเรือน ลักษณะที่อยู่อาศัย
|
• ทำให้ทราบข้อมูลพื้นฐานของครัวเรือนทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่นโครงสร้างของครัวเรือน ขนาดของครัวเรือน เพศ อายุ การศึกษา การทำงานของสมาชิกในครัวเรือน รายได้ และค่าใช้จ่ายหนี้สินของครัวเรือน เป็นต้น
|
2.ร่างกฎกระทรวงการสำรวจตัวอย่าง ภาวะการทำงาน ของประชากร
|
• ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจตัวอย่าง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ จำนวนและคุณลักษณะของกำลังแรงงาน ในระดับประเทศและระดับภูมิภาค
|
• ใช้ในการวางแผนพัฒนากำลังแรงงานเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวัดอุปทานของแรงงาน การเข้าสู่กำลังแรงงาน รวมถึง การเพิ่มของกระบวนการผลิต โดยการ พัฒนากำลังแรงงานที่ว่างงาน หรือผู้ที่ยังทำงานต่ำกว่าระดับให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ • ใช้เป็นตัวชี้วัดภาวะทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการแสดงขนาดและโครงสร้างของกำลังแรงงานของประเทศ • ด้านอื่น ๆ เช่น ใช้ประกอบในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และโครงสร้างของรายได้ในแต่ละสาขาอาชีพ |
3. ร่างกฎกระทรวง การสำรวจตัวอย่าง การย้ายถิ่นของ ประชากร พ.ศ. .... |
• ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจ ตัวอย่าง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญ เกี่ยวกับการย้ายถิ่นของประชากร สำหรับใช้ประกอบในการกำหนดนโยบายและจัดทำแผนเกี่ยวกับการกระจายตัวและการตั้งถิ่นฐานของประชากรในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนใช้เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาโครงการต่าง ๆ และแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการย้ายถิ่นของประชากร |
• ใช้เป็นฐานข้อมูลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการย้ายถิ่น เพื่อประกอบการวางแผนการกำหนดนโยบาย และการจัดทำแผนเกี่ยวกับการกระจายตัวและการตั้งถิ่นฐานของประชากร |
4.ร่างกฎกระทรวง การสำรวจตัวอย่าง อนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. .... |
• ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจ ตัวอย่าง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการได้รับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลการเจ็บป่วย การรับบริการส่งเสริมสุขภาพ การรับบริการทันตกรรม การเข้ารับบริการด้านสาธารณสุข ค่าใช้จ่ายในการรับบริการด้านสาธารณสุขและการเข้าถึงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของประชากร และลักษณะของสภาพที่อยู่อาศัยของครัวเรือน |
• ทำให้ได้ข้อมูลที่ เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ดูแล ด้านสาธารณสุขของประชาชน ในการนำไปใช้กำหนดนโยบายและวางแผนดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี |
5. ร่างกฎกระทรวง การสำรวจตัวอย่าง ประชากรสูงอายุ ในประเทศ |
• ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจ ตัวอย่าง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ ผู้สูงอายุ ลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจสังคม ลักษณะการอยู่อาศัย รวมทั้งภาวะสุขภาพ และข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุ เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและต่อเนื่อง ที่สามารถใช้จัดทำตัวชี้วัดของประเทศและจังหวัด สำหรับการกำหนดและการประเมินแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ |
• ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา สำหรับนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย วางแผนดำเนินงานรวมทั้งติดตามและประเมินผลหรือโครงการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับประชากรสูงอายุ เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) |
6. ร่างกฎกระทรวง การสำรวจตัวอย่าง สถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. …. |
• ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจ ตัวอย่าง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคุ้มรวม* และคุณลักษณะของครัวเรือนและผู้ตอบสัมภาษณ์ พัฒนาการของทารกอนามัยการเจริญพันธุ์ และสุขภาพของแม่พัฒนาการของเด็ก สุขภาพ และโภชนาการการเรียนรู้ การคุ้มครองจากความรุนแรงและการแสวงหาผลประโยชน์ การอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสะอาดและความเท่าเทียมทางสังคม เพื่อประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และกำหนดนโยบายเพื่อการบริหารของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน |
• ทำให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและสตรีในด้านต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น ภาวะเตี้ย |
7. ร่างกฎกระทรวง การสำรวจตัวอย่าง พฤติกรรมด้าน สุขภาพของประชากร พ.ศ. .... |
• ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจ ตัวอย่าง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ |
• ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคีเครือข่าย เอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีหน้าที่ ดูแล ด้านสุขภาพของประชาชน และเพื่อให้มีข้อมูลที่ จำเป็นในการนำไปใช้กำหนดนโยบายและวางแผนดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อป้องกัน/ลดอัตราการเกิดโรค |
8. ร่างกฎกระทรวง การสำรวจตัวอย่าง แรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... |
• ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจ ตัวอย่าง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนและลักษณะต่าง ๆ ของประชากร ที่มีงานทำ |
• เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลให้แก่หน่วยงาน |
9. ร่างกฎกระทรวง การสำรวจตัวอย่าง ความพิการ |
• ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจ ตัวอย่าง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความพิการ ข้อมูลพื้นฐานทางประชากร และสวัสดิการจากภาครัฐ เพื่อนำไปใช้วางแผนจัดสวัสดิการ และความช่วยเหลือเพื่อให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้เต็มตามศักยภาพของตนเอง รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น |
• ข้อมูลที่ได้รับจากการสำรวจ จะนำไปใช้วางแผน จัดสวัสดิการ และความช่วยเหลือให้ผู้พิการ ได้แก่ การศึกษา การประกอบอาชีพ การแพทย์ การสาธารณสุข และสังคม เพื่อให้ผู้พิการได้รับการพัฒนาสมรรถภาพ ให้สามารถดำรงชีวิตและประกอบอาชีพได้เต็มตามศักยภาพของตนเอง รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม |
และได้เสนอแผนงานรายละเอียดของการดำเนินการเมื่อร่างกฎกระทรวงทั้ง 9 ฉบับ มีผลใช้บังคับ
__________
*คุ้มรวม หมายถึง การกำหนดว่าประชากรหน่วยใดหรือประเภทใดบ้างที่จะทำการสำรวจ หรือยกเว้นไม่ทำการสำรวจเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนทราบว่ามีประชากรใดบ้างที่จะเก็บรวบรวมข้อมูล และได้เสนอแผนงานรายละเอียดของการดำเนินการเมื่อร่างกฎกระทรวงทั้ง 9 ฉบับ มีผลใช้บังคับ
เศรษฐกิจ
5. เรื่อง สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พร้อมผลการวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นและมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงานตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สปน. รายงานว่า ได้จัดทำสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนที่มีมาถึงนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พร้อมผลการวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
1.1 สถิติการแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชน ที่ยืนเรื่องผ่าน ช่องทางการร้องทุกข์ 1111* รวมทั้งสิ้น 30,595 ครั้ง หรือคิดเป็น 14,530 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ จำนวน 11,237 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 77.34 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3,293 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 22.66
1.2 หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้
(1) ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (1,616 เรื่อง) กระทรวงคมนาคม (503 เรื่อง) กระทรวงการคลัง (450 เรื่อง) กระทรวงแรงงาน (335 เรื่อง) และกระทรวงสาธารณสุข (322 เรื่อง)
(2) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (101 เรื่อง) การประปาส่วนภูมิภาค (65 เรื่อง) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (63 เรื่อง) การไฟฟ้านครหลวง (53 เรื่อง) และธนาคารออมสิน การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (48 เรื่อง)
(3) จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (721 เรื่อง) จังหวัดนนทบุรี (212 เรื่อง) จังหวัดชลบุรี (142 เรื่อง) จังหวัดปทุมธานี (138 เรื่อง) และสมุทรปราการ (129 เรื่อง)
2. การประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 สรุปได้ ดังนี้
2.1 สถิติจำนวนเรื่องร้องทุกข์เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 มีเรื่องร้องทุกข์ จำนวน 14,530 เรื่อง น้อยกว่าปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 2,520 เรื่อง (มีเรื่องร้องทุกข์ จำนวน 17,050 เรื่อง)
2.2 ประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่
(1) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน เช่น เสียงดังจากร้านอาหารสถานบันเทิงที่มีการเปิดเพลง การเล่นดนตรีสด การจัดงานรื่นเริงที่มีการใช้เครื่องขยายเสียง การจุดพลุและดอกไม้ไฟการรวมกลุ่มดื่มสุรา การก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน รวม 1,510 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,371 เรื่อง (ร้อยละ 90.79)
(2) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอความช่วยเหลือกรณีถูกมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงผ่านทางโทรศัพท์และทางออนไลน์ หลอกลวงให้ซื้อสินค้าหลอกลวงให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจ หลอกลวงให้โอนเงิน กดลิงก์/ติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงิน ถูกแอบอ้างข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เปิดบัญชีธนาคาร รวม 1,204 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 873 เรื่อง (ร้อยละ 72.51) โดยประเด็นดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา (มีเรื่องร้องทุกข์ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 488 เรื่อง เพิ่มขึ้นจำนวน 716 เรื่อง) แสดงให้เห็นว่าปัญหาการหลอกลวงของกลุ่มมิจฉาชีพ ยังคงสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทำให้เกิดความวิตกกังวลใจและความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
(3) ไฟฟ้า เช่น ประชาชนขอให้แก้ไขปัญหาไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างไฟฟ้าตกบ่อยครั้ง ขอขยายเขตไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทางการเกษตร ขอให้แก้ไขปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างริมทางชำรุด รวม 598 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 492 เรื่อง (ร้อยละ 82.27)
(4) ประเด็นเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เสรีภาพ เช่น ขอความช่วยเหลือกรณีการถูกข่มขู่ คุกคาม ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ขอให้เร่งรัด การดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวม 513 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 429 เรื่อง (ร้อยละ 83.63)
(5) นโยบายและโครงการของรัฐ เช่น การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและโครงการของรัฐ โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจแจกเงิน 10,000 บาท โครงการบ้านมั่นคง โครงการช่วยเหลือลูกหนี้ธนาคารของรัฐ โดยประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการขอใช้สิทธิและความเป็นธรรมในการเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของรัฐ รวม 513 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 467 เรื่อง (ร้อยละ 91.03)
(6) ถนน เช่น ขอให้ปรับปรุงถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางแอสฟัลต์หรือ ถนนคอนกรีต ซ่อมแซมไฟจราจร ตีเส้นจราจรให้ชัดเจน ปรับปรุงบาทวิถี รวม 494 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 329 เรื่อง (ร้อยละ 66.06)
(7) อุทกภัย เช่น ขอความช่วยเหลืออาหารและน้ำดื่มให้กับผู้ที่กำลังประสบอุทกภัย ขอความช่วยเหลือเงินเยียวยา ขอให้เร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยให้กลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมทั้งเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในภาพรวมและในพื้นที่เสี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำอีกในอนาคต ร่วม 390 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 349 เรื่อง (ร้อยละ 89.49)
(8) โทรศัพท์ เช่น การให้บริการทางโทรศัพท์ของหน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งรอสายนาน มีการต่อสายไปยังหน่วยงานย่อยภายในหลายครั้ง และคู่สายเต็ม รวม 372 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 327 เรื่อง (ร้อยละ 87.90)
(9) ยาเสพติด เช่น การแจ้งเบาะแสการลักลอบจำหน่ายและเสพยาเสพติดขอความช่วยเหลือในการเข้ารับการบำบัดยาเสพติด ขอให้แก้ไขปัญหายาเสพติด ในภาพรวม รวม 367 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยติ 295 เรื่อง (ร้อยละ 80.38)
(10) การจัดระเบียบการจราจร เช่น ขอให้แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดและการจอดรถกีดขวางทางจราจร โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดต่อเนื่องเทศกาลต่าง ๆ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนา จึงส่งผลให้มีการจราจรหนาแน่นและมีการกระทำผิดกฎจราจรเพิ่มขึ้น รวม 329 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 273 เรื่อง (ร้อยละ 82.98)
3. ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงาน ดังนี้
3.1) หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องควรบูรณาการแก้ไขปัญหาทั้งการป้องกัน ปราบปราม และช่วยเหลือเยียวยา โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกิดขึ้นบ่อย เช่น ผู้สูงอายุพระสงฆ์ รวมทั้งเร่งรัดปราบปรามผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ดำเนินการกับขบวนการค้ามนุษย์ที่หลอกลวงประชาชนไปทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์ โดยให้มีกระบวนการตรวจสอบและคัดกรองบุคคล ทั้งชาวไทยและต่างประเทศที่เดินทางผ่านเขตแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่เข้มงวด
3.2) สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ ธนาคาร และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาตรวจจับและปิดกั้นการติดต่อสื่อสารของการใช้หมายเลขโทรศัพท์และใช้งาน แอปพลิเคชันออนไลน์ของกลุ่มมิจฉาชีพ
3.3) จัดตั้งศูนย์ข้อมูลกลางในการวิเคราะห์รูปแบบการหลอกลวงที่มิจฉาชีพใช้บ่อยเพื่อสร้างระบบการป้องกัน และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนการหลอกลวงในทุกรูปแบบได้อย่างทันท่วงที
3.4) ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายของประชาชน ชุมชน หรือสถานศึกษาเพื่อขยายการรับรู้เกี่ยวกับการหลอกลวงของมิจฉาชีพผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่หลากหลาย ทั่วถึง อย่างต่อเนื่อง
* ได้แก่ (1) สายด่วนของรัฐบาล 1111 (2) ตู้ ปณ. 1111/ไปรษณีย์/โทรสาร (3) ไลน์สร้างสุข (@PSC1111) (4) โมบายแอปพลิเคชัน PSC1111 (5) จุดบริการประชาชน 1111 และ (6) เว็บไซต์ (www.1111.go.th)
6. เรื่อง ขออนุมัติการจ่ายเงินทดแทนการประกันชีวิตย้อนหลังแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บทุพพลภาพถึงขั้นปลดออกจากราชการ (เพิ่มเติม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติการจ่ายเงินทดแทนการประกันชีวิตย้อนหลังให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บทุพพลภาพถึงขั้นปลดออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 ที่ยังมิได้รับเงินทดแทนการประกันชีวิตย้อนหลัง (เพิ่มเติม) จำนวน 4 ราย รายละ 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 2 ล้านบาท ตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ก.บ.จ.ต.) ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ของ สปน. ภายใต้แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ผลผลิตการพัฒนาติดตามและประเมินผลการปฏิบัติราชการและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน รายการค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการประกันชีวิตให้แก้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว ทั้งนี้ให้ สปน. และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) รับความเห็นของกระทรวงคมนาคม (คค.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. เรื่องนี้เป็นการดำเนินการสืบเนื่องจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2550 ข้อ 13 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจัดให้มีการประกันชีวิตให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บทุพพลภาพ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ราชการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ (1 ธันวาคม 2552) อนุมัติให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดทำประกันชีวิต แบ่งเป็น 2 กรณี คือ (1) กรณีหน่วยงานของรัฐจัดทำประกันชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคได้ไว้กับบริษัทประกันภัยโดยมีวงเงินเอาประกันภัย จำนวน 500,000 บาท และ (2) กรณีหน่วยงานของรัฐไม่ได้จัดทำประกันชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้และหน่วยงานของรัฐมีความประสงค์ให้รัฐเป็นผู้จ่ายเงิน “เงินทดแทนการประกันชีวิต” แทนการจัดทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันภัย รายละ 500,000 บาท โดยให้เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 เป็นต้น และมติคณะรัฐมนตรี (12 กรกฎาคม 2559) กรณีที่พบว่ามีผู้มีสิทธิในการรับเงินทดแทนการประกันชีวิตเพิ่มเติม ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ขออนุมัติการจ่ายเงินต่อคณะรัฐมนตรีเป็นคราว ๆ ไป โดยมีความเห็นของสำนักงบประมาณ (สงป.) ประกอบเรื่องด้วย
2. ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติการจ่ายเงินทดแทนการประกันชีวิตย้อนหลังแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บทุพพลภาพถึงขั้นปลดออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 มาแล้ว 3 ครั้ง [จำนวน 1,437 ราย เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 703.50 ล้านบาท ในครั้งนี้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการจัดเงินทดแทนการประกันชีวิตให้แก่เจ้าหน้าที่ฯ ที่ยังมิได้รับเงินทดแทนการประกันชีวิตย้อนหลังเพิ่มเติมอีก 4 ราย รายละ 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 2 ล้านบาท ซึ่งได้ตรวจสอบแล้ว เจ้าหน้าที่ทั้ง 4 ราย ไม่ซ้ำซ้อนกับผู้ที่ได้รับเงินทดแทนไปก่อนหน้านี้ ตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และ ศอ.บต. พิจารณาแล้วเห็นชอบด้วย
7. เรื่อง การกำหนดให้วันกล้วยไม้แห่งชาติเป็นวันสำคัญของชาติ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 18 มกราคมของทุกปี เป็นวันกล้วยไม้แห่งชาติโดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญ
ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตและส่งออกกล้วยไม้เขตร้อน (Tropical orchid) อันดับ 1 ของตลาดโลกยาวนานอย่างต่อเนื่องมากกว่า 50 ปี โดยในปี 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูกกล้วยไม้ 17,183 ไร่ แหล่งปลูกที่สำคัญ เช่น นครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี ผลผลิตกล้วยไม้ไทยเป็นผลผลิตเพื่อการส่งออก ร้อยละ 50 และจำหน่ายในประเทศร้อยละ 50 อีกทั้งยังเป็นแหล่งพันธุกรรมของกล้วยไม้เขตร้อนที่สมบูรณ์ในธรรมชาติมากกว่า 1,200 ชนิด และเป็นแหล่งกระจายพันธุ์ของกล้วยไม้พันธุ์แท้ (Species) ที่มีความหลากหลายของกล้วยไม้ไทยทั้งชนิดแท้และลูกผสม จึงเป็นที่ยอมรับในระดับโลก และได้รับการขนานนามเป็น Land of Orchid แห่งหนึ่งของโลก
การกำหนดให้วันที่ 18 มกราคมของทุกปี เป็นวันกล้วยไม้แห่งชาติ เป็นวันสำคัญของชาติ โดยไม่ถือเป็นวันหยุดราชการจะทำให้สาธารณชนเกิดความตระหนักรู้และเห็นคุณค่าของกล้วยไม้ไทย รวมถึงเป็นการสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจในกล้วยไม้ที่เป็นทั้งเอกลักษณ์และภาพลักษณ์ความเป็นชาติไทย และยังเป็นการระลึกถึงจอมพลเรือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่ทรงเป็นพระบิดาวงการกล้วยไม้ของประเทศไทย ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2487 โดยได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกราชสกุลบริพัตรผู้อาวุโสด้วยแล้ว ทั้งนี้ การกำหนดให้วันที่ 18 มกราคมของทุกปี เป็นวันกล้วยไม้แห่งชาติดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการบริหารจัดการกลุ่มสินค้ากล้วยไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ได้รับทราบด้วยแล้ว ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 และกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นชอบ
8. เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานโครงการอำนวยการศูนย์ราชการสะดวก
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)เสนอ ดังนี้
1. รับทราบการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการอำนวยการศูนย์ราชการสะดวก
2. เห็นชอบข้อเสนอในการขับเคลื่อนศูนย์ราชการสะดวกในระยะต่อไป ดังนี้
2.1 การกำหนดนโยบายให้การพัฒนาการให้บริการประชาชนตามมาตรฐานศูนย์ราชการสะดวก (Government Easy Contact Center: GECC) เป็นนโยบายสำคัญของทุกหน่วยงานของรัฐที่มีงานบริการประชาชน
2.2 มอบหมายให้ทุกหน่วยงานนำมาตรฐาน GECC ไปพัฒนา ปรับปรุงเป็นมาตรฐานการให้บริการประชาชนที่สอดคล้องเหมาะสมตามภารกิจ เช่น มาตรฐานการให้บริการประชาชนด้านสุขภาพ มาตรฐานการให้บริการประชาชนด้านการพัฒนาสังคมมาตรฐานการให้บริการประชาชนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากการให้บริการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศทั้งเศรษฐกิจและสังคม
2.3 มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับไปพิจารณาผลักดันการดำเนินการของ
ศูนย์ราชการสะดวกให้สอดคล้องและเป็นไปตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อยกระดับการบริการประชาชนให้มีความสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย รวมถึงสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. สปน. รายงานว่า สปน. ร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินโครงการอำนวยการศูนย์ราชการสะดวกภายใต้คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ราชการสะดวกตั้งแต่ปี 2558 เพื่อมุ่งหวังให้ทุกกระทรวง กรม และจังหวัด รวมทั้งรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจัดให้มี “ศูนย์ราชการสะดวก GECC” เพื่อเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้เกิดการให้บริการที่มีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนที่เดินทางมาติดต่อราชการกับหน่วยงานของรัฐสอดคล้องกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
2. คณะกรรมการอำนวยการศูนย์ราชการสะดวก ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 [มีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) เป็นประธาน] ได้มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานโครงการอำนวยการศูนย์ราชการสะดวกและเห็นชอบกรอบแนวทางการดำเนินงานของศูนย์ราชการสะดวกในระยะต่อไป โดยให้ สปน. ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ นำเรื่องดังกล่าว เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบด้วยแล้ว สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
2.1 รายงานผลการดำเนินงานโครงการอำนวยการศูนย์ราชการสะดวกประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
2.1.1 การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการประเมินผล และการรับรอ มาตรฐาน GECC โดย สปน. พิจารณาร่วมกับสำนักงาน ก.พ.ร. ดังนี้
หัวข้อ |
ประเด็นการพิจารณา |
(1) ปัจจัยการให้บริการ |
(1.1) ด้านสถานที่ สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย ไม่สร้างภาระให้แก่ประชาชน (1.4) ด้านเทคโนโลยี มุ่งเน้นให้การบริการที่สะดวก รวดเร็ว ง่าย และประหยัด |
(2) หลักเกณฑ์ประเมิน (ปรับปรุงให้สอดคล้องกับระบบเทคโนโลยีในปัจจุบัน) |
(2.1) เกณฑ์ด้านกายภาพ พิจารณาจุดให้บริการที่เห็นได้เชิงประจักษ์ |
(3) การรับรองมาตรฐาน (ระยะเวลา 3 ปี นับแต่ปีที่ได้รับการรับรอง) |
มีหน่วยงานของรัฐสมัครขอรับการรับรองมาตรฐาน GECC ตั้งแต่ปี 2559 - 2567 จำนวน 11,679 ศูนย์ จำแนกเป็น (3.1) ผ่านการรับรอง 4,239 ศูนย์ (ร้อยละ 36.30) แบ่งเป็น 1) ระดับพื้นฐาน (สีฟ้า) มีการให้บริการ สะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่าย (70-79 คะแนน) จำนวน 3,672 ศูนย์ คิดเป็นร้อยละ 86.62 2) ระดับก้าวหน้า (สีเงิน) มีการเพิ่มเติมนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการให้บริการ (80 - 89 คะแนน) จำนวน 555 ศูนย์ คิดเป็นร้อยละ 12.86 และ 3) ระดับเป็นเลิศ (สีทอง) มีการเพิ่มเติมนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับให้บริการด้วยระบบดิจิทัล สะดวกทุกที่ ทุกเวลา (90-100 คะแนน) จำนวน 22 ศูนย์ คิดเป็นร้อยละ 0.52 (3.2) ไม่ผ่านการรับรอง 7,440 ศูนย์ (ร้อยละ 63.70) [เนื่องจากในช่วงปี |
(4) สิ่งจูงใจ |
(4.1) โล่การรับรองมาตรฐาน GECC เป็นสิ่งย้ำเตือนให้เห็นถึงคุณค่าของหน่วยงานของรัฐที่พัฒนางานในด้านต่าง ๆ จนสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพถือเป็นคุณค่าอันทรงเกียรติของหน่วยงานในการรักษามาตรฐาน GECC (4.2) ตรารับรองมาตรฐาน GECC เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้รู้ว่าประชาชน |
2.1.2 การส่งเสริมผลักดันตามมาตรฐาน GECC ได้แก่ (1) การประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์แนวทาง และวิธีการประเมินเพื่อขอรับการรับรองมาตรฐาน GECC ให้แก่ผู้แทนหน่วยงานระดับนโยบาย (กระทรวง) และหน่วยงานระดับพื้นที่ (จังหวัด) ผ่านระบบออนไลน์ก่อนการเปิดรับสมัคร (2) กำหนดต้นแบบศูนย์ราชการสะดวกในระดับเป็นเลิศ (สีทอง) และระดับก้าวหน้า (สีเงิน) เพื่อเป็นแบบอย่างให้ศึกษาและเรียนรู้กระบวนการที่ทำให้ประสบความสำเร็จ (3) สร้างองค์ความรู้ตามแนวทางการปฏิบัติที่ดีการจัดทำและเผยแพร่คู่มือการรับรองมาตรฐาน GECC และการสร้าง Coaching ในการสมัครให้แก่หน่วยงาน และ (4) เปิดช่องทางให้คำปรึกษาผ่านโทรศัพท์ เฟซบุ๊ก LINE Official Account ตลอด 24 ชั่วโมง และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้และแนวทาง
การขับเคลื่อนมาตรฐาน GECC ผ่านช่องทางออนไลน์
2.1.3 การตรวจประเมินมาตรฐาน GECC มีขั้นตอนการดำเนินการดังนี้ (1) ขั้นตอนที่ 1 ตรวจคัดกรองเอกสารใบสมัครตามหลักเกณฑ์มาตรฐาน GECC (2) ขั้นตอนที่ 2 ตรวจประเมินหน่วยงานที่ผ่านการคัดกรองเอกสารใบสมัครในพื้นที่ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) การสัมภาษณ์ผู้รับบริการ ณ จุดให้บริการ และการลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมสถานที่ปฏิบัติงาน (Site Visit) สำหรับหน่วยงานที่ควรส่งเสริมให้ได้รับมาตรฐานในระดับเป็นเลิศ หรือระดับที่สูงขึ้น และกรณีที่อาจไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานดังกล่าว และ (3) ขั้นตอนที่ 3 ให้การรับรองมาตรฐาน GECC หน่วยงานที่ผ่านการตรวจประเมินในพื้นที่โดยมีระยะเวลาในการรับรองมาตรฐาน GECC 3 ปี นับแต่ปีที่ได้รับการรับรอง
2.1.4 การตรวจประเมินการรักษามาตรฐาน GECC สำหรับหน่วยงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว โดยผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ตรวจราชการกระทรวง/กรม รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นหรือความพึงพอใจจากประชาชน ผู้รับบริการโดยตรงผ่านระบบการประเมินความพึงพอใจของผู้รับบริการจากหน่วยงานของรัฐ ที่ได้รับรองมาตรฐานการให้บริการของศูนย์ราชการสะดวก (G-Survey) เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้มีการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการที่สอดคล้องกับความพึงพอใจของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าหน่วยงานได้ให้ความสำคัญและตื่นตัวกับการรักษามาตรฐานการให้บริการอย่างต่อเนื่องโดยสะท้อนได้จากผลการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อการให้บริการของส่วนราชการคิดเป็นร้อยละ 91.40 และรัฐวิสาหกิจ/หน่วยงานอื่นใดของรัฐคิดเป็นร้อยละ 95.20 ซึ่งกรณีไม่ผ่านการตรวจรักษามาตรฐาน สปน. ได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานพิจารณาปรับปรุงแก้ไขต่อไป
2.1.5 การจัดพิธีมอบโล่และตราสัญลักษณ์ศูนย์ราชการสะดวก เพื่อเป็นเกียรติแก่หน่วยงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GECC และเป็นการกระตุ้นให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาการให้บริการประชาชนมากขึ้น โดยในปี 2567 มีหน่วยงานของรัฐที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GECC ได้รับมอบโล่และตราสัญลักษณ์ศูนย์ราชการสะดวก จำนวน 617 ศูนย์
2.1.6 การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับศูนย์ราชการสะดวกเพื่อประชาสัมพันธ์ผลงานศูนย์ราชการสะดวกและการสำรวจความต้องการ/ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและประชาชนผู้รับบริการเกี่ยวกับมาตรฐานการให้บริการประชาชนโดยระยะเริ่มต้นได้สร้างการรับรู้และสิ่งจดจำให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับ GECC (Brand Awareness: GECC) มีผู้รับชมคลิปวีดิทัศน์และจำนวนประชาชนที่รู้จักศูนย์ราชการสะดวก คิดเป็นร้อยละ 75.58 ของจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนบางส่วน คิดเป็นร้อยละ 24.42 ที่ยังไม่รู้จักศูนย์ราชการสะดวก หรือ GECC ดังนั้น ได้กำหนดเป้าหมายในการสร้างจุดเด่นเกี่ยวกับศูนย์ราชการสะดวก (Unique Selling Point: GECC) เพื่อแสดงให้เห็นว่าหน่วยงาน ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GECC มีความแตกต่างจากหน่วยงานที่ยังไม่ได้รับอย่างไร ทั้งด้านสถานที่ บริการ บุคลากร และระบบเทคโนโลยีที่ให้บริการ รวมทั้งนำความคิดเห็นจากประชาชน ที่ได้ประเมินความพึงพอใจผ่านช่องทาง G-Survey มาเป็นข้อมูลจัดทำเนื้อเรื่องเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ตรงตามที่ประชาชนต้องการมากขึ้น
2.2 แนวทางการดำเนินงานของศูนย์ราชการสะดวกในระยะต่อไป เพื่อเป็นการขับเคลื่อนให้หน่วยงานของรัฐมีการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่องและเกิดผลเป็นรูปธรรมทำให้เกิดผลดีต่อภาพลักษณ์การให้บริการประชาชนโดยเร็ว จึงมีข้อเสนอในการขับเคลื่อนศูนย์ราชการสะดวกในระยะต่อไป ดังนี้
2.2.1 การกำหนดนโยบายให้การพัฒนาการให้บริการประชาชนตามมาตรฐาน GECC เป็นนโยบายสำคัญของทุกหน่วยงานของรัฐที่มีงานบริการประชาชน
2.2.2 มอบหมายให้ทุกหน่วยงานนำมาตรฐาน GECC ไปพัฒนาปรับปรุงเป็นมาตรฐานการให้บริการประชาชนที่สอดคล้องเหมาะสมตามภารกิจ เช่น มาตรฐานการให้บริการประชาชนด้านสุขภาพ มาตรฐานการให้บริการประชาชนด้านการพัฒนาสังคม มาตรฐานการให้บริการประชาชนด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากการให้บริการดังกล่าวเป็นการส่งเสริมและขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศทั้งเศรษฐกิจและสังคม
2.2.3 มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับไปพิจารณาผลักดัน การดำเนินการของศูนย์ราชการสะดวกให้สอดคล้องและเป็นไปตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อยกระดับการบริการประชาชนให้มีความสะดวก รวดเร็ว เข้าถึงง่ายรวมถึงสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของประชาชนได้มากยิ่งขึ้น
9. เรื่อง โครงการขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “ครัวโรงเรียน สู่ ครัวบ้าน” (ทุนการศึกษา “วรเกษตรเมธี”) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2572
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “ครัวโรงเรียน สู่ ครัวบ้าน” (โครงการขยายผลการพัฒนาตามแนวพระรดำริฯ) (ทุนการศึกษา “วรเกษตรเมธี”) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2572 รวม 5 ปี เป็นเงินรวมทั้งสิ้น จำนวน 2,340,000 บาท ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้
หน่วย : บาท
ปีงบประมาณ พ.ศ. |
ทุนการศึกษา |
รวม |
|
จำนวนทุนการศึกษา |
ทุนละ |
||
2568 |
37 ทุน (ปีการศึกษา 2567 จำนวน 19 ทุน และปีการศึกษา 2568 จำนวน 18 ทุน |
20,000 |
740,000 |
2569-2572 |
ปีละ 20 ทุน |
1,600,000 |
สาระสำคัญของเรื่อง
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริให้มีโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนต่าง ๆ และสนับสนุนการทำกิจกรรมด้านการเกษตร เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาวะและโภชนาการต่ำของเด็กเล็ก เนื่องจากครอบครัวมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ ภายใต้แนวคิด “ครัวโรงเรียน สู่ ครัวบ้าน” และต่อมาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้หารือเพื่อดำเนินโครงการขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “ครัวโรงเรียน สู่ ครัวบ้าน” ในระยะต่อไป โดยให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดสรรทุนการศึกษาให้นักเรียนในโครงการดังกล่าวตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงระดับอุดมศึกษา รวมทั้งให้จัดสรรตำแหน่งเพื่อบรรจุเข้ารับราชการในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี
ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ขอให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการขยายผลการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “ครัวโรงเรียน สู่ ครัวบ้าน” (ทุนการศึกษา “วรเกษตรเมธี”) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 - 2572 รวม 5 ปี เป็นเงินรวมทั้งสิ้น จำนวน 2,340,000 บาท สรุปได้ ดังนี้ ปีงบประมาณ 2568 จำนวนทุนการศึกษา 37 ทุน (ปีการศึกษา 2567 จำนวน 19 ทุน และปีการศึกษา 2568 จำนวน 18 ทุน) ทุนละ 20,000 บาท รวมทั้งสิ้น 740,000 บาท ปีงบประมาณ 2569 - 2572 จำนวนทุนการศึกษาปีละ 20 ทุน ทุนละ 20,000 บาท รวมทั้งสิ้น 1,600,000 บาท รวม 5 ปี (2568 - 2572) มีจำนวนทุนการศึกษา 117 ทุน รวมทั้งสิ้น 2,340,000 บาท เพื่อจัดสรรทุนการศึกษาให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 6 ของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามและโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษาในโครงการดังกล่าว (รวม 20 โรงเรียน) โดยนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษาจะสามารถพัฒนาความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างต่อเนื่อง สามารถนำองค์ความรู้ทางการเกษตรไปขยายผลการพัฒนาสู่ชุมชนของตนเองและในระยะยาวนักเรียนที่ได้รับทุนการศึกษาสามารถกลับไปรับราชการในหน่วยงานเกษตรอำเภอหรือเกษตรจังหวัดตามภูมิลำเนา ซึ่งสามารถนำความรู้ไปขยายผลและส่งเสริมให้การเกษตรในระดับอำเภอหรือระดับจังหวัดได้รับการพัฒนาในวงกว้าง
10. เรื่อง แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส
(2567 – 2573)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (2567 -2573) (แผนปฏิบัติการร่วมฯ) โดยมอบหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามที่กระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. ปัญหาหมอกควันข้ามแดนเป็นปัญหาสำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือมักประสบปัญหาในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเผาในที่โล่งจากทั้งภายในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยจึงได้เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับนายกรัฐมนตรี 3 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ผ่านระบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2566 โดยนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้เสนอยุทธศาสตร์ฟ้าใส เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดนที่เกิดขึ้น และให้ร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติร่วมฯ เพื่อใช้แก้ไขปัญหาร่วมกัน 3 ประเทศ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการสร้างความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างทั้ง 3 ประเทศ ผ่านกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยสอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้กฎหมายประเทศ และกฎหมายของแต่ละประเทศ บนพื้นฐานของผลประโยชน์และโอกาสที่เท่าเทียม ประกอบด้วย 5 ประเด็น สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
ตัวอย่างการดำเนินการ |
|
|
1) การพัฒนาแผนที่ เสี่ยงการเกิดไฟ |
พัฒนาแอปพลิเคชันฐานข้อมูลบนเว็บไซต์ร่วมกัน เพื่อสร้างแผนที่ความเสี่ยงไฟ ซึ่งจะระบุจุดที่เกิดเพลิงไหม้ จุดที่เกิดไฟป่าและการเผาเกษตรกรรม รวมถึงพื้นที่ที่เสี่ยงต่อมลพิษจากหมอกควันใน สปป. สาว สาธารณรัฐแห่งสภาพเมียนมาและประเทศไทย |
2) การสร้าง เครือข่ายดับไฟไตรภาคี |
จัดตั้งเครือข่ายดับไฟ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ดับไฟ ในการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีในการดับไฟ โดยการฝึกอบรมผู้ฝึกสอน การเรียนรู้แบบ peer-to-peer และการแบ่งปันความรู้ระหว่างเจ้าที่ดับไฟ จาก สปป.ลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และประเทศไทย |
3) การปรับปรุง ความถูกต้องของข้อมูล และการจัดฝึกอบรม |
จัดโปรแกรมการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดทำแผนที่เสี่ยงไฟ การติดตามตรวจสอบและการรายงานการเกิดไฟ รวมถึงการดำเนินงานติดตามและการรายงานไฟป่า โดยเน้นการปรับปรุงความถูกต้องและความสมบูรณ์ของข้อมูล เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ และกลยุทธ์การควบคุมและดับไฟที่มีประสิทธิผล |
4) จุดความร้อน |
ยกระดับความพยายามและร่วมมือกันลดจำนวนจุดความร้อนตามแผนปฏิบัติการเชียงราย 2017 |
|
|
1) ข้อมูลสำหรับ แพลตฟอร์มการติดตาม ตรวจสอบ |
ร่วมเสริมสร้างขีดความสามารถในการรวบรวมข้อมูลและการจัดการไฟที่เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาระบบพยากรณ์และติดตาม |
2) ขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐาน |
พัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐาน (Standard Operating Procedure : SOP) สำหรับการควบคุมและการจัดการหมอกควัน เพื่อให้เกิดการตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ |
3) การแบ่งปันข้อมูล การติดตามตรวจสอบและ การ คาดการณ์ |
- ดำเนินการประเมินและ/หรือศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสุขภาพ จากมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาค - ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเครือข่ายคุณภาพอากาศของประเทศในอนุภูมิภาค รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้องและร่วมมือกันพัฒนามาตรฐานหรือระบบการติดตามการพยากรณ์ทั่วไป ซึ่งจะให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เกี่ยวกับคุณภาพอากาศ รวมถึงฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) - จัดทำระบบการเตือนผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าได้มีมาตรการ รองรับที่ตอบสนองอย่างมีประสิทธิผล |
4) การสื่อสารและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
|
- ส่งเสริมการใช้แอปพลิเคชันหรือช่องทางการสื่อสารบนเว็บไซต์ รวมถึงสนับสนุนการสื่อสารในหลายภาษา เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของประชาชน เกี่ยวกับมลพิษจากหมอกควันและผลกระทบ และวิธีที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้ - สนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับมลพิษจากหมอกควัน และวิธีที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว |
|
|
1) การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน |
ดำเนินการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชน และประชาชน (Public-Private-People-Partnerships: PPPP)กำหนดเป้าหมายไปที่รัฐบาลระดับท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และเกษตรกร เพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืนและให้ความรู้เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการเผาในที่โล่งและกิจกรรมอื่น ๆ รวมถึงไฟป่า ที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษหมอกควัน |
2) การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการรับรองระดับสากล |
- ดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี การกำหนดแนวทางการปฏิบัติการจัดการการเกษตรแบบบูรณาการมาใช้โดยเกษตรกร - สร้างมาตรฐานและการรับรองระดับสากล เช่น แนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) และแพลตฟอร์มข้าวยั่งยืน (Sustainable Rice Platform : SRP) เพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืน |
3) ดำเนินการวิเคราะห์ที่ดิน |
- วิเคราะห์ที่ดิน เพื่อกำหนดพืชผลที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่เฉพาะโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพดิน และความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม - การพัฒนาแผนที่ที่ดิน เพื่อใช้เป็นแนวทางให้แก่เกษตรกรในการตัดสินใจอย่างรอบรู้เกี่ยวกับการเลือกพืชผลและแนวปฏิบัติในการจัดการที่ดิน โดยร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง |
|
|
1) กฎหมายและข้อบังคับ |
ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำกฎหมายและข้อบังคับ และแนวปฏิบัติทางเทคนิคในระดับประเทศ มาใช้ในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมฯ |
2) การประสานงานระหว่างหน่วยงาน |
สร้างการสื่อสารโดยตรง (สายด่วน) ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสระหว่าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ สปป.สาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และประเทศไทย - ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข เกษตรกรรม อุตสาหกรรม ป่าไม้ อุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยา หน่วยงานจัดการไฟ หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ในการสนับสนุนและส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย และนโยบายที่เกี่ยวข้อง กับมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนอย่างมีประสิทธิผล - ชักชวนให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมช่วยดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน |
|
|
1) ขยายผลแนวปฏิบัติที่ดี |
แบ่งปันประสบการณ์ บทเรียนที่ได้รับ และแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการ และป้องกันหมอกควัน ระหว่าง สปป.ลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และประเทศไทย รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง |
2) การระดมทรัพยากร |
- สำรวจและระดมทรัพยากรได้แก่ งบประมาณ เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการและกิจกรรมที่ตกลงกันไว้ - สร้างความร่วมมือกับภาคีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการจัดการกับมลพิษหมอกควันข้ามแดน เช่น การสนับสนุน ทางการเงิน การสร้างขีดความสามารถ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี |
3) สมาชิกของแผนปฏิบัติการร่วมฯ |
ได้แก่ สปป.ลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และประเทศไทย และใน อนาคตยังต้อนรับการมีส่วนร่วมจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ และหุ้นส่วนภายนอกเพื่อเข้าร่วมและสนับสนุนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมฯ เพื่อให้เกิดภูมิภาคปลอดหมอกควัน |
4) กลไกการติดตามผล |
จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจซึ่งประกอบด้วยผู้แทน และ/หรือศูนย์ประสานงานระดับชาติด้านการจัดการหมอกควันข้ามแดน จาก สปป.ลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และประเทศไทย เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการและการประสานงานของแผนปฏิบัติการร่วมฯ โดยจะมีการประชุม เป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อร่วมกันพิจารณาการดำเนินงาน การกำหนดเวลาและการจัดสรรทรัพยากรในการดำเนินงาน |
11. เรื่อง การจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) เสนอ
สาระสำคัญ
สลน. รายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบกำหนดการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2568 ณ จังหวัดนครพนม ในวันอังคารที่ 29 เมษายน 2568 และติดตามการตรวจราชการกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 (จังหวัดนครพนม และมุกดาหาร) ระหว่างวันจันทร์ที่ 28 – วันอังคารที่ 29 เมษายน 2568 ซึ่งมีประเด็นการตรวจราชการสำคัญ ประกอบด้วย (1) การพัฒนาสินค้าเกษตรมูลค่าสูงอย่างยั่งยืน (2) การพัฒนาศักยภาพและปัจจัยแวดล้อมด้านการท่องเที่ยว ในด้านความปลอดภัย โครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว (3) การพัฒนาขีดความสามารถด้านการค้า การลงทุน การบริการ และโลจิสติกส์ (4) การพัฒนาด้านสังคม การเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และการแก้ไขปัญหายาเสพติด (5) การยกระดับการบริหารจัดการน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และ (6) การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน ให้ได้มาตรฐานเพียงพอและครอบคลุม
12. เรื่อง การยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568
คณะรัฐมนตรีมติรับทราบการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษตามประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนดอัตราค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี – สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ตามที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคมเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
การดำเนินการยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษดังกล่าวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่มีการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 วันที่ 11 เมษายน 2568 เวลา 00.01 นาฬิกา ถึงวันที่ 17 เมษายน 2568 เวลา 24.00 นาฬิกา รวม 7 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์) และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568
ทั้งนี้ จะมีปริมาณจราจรมาใช้ทางพิเศษประมาณ 2,377,669 คัน จะทำให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่ได้รับรายได้ประมาณ 86,128,889 บาท แต่จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจประเมินเป็นมูลค่าเงินประมาณ 153,424,348 บาท ซึ่งประกอบด้วยมูลค่าจากการประหยัดค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ 93,664,900 บาท และมูลค่าจากการประหยัดเวลาในการเดินทาง 59,759,448 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 153,424,348 บาท
13. เรื่อง การปรับเพิ่มค่าตอบแทนครูและค่าบริหารจัดการของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบที่สอนศาสนาอิสลามใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติปรับเพิ่มค่าตอบแทนครูและค่าบริหารจัดการของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบที่สอนศาสนาอิสลามใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ ดังนี้
1. ปรับเพิ่มอัตราค่าตอบแทนครูสอนศาสนา ดังนี้
1.1 ครูสอนศาสนาในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) จากอัตราปัจจุบัน 3,000 บาท/คน/เดือน เป็น 3,500 บาท/คน/เดือน
1.2 โต๊ะครูหรือผู้ช่วยโต๊ะครู ในสถาบันศึกษาปอเนาะจากอัตราปัจจุบัน 2,000 บาท/คน/เดือน เป็นโต๊ะครู 4,000 บาท/คน/เดือน และผู้ช่วยโต๊ะครู 3,500 บาท/คน/เดือน เนื่องจากภาระงานของโต๊ะครูมากกว่าผู้ช่วยโต๊ะครูในการดูแลและบริหารจัดการสถาบันศึกษาปอเนาะ
1.3 ครูสอนศาสนาในโรงเรียนเอกชนในระบบที่สอนศาสนาอิสลามจากอัตราปัจจุบัน 2,000 บาท/คน/เดือน เป็น 3,500 บาท/คน/เดือน
1.4 ครูสอนศาสนาในโรงเรียนเอกชนนอกระบบที่สอนศาสนาอิสลามอย่างเดียว จากอัตราปัจจุบัน 2,000 บาท/คน/เดือน เป็น 3,500 บาท/คน/เดือน
ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีลักษณะพิเศษและมีความละเอียดอ่อนได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนที่จะเสริมสร้างความมั่นคงในเขตพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดสันติสุขและสมานฉันท์
2. ปรับเพิ่มจำนวนครูสอนศาสนาที่ได้รับเงินอุดหนุน ดังนี้
2.1 เพิ่มการจัดสรรค่าตอบแทนให้กับผู้สอนในตาดีกาที่มีจำนวนนักเรียนไม่เกิน 180 คน จาก 4 คน เป็น 6 คน เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้สอนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - ปีที่ 6 จำนวน 6 คน ตามหลักสูตรอิสลามศึกษาฟัรฎูอีนประจำมัสยิดระดับอิสลามศึกษาตอนต้น (อิบติดาอียะฮฺ) พุทธศักราช 2559/ฮิจเราะฮฺศักราช 1437 จำนวน 6 ชั้นปี ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอบในตาดีกา และจัดสรรค่าตอบแทนให้กับผู้สอนในตาดีกาที่มีจำนวนนักเรียน 181 คน ขึ้นไป ในอัตราส่วนผู้สอน 1 คน ต่อนักเรียน 30 คน ทั้งนี้ ไม่เกิน 12 คน ต่อศูนย์เพื่อให้เป็นไปตามอัตราส่วนจำนวนครูต่อจำนวนนักเรียนตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ว่าด้วยการกำหนดจำนวนครู และบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในระบบ พ.ศ. 2551 ประกาศ ณ วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2551
2.2 จัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าตอบแทนโต๊ะครูและผู้ช่วยโต๊ะครูรวมทั้งค่าบริหารจัดการสถาบันศึกษาปอเนาะให้กับสถาบันศึกษาปอเนาะที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 25 คน ซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคแก่สถาบันศึกษาปอเนาะทุกแห่ง
2.3 เพิ่มการจัดสรรค่าตอบแทนครูในโรงเรียนเอกชนในระบบที่สอนศาสนาอิสลามที่มีนักเรียน 121 คนขึ้นไป จากเดิมจัดสรรให้ครู 4 คน เป็น 6 คน เพื่อให้เสมอภาคและเท่าเทียมกับจำนวนครูสอนศาสนาที่ได้รับเงินอุดหนุนในตาดีกา
3. ปรับเพิ่มอัตราค่าบริหารจัดการโรงเรียน ดังนี้
3.1 ตาดีกา จากอัตราปัจจุบัน 2,000 บาท/แห่ง/เดือน ปรับเป็น 3,000 บาท/แห่ง/เดือน
3.2 สถานศึกษาปอเนาะ จากอัตราปัจจุบัน 1,000 บาท บาท/แห่ง/เดือน ปรับเป็น 3,000 บาท/แห่ง/เดือน
3.3 โรงเรียนเอกชนนอกระบบที่สอนศาสนาอิสลามอย่างเดียว จากอัตราปัจจุบัน 1,000 บาท/แห่ง/เดือน ปรับเป็น 3,000 บาท/แห่ง/เดือน
ทั้งนี้ เพื่อให้โรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนาทุกแห่งได้รับค่าบริหารจัดการที่เสมอภาคและเท่าเทียมกันประกอบกับโรงเรียนดังกล่าวมีภาระงานที่เพิ่มขึ้น เช่น การติดตามตรวจสอบเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันการจัดทำข้อมูลสารสนเทศของโรงเรียนผ่านระบบสารสนเทศของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สข.) การจัดทำหลักฐานการจบหลักสูตร รวมทั้งการจัดทำข้อสอบ ทำให้ค่าบริหารจัดการต้องปรับเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องตามค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
4. จัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าตอบแทนครูและค่าบริหารจัดการให้กับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทุกแห่งที่จัดตั้งถูกต้องตามกฎหมายใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาบางประเภทในจังหวัดสตูลและสงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) ยังไม่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าตอบแทนครูและค่าบริหารจัดการเช่นเดียวกับเงินอุดหนุนค่าตอบแทนผู้สอนในตาดีกา และค่าบริหารจัดการมัสยิดที่ให้กับตาดีกาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีลักษณะพิเศษมีความละเอียดอ่อนได้รับความเป็นธรรมอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนที่จะเสริมความมั่นคงในเขตพื้นที่ดังกล่าวให้เกิดสันติสุขและสมานฉันท์
สำหรับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในจังหวัดสตูล และสงขลา (เฉพาะอำเภอจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย) ที่ต้องได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าตอบแทนครูสอนศาสนา และค่าบริหารจัดการ มีดังนี้
โรงเรียน |
ค่าตอบแทนครูศาสนา |
ค่าบริหารจัดการ |
(1 ) สถาบันศึกษาปอเนาะ |
/ |
/ |
(2) โรงเรียนเอกชนในระบบที่สอนศาสนาอิสลาม |
/ |
- |
(3) โรงเรียนเอกชนนอกระบบที่สอนศาสนาอย่างเดียว |
/ |
/ |
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มค่าตอบแทนครู และค่าบริหารจัดการของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบที่สอนศาสนาอิสลามใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะต้องใช้ งบประมาณเพิ่มขึ้น รวมทั้งสิ้นปีละ 169.95 ล้านบาท
ทั้งนี้ การปรับเพิ่มค่าตอบแทนครู และค่าบริหารจัดการของโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบที่สอนศาสนาอิสลามใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น รวมทั้งสิ้นปีละ 169.95 ล้านบาท
14. เรื่อง มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลโดยให้ปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่จะประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้าสำหรับรอบเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2568 ลงเหลือไม่เกินอัตราหน่วยละ 3.99 บาท ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และให้กระทรวงพลังงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาหาแนวทางให้ได้อัตราค่าไฟเป็นไปตามเป้าหมาย
สาระสำคัญของเรื่อง
เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงทีสำหรับการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่จะประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้าสำหรับรอบเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2568 ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงเสนอมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน โดยปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่จะประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้าสำหรับรอบเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม 2568 ลงเหลือไม่เกินอัตราหน่วยละ 3.99 บาท
15. เรื่อง ขอความเห็นชอบสวัสดิการค่าเช่าบ้านของผู้ปฏิบัติงานองค์การเภสัชกรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบสวัสดิการค่าเช่าบ้านผู้ปฏิบัติงานขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
ตำแหน่ง/ระดับ |
อัตราค่าเช่าบ้าน |
(1) ลูกจ้าง (ลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว) และพนักงานระดับ 1 - 3 |
อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท
|
(2) พนักงานระดับ 4 - 5 |
อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท |
(3) พนักงานระดับ 6 - 11 |
อัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินเดือนละ 6,000 บาท |
โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงสาธารณสุขเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบสวัสดิการค่าเช่าบ้านผู้ปฏิบัติงานขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) เนื่องจาก อภ. มีโครงการที่มีความจำเป็นต้องให้ผู้ปฏิบัติงานเดินทางไปปฏิบัติงานประจำในต่างท้องที่ในหลายพื้นที่ แต่ อภ. ยังไม่มีสวัสดิการในส่วนของค่าเช่าบ้าน ดังนั้น คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมจึงได้มีมติเห็นชอบให้มีสวัสดิการค่าเช่าบ้านของผู้ปฏิบัติงาน อภ. เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระและสร้างขวัญและกำลังใจที่ดีให้กับผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปปฏิบัติงานประจำในต่างท้องที่ รวมทั้งคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ได้มีมติเห็นชอบสวัสดิการค่าเช่าบ้าน*ของผู้ปฏิบัติงาน อภ. ด้วยแล้ว
ทั้งนี้ ค่าเช่าบ้านของผู้ปฏิบัติงาน อภ. ที่เสนอในครั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ยังคงมีอัตราที่เทียบเท่าหรือไม่ได้สูงเกินกว่ารัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากสวัสดิการค่าเช่าบ้านดังกล่าว เป็นงบประมาณของ อภ. เองทั้งหมด และภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว ไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินในภาพรวมของ อภ. รวมทั้ง อภ. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนระบบแรงจูงใจ และสวัสดิการต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจในภาพรวม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 ด้วยแล้ว
* ที่ผ่านมาการกำหนดอัตราค่าเช่าบ้านของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ จะกำหนดไว้ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 6,000 บาท ซึ่งแต่ละรัฐวิสาหกิจจะมีการแบ่งกลุ่มระดับพนักงานที่ได้รับสวัสดิการค่าเช่าบ้านที่แตกต่างกัน และมีการกำหนดอัตราขั้นต่ำค่าเช่าบ้านต่างกัน เช่น กรณีอัตราค่าเช่าบ้านพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2546 มีการแบ่งกลุ่มระดับพนักงานที่ได้รับสวัสดิการค่าเช่าบ้านออกเป็น 9 กลุ่ม โดยมีอัตราต่ำสุด 1,500 บาท และสูงสุด 4,000 บาท โดยอัตราค่าเช่าบ้านที่ สธ. เสนอในครั้งนี้ ได้มีการเปรียบเทียบอัตราค่าเช่าบ้านกับรัฐวิสาหกิจที่มีการกำหนดอัตราค่าเช่าบ้านที่ใกล้เคียงกัน 2 หน่วยงาน ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการยาสูบแห่งประเทศประเทศไทย ที่กำหนดอัตราค่าเช่าบ้านไม่เกินเดือนละ 3,500 – 6,000 บาท
16. เรื่องขอความเห็นชอบการขยายอัตราการจ่ายค่าตอบแทนใบประกอบโรคศิลปะของเภสัชกรให้แก่เภสัชกรที่เกี่ยวข้องขององค์การเภสัชกรรม เป็นอัตรา 10,000 บาท/คน/เดือน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายอัตราการจ่ายค่าตอบแทนใบประกอบโรคศิลปะของเภสัชกรให้แก่เภสัชกรที่เกี่ยวข้องขององค์การเภสัชกรรม เป็นอัตรา 10,000 บาท/คน/เดือน (การขยายอัตราการจ่ายค่าตอบแทนฯ) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นต้นไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการขยายอัตราการจ่ายค่าตอบแทนใบประกอบโรคศิลปะของเภสัชกรให้แก่เภสัชกรที่เกี่ยวข้องขององค์การเภสัชกรรม จากเดิมอัตรา 1,000 และ 3,000 บาท/คน/เดือน เป็นอัตรา 10,000 บาท/คน/เดือน โดยมีจำนวนผู้มีสิทธิ 580 คน เพื่อจูงใจให้เภสัชกรสนใจสมัครเข้าเป็นพนักงานองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนคนที่ลาออกหรือเกษียณ รวมถึงรักษาเภสัชกรที่เป็นผู้ปฏิบัติงานปัจจุบันให้ยังคงทำงานกับ อภ. ต่อไป โดยภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจำนวน 48.912 ล้านบาท/ปี นั้น ไม่กระทบต่อฐานะทางการเงินในภาพรวมของ อภ. และไม่กระทบต่อรายได้ที่นำส่งเข้ารัฐแต่อย่างใด นอกจากนี้ อภ. ไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลในการดำเนินการ จึงไม่กระทบต่อภาระงบประมาณหรือภาระการสูญเสียรายได้ของรัฐในอนาคตทั้งนี้ อภ. ได้จัดทำรายละเอียดข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐต้องเสนอพร้อมกับการขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และข้อมูลการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 (เรื่อง การปรับปรุงค่าตอบแทน ระบบแรงจูงใจ และสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจในภาพรวม) แล้ว และคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และสำนักงาน ก.พ. ได้เห็นชอบด้วยแล้ว
ต่างประเทศ
17. เรื่อง ร่างบันทึกว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทย - เบลารุส
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจประเทศไทย (ไทย) - สาธารณรัฐเบลารุส (เบลารุส) (คณะกรรมการร่วมฯ) (ร่างบันทึกฯ) (Memorandum between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the Republic of Belarus on the establishment of a Joint Thai - Belarusian Committee on Trade and Economic Cooperation) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ พณ. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกฯ ดังกล่าว ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในสารัตถะของร่างบันทึกว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจประเทศไทย (ไทย) - สาธารณรัฐเบลารุส (เบลารุส) (คณะกรรมการร่วมฯ) (ร่างบันทึกฯ) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกฯ ดังกล่าว ซึ่งร่างบันทึกฯ มีสาระสำคัญเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายในการพัฒนาและส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและเศรษฐกิจในสาขาความร่วมมือด้านต่าง ๆ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการร่วมฯ ทำหน้าที่ส่งเสริมและประสานความร่วมมือทำการค้าและเศรษฐกิจ โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการร่วมฯ ประกอบด้วยผู้แทนที่ได้รับมอบหมายของแต่ละฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน และมีประธานร่วมซึ่งประกอบด้วยผู้แทนในระดับที่เหมาะสมตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมฯ อาจจัดตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานถาวรหรือชั่วคราวตามความจำเป็นเพื่อปฏิบัติภารกิจภายใต้กรอบความร่วมมือเป็นการเฉพาะ รวมถึงไทยและเบลารุสอาจเชิญผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชน และบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมได้หากได้รับความยินยอมร่วมกันจากไทยและเบลารุส
ทั้งนี้ การลงนามในร่างบันทึกฯ จะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับเบลารุส โดยเฉพาะในสาขาที่สองฝ่ายมีศักยภาพและเป็นประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้า ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลไทยในการใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้า ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีข้อขัดข้องต่อสารัตถะโดยรวมของร่างบันทึกฯ และเห็นว่า ร่างบันทึกฯ ไม่ใช่สนธิสัญญาและไม่ได้ก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ร่างบันทึกฯ ดังกล่าวจึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
18. เรื่อง ร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทย - อินเดีย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทย - อินเดีย (ร่างปฏิญญาฯ) และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ลงนามในเอกสารดังกล่าวร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างปฏิญญาฯ ในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินความสัมพันธ์ แต่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ กต. สามารถพิจารณาดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
เรื่องนี้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างปฏิญญาร่วมว่าด้วยการสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างไทย - อินเดีย (ร่างปฏิญญาฯ) โดยจะมีการลงนามร่างปฏิญญาฯ ในห้วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) และเข้าร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจหรือบีมสเทค ระหว่างวันที่ 3-4 เมษายน 2568 ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน รวมทั้งกำหนดแนวทางในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับอินเดียในอนาคตเพื่อเพิ่มโอกาส เสริมสร้างความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและตอบสนองต่อความท้าทายร่วมกัน เช่น (1) ความร่วมมือด้านการเมือง (2) ความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีทางการทหาร อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ การวิจัย การฝึกอบรม การแลกเปลี่ยน การฝึกซ้อม (3) เศรษฐกิจ และความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีดิจิทัล หุ่นยนต์เทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งนี้ กต. เห็นว่าร่างปฏิญญาฯ ไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแจ้งว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรมไม่มีข้อขัดข้องต่อเนื้อหาของร่างปฏิญญาฯ
19. เรื่อง ผลการเดินทางเข้าร่วมการประชุม Global Forum for Food and Agriculture ครั้งที่ 17 และการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 17 ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการเดินทางเข้าร่วมการประชุม Global Forum for Food and Agriculture ครั้งที่ 17 (GFFA ครั้งที่ 17) และการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 17 (17th Berlin Agriculture Ministers’ Conference) ณ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนี) ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญ
กษ. รายงานว่า
1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะผู้บริหาร กษ. เข้าร่วม GFFA ครั้งที่ 17 และการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 17 ภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพที่ยั่งยืน” โดยกระทรวงอาหารและเกษตรเยอรมนี เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 16 -18 มกราคม 2568 ณ ศูนย์ประชุม City Cube Berlin กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี รายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1.1 การประชุมระดับสูง
1.1.1 การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials’ Meeting : SOM) ในวันที่ 16 มกราคม 2568 โดยรองปลัด กษ. เข้าร่วมเพื่อจัดทำร่างแถลงการณ์รัฐมนตรีฉบับสุดท้าย (Final communique) ซึ่งจะใช้เป็นเอกสารสำหรับพิจารณาและรับรองในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลินครั้งที่ 17 ในวันที่ 18 มกราคม 2568 ซึ่งที่ประชุมประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงเกษตรของ 38 ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศจำนวน 14 หน่วยงาน ได้ปรับแก้และเพิ่มเติมข้อความให้สอดคล้องกับนโยบายของแต่ละประเทศ และสามารถเห็นชอบในประเด็นสำคัญร่วมกัน โดยเน้นการดำเนินการเพื่อผลักดันการปฏิรูประบบเศรษฐกิจโลกไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุม เพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2573 ผ่านแนวทางปฏิบัติ 4 ด้าน ได้แก่ (1) การผลิตชีวมวลอย่างยั่งยืนและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ โดยส่งเสริมระบบเกษตรและอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น ควบคู่กับการจัดการที่ดินและน้ำอย่างเหมาะสม และการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้ขอบเขตขีดความสามารถในการรองรับของโลก (Planetary Boundaries) เพื่อลดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (2) การใช้ชีวมวลอย่างยั่งยืน และการสร้างความมั่นคงทางอาหารของโลก โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน ควบคู่เศรษฐกิจชีวภาพ ลดการใช้ทรัพยากรโดยรวมให้อยู่ในขีดความสามารถของระบบนิเวศและสนับสนุนนโยบายความมั่นคงทางอาหาร (3) การเสริมสร้างนวัตกรรมและการส่งเสริมการสื่อสาร โดยส่งเสริมการปรับใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมรวมถึงองค์ความรู้ของชนพื้นเมือง พร้อมทั้งสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ผลิตรายย่อย ผู้ประกอบการ เยาวชน สตรี และชนพื้นเมือง และสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติและ (4) การสร้างกรอบการทำงานที่เป็นธรรมและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง โดยพัฒนาหลักธรรมาภิบาลด้านเศรษฐกิจชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ โดยครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจชีวภาพสนับสนุนการเข้าถึงที่ดิน การรักษาทรัพย์สินที่ดิน การควบคุมและจัดการที่ดิน ตลอดจนสิทธิตามธรรมเนียมเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ดิน และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพในเขตชนบทและเขตเมืองเพื่อสนับสนุนห่วงโซ่คุณค่าทางชีวภาพในระดับท้องถิ่น พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน
1.1.2 การประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 17 ในวันที่ 18 มกราคม 2568 มีรัฐมนตรีกระทรวงอาหารและเกษตรเยอรมนีเป็นประธานพร้อมรัฐมนตรีเกษตรจาก 62 ประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ จำนวน 14 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบและรับรองเอกสารแถลงการณ์โดยไม่มีการลงนามแล้ว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แถลง ต่อที่ประชุมว่าเศรษฐกิจชีวภาพเป็นแนวทางสำคัญในการเสริมสร้างความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจ สามารถฟื้นฟูระบบนิเวศทางการเกษตร เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและสนับสนุน SDGs ซึ่งประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชีวภาพภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวโดยไทยใช้จุดแข็งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ควบคู่กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม พร้อมให้ความสำคัญกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไทยมีความพร้อมที่จะร่วมมือและทำงานอย่างใกล้ชิด กับประเทศต่าง ๆ และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างเศรษฐกิจชีวภาพที่มีความยั่งยืนและหมุนเวียนในระดับโลกร่วมกันต่อไป
1.2 การหารือทวิภาคีต่าง ๆ ได้แก่ (1) เครือข่ายความร่วมมือของบริษัทและสมาคมธุรกิจด้านเกษตรกรรมของเยอรมนี [German Agribusiness Alliance (GAA)] โดยประธาน GAA ประจำภูมิภาคเอเชียแจ้งว่า มีหลายบริษัทสัญชาติเยอรมนีที่ให้ความสนใจการลงทุนในไทย (2) กระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้แห่งเครือรัฐออสเตรเลีย (ออสเตรเลีย) โดยไทยได้เน้นย้ำความสำคัญของความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย (Thailand - Australia Free Trade Agreement: TAFTA) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน รวมถึงผลักดันการขยายขอบเขตการส่งออกสินค้าเป็ดปรุงสุกและการเปิดตลาดสินค้าเนื้อไก่ปรุงสุก ซึ่งฝ่ายออสเตรเลียแจ้งว่าการเปิดตลาดสินค้าเนื้อไก่ปรุงสุกอาจมีความซับซ้อนและต้องใช้เวลาและได้แสดงความกังวลในประเด็นภาษีสำหรับนำเข้านมผงขาดมันเนยจากออสเตรเลีย โดยพันธกรณีของ TAFTA ไทยต้องลดภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 โดยไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าไม่มีการจัดเก็บภาษีผลิตภัณฑ์นมที่นำเข้าจากออสเตรเลียแล้ว (3) กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงแห่งญี่ปุ่น โดยไทยอยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมายเพื่อให้ญี่ปุ่นส่งออกพืชตระกูลส้มมาไทยได้อีก 2 สายพันธุ์ รวมทั้งขอให้ญี่ปุ่นเร่งพิจารณาขยายการเปิดตลาดส้มโอไม่ระบุพันธุ์ และผลมะม่วงสดไม่ระบุพันธุ์จากไทยไปญี่ปุ่น ซึ่งทางญี่ปุ่นแจ้งว่าขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาข้อมูลที่ได้รับจากไทย และจะแจ้งให้ทราบในโอกาสต่อไป และ (4) กระทรวงเกษตร ประมง ความมั่นคงทางอาหาร และธรรมชาติแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ โดยไทยได้ผลักดันความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างไทย - เนเธอร์แลนด์
1.3 การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเกษตรและอาหารระดับนานาชาติ (International Green Week 2025: IGW 2025) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีเปิดคูหาแสดงสินค้าไทยภายในงาน และแจ้งวัตถุประสงค์ของการจัดงานนี้ว่าเพื่อนำเสนอการปรับตัวของไทยให้เข้ากับตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลง และนำเสนอวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทย ที่มุ่งเน้นการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีทันสมัย รวมทั้งการแสดงความเป็นเลิศของสินค้าเกษตรไทย
2. กษ. รายงานว่าการเดินทางในครั้งนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน ประสบการณ์และสร้างพันธมิตรเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพที่มีความยั่งยืน สามารถกระชับความสัมพันธ์อันดีและความร่วมมือด้านเกษตรระหว่างไทยกับเยอรมนี และส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศและองค์กรที่เข้าร่วมประชุม รวมทั้งได้รับทราบข้อมูลขั้นปฐมภูมิจากผู้นำเข้าสินค้าเพื่อใช้ประกอบการจัดทำนโยบายพัฒนาและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการ อันจะส่งผลให้สามารถเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยที่ส่งออกไปยังเยอรมนีรวมถึงตลาดในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
20. เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศของรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และสารสนเทศของรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ
สาระสำคัญ
ร่างบันทึกความเข้าใจที่เสนอครั้งนี้มีสาระสำคัญเป็นการส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลระหว่างไทยและอินเดีย โดยการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว จะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐอินเดียด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านการดำเนินกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคและแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดร่วมกัน ตลอดจนการจัดการฝึกอบรมและสัมมนาและการร่วมมือกันทั้งในเชิงนโยบายและเชิงเทคนิคเพื่อนำไปสู่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างครอบคลุม ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของทั้งสองประเทศอย่างมั่นคงและปลอดภัย
21. เรื่อง บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งเนปาล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งเนปาล (เนปาล) (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของฝ่ายไทย ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือผู้แทน เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ
(จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ในช่วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเนปาล ในวันที่ 2 เมษายน 2568 ณ ทำเนียบรัฐบาล ประเทศไทย)
สาระสำคัญ
ร่างบันทึกความเข้าใจฯ มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล สถิติ และประสบการณ์การดำเนินงานด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมถึงสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในสาขาการท่องเที่ยวและการบริการ
ประโยชน์และผลกระทบ
ร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นกรอบกำหนดขอบเขตการดำเนินความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทยและเนปาลในอนาคต รวมทั้งยังเป็นกลไกสำคัญที่สนับสนุนการแลกเปลี่ยนและการเชื่อมโยงของภาคประชาชนของทั้งสองประเทศอีกด้วย
22. เรื่อง การจัดทำร่างความตกลงทางวัฒนธรรมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งเนปาล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อการจัดทำร่างความตกลงทางวัฒนธรรมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งเนปาล (ร่างความตกลงฯ) (Cultural Agreement between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of Nepal) โดยหากมีการปรับเปลี่ยนถ้อยคำของร่างความตกลงฯ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญหรือที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ วธ. สามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทยในร่างความตกลงฯ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ
(จะมีการลงนามความตกลงฯ ในห้วงการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล (เนปาล) ในวันที่ 2 เมษายน 2568)
สาระสำคัญ
คณะรัฐมนตรีมีมติ (18 มกราคม 2548 และ 31 มกราคม 2555) อนุมัติการจัดทำความตกลงทางวัฒนธรรมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งเนปาล โดยมีสาระสำคัญ เช่น
การสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือในสาขาศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมระหว่างทั้งสองประเทศ โดยการแลกเปลี่ยน (1) บุคลากรทางศาสนา ผู้เชี่ยวชาญ หรือกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาศาสนา ศิลปะ (2) การให้ทุนแก่บุคลากรทางศาสนา ศิลปิน นักวิจัย (3) การเยือนของบุคลากรทางศาสนา คณะผู้แทนและการแสดงทางวัฒนธรรม
ประโยชน์และผลกระทบ
ร่างความตกลงฯ จะเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือในด้านศิลปะ และวัฒนธรรมระหว่างไทยและเนปาล บนพื้นฐานของการต่างตอบแทนและผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับประชาชนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อเป็นพื้นฐานที่เข้มแข็งในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเนปาลต่อไปในอนาคต
แต่งตั้ง
23. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เสนอแต่งตั้ง นางสาวกฤติกา บูรณะดิษ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการสูง) สำนักส่งเสริมระบบการขนส่งและจราจรในภูมิภาค สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ให้ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
24. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงจำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้
1. นางสาววรพรรณ เลิศไกร ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
2. นางสุภัทร กิจเวช ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป
25. เรื่อง การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอแต่งตั้ง นายรวีภัทร์ จิรศักดิ์วัฒนา เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบด้วยแล้ว
26. เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (กระทรวงพาณิชย์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอแต่งตั้ง นางอุษา กลิ่นหอม เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน สาขาวิทยาศาสตร์ (ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค) ในคณะกรรมการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระเนื่องจากขอลาออก โดยขอให้มีผล ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้ได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี