เจาะเงื่อนกลผูกขาดพลังงานชาติ ‘พีระพันธุ์’ บรรยายหลักสูตร มินิ วปอ. คลี่ผลประโยชน์บนพลังงานชาติ ชี้ต้องเดินหน้าทลายการผูกขาดพลังงาน กลับมาสู่หลักการพลังงานเพื่อประชาชน
วันที่ 4 เมษายน 2568 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้บรรยายในหัวข้อ 'ความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคต' แก่ผู้อบรมในหลักสูตร วปอ.บอ.2
โดยในลำดับแรกนายพีระพันธุ์ ได้เริ่มต้นการบรรยายว่า เรื่องของพลังงานนั้นเกี่ยวข้องกับตนตั้งแต่สมัยยังเด็กเนื่องจากคุณพ่อเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิง ซึ่งสิ่งที่ตนเคยได้รับฟังตั้งแต่เด็กคือเรื่องพลังงานคือเรื่องความมั่นคง
สำหรับพื้นฐานเรื่องพลังงานน้ำมันในประเทศไทย เริ่มต้นในสมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เริ่มมีแนวคิดในการพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศเพื่อความมั่นคงของประเทศ ต่อมาจึงมีการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตามข้อมูลที่ว่ามีการกลั่นน้ำมันไว้ใช้เองได้ จึงเป็นที่มาของการกลั่นน้ำมันครั้งแรกในประเทศไทยที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
น้ำมันที่ได้นั้นแต่เดิมมีแนวคิดว่าจะเป็นการนำมาใช้ในกองทัพเพียงอย่างเดียว แต่เนื่องจากปริมาณที่จำนวนมาก และแบ่งเบาภาระของประชาชนจึงมีการเปิดปั๊มน้ำมันสามทหารซึ่งจำหน่ายน้ำมันราคาถูกให้แก่ประชาชนคนไทย
ดังนั้นเรื่องของพลังงานของประเทศไทยจึงเริ่มต้นมาจากความมั่นคง เริ่มต้นจากกองทัพ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปตามสภาพการณ์ จึงมีการจัดตั้งการปิโตเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. และได้มีการโอนทรัพย์สินของ องค์การเชื้อเพลิง มาเป็นของ ปตท.
ป้ายสามทหารตามปั๊มน้ำมันถูกปลดถูกเปลี่ยนถ่ายเป็นป้ายของ ปตท. และมีการแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบบริษัทมหาชน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
“หลังจากยุคองค์การเชื้อเพลิงมิติความมั่นคงในด้านพลังงานถูกมองข้ามไปตลอด และมองในมิติธุรกิจการค้าด้านพลังงานตลอดจนถึงทุกวันนี้ จึงเป็นโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้เรื่องของน้ำมันมายึดถือผลประโยชน์ของชาติประชาชนเหมือนดังแต่ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องยากแต่ต้องทำ” นายพีระพันธุ์กล่าว
สำหรับสถานการณ์น้ำมันในทุกวันนี้ที่ราคาน้ำมันในประเทศสูงมาก สาเหตุที่แท้จริงมาจากโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศไทยมีลักษณะพิเศษจากประเทศอื่น คือ มีภาษีหลายส่วน จากราคาเนื้อน้ำมันประมาณ 18 บาท ราคาน้ำมันที่ขายให้กับประชาชนอยู่ที่ 42 บาทต่อลิตร ซึ่งมีโครงสร้างจากภาษีน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่ม การจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน และการจ่ายค่าการตลาด จึงเป็นเหตุผลที่ในภูมิภาคราคาน้ำมันไทยถึงแพงมาก
ซึ่งหากคิดจากโจทย์ที่ว่าจะต้องเอาหลักการเรื่องความมั่นคง หลักการดูแลประชาชนกลับมาในการดูแลเรื่องของน้ำมัน ทำให้ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีน้ำมันสำหรับผู้มีรายได้น้อย มีน้ำมันเกษตรกรที่เป็นกระดูสันหลังของชาติ มีน้ำมันสำหรับพี่น้องชาวประมง ที่ทุกวันนี้ใช้น้ำมันมาตรฐาน EURO5 ในอุปกรณ์ทางการเกษตรและจ่ายค่าน้ำมันในราคาเดียวกันกับรถ Super Car
จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องออกกฎหมายใหม่ให้ยึดผลประโยชน์ของชาติและประชาชน มีมิติด้านความมั่นคงมากยิ่งขึ้น
สำหรับมิติพลังงานเพื่อความมั่นคงคือหลักการยึดผลประโยชน์ของประชาชน แต่สำหรับความมั่นคงด้านพลังงาน สิ่งที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีคือ น้ำมันสำรองที่เป็นของรัฐ ที่จะตอบโจทย์ทั้งน้ำมันเพื่อความมั่นคงและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นยิ่งตอกย้ำความจำเป็นในข้อนี้ และน้ำมันที่จะสำรองต้องเป็นน้ำมันที่เป็นของรัฐ ไม่ใช่น้ำมันสำรองของเอกชน
ปัจจุบันในทุก ๆ วันมีการใช้น้ำมันประมาณ 120 ล้านลิตร หรือประมาณ 1 ล้านบาร์เรล แต่ที่ผลิตได้มีเพียง 7 หมื่นบาร์เรลต่อวันเท่านั้น การมีน้ำมันสำรองจึงเป็นทางออกในการรองรับทุก ๆ สถานการณ์ด้านพลังงาน
คลังน้ำมันสำรอง หรือ Strategic Petroleum Reserve(SPR) เป็นแนวคิดที่มีจุดเริ่มต้นจากสงครามอ่าวในตะวันออกกลางที่ทำให้ราคาของน้ำมันพุ่งสูงขึ้น และมีการร่วมกันก่อตั้ง International Energy Agency หรือ IEA ภายใต้แนวคิดจะต้องมีการสต็อกน้ำมันเพื่อดูแลประเทศสมาชิกในช่วงที่เกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติเกิดขึ้น เป็นการใช้ปัญหาน้ำมันมาแก้ปัญหาน้ำมัน โดยการเก็บน้ำมันในช่วงราคาถูก และเอาออกมาใช้ในช่วงที่ราคาแพง โดยมีมาตรฐานที่จะต้องเก็บไว้ 90 ของปริมาณความต้องการในแต่ละวัน
จากหลักการที่ตนกล่าวข้างต้นประเทศไทยจะต้องมีการเก็บน้ำมันประมาณ 10,000 ล้านลิตร ซึ่งหากมีการริเริ่มทยอยเก็บมาเรื่อย ๆ สิ่งนี้สามารถเป็นจริงได้
หลายคนปรามาสว่าประเทศจะหางบประมาณจากไหนเพื่อจัดทำระบบ SPR ซึ่งสำหรับผมเราไม่สามารถใช้เรื่องของเงินมาแก้ปัญหาน้ำมันได้ เราจะต้องใช้เรื่องของน้ำมันมาแก้ไขปัญหาของน้ำมันโดยการเปลี่ยนจากเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันมาเป้นการเก็บน้ำมันเข้ากองทุนน้ำมันแทน ซึ่งนอกจากจะได้ความมั่นคงด้านพลังงานแล้วสิ่งหนึ่งที่ทำได้ทันทีคือ การลดราคาน้ำมันจากเงินที่จัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมันที่หายไปทันที
นายพีระพันธุ์กล่าวต่อว่า “แม้จะมีการท้วงติงว่าถ้าทำเช่นนี้ผู้ประกอบการจะอยู่ไม่ได้ แต่เราต้องนึกไว้เสมอว่าไม่มีผู้ประกอบการประชาชนอยู่ได้ แต่ไม่มีประชาชนผู้ประกอบการอยู่ไม่ได้ ดังนั้นการแก้ปัญหาเราต้องประชาชนมาก่อน”
เนื่องจากเรื่องของพลังงานคือ น้ำมัน-ไฟฟ้า-แก็ส ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพของพี่น้องประชาชน เราต้องเปลี่ยนจากที่คิดบนหลักพื้นฐานของธุรกิจการค้ามาเป็นประชาชนเป็นหลักแทน วันนี้เราต้องวางหลักการให้ชัดว่าพลังงานเป็นไปเพื่อความมั่นคงไม่ใช่เพื่อธุรกิจการค้า ซึ่งทั้งหมดกำลังทำผ่านกฎหมายหลาย ๆ ฉบับ
สิ่งแรกที่ทำคือ ทุกวันนี้ที่ทราบว่าราคาเนื้อน้ำมันมีราคา 18 บาทนั้น ตัวเลขที่มีการรายงานมาถูกต้องหรือไม่ ผู้ประกอบกิจการทุกรายไม่ต้องรายงานเพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็นความลับทางการค้า จึงเป็นที่มาว่าในการดำเนินการใด ๆ จึงมีการอ้างอิงราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ ซึ่งสิ่งนี้เป็นที่มาที่ตนต้องออกประกาศเป็นครั้งแรกให้มีการแจ้งต้นทุนราคาน้ำมัน ซึ่งกลายเป็นว่าราคาน้ำมันของไทยแพงกว่าตลอดโลก เนื่องจากมีการตั้งบริษัทลูกหลายบริษัทและขายต่อเป็นทอด ๆ ทำให้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป
แต่สิ่งนี้มาจากแนวคิดที่ผ่านมาที่เราไม่เคยกำกับ ไม่เคยควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะเราไม่ได้ยึดว่าเรื่องของพลังงานต้องเอาความมั่นคงมาเป็นตัวตั้ง สิ่งหนึ่งที่ผมใช้อธิบายตลอด คือ การขอขึ้นราคามาม่าต้องมีการขออนุญาตกระทรวงพาณิชย์ ต้องชี้แจงต้นทุน แต่น้ำมันผู้ประกอบการสามารถกำหนดราคาได้ด้วยตนเอง
เรื่องของไฟฟ้าและเรื่องของแก๊สเป็นเรี่องที่มีความเชื่อมโยงกันค่อนข้างมาก ในอดีตไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นส่วนมากใช้น้ำมันเตาและถ่านหินในการผลิต แต่เนื่องด้วยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทำให้มีการปรับตัวและเข้าสู่แก๊สธรรมชาติที่มีการปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด และกำลังเดินหน้าสู่ยุคพลังงานสะอาด
ปัจจุบันแหล่งแก๊สธรรมชาติในอ่าวไทยเรามีกำลังการผลิตประมาณ 2,500 ล้าน ลบ.ฟุต ต่อวัน แต่มีความต้องการในการใช้ 5,000 ล้าน ลบ.ฟุต ซึ่งส่วนที่ขาดมีทั้งการนำเข้าจากแหล่งแก๊สในพม่า และนำเข้าจากต่างประเทศในรูปแบบ LNG ที่มีต้นทุนสูงจากการเปลี่ยนสถานะและมีความผันผวนตามราคาตลาดโลก
จากระบบปัจจุบันที่แก๊สมีราคาเดียวทั้งโรงไฟฟ้า พี่น้องประชาชน และโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้แก๊สในการเดินเครื่องจักรที่มีประมาณ 1,000 โรงงาน มาเป็นสองราคา โรงงานอุตสาหกรรมไม่ควรใช้ราคาเดียวกับพี่น้องประชาชน ไม่ควรมีการแบกราคาของโรงงานอุตสาหกรรมไว้บนบ่าของพี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งชาติ
แต่ในเรื่องนี้เมื่อมีการสอบถามทางโรงงานแล้วปรากฎว่ามีเอกชนที่ส่งแก๊สมาขายยังโรงงานอุตสาหกรรมกำหนดราคาขายตามตลาดโลก ทำให้มี 2 บริษัทในประเทศที่กอบโกยผลประโยชน์ของประเทศไปเปล่าถึงปีละ 20,000 ล้านบาท
เรื่องของไฟฟ้านั้นปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตประมาณ 50,700 MW ซึ่งตามกฎหมายหรน้าที่ส่วนนี้ควรเป็นของ กฟผ. แต่ปัจจุบัน กฟผ. ผลิต 16,261.02 MW เอกชนรายใหญ่ผลิต 18,973.50 MW และในเอกชนรายใหญ่เพียงบริษัทเดียวผลิตถึง 16,000 ?”
สำหรับผู้ผลิตรายเล็ก 9,254.68 ส่วนใหญ่เป็นการผลิตโดยใช้พลังงานสะอาด และเหล่ารายเล็กประสบปัญหาจากการเซ็นสัญญาไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วที่ต้นทุนสูง จึงมีการจ่ายค่า ADDER หรือให้กำไรฟรี ๆ ซึ่งแทนที่จะให้สัญญาปีต่อปี ก็การแก้จนกลายเป็นสัญญาชั่วนิรันดร์ เนื่องจากเอกชนบอกว่าหาคนปล่อยกู้ยาก และเซ็นกันมาตั้งแต่ปี 50 และที่ร้ายกาจคือไม่มีการหมดvายุ คือพอครบวาระจะต่อสัญญาโดยทันที และรัฐไม่สามารถยกเลิกสัญญาฝ่ายเดียวได้ ซึ่งสัญญาที่มีค่า ADDER เรามีมากกว่า 500 สัญญา
ในปีที่ผ่านมาไฟฟ้าคนใช้เยอะที่สุด 36,000 MW ค่าเฉลี่ย 25,100 MW แต่เรามีกำลังการผลิตประมาณ50,000 MW เรามีไฟสำรองเกินกว่า 25,600 MW ทำให้มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ไม่ต้องเดินเครื่องจักร
แต่ตอนทำสัญญาเอกชนอ้างว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 1,000 MW ต้องลงทุนสร้างสูงแต่เมื่อเดินเครื่องไม่เต็มกำลังการผลิตจะทำให้การชำระเงินกู้ลำบาก รัฐจึงต้องมีการต่ายค่าพร้อมจ่ายให้เต็มกำลังการผลิต เป็นการฝจ่ายทั้งหมดเหมือนเดินเครื่องจักรปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้ประชาชนเป็นผู้แบกภาระ
และนี่คือเหตุผลที่ผู้ผลิตไฟฟ้าถึงร่ำรวยมหาศาลในระยะเวลาไม่กี่ปี โดยกฎหมายของ กฟผ. มีมาตั้งแต่ปี 2511 สภาพการผลิตไฟฟ้า การค้า และเศรษฐกิตแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ให้ทุกวันนี้ กฟผ. ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องของการผลิตไฟฟ้าเพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับ กกพ. ทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่ผู้ที่เซ็นสัญญาไม่มีอำนาจในการเจรจากำลังการผลิต
หัวข้อต่อไปคือการเปลี่ยนผ่านพลังงานเรื่องของน้ำมัน และแก๊ส เป็นทรัพยากรธรรมชาติไม่สามารถเปลี่ยนผ่านได้ แต่พลังงานไฟฟ้ากำลังสู่การเปลี่ยนผ่าน โดยเป็นการเปลี่ยนผ่านกรรมวิธีการผลิตไฟฟ้าจากตอนนี้ที่ใช้แก๊สธรรมชาติไปเพิ่มพลังงานหมุนเวียน หรือที่เรียกว่า RE คือพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมด ทั้งแสงแดด ลม น้ำ ชีวมวล
ซึ่งเป้าหมายของการเปลี่ยนผ่านมีการกำหนดร่วมกันว่าในปี ค.ศ. 2050 เราจะต้องมีการปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด และในปี ค.ศ.2070 เราจะมีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ดังนั้นก่อน 2070 เราจะต้องเปลี่ยนการใช้แก๊ส น้ำมัน ถ่านหิน ในการผลิตไฟฟ้าเป็น RE ทั้งหมด ซึ่งเคยมีปัญหาว่าจะต้องมีการจัดเก็บในช่วง RE ไม่สามารถผลิตได้ เทคโนโลยีที่สำคัญคือเรื่องของแบตเตอรี่
และเรื่องของ RE ที่มีความสำคัญคือการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เนื่องจากทั้งพลังงานลมและพลังงานน้ำที่มีความไม่แน่นอนสูง
“เราทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ มีส่วนได้เสียด้านพลังงาน ตนเป็นนักการเมือง มาแล้วก็ไป แต่ช่วงที่มาทำงานต้องทำให้ดี วางแผนยังไงให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการคิดถึงแต่เรื่องของธุรกิจการค้า การเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียน ไม่มีประโยชน์ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาการผูกขาดด้านพลังงานได้ ทุกคนต้องช่วยผลักดันให้เรื่องพลังงานหลุดพ้นจากธุรกิจการค้ากลับมาเป็นเรื่องความมั่นคง เหมือนที่กองทัพได้ริเริ่มจัดทำไว้ผ่านองค์การเชื้อเพลิง” นายพีระพันธุ์กล่าวในตอนท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี