ไทยกระอักสหรัฐฯขึ้นภาษี36%
‘อิ๊งค์’โวมีแผนรับมือ
เตรียมส่งทีมเจรจาต่อรองมะกัน
แนะทางออกให้ผู้ประกอบการ
มองหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ
นายกฯ ออกแถลงการณ์ท่าทีประเทศไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐฯ หลัง “ทรัมป์” ประกาศปรับภาษีนำเข้า 36% ชี้ระยะยาวผู้ประกอบการส่งออกไทยควรมองหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ลดความเสี่ยงพึ่งพาตลาดเดียว
ย้ำรัฐบาลวางมาตรการรองรับบรรเทาผลกระทบ ยันเตรียมพร้อมรับมือ ส่งสัญญาณพร้อมหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ เชื่อยังต่อรองได้ ลั่นไม่ให้ส่งผลกระทบจนทำให้จีดีพีพลาดเป้า
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสหรัฐอเมริกาเคาะตัวเลขเก็บภาษีนำเข้าที่ไทยถูกตั้งภาษี 36% สูงเป็นอันดับต้นๆของอาเซียน ว่า ที่จริงแล้วเราต้องปรับโครงสร้างภาษีนำเข้ากับสหรัฐอเมริกา และตั้งคณะทำงานเรื่องการเจรจาต่อรองกับสหรัฐอเมริกา ในส่วนของการปรับโครงสร้างภาษี สินค้านำเข้าไม่ได้เป็นสินค้าที่มากมายอะไร แต่พอเก็บภาษีแพงก็ทำให้ไทยโดนเป็นอันดับต้นๆ 36% ซึ่งก็สูงพอสมควร เราจะต้องมีการเตรียมทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นต้องดูว่าเราสามารถพูดคุยเจรจาต่อรอง เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ส่งออก และจะเยียวยาหรือช่วยอะไรได้บ้าง ขณะนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ กำลังหาข้อสรุปเพราะตัวเลข 36% เพิ่งออกมา
นายกฯ กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ทั้งมาตรการเบื้องต้นและสิ่งที่กำลังจะคุยกันต่อ เพราะที่จริงตัวเลขเฉลี่ยภาษีอยู่ที่ 9% แต่มีจำกัดว่าแต่ละประเภทสินค้าไม่ให้เกินเท่าไร เช่น ข้าวโพด จึงมีการนำตัวเลขนั้นมาเป็นค่าเฉลี่ย ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณที่ไม่เคยมีมาก่อน จึงต้องมาดูว่าสามารถบาลานซ์ อะไรได้บ้าง ซึ่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาก็ได้มีการพูดคุยกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ภายหลังมีตัวเลขออกมา โดยเฉพาะเรื่องการตั้งทีมเจรจา จึงไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องนี้
เมื่อถามว่าใครจะเป็นผู้นำในการเจรจา นายกฯกล่าวว่า ตอนนี้ยังอยู่ในการดูแลของปลัดกระทรวงพาณิชย์ และปลัดกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม ตัวแทนที่จะไปพูดคุย ต้องดูด้วยว่าจะไปพูดคุยกับใคร ในระดับไหน เนื่องจากมีหลายขั้น แต่ในระดับทำงานก็จะให้ปลัดไปพูดคุยกับทางนั้น รวมถึงรัฐมนตรี
เมื่อถามต่อว่า ตัวเลขที่ออกมา ได้มีการประเมินถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยมาน้อยแค่ไหนหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เรามีมาตรการที่จะดูแลผู้ประกอบการ แต่เรื่องของความเสียหายคิดว่า ยังสามารถเจรจาได้อยู่ เพราะตัวเลข 36% ยังไม่ได้เปิดใช้งาน (Activate ) มีแค่การเปิดใช้งานบางหัวข้อ พอได้ตัวเลขมาถ้ามีการต่อรองและปรับโครงสร้างภาษี ให้สมเหตุสมผล ยิ่งสมัยนี้เป็นแบบ ไม่มากไม่น้อยเกินไป (More for Iess - less for More ) ไม่ได้เป็นแบบเดิมที่จะมาเยอะใส่กัน หรือน้อยก็ต้องน้อยทั้งคู่ เป็นเรื่องการต่อรองกัน ซึ่งอันนี้เดี๋ยวจะลงดีเทลมื่อถามอีกว่าเป้าหมายที่จะไปต่อรอง จะให้ลดลงเท่าไร นายกฯกล่าวว่า จะขอให้รายละเอียดอีกครั้ง
เมื่อถามย้ำว่าตัวเลข 72% ที่สหรัฐพูดถึงพอจะทราบหรือไม่ว่าตัวเลข 72% นี้ มาจากไหน นายกฯ กล่าวว่า 72% อย่างที่บอกว่า คือวิธีการคิดตัวเลข แต่จริงๆแล้วตัวเลขเฉลี่ยของเราอยู่ที่ 9% แต่วิธีคิดของเขา 72 %คือการเอาตัวเลขทั้งหมดที่ไปด้วยมาคิดเป็น 72% แล้วครึ่งหนึ่งก็คือ 36% เลยกลายเป็นตัวเลขนี้ ซึ่งเป็นวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง เราก็ไม่เคยคิดแบบนี้ แต่ก็เข้าใจแล้ว
เมื่อถามถึงกรณีที่จีนนำเข้าสินค้ามาที่ไทย โดยมีการสวมสิทธิ์เป็นสินค้าไทยแล้วส่งออกทำให้ตัวเลขการส่งออกเราเยอะขึ้น นายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องมีการตรวจสอบให้เข้มข้นขึ้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกิดก่อนเรื่องภาษีของจีน จึงต้องดูอยู่แล้ว
เมื่อถามอีกว่าจะทำให้ตัวเลขจีดีพีพลาดเป้าจากที่รัฐบาลตั้งไว้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เราต้องไม่ปล่อยให้ไปจุดนั้น ที่จะทำให้จีดีพีพลาดเป้า และเมื่อเช้าที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกับ รมช.การคลัง เขาก็จะคุยในส่วนคลังและจะชี้แจงรายละเอียดต่อประชาชนเร็วที่สุด เนื่องจากเพิ่งได้ตัวเลขมาเมื่อคืนนี้ ส่วนแผนหรือโครงที่เราวางไว้ ค่อนข้างที่จะแน่นพอสมควร แต่นี่เป็นตัวเลขใหม่ขึ้นมา ก็ต้องปรับ เพราะที่ผ่านมาเราได้มีการตรึงตัวเลขสินค้าทุกตัว โดยมีหัวหน้าคณะ คือ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ทำเรื่องการค้าขายกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งดูทุกสินค้าที่เรานำเข้าและส่งออก ดังนั้น เร็วๆนี้น่าจะมีมาตรการออกมา
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ออกแถลงการณ์ถึงท่าทีของประเทศไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ว่า รัฐบาลไทยตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นของสหรัฐฯ ที่จะต้องปรับสมดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้าจำนวนมาก ผ่านนโยบายอัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Trade and Tariffs) ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐฯ ในขณะที่กรอบแนวคิดและยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีทรัมป์ มีความเป็นพลวัต (dynamic) และแตกต่างไปจากยุคก่อนอย่างสิ้นเชิง
ล่าสุดประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศนโยบายในงาน Liberation Day เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ขึ้นภาษีกับการนำเข้าจากทุกประเทศขั้นต่ำร้อยละ 10 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และสหรัฐฯ มองว่าเอาเปรียบสหรัฐฯ ตั้งแต่อัตราภาษีนำเข้า มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff Barriers) รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ จะถูกจัดเก็บ โดยแต่ละประเทศจะถูกปรับในอัตราที่แตกต่างกันในอัตราหารครึ่งจากอัตราที่สหรัฐฯ คำนวณว่าสินค้าของสหรัฐฯ ถูกจัดเก็บจากประเทศนั้นๆ
สำหรับประเทศไทย สหรัฐฯ กำหนดอัตราภาษีนำเข้าต่างตอบแทนไว้ที่ร้อยละ 36 โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568 เป็นต้นไปการประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาลสหรัฐฯ ย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าทุกรายอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่อาจไม่สามารถรับกับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและในระดับสูงได้ ดังนั้น ในระยะยาว ผู้ประกอบการส่งออกไทยควรมองหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดเดียว ซึ่งรัฐบาลไทยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และได้วางมาตรการรองรับในการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบที่อาจมีต่อผู้ประกอบการส่งออกของไทยที่มีตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดหลัก
รัฐบาลขอเรียนว่า ไทยได้ส่งสัญญาณความพร้อมที่จะหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในโอกาสแรก เพื่อปรับดุลการค้าให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด โดยได้มอบหมายให้คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2568 ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนในการติดตามและประเมินสถานการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างใกล้ชิดและรอบด้าน ตลอดระยะเวลา 3 เดือน เพื่อจัดเตรียม “ข้อเสนอเพื่อปรับดุลการค้ากับสหรัฐฯ ที่มีสาระสำคัญเพียงพอให้สหรัฐฯ มีแรงจูงใจที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจากับไทย” ที่เหมาะสม และส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และผู้ประกอบการในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องน้อยที่สุด ในขณะเดียวกัน ไทยยังอาจใช้โอกาสนี้ในการปรับโครงสร้างการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับบางอุตสาหกรรมได้
สุดท้ายนี้ รัฐบาลไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ จะมองถึงเป้าหมายการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจร่วมกันในระยะยาว ประเทศไทยยังคงยืนยันเจตนารมณ์ในการเป็นพันธมิตรและมุ่งมั่นผลักดันความร่วมมือในการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ เพื่อร่วมกันสร้างและพัฒนาภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแห่งอนาคตเพื่อตลาดโลก ให้เติบโตอย่างมั่นคง เพื่อท้ายที่สุด จะช่วยกันลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจและภาคการเกษตรของทั้งสองประเทศ ผ่านการหารืออย่างสร้างสรรค์โดยเร็ว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี