"อนุทิน" แถลงผลการประชุมหลังครบ 7 วันการตรวจสอบตึก สตง.แห่งใหม่ถล่ม เผยต้องใช้เวลาหาสาเหตุเชิงวิศวกรรมโดยละเอียด เพื่อความเป็นธรรมทุกฝ่าย พร้อมย้ำ กฎหมายไทยกำหนดมาตรฐานของอาคารทั่วประเทศสูงมาก เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
วันที่ 4 เมษายน 2568 เวลา 18.50 น. ที่โถงชั้น 1 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย แถลงภายหลังจากการประชุมร่วมกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอาคารสตง.แห่งใหม่ ย่านจตุจักรถล่ม โดยมี นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายพิศุทธิ์ สุขุม วิศวกรใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง ผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมแถลงข่าว
นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้ทางคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีอาคาร สตง.แห่งใหม่ ย่านจตุจักรถล่ม ซึ่งได้มาประชุมหลังจากครบ 1 สัปดาห์ตามกรอบที่เราได้วางไว้ว่าเราจะพยายามหาสาเหตุ แต่ด้วยสภาพหน้างานที่เจ้าหน้าที่ยังต้องทำงานกอบกู้ชีวิตยังดำเนินอยู่ การที่ไปเก็บตัวอย่างวัสดุเพื่อไปทดสอบอะไรต่าง ๆ ยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น 7 วันที่ผ่านมา การจะหาสาเหตุที่สรุปได้เลยว่า ทำไมตึกนี้ถล่มยังไม่สามารถสรุปได้ เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย
ทั้งนี้ สาเหตุเบื้องต้นที่เป็นสารตั้งต้นนำไปสู่การตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป ในทางวิศวกรรมก็ไปดูที่เรื่องแบบ ซึ่งต้องใช้เวลา แล้วต้องไปทำโมเดลขึ้นมา ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อความมั่นใจ แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ขอให้มั่นใจว่ามาตรฐานทางวิศวกรรมที่มีการกำหนดแบบตามกฎหมายที่จะต้องมีค่าแผ่นดินไหว ค่าสั่นสะเทือนต่าง ๆ กฎหมายตั้งเกณฑ์ไว้สูงมาก และการออกแบบอาคารในประเทศไทยตอนนี้มีความทนพอต่อแผ่นดินไหว
นายอนุทิน กล่าวถึงกรอบระยะเวลาซึ่งในการตรวจสอบเชิงวิชาการ เชิงวิศวกรรมในเรื่องของการหาสาเหตุ ต้องหาโดยละเอียด ซึ่งปกติคอลิฟท์จะอยู่ตรงกลาง แต่ตึกนี้ถูกออกแบบคอลิฟต์ไปอยู่ข้างหลัง มันก็ส่งผลให้เกิดการบิดได้ การใส่พวก Safety Factor ต่าง ๆ เราต้องไปตรวจสอบว่า เขา ใส่เพียงพอหรือเปล่า ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ออกแบบด้วย ก่อนจะกล่าวหาใครก็ต้องไปคำนวณแต่ละชั้น ๆ ว่าออกแบบ และใส่ Safety Factor ถูกต้องหรือไม่ แรงต่อต้าน แรงบิด แรงต่อต้านแรงเฉือน และแรงต่อต้านแรงทุกอย่างที่มี ได้ทำถูกต้องหรือเปล่า ซึ่งต้องใช้เวลานานเป็นเดือน
นายอนุทิน กล่าวถึงเรื่องการเยียวยาว่า ได้แจ้งอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้หาแนวทางการยกเว้นหลักเกณฑ์ เพราะเมื่อวานได้รับรายงานมาว่า ถ้าตามกฎหมาย กรณีเสียชีวิต ได้รับเงินเยียวยา 29,000 บาท กรณีบาดเจ็บ 4,000 บาท ซึ่งพอได้ยินตัวเลข ตนได้บอกอธิบดีให้ไปหาวิธีเยียวยาให้เหมาะสมมากกว่านี้ เพราะกฎหมายที่ใช้อยู่อาจจะเป็นกฎหมายเก่า นอกจากนี้ ตนได้หารือกับท่านอธิบดีกรมบัญชีกลาง และแจ้งให้ท่านได้ทราบว่า แบบนี้รับไม่ได้ เพราะเรามีเรื่องของงบช่วยเหลือฉุกเฉินอะไรต่าง ๆ นานาที่ผ่านมา ตัวอย่างกรณีน้ำท่วมเชียงรายบ้านเรือนเสียหาย ยังชดใช้เป็นหลัก 50,000 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งบ้านตั้ง 50,000 บาท แต่นี้เป็นเรื่องชีวิตคน โดยจะเร่งหาช่องทางการช่วยเหลือให้มากที่สุด
ผศ.ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ ได้หาข้อมูลภาคสนามให้ได้มากที่สุด แต่สภาวะตอนนี้ เรายังไม่สามารถทำได้ที่เต็มที่ แต่ก็ได้ย้ำกับหน้างานว่า วัสดุเส้นเหล็กที่เราต้องการเก็บต้องอยู่ในเนื้อคอนกรีต ไม่ใช่เหล็กที่เราเหยียบย่ำแล้วเสียรูปไปแล้ว ในห้วงเวลานี้ยังอยู่ระหว่างการกู้ชีวิตคน เรายังเอาวัสดุลงมาไม่ได้ ต้องใช้เวลาอีกระยะ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี