"ปิยะ"ซัด"แพทองธาร"แก้วิกฤตกำแพงภาษีสหรัฐฯล่าช้า สะท้อนไร้ภาวะผู้นำ มองทีมเจรจาไทยยังอ่อนเกินไป หวั่นเจรจาจะไร้ผล
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568 พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการเร่งตั้งคณะทำงานพิเศษ (Special Task Force) เพื่อรับมือภายหลังประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศขึ้นกำแพงภาษี ว่า อันดับแรกการเตรียมตัวเพื่อรับมือในการแก้ปัญหาดังกล่าวรัฐบาลเคลื่อนตัวช้ามาก ทางสหรัฐฯ มีท่าทีและนโยบายในการปรับมาตรการทางด้านภาษีและการค้ากับคู่ค้าต่างๆ ตั้งแต่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง และรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 แต่รัฐบาลเพิ่งมาแก้ปัญหาหรือประสานงานหลังจากสหรัฐฯ ประกาศนโยบายจะขึ้นภาษีไปเรียบร้อยแล้ว จนฝ่ายค้านต้องเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งทีมงานแก้ไขปัญหาดังกล่าว
"การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ผมมองว่าล่าช้าอย่างมาก สหรัฐอเมริกาประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 แต่รัฐบาลเพิ่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหานี้ หลังจากที่ฝ่ายค้านกดดัน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้มีการเตรียมการ และเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมของ 3 ประเทศ ได้แก่ จีน , ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดท่าทีรับมือกรณีนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น ประเทศเวียดนาม ได้แต่งตั้ง นายโฮ ดุค ฟ็อก รองนายกรัฐมนตรี และนายเหวียน ฮอง เตี่ยน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ดูแลเรื่องนี้ และทราบว่าได้หารือกับ นายเจมิสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) มีแนวโน้มจะเลื่อนการใช้อัตราภาษีอากรใหม่ไปอีก 3 เดือน ส่วนประเทศสิงคโปร์ นายกรัฐมนตรีออกโรงเป็นหัวเรือในการแก้ปัญหาเอง และประเทศอื่นเขารีบไปจับมือไปเจรจา แต่ของเราเหมือนโดดเดี่ยว มีแต่ประเทศไทยประเทศเดียวที่เพิ่งจะรู้ว่าต้องส่งทีมไปเจรจา" พล.ต.ท.ปิยะ กล่าว
พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวต่อว่า ศักยภาพทีมเจรจาของไทยที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งในการเดินทางไปเจรจา ดูแล้วยังอ่อนเกินไป ถ้าหากเป็นทีมระดับนี้ไปคุยกับทางสหรัฐฯ เขาก็คงไม่ให้น้ำหนักอะไร โดยปกติการเจรจาระหว่างประเทศจะยึดหลักอธิปไตยและความเสมอภาคของรัฐ (sovereign Eguality of State) เป็นหลักสำคัญถือกันมาโดยตลอดในการเจรจาระหว่างประเทศ โดยยึดถือหลักการที่ว่า การเจรจาต้องเคารพสิทธิ กฎหมาย และให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยถือว่าทุกประเทศเท่าเทียมกัน ต้องเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ถ้าทางไทยส่งเบอร์เล็กไป ทางสหรัฐฯ เขาจะส่งเบอร์เล็กมาเจรจาด้วย แล้วกี่วันจะประสบผลสำเร็จ โดยตนมองว่า นายกรัฐมนตรีควรจะต้องจัดทีมใหม่ เอาคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่านี้ และที่สำคัญคือ ควรที่จะเอาคนที่เคยมีความสัมพันธ์หรือคนที่เคยทำงานร่วมกับทางสหรัฐฯ หรือคนที่เขาให้ความเกรงใจมาเป็นตัวหลักในการเจรจา มิเช่นนั้น การเจรจาครั้งนี้จะไม่ได้ผลอย่างแน่นอน ทีมที่ท่านนายกฯ จัดตั้งมา ทำงานส่วนใหญ่เป็นทีมซอฟพาวเวอร์ ซึ่งทำงานมาตั้งแต่ 13 กันยายน 2566 ยังไม่เกิด impact อะไรเลย คงจะมีแต่ปลัดกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น นอกนั้นเป็นข้าราชการระดับต่ำกว่าอธิบดี ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ เป็นตัวนายกฯ เองหรือรองนายกฯ หรือรัฐมนตรี เหมือนไม่ให้เกียรติคู่เจรจา และหวังผลอะไรกับการเจรจา"
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี