ประดาบก็เลือดเดือด! ‘ฝ่ายค้าน’ลุกเสนอญัตติด่วนถกผลกระทบ‘แผ่นดินไหว’เจอ‘ฝ่ายรัฐบาล’ลุกชงญัตติขยับเลื่อนระเบียบวาระ‘ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจร’ตามมาทันที โวยแหลกไม่หยุด‘ญัตติซ้อนญัตติ’ ด้าน‘หมอชลน่าน’บลัฟคำโต‘เสียงข้างมาก’ถูกที่สุด เจอ‘ปกรณ์วุฒิ’ซัดกลับอันตรายกับประชาธิปไตยอย่างมาก สุดท้ายตกลงกันไม่ได้ สั่งเบรกพักประชุม
3 เม.ย.2568 เมื่อเวลา 13.35 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (เป็นพิเศษ) ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ภายหลักจากที่ที่ประชุมมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ลักษณะการปกครองท้องที่ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. วาระแรก ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาจำนวน31คน จากนั้นกำลังจะเข้าสู่ระเบียบวาระต่อไป แต่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ได้ลุกขึ้นเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณามาตรการในการจัดการผลกระทบจากแผ่นดินไหวอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป โดยมีสมาชิกยกมือรับรองถูกต้อง
จากนั้นประธานฯได้แจ้งว่าผู้มีเสนอญัตติด่วน และมีผู้รับรองถูกต้อง แต่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นเสนอญัตติให้เปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม จำนวน4เรื่อง โดยหนึ่งในนั้นได้ขอนำร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. หรือร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ ตามระเบียบวาระเรื่องด่วนที่ 15 ขึ้นมาอยู่ในระเบียบวาระลำดับต้น
ทำให้นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคประชาชน ในฐานะฝ่ายค้าน ลุกขึ้นประท้วงว่าเป็นการเสนอญัตติที่ไม่ชอบ ขอให้ประธานฯวินิจฉัย ทำให้นายภราดร ประธานการประชุวินิจฉัยว่า การเสนอญัตติด่วนของนายณัฐพงษ์ และการเสนอญัตติขอเปลี่ยนระเบียบวาระการประชุม ของนายอนุสรณ์ ทำถูกต้องข้อบังคับทั้งคู่ ดังนั้นจะถือว่ามี2ญัตติ ขอให้ฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน ไปเจรจากันก่อนได้หรือไม่
ทำให้นายชุติพงศ์ หารือว่า เมื่อมีการเสนอญัตติด่วนด้วยด้วยวาจาไปแล้ว1ญัตติ และมีการเสนอญัตติที่2ที่เป็นคนละลักษณะกัน โดยเฉพาะญัตติเรื่องแผ่นดินไหว มีความสำคัญมาก สังคมให้ความสนใจ ทุกคนต้องการทราบข้อมูลและที่จะมีการเสนอแนะไปยังรัฐบาล แต่ทำไมต้องเร่งรัดนำเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ขึ้นมาในเวลานี้ ประธานต้องวินิจฉัยว่าเป็นการเสนอญัตติซ้อนญัตติหรือไม่
ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านฯ หารือว่า ตามหลักการการเสนอญัตติ หากเป็นเรื่องเดียวกัน แต่มีความเห็นต่างสามารถมัดรวมเพื่อมาลงคะแนนเสียงโหวตคนละเรื่องกันได้ แต่ที่มีการเสนอญัตติของเปลี่ยนระเบียบวาระแม้จะดำเนินการตามสิทธิที่เป็นไปตามข้อบังคับ แต่เป็นคนละเรื่องกับที่ตนเสนอ ดังนั้นตามกระบวนการที่ถูกต้องจะต้องมีการวินิจฉัย และมีมติในสภาฯก่อนว่าจะอนุมัติให้มีการพิจารณาญัตติด่วนเรื่องแผ่นดินไหวในวันนี้ก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะไปดำเนินการเรื่องอื่นๆ มิฉะนั้นจะกลายเป็นการเสนอญัตติซ้อนญัตติ เช่นเดียวกับนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ที่เห็นตรงกับผู้นำฝ่ายค้านฯ คือให้พิจารณาไปตามลำดับ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเจรจากัน ยืนยันว่าเรื่องแผ่นดินไหวสำคัญที่สุดในเวลานี้
ทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย เสนอว่า เรื่องแผ่นดินไหวมีการหารือกันไปบ้างแล้ว น่าจะหาทางออกได้ แต่การอภิปรายญัตติเกี่ยวกับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เชื่อว่ามีสมาชิกสนใจจำนวนมาก และอาจจะใช้เวลาอภิปรายเยอะ แต่ญัตติด่วนเพื่อขอเลื่อนระเบียบวาระเป็นญัตติเพื่อเลื่อนขึ้นมาพิจารณาในสัปดาห์ต่อไป ไม่ใช่เลื่อนขึ้นมาพิจารณาในวันนี้ จึงเห็นควรให้มาลงมติในญัตติขอเลื่อนระเบียบวาระก่อน จากนั้นค่อยพิจารณาญัตติเรื่องแผ่นดินไหว สภาฯจะได้ทำหน้าที่อย่างสวยงาม ตามสิ่งที่ประชาชนติดตามอยู่
“ถ้ามาแย่งชิงกันในจังหวะแบบนี้มันไม่จบ อาศัยจังหวะขึ้นมาเสนอ แล้วซีกนี้จะต้องยอม ถ้าไม่ยอมประชาชนด่าว่าไม่เห็นความสำคัญของแผ่นดินไหว มันเป็นวิธีการที่ไม่สง่างาม ไม่เหมาะสม ความเป็นจริงของซีกรัฐบาลที่จะนำกฎหมายเชิงนโยบายเข้าก็เป็นซีกของเสียงข้างมาก” นพ.ชลน่าน กล่าว พร้อมเสนอให้มีการโหวตลงมติว่าจะนำญัตติใดขึ้นมาพิจารณาก่อน ก่อนกล่าวทิ้งท้ายว่า ในสภาฯแห่งนี้เสียงข้างมากถูกที่สุด
ส่วนนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ลุกขึ้นโต้นพ.ชลน่านที่ระบุ ญัตติด่วนเรื่องแผ่นดินไหว คงจะมีผู้สนใจอภิปรายจำนวนมาก โดยกล่าวว่า ตนไม่เข้าใจว่าหากมีการอภิปรายจำนวนมาก แล้วมันจะทำไม ตนก็อยู่ จนถึงสองทุ่มสามทุ่มก็อยู่ หรือจะยอมรับว่าในช่วงสองทุ่มสามทุ่มฝั่งนั้นจะไม่มีคนอยู่ลงมติ ขอให้พูดกันมาตรงๆเลย ยืนยันว่าต้องมีการวินิจฉัยว่าเป็นญัตติซ้อนญัตติหรือไม่ หากให้มีการโหวตว่าจะมีการพิจารณาญัตติใดก่อนหลัง จะทำให้ญัตติเรื่องแผ่นดินไหวของผู้นำฝ่ายค้านตกไปหรือไม่ แล้วที่บอกว่าเสียงข้างมากถูกต้องที่สุด มันอันตรายกับประชาธิปไตยอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ สส.พรรคร่วมรัฐบาล และสส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังเห็นไม่ตรงกัน และมีการโต้เถียงกันไม่จบ โดยนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ลุกขึ้นเสนอให้มีการลงมติทั้ง2ญัตติเพื่อให้นำมาพิจารณา แต่ควรนำญัตติเรื่องแผ่นดินไหว ขึ้นมาพิจารณาก่อนญัตติขอเลื่อนระเบียบวาระร่างพ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ประชาชนเดือดร้อน เพื่อให้สส.เสนอความเห็นเพื่อส่งให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขความเดือดร้อนประชาชน แล้วค่อยมาพิจารณาญัตติเลื่อนระเบียบวาระฯ อย่างไรก็ตาม สส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยืนยันว่าจะไม่เจรจาพูดคุยกับฝั่งสส.พรรคร่วมรัฐบาล โดยขอให้มีการพิจารณาไปตามที่ผู้นำฝ่ายค้านเสนอญัตติเรื่องแผ่นดินไหว
จากนั้นนายภราดร ที่เห็นว่ายังตกลงกันไม่ได้ จึงได้สั่งพักการประชุมเป็นเวลา10นาที เพื่อเปิดทางให้ทั้ง 2 ฝ่ายไปการเจรจาตกลงกัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี