เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในประเด็นที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศนโยบายภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก อาทิ ประเทศไทยซึ่งถูกกำหนดอัตราภาษีไว้ที่ร้อยละ 36 ว่า ตนตื่นมาตอนตี 5 เห็นข่าวแล้วก็ตกใจ เพราะก่อนหน้านี้ทรัมป์มีท่าทีอะลุ้มอล่วย แต่พอออกมาจริงๆ ตัวเลขดูรุนแรงและกระจายไปทั่ว
ดังนั้นนโยบายล่าสุดที่ทรัมป์ประกาศออกมาจึงสะเทือนไปทั่วโลก เรียกว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางเศรษฐกิจ โดยหากย้อนมองประวัติศาสตร์ ช่วงที่อัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เคยสูงในระดับนี้ต้องย้อนกลับไปถึงช่วง 10 ปีก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเวลานั้นเมื่อสหรัฐฯ ยกระดับภาษีก็ก่อให้เกิดการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า แต่เมื่อตอบโต้กันไป – มาก็ทำให้การค้าโลกลดลงอย่างมาก นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอทั่วโลก หรือ The Great Depression และสุดท้ายก็นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 2
ซึ่งสิ่งที่ตนกำลังจะบอกคือหากมีการคว่ำบาตรทางการค้า อย่าคิดว่าจะจบอยู่ที่การค้า แต่อาจลามไปสู่สิ่งที่ไม่ใช่สงครามเศรษฐกิจ แต่จะกลายเป็นสงครามที่ใช้อาวุธเข้าสู้รบกันจริงๆ อย่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จู่ๆ ญี่ปุ่นก็เข้าร่วมสงครามและส่งฝูงบินไปทิ้งระเบิดถล่มฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์ของสหรัฐฯ เรื่องนี้ไม่ใช่จู่ๆ ก็เกิดขึ้น แต่ต้องย้อนไปดูบริบทขณะนั้นที่สหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกเพียงรายเดียว
แต่เมื่ออยู่ดีๆ สหรัฐฯ หยุดขายน้ำมันให้ญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นคำนวณแล้วว่าปริมาณน้ำมันสำรองในประเทศเหลือไม่มากและไม่รู้จะหาซื้อจากที่ไหน ทำให้ตัดสินใจยกกองทัพไปบุกยึดดินแดนต่างๆ เช่น เกาะบอร์เนียว ก็เพื่อแสดงหาแหล่งน้ำมัน ดังนั้นสิ่งที่ตนเล่าคือประวัติศาสตร์ที่มีการแสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการตอบโต้หรือคว่ำบาตรกัน สถานการณ์ที่จะลามจากสงครามเศรษฐกิจไปเป็นสงครามสู้รบจริงสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย
“เวลานี้อย่าลืมว่ามันมีสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกซึ่งผมคิดว่าน่าเป็นห่วงอยู่ 2 เรื่อง 1.ยูเครน สหรัฐฯ พอเวลานี้เปลี่ยนเป็นทรัมป์เขาเดินหนีจากสงครามยูเครนก็จริง แต่พอสหรัฐฯ เดินหนี ประเทศในยุโรปตะวันตกกลับจับมือกันแล้วจะไปในลักษณะที่ผมคิดว่าน่ากลัว คือก่อนหน้านี้ส่งเงินและส่งอาวุธให้ยูเครนเป็นคนรบ เวลานี้เขาประกาศแล้วว่าลำดับต่อไปจะมีทหารอังกฤษ ฝรั่งเศส และอาจรวมถึงเยอรมันเข้าไปประจำการในยูเครน ร่วมรบด้วย เขาพูดทำนองว่าเข้าไปเพื่อรักษาสันติภาพ แต่ถ้าอาวุธรัสเซียมาโดนเขาก็จะตอบโต้” นายธีระชัย กล่าว
นายธีระชัย กล่าวต่อไปว่า 2.สหรัฐฯ พยายามเข้าไปกดดันอิหร่านเพื่อเจรจาเรื่องโครงการพัฒนานิวเคลียร์ โดยหากย้อนมองประวัติศาสตร์ อิสราเอลซึ่งเป็นประเทศเดียวที่มีนิวเคลียร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง และไม่ยอมให้ประเทศอื่นได้มีบ้างโดยเด็ดขาด อย่างครั้งหนึ่งอิรักหรือซีเรียสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาก็ถูกอิสราเอลระเบิดทำลายทิ้งทันที ดังนั้นปัจจุบันตนเชื่อว่าอิสราเอลคงจับตามองอิหร่าน โอกาสเกิดปัญหาจึงสูงมากและเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะกระทบทั้งราคาน้ำมันและการขนส่งสินค้า
ซึ่งทั้ง 2 เรื่องข้างต้นเดิมก็น่ากังวลอยู่แล้ว เมื่อมาเจอการประกาศนโยบายภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีทรัมป์เป็นผู้นำเข้าไปอีก ส่วนคำถามว่าสหรัฐฯ กำลังเร่งให้เกิดสงครามหรือไม่ หากมองลึกไป 2-3 ชั้น เราต้องมองว่าทรัมป์อยากได้อะไร เพราะด้านหนึ่งเข้าใจได้ว่าสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามานาน ซึ่งหากประเทศเล็กๆ ขาดดุลการค้ามานานๆ ค่าเงินจะอ่อน การใช้จ่ายเกินตัวก็ต้องหยุด
แต่ด้วยความที่เงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ เป็นสกุลเงินของโลก ค่าเงินจึงไม่อ่อน แต่ก็ทำให้สถานการณ์ขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ เลวลงไปเรื่อยๆ จึงเกิดมาตรการนี้ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากไปดูหนังสือ Trump : The Art of the Deal (ฉบับแปลไทยใช้ชื่อ “เส้นทางชีวิตสู่ธุรกิจพันล้าน”) ซึ่งทรัมป์เคยเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2530 จะเห็นทั้งความมุ่งมั่นและการมีความสามารถสูงในการเจรจา และเทคนิคการเจรจาของทรัมป์คือประกาศอะไรออกมาแบบเข้มๆ ไว้ก่อน เพื่อให้คนอื่นๆ เข้าไปเจรจา
“ผมคิดว่าแนวคิดของเขาขณะนี้คือพอโดนบีบอย่างนี้แล้วหลายๆ ประเทศจะยอมลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าของสหรัฐฯ แล้วเขาก็จะออกมาประกาศว่า นี่ไง!..ไปทำให้เกิดการลดภาษีนำเข้าทั่วโลกเลย แล้วก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ปัญหาเวลานี้คือขบวนการขั้นตอนในการที่จะไปสู่เป้าหมายของทรัมป์ไม่ง่าย ถ้าเขาออกมาแล้วภาพออกมาแล้วเขามีพลังอำนาจแล้วมีเทคนิคในการเจรจา แล้วปรากฏว่าวางไพ่ทีแรกเข้มเลย แล้วปรากฏว่าประเทศต่างๆ ก็มา แล้วในที่สุดก็ยอม ภาษีของสินค้าสหรัฐฯ ที่จะเข้าไปในยุโรปก็ดีอะไรก็ดี เวลานี้ลดลงมาเลย ในแง่นี้ก็ต้องยอมรับว่าการค้าโลกมันก็จะดีขึ้น” นายธีระชัย ระบุ
นายธีระชัย ยังกล่าวอีกว่า แต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้นก็จะเกิดการเบียดกันไป – มา เพราะว่าบางประเทศก็จะไม่ยอมในทันทีและมีการตอบโต้ ขณะที่บางประเทศแม้จะยอม เช่น สมมติไทยยอมลดภาษีให้สหรัฐฯ ก็ต้องลดให้ประเทศอื่นด้วยในสินค้าเดียวกัน เว้นแต่เราสามารถไปเจรจาแล้วไปทำเป็นเขตการค้าเสรีพิเศษระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ดังนั้นขั้นตอนในการเจรจา ดูแล้วสำหรับไทยยังต้องวางแผนดำเนินการอย่างแยบยล
และจริงๆ ที่ทรัมป์บอกจะเก็บภาษีสินค้าจากไทยร้อยละ 36 หากบวกภาษีฐานที่เก็บจากทุกประเทศร้อยละ 10 อยู่แล้ว เท่ากับสินค้านำเข้าจากไทยจะถูกเก็บภาษีถึงร้อยละ 46 เช่น จากของราคา 100 บาท กลายเป็น 146 บาทในสหรัฐฯ และผลกระทบไม่เพียงการส่งสินค้าไปสหรัฐฯ เท่านั้น แต่รวมถึงการส่งสินค้าไปประเทศอื่นๆ ด้วย เพราะการค้าและการบริโภคทั่วโลกก็ลดลง แม้กระทั่งนักลงทุนต่างประเทศที่จะมาลงทุนในไทยเพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปขายในสหรัฐฯ ก็จะสะดุดเช่นกัน รัฐบาลจึงต้องรีบวางแผน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘ทรัมป์’จัดชุดใหญ่‘กำแพงภาษี’สินค้านำเข้าทั่วโลก ‘ไทย’โดนไปจุกๆ36%
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี