ถก BIMSTEC ชื่นมื่น
‘อิ๊งค์’เคลียร์‘มิน อ่อง หล่าย’
ร่วมแก้ปัญหาไฟป่า-แก๊งคอลฯ
การประชุม 7 ชาติ ในความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล หรือ BIMSTEC ราบรื่น นายกฯ “อิ๊งค์” หารือ “มิน อ่อง หล่าย” ผู้นำเมียนมา ร่วมแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ-คอลเซ็นเตอร์ จับมือ ขุดลอกแม่น้ำภาคเหนือพรมแดนไทย-เมียนมา เตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วม ก่อนฤดูฝน พร้อมโชว์วิชั่นพัฒนาภูมิภาคให้ยั่งยืน
เมื่อเวลา 08.00 น.วันที่ 4 เมษายน 2568 ที่โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมผู้นำบิมสเทค (BIMSTEC) ครั้งที่ 6 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกแบบตัวต่อตัวในรอบ 7 ปี
โดยการประชุมครั้งนี้ มีผู้นำทั้ง 7 รวมทั้งไทย เข้าร่วมประชุม ได้แก่ ศาสตราจารย์มูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ , นายดาโช เชริง โตบเกย์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรภูฏาน , นายนเรนทร โมที นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย , พลเอกอาวุโส มิน ออง ไลง์ ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา , นายเค พี ศรรมะ โอลี นายกรัฐมนตรีแห่งเนปาล , ดร.หริณี อมรสุริยะ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
ก่อนการประชุม น.ส.แพทองธาร ได้พบหารือทวิภาคีกับ พลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย ประธานสภาบริหารแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาโดยได้กล่าวแสดงความซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานสิ่งของแก่ประชาชนเมียนมา ซึ่งได้จัดส่งถึงเมียนมาแล้วเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา
ในโอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือครอบคลุมทั้งความร่วมมือด้านการป้องกันพิบัติภัย ทั้งภัยธรรมชาติ และภัยจากมนุษย์ รวมทั้งอาชญากรรมข้ามพรมแดน ยาเสพติด และการลักลอบการค้าที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะความร่วมมือในการปราบปรามแก๊ง call center และขบวนการ online scam รวมทั้งประสานเหยื่อผู้ถูกหลอกลวงกลับประเทศ ซึ่งมาตรการที่เด็ดขาดของประเทศไทย ทำให้การส่งข้อความและการโทรศัพท์หลอกลวง ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ได้สั่งการหน่วยความมั่นคงให้มีการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมภัยไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ผู้นำทั้งสองฝ่าย ยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินการในการเดินหน้าตาม “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” (Clear Sky Strategy) เพื่อยกระดับการป้องกันและแก้ไขไฟป่า ฝุ่นละออง และหมอกควัน โดยมีสมาชิก 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย , สปป.ลาว และเมียนมา โดยที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างมาก จุดความร้อน และปัญหาฝุ่นควันลดน้อยลง นอกจากนี้ ไทยและเมียนมา ยังได้ร่วมกันเตรียมการป้องกันปัญหาน้ำท่วม ด้วยการเร่งขุดลอก รื้อถอน สิ่งกีดขวางทางน้ำในแหล่งน้ำ และแม่น้ำระหว่างสองประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ก่อนฤดูฝนในปีนี้
ทั้งนี้ ประเทศไทยและเมียนมา จะร่วมกันแบ่งปันองค์ความรู้ทางการเกษตรและปศุสัตว์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้เกษตรสมัยใหม่ เช่น ข้าวโพด ให้มีผลผลิตมากขึ้น ให้ทำลายธรรมชาติน้อยลง และลดการเผาพืช รวมทั้งการส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ ไก่ โค สุกร ซึ่งจะสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นด้วย
โดยความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ บิมสเทค (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation หรือ BIMSTEC) ครั้งนี้ เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ และเป็นการริเริ่มและผลักดันของไทย ตามนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy)
ปัจจุบัน บิมสเทค มีความร่วมมือ 7 สาขา (1) การค้า การลงทุน และการพัฒนา (2) สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (3) ความมั่นคง (4) การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (5) การปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน (6) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ (7) ความเชื่อมโยง ไทยรับตำแหน่งประธานบิมสเทคต่อจากศรีลังกา
ซึ่งผู้นำทุกประเทศสมาชิกได้เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง สะท้อนถึงการยึดมั่นในพันธสัญญาที่ทุกประเทศร่วมกันในฐานะสมาชิก ที่มีประชากรทั้งหมดราว 1,800 ล้านคน ซึ่งเป็นพลังและความจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องมีความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ
ต่อมา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวผลการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation : BIMSTEC) ครั้งที่ 6 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2547 และรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พาบิมสเทคกลับมายังกรุงเทพมหานคร และมีโอกาสต่อยอดบนรากฐานที่ได้วางไว้ตลอดช่วง 20 ปี
ส่วนแนวคิดหลักภายใต้การดำรงตำแหน่งประธานบิมสเทคของไทย คือ “บิมสเทค ที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง” ท่ามกลางสถานการณ์ระหว่างประเทศ และความท้าทายในภูมิภาค บิมสเทคจะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือและการดำเนินการร่วมกัน โดยเฉพาะในด้านการเตรียมความพร้อม การบรรเทาผลกระทบและการฟื้นฟูประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ ผ่านกรอบความร่วมมือที่มีอยู่ รวมถึงการจัดตั้งกลไกที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นบนพื้นฐานจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้น
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวว่า ที่ประชุมบิมสเทค ได้รับรองเอกสารผลลัพธ์สำคัญ 6 ฉบับ ได้แก่ ฉบับแรกวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ และถือเป็นวิสัยทัศน์ฉบับแรกของพวกเราที่กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อสร้าง “บิมสเทคที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง” (PRO BIMSTEC) ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการทางเศรษฐกิจ การเชื่อมโยง และความมั่นคงของมนุษย์
ฉบับที่สอง ปฏิญญาการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ซึ่งเป็นการยืนยันถึงเจตนารมณ์ของพวกเราในการส่งเสริมบิมสเทคและผลักดันวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030
ฉบับที่สาม กฎระเบียบสำหรับกลไกการดำเนินงานของบิมสเทค ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานที่เป็นระบบและมีกฎเกณฑ์เป็นพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นระเบียบแบบแผนในการดำเนินงานของบิมสเทค
ฉบับที่สี่ รายงานของคณะผู้ทรงคุณวุฒิว่าด้วยทิศทางของบิมสเทคในอนาคต ซึ่งนำเสนอข้อเสนอแนะสำคัญที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030ฉบับที่ห้า เราได้เป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล ซึ่งมีเป้าหมายในการเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางทะเลระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ ลดต้นทุนการค้า และอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้าและประชาชน
ฉบับที่หก ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ร่วมของผู้นำบิมสเทคว่าด้วยผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาและไทย ซึ่งเป็นการแสดงความเสียใจ ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และความมุ่งมั่นของบิมสเทคในการสนับสนุนประเทศที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงเป็นการยืนยันความร่วมมือที่แน่นแฟ้นด้านการจัดการภัยพิบัติ และเสริมสร้างกลไกตอบสนองต่อภัยธรรมชาติให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ กรอบแนวคิด PRO BIMSTEC จะทำให้บิมสเทคสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์การระดับภูมิภาคและองค์การระหว่างประเทศได้อย่างแข็งขันมากขึ้น สิ่งนี้จะทำให้ประชาคมโลกได้ยินเสียงของเราในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ การค้า ความเชื่อมโยง และความมั่นคงของมนุษย์
ส่วนผลลัพธ์ของการประชุมผู้นำครั้งนี้จะนำไปสู่ประโยชน์โดยตรงที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้สำหรับประชาชนไทย ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเลจะลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นและขยายโอกาสใหม่ด้านการตลาดและการลงทุน การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยวและความร่วมมือทางวัฒนธรรมจะกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของไทยและสร้างโอกาสการจ้างงานใหม่ ๆ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่โอกาสทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนไทย
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแสดงความยินดีกับประเทศสมาชิกบิมสเทคทุกประเทศต่อความสำเร็จของการประชุมผู้นำในวันนี้ และรอคอยด้วยความมุ่งหวังที่จะได้เห็นความสำเร็จภายใต้การนำของบังกลาเทศต่อไป
จากนั้นนายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวและตอบคำถามกับสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ ว่า ที่ประชุมบีมสเทค ครั้งนี้ไม่ได้มีการหารือถึงสถานการณ์การเมืองภายในของเมียนมา
แต่มีการพูดคุยถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในเมียนมา โดยได้สะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อจัดการภัยพิบัติในกลุ่มบีมสเทค พร้อมย้ำว่า การที่ไทยในฐานะประธานการประชุมบีมสเทคครั้งนี้เชิญผู้นำเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วย เป็นไปตามกฎบัตรของบีมสเทคที่ต้องเชิญผู้นำทุกประเทศมาร่วมประชุม รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจว่า ข้อตกลงทุกอย่างจะได้รับการรับรองจากทุกประเทศสมาชิก
ส่วนกรณีที่สหรัฐประกาศมาตรการขึ้นภาษีนำเข้านั้น ไม่ได้มีการหารือในที่ประชุม โดยเป็นเพียงการหารือภายใต้กรอบความร่วมมือของกลุ่มประเทศบิมสเทคเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกลุ่มสมาชิกบิมสเทค ที่ถูกสหรัฐประกาศขึ้นภาษีนำเข้า ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ เมียนมา 45%, ศรีลังกา 44%, บังกลาเทศและไทย 37%, อินเดีย 27% ขณะที่ เนปาลและภูฏาน 10%
วันเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการประชุมบิมสเทค ที่มีการเชิญ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา เข้าร่วมประชุม จะส่งผลอะไรกับไทยหรือไม่ หลังมีนักวิชาการเตือนให้เว้นระยะห่าง เพราะประเทศไทยอาจถูกมองไม่ดี ว่า เป็นเรื่องของกระทรวงต่างประเทศที่ประสานผ่านการประชุมบิมสเทค แต่ตนตนคิดว่าเขามีสิทธิในการสังเกตการประชุมนี้ ก็คงได้คุยประเด็นปัญหาในเมียนมาด้วย ซึ่งก็จะมีโอกาสได้คุยกัน ไม่เช่นนั้นการแก้ไขปัญหาของเมียนมาที่พูดกับทุกส่วนว่าอยากให้มีการแก้ไข มันก็จะไม่ได้แก้ อีกทั้งไทยเป็นประเทศที่ใกล้ชิดกับเมียนมา และก็มีประเด็นหลายเรื่อง ต้องช่วยกัน
เมื่อถามถึงกรณีที่นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ระบุว่าไม่เคยมีใครเชิญผู้นำเผด็จการมาร่วมประชุมใหญ่แบบนี้ นายภูมิธรรม ย้อนถามกลับว่า “กัณวีร์ อีกแล้ว ไม่มีอะไรมั้งกัณวีร์“
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี