ผ่านพ้นไปแล้วกับ "การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล" เมื่อช่วงปลายเดือน มี.ค. 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนี้ฝ่ายค้านพุ่งเป้าไปที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียว ตลอดการอภิปรายระหว่างวันที่ 24 – 25 มี.ค. 2568 และแม้ในวันที่ 26 มี.ค. 2568 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติไว้วางใจ 319 เสียง มากกว่าไม่ไว้วางใจ 162 เสียง โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 7 คนงดออกเสียง เป็นอันว่านายกฯ แพทองธาร ยังได้อยู่บริหารประเทศต่อไป แต่ในส่วนการทำหน้าที่ของแกนนำพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาชนก็ถือว่าน่าจับตามอง
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่วันที่ 26 มี.ค. 2568 พูดคุยกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงการอภิปรายครั้งนี้ โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คะแนนลงมติที่ออกมานั้นไม่น่าแปลกใจ เพราะในเมื่อฝ่ายค้านตัดสินใจอภิปราบนายกฯ เพียงคนเดียว บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลก็ต้องผนึกกำลังกัน แม้จะมีปัญหาบ้าง 1-2 คนก็ตาม
แต่ในส่วนของฝ่ายค้าน ตนเข้าใจว่าทางพรรคประชาชนน่าจะครบ แต่ในส่วนของพรรคอื่นๆ ก็เห็นมีการให้สัมภาษณ์หรือมีการเคลื่อนไหวกันมาตลอด แต่โดยรวมก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องสมการของคะแนนเสียง ซึ่งคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่าหากไม่มีข้อมูลในการอภิปรายที่ทำให้ทุกคนแปลกใจและกลายเป็นประเด็นใหญ่ขึ้นมา คะแนนแบบนี้ทุกคนก็คาดการณ์ได้
ส่วนกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี สส. 4 คน ในจำนวนนี้เป็นระดับอดีตหัวหน้าพรรคถึง 3 คน ที่งดออกเสียง ก็เข้าใจได้ว่าเป็นการแสดงจุดยืน เพราะเป็นคนที่ต่อสู้มาตลอดเรื่องไม่เห็นด้วยที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องไปคุยกัน ทั้งนี้ ในช่วงที่ตนเป็นหัวหน้าพรรค หากใครประสงค์จะไม่ลงมติตามมติของพรรคหรือของวิป ส่วนใหญ่ก็จะมาชี้แจงเหตุผลกับพรรคและวิปไว้ล่วงหน้า ซึ่งบางครั้งก็จะอะลุ้มอล่วยให้ แต่บางเรื่องก็ต้องบอกว่าเรื่องสำคัญ
ส่วนการอภิปรายตลอด 2 วันที่ผ่านมา ในส่วนของฝ่ายค้านแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ได้มีอะไรที่เป็นข้อมูลใหม่ แต่ก็ได้แสดงบทบาทเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี ในการตรวจสอบรัฐบาลจริงๆ และน่าจะเป็นครั้งแรกๆ ที่หยิบประเด็นซึ่งมีความแหลมคมที่เกี่ยวข้องกับตัวของนายกฯ คือเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินกับเรื่องชั้น 14 ที่มีการออกมาพูดแบบชัดเจน ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น การไม่ทำตามสัญญาเรื่องปฏิรูปการเมือง เรื่องค่าไฟฟ้า เรื่องฝุ่น เรื่องการแสดงออกของนายกฯ ที่ถูกมองว่าขาดวุฒิภาวะ ขาดความรู้ความสามารถ
เรื่องเหล่านี้พูดง่ายๆ หากเป็นคนที่ไม่ชอบนายกฯ ไม่ชอบรัฐบาลคงถูกใจ เห็นว่าสอบผ่าน แต่ตนก็เห็นในบางประเด็นที่หยิบขึ้นมาแล้วหวังให้ขยายผลได้ เช่น ไอโอหรือปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพ เพราะประเด็นที่ตามาคือแล้วรัฐบาลจะไปจัดการอย่างไร ซึ่งหากเอกสารที่ฝ่ายค้านนำมาแสดงในสภาเป็นความจริง ก็กลายเป็นมีบุคคลสำคัญในรัฐบาลอยู่ในเป้าหมายด้วย ก็อาจมีการขยายผลทางการเมือง
“เรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินก็ดี เรื่องชั้น 14 ก็ดี รวมไปถึงเรื่องโรงแรม เรื่องอัลไพน์ ก็คงไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ก็ต้องมีการตรวจสอบต่อไป ในแง่นี้ความจริงเลยมีทั้งด้านบวกและด้านลบกับฝ่ายค้าน ด้านบวกคือแปลว่าถึงแม้ว่าวันนี้คะแนนเสียงจะแพ้ไป แต่ยังมีประเด็นที่อาจนำไปสู่การขยายผลได้ ซึ่งก็ต้องดูต่อไปว่าแต่ละเรื่องเขาจะดำเนินการอย่างไร? เพราะมันไปได้หลายช่องทาง อาจเป็นเรื่องจริยธรรม จะไปผ่านผู้ตรวจการไหม? หรือ ป.ป.ช. แม้กระทั่งหน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องโดยตรง เรื่องภาษีอากร เรื่องกรมที่ดินหรืออะไรต่างๆ”
แต่ที่หลายคนมองว่าตลอด 2 วันที่ผ่านมา ไม่ได้สร้างความสั่นสะเทือนเท่าที่ควร เพราะเหมือนกับเรื่องยังไม่จบ อย่างกรณีชั้น 14 นายกฯ บอกให้รอฟังแพทยสภา จึงทำให้การพูดหลายอย่างไม่ได้มีประเด็นที่จบครบและสามารถที่จะบอกว่านี่คือความเสียหายและใครต้องรับผิดชอบ ส่วนการเปรียบเทียบการอภิปรายระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคประชาชน ประเด็นนี้อย่าลืมว่าพรรคประชาชนเป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทยมานาน ยังไม่ต้องนำว่าผู้นำทางจิตวิญญาณของทั้ง 2 ฝ่าย ถูกพูดถึงว่ามีการติดต่อกันอยู่เสมอ
ซึ่งตนไม่ได้พูดว่ามีการไปตกลงอะไรหรือไม่ แต่พูดในแง่ว่าเมื่อเราฟังการอภิปรายเราจะเห็นว่าเรื่องไหนที่ย้อนกลับไปถึงสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพูดอย่างหนักหน่วงได้ เพราะนั่นเป็นธรรมชาติซึ่งเขาต่อสู้กับตรงนี้มา และยังยืนยันว่าเขาต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่า ข้อหาที่พรรคประชาชนตั้งก็คือพรรคเพื่อไทยไปสยบยอมกับอำนาจเก่าแล้ว ดังนั้นหลายครั้งเวลาคนฟังก็กลายเป็นว่าเป้าไปที่กลุ่มอำนาจเก่ามากกว่าพรรคเพื่อไทย
โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ ที่นายกฯ ตั้งคำถามกึ่งท้าว่าพรรคประชาชนจะกล้าประกาศหรือไม่ว่าจะร่วมหรือไม่ร่วมกับใคร แล้วก็ไม่มีคำตอบ จุดนี้ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่ายังขาดบางสิ่งบางอย่างไปซึ่งไม่เหมือนกับยุคที่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคไทยรักไทยต่อสู้กัน รวมถึงเรื่องประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาอภิปรายในเวลานั้น เช่น จำนำข้าว CTX จะมีเรื่องเฉพาะที่แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดหรือการทำผิดที่ชัดเจนอยู่แล้ว และพร้อมยื่นเรื่องต่อ จึงต้องดูกันต่อไปว่าประเด็นที่พอขยายผลได้ ทางพรรคประชาชนจะทำได้มาก – น้อยเพียงใด
แต่ตนก็มองว่าสำหรับผู้สนับสนุนพรรคประชาชนคงไม่ผิดหวัง เพราะมาตรฐานการอภิปรายที่ยังคงมีข้อมูลที่แน่นพอสมควรแม้จะเป็นข้อมูลที่เคยปรากฏต่อสาธารณะแล้วก็ตาม รวมถึงการเรียบเรียงประเด็นและการนำเสนอ ตนมองว่าพรรคประชาชนทำได้ดี ส่วนคำถามว่า ในเมื่อพรรคประชาชนมีความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย การอภิปรายจะเหมือนกับการเล่นละครหรือไม่ ตนมองว่าหากให้ความเป็นธรรม หากดู สส. ที่อภิปราย เช่น นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นายรังสิมันต์ โรม หรือ น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ การพูดก็ดูไม่ใช่ลักษณะเป็นมิตรเท่าไร
“เพียงแต่ในภาพรวมทั้งหมดมันก็ยังมีปัญหาที่ว่าทางการต่อสู้ของพรรคประชาชน เขายังมุ่งไปสู่โครงสร้างอำนาจมากกว่า มันก็เลยทำให้เวลามาอยู่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะพรรคเพื่อไทย คนก็อาจจะมองด้วยความงงๆ นิดหน่อยว่าทำไมกลับไปตรงโน้น”
ส่วนข้อสังเกตที่ว่า พรรคประชาชนตั้งหัวข้อการอภิปรายครั้งนี้ว่า “ดีลแลกประเทศ” แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าคืออะไร รวมถึงที่พูดถึงการครอบงำก็เช่นกัน ประเด็นนี้จริงๆ ตนมองว่าพรรคประชาชนมีความชัดเจนในระดับหนึ่ง รวมถึงในช่วงต้นที่ผู้นำฝ่ายค้านได้สรุปก็แหลมคมพอสมควร ที่บอกว่าประเทศไทยยอมเสียทุกอย่างเมื่อ 20 ปีก่อน เพื่อให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีออกไป แต่วันนี้กำลังจะยอมเสียทุกอย่างเพื่อให้นายทักษิณกลับมา ตนมองว่าคำกล่าวนี้ก็สื่อความหมายอยู่ในตัวเรื่องดีลแลกประเทศ
อีกทั้งตลอดการอภิปรายทั้ง 2 วัน พรรคประชาชนก็ย้ำเสมอว่าการที่พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนแปลงจุดยืนไปในเรื่องต่างๆ ทั้งที่เคยหาเสียง ที่เคยโจมตี หรือที่เคยมีจุดยินเดียวกันแต่กลับเปลี่ยนไป เพราะไปแลกกับผลประโยชน์ส่วนตัวที่ได้รับในรูปการกลับมาของนายทักษิณหรืออะไรต่างๆ เพียงแต่ที่คนคาดหวังว่าจะมีการเปิดข้อมูลที่สร้างความฮือฮา เป็นหมัดเด็ดหรือหมัดน็อก หรืออภิปรายแล้วเกิดแรงสั่นสะเทือน ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้น
ส่วนที่คาดหวังกันว่าจะนำไปสู่การยุบสภาหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ตนมองว่าตลอด 2 วันที่ผ่านมา พรรคประชาชนต้องการแสดงให้เห็นว่าเป็นเพียงพรรคเดียวเท่านั้นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง จากจุดนี้ทำให้พรรคประชาชนยังสามารถยึดมั่นฐานต่างๆ และหวังว่าจากวันนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งครั้งหน้า คนที่มองเห็นว่าประเทศต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะสนับสนุนพรรคประชาชน ซึ่งหากมองในแง่นี้พรรคประชาชนก็ไม่ถึงขั้นบรรลุเป้าหมายในการอภิปรายครั้งนี้ แต่ในทางกลับกันก็ต้องบอกว่าผลสะเทือนที่มีต่อรัฐบาลหรือนายกฯ ถือว่าน้อย
โดยสรุปแล้ว ตนมองว่าเป้าหมายของพรรคประชาชน ประการแรกคือรักษาฐาน ประการที่สองคือสำหรับคนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง มีแนวคิดหัวก้าวหน้า หรือไม่พอใจกับความไม่โปร่งใสหรือไร้ทิศทางการทำงานของรัฐบาล ก็จะมาสนับสนุนพรรคประชาชนมากขึ้น อย่างหากไปถามชนชั้นกลางโดยทั่วไป ตนก็คิดว่าคงพึงพอใจการทำหน้าที่ของพรรคประชาชนในระดับหนึ่ง ดังนั้นพรรคประชาชนไม่เสียแน่นอนและอาจได้คะแนนบวกเล็กน้อย
“ในทางกลับกันผมก็บอกว่ารัฐบาลก็ไม่ได้สะเทือน และนายกรัฐมนตรีผมว่าก็สามารถรักษาฐานของตัวเองได้ ไม่ได้มีปัญหาว่าหลุดหรือทำอะไรที่จะเสียหาย คงไม่สามารถทำให้คนที่ไม่ชอบมาชอบได้หรอก แต่สำหรับคนที่ชอบอาจจะมีความมั่นใจมากขึ้นว่าสามารถจะผ่านการอภิปรายแบบนี้ไปได้โดยที่ไม่มีปัญหามากนัก แล้วผมก็สังเกตว่าเรื่องอะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อการที่จะพลาดในเรื่องข้อเท็จจริงต่างๆ นายกฯ ก็จะให้คนอื่นชี้แจง”
ส่วนตำถามว่า น.ส.แพทองธาร สอบผ่านหรือไม่ในการอภิปรายครั้งนี้ ตนมองว่าปมบางเรื่องตอบยากหรือตอบไม่ได้ และหากวันนั้นตนอยู่ในสภาฯ ก็คงไม่ยกมือโหวตให้ อย่างหลายเรื่องที่พรรคประชาชนถามไปก็ไม่มีคำตอบ เช่น เรื่องตั๋วสัญญาใช้เงิน คำตอบเดียวที่เข้ามาและเกี่ยวข้องคือตั้งใจจะชำระหนี้ในปีหน้า แน่นอนทุกกคนก็เกิดคำถามขึ้นว่าตั้งใจตั้งแต่เมื่อใด? หรือเพราะมีการอภิปราย? เพื่อลบล้างข้อกล่าวหาที่ว่าเป็นนิติกรรมเรื่องการให้ ไม่ใช่การกู้ยืม และเป็นการซื้อเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี
และแม้จะเข้าใจว่ากรมสรรพากรจะชี้แจงเบื้องต้นว่าไม่ผิด แต่ก็มีคำถามได้อีกว่าหากหลังจากนี้ทุกคนสามารถยกของให้กันด้วยการใช้วิธีกู้ยืมแต่ไม่ต้องชำระเงินกันจริงๆ เมื่อผู้ให้เสียชีวิตสิ่งนั้นก็ไปตกอยู่กับคนรับ ต่อไปการเก็บภาษีก็จะไม่มีความหมาย ซึ่งจะเป็นนิติกรรมอำพรางหรือมีความตั้งใจจะชำระเงินอยู่แล้วในภายหลัง ก็ต้องไปตรวจสอบว่าที่มาของธุรกรรมนี้คืออะไร? และหากทำแบบนี้ได้โดยไม่ผิด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องไปคิดกันต่อว่าจะปิดช่องโหว่เรื่องการเลี่ยงภาษีได้อย่างไร?
ส่วนเรื่องชั้น 14 เท่าที่ฟังการอภิปรายไล่เรียงว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในแต่ละช่วง ตนก็ยังมองไม่ค่อยออกว่าการป่วยที่ไม่สามารถรักษาใน รพ.ราชทัณฑ์ ได้คืออะไร? ยังไม่มีคำตอบตรงนี้ โดยรัฐบาลก็ใช้เรื่องเบี่ยงเบนว่าทุกอย่างเกิดขึ้นก่อนที่ น.ส.แพทองธาร จะมาเป็นนายกฯ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง แต่ฝ่ายค้านก็พยายามกล่าวหาว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมีความผิด เพราะหากไม่ได้ป่วยจริง จะมีความผิดตั้งแต่การนำตัวออกมาจากเรือนจำ การให้อยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ไปจนถึงการได้รับการพักโทษ
โดยผู้อภิปรายคือ นายรังสิมันต์ โรม ได้กล่าวว่า บังเอิญระหว่างนั้นนายกฯ แพทองธาร ต้องบอกว่ามีส่วนร่วมรู้เห็น และหากมีความผิดเมื่อมาดำรงตำแหน่งแล้วคือไม่ได้ทำอะไร ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านจะอยู่ตรงนี้ แต่นายกฯ หรือรัฐบาลไม่ได้ตอบ ทำเพียงการบอกว่า 1.เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนมาดำรงตำแหน่ง กับ 2.รอผลสอบของแพทยสภา หรืออย่างรัฐมนตรียุติธรรม ที่ออกมาบอกทำนองว่าเพียงการจำกัดสิทธิ์ให้อยู่ในพื้นที่นั้นก็คือการถูกคุมขังแล้ว แต่ก็ไม่ตรงกับประเด็นที่ว่าหากผู้ต้องขังคนอื่นๆ จะไปอยู่ รพ.ตำรวจ บ้างจะต้องมีอาการป่วยอย่างไร?
“จริงๆ หลายเรื่องมันก็มีประเด็น อย่างกรณีของโรงแรม อันนี้ผมฟังแล้วยังไม่ค่อยชัดเจนว่าตกลงแล้วมันเป็นอย่างไร? เรื่องอัลไพน์ก็ต้องบอกว่าเมื่อมีการเพิกถอนแล้วต่อไปก็เป็นประเด็นเรื่องชดเชยค่าเสียหาย มันก็เหมือนกับเป็นคำตอบอยู่ในตัวว่าข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ผ่านมาตกลงอะไรถูก – อะไรผิด? มันก็ไม่ได้ชัดเจนว่าตัวนายกฯ ในส่วนที่มีการกระทำผิดตอนแรกหรือการมารับรู้ปัญหาทีหลังได้ทำอะไรผิดหรือไม่? และโดยเฉพาะเมื่อมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ถ้ามีการเพิกถอนอะไรต่างๆ มีการชดเชยค่าเสียหายตามกฎหมายจริง มันก็คงไม่มีประเด็นอะไรที่จะไปบอกว่าทำไม่ถูกต้อง”
กับคำถามว่า “ใครคือ ‘ดาวสภา’ ของการอภิปรายครั้งนี้?” ตนมองว่า นายรังสิมันต์ โรม ทำได้ดี เพราะแม้ข้อมูลที่นำมาพูดจะเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้ว แต่การลำดับเหตุการณ์ การชี้ให้เห็นถึงบทบาทของแต่ละคนที่เกี่ยวข้อง การอ้างอิงกับกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงพูดอย่างชัดเจนว่าที่ไม่ไว้วางใจนายกฯ เพราะหลังจากเรื่องเกิดขึ้นทั้งหมดแล้วมีส่วนในการกระทำผิดหรือไม่? และต้องดำเนินการอย่างไร? ตนมองว่าเป็นการสรุปเรื่องนี้ได้อย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรก และตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ประชาชนก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในเรื่องนั้นมากที่สุด
ส่วนคนอื่นๆ จากพรรคประชาชนที่อภิปรายได้ดี เช่น นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรืออย่าง น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ ที่แม้จะเป็นเพียงการเรียบเรียงสิ่งที่ปรากฏอยู่แล้วก็เหมือนกับได้พูดแทนใจคนอีกจำนวนมากที่มีความรู้สึกแบบเดียวกัน แต่ในส่วนของ น.ส.รักชนก ศรีนอก ที่อภิปรายเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แม้จะเตรียมข้อมูลมาดี แต่บังเอิญว่าเป็นประเด็นที่พูดไปแล้วเสียเปรียบ
“ในแง่ของคนทั่วไป คงไม่ได้ตั้งใจฟังลงลึกถึงขั้นว่าตกลงการปราบปรามมันเกิดขึ้นโดยฝีมือใคร แล้วมันปราบแล้วยังมีปัญหา ยังไม่สำเร็จ หรือไปติดขัดอะไรตรงไหนอย่างไร เพราะคนจะมองแค่ภาพรวมว่ารัฐบาลเขาทำแล้วนี่ จะสังเกตว่าเรื่องนี้นายกฯ ตอบเลยว่ามันลดหลอกลวงไปได้กี่เปอร์เซ็นต์ เหยื่อลดลง จำนวนอะไรต่างๆ ลดลงอย่างนี้เป็นต้นๆ แต่จริงๆ ผมว่าการอภิปรายของคุณรักชนกก็ทำได้ดี จริงๆ คนอื่นๆ ก็ดี เรื่องไฟฟ้า เรื่องอะไรต่างๆ”
ส่วนการทำหน้าที่ของ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงเปิดประเด็นถือว่าทำได้พีพอสมควร รวมถึงการสรุปในช่วงแรกก็มีความแหลมคม จนมาเกิดปัญหาข้อถกเถียงว่าหากไปพาดพิงนายกฯ เพิ่มเติม แล้วนายกฯ จะมีสิทธิ์ลุกขึ้นชี้แจงได้อีก แล้วก็มีการประท้วงกันว่าข้อบังคับไม่ใช่แบบนั้น ในขณะที่ประธานในที่ประชุมก็งงๆ ถามว่าจะเอาแบบนั้นแบบนี้หรือไม่? ตอนจบก็เหมือนไปเล่นเกมนั้น ทำนองว่ากำลังจะพูดต่อ
แต่จริงๆ หากในเวลาในชั่วโมงนั้นขมวดปมทั้งหมด อย่างตนดูอภิปรายอยู่ก็เห็นผู้นำฝ่ายค้านนั่งจดประเด็นตลอด รวมถึงการสรุปช่วงแรกก็เห็นแล้วว่าสามารถขยายผลให้เห็นว่าอะไรบ้างรัฐบาลไม่ได้ตอบ (หรือตอบไม่ตรง – ตอบผิด) ซึ่งก็น่าเสียดายว่าหากมีเวลาพูดอีกประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อขยายความ ก็อาจทำให้เห็นภาพที่ชัดเจขึ้นว่าทั้งหมดที่พูดมาสร้างประเด็นความไม่ไว้วางใจอย่างไร!!
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี