‘กุนซือนายกฯ’โว
เจรจา‘ภาษีทรัมป์’ต้องรู้เขารู้เรา
เล็งเพิ่มลงทุนในสหรัฐ
นำเข้าสินค้าเกษตรมะกัน
แปรรูปสินค้าขายทั่วโลก
เปิดสินเชื่อ3พันล.อุ้มเอกชน
นายกฯ“อิ๊งค์”เรียกถกรับมือผลกระทบภาษี“ทรัมป์”หลังประชุมครม.พรุ่งนี้“ศุภวุฒิ”ย้ำ เจรจา “ภาษีทรัมป์” ต้อง“รู้เขารู้เรา” เตรียมเปิดเจรจาปรับลดภาษีนำเข้า-เพิ่มลงทุนไทยในสหรัฐ ชี้ทางรอดเล็งนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐ ใช้จุดแข็งประเทศไทย“แปรรูป”ส่งขายทั่วโลก พร้อมอุ้มภาคเอกชนเปิดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3พันล้านบาท-เยียวยาเอกชนไทยที่รับผลกระทบ ด้าน‘จิรายุ’ขอ‘พี่เท้ง’ผู้นำฝ่ายค้าน“เบาได้เบา ”หลังขย่มนายกฯ บอกไม่ตั้ง คกก.แก้ภาษี‘ทรัมป์’ ย้ำชัดๆไม่รู้กี่รอบ ตั้งคกก.มาตั้งแต่6ม.ค. ทำงานสรุปข้อมูลทุกสัปดาห์ครบสมบูรณ์ พร้อมรายงานที่ประชุมบ่ายโมงพรุ่งนี้ แล้ว แนะค้านบางเรื่องก็ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศเบาได้ก็ควรเบา
จากกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาลงนามคำสั่งบริหารเพื่อเรียกเก็บภาษีศุลกากรแบบต่างตอบแทน(Reciprocal Tariff)กับสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้า เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯโดยในส่วนของไทยคำนวณออกมาแล้วมีอัตราภาษี 36%นั้น โดยมีกระแสโจมตีว่าแก้ปัญหาล่าช้านั้น
ทั้งนี้ ในวันอังคารที่ 8 เมษายนนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้เตรียมประชุมรับมือมาตรการภาษีของสหรัฐฯที่ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี จะต้องจับตาภายหลังประชุมครั้งนี้
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีกล่าวให้ความเห็นถึงแนวทางการเจรจานโยบายการค้ากับสหรัฐอเมริกาโดยให้ข้อมูลแนวทางการเจรจาและยุทธศาสตร์ที่เตรียมไว้เพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการใช้ประโยชน์จากความสามารถในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารของประเทศ ว่า วัตถุประสงค์หลัก การปรับเพิ่มภาษีของสหรัฐอเมริกา มี 3 ข้อ คือ 1. เพื่อลดการถูกเอาเปรียบ จากการขาดดุลทางการค้า และสร้างสมดุลทางการค้าให้กับสหรัฐอเมริกา 2. เพื่อนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษี ไปลดภาระการขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ เพื่อขยายเวลาการลดภาษีให้คนรวยในสหรัฐฯ และ 3. เพื่อดึงผู้ประกอบการและกลุ่มบริษัทของสหรัฐฯ ให้ย้ายฐานการผลิตกลับไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ดังนั้น การดำเนินการรีบเร่งเจรจาเหมือนประเทศอื่นๆ อาจไม่ส่งผลดีกับประเทศนั้นๆ นัก เนื่องจากไม่สามารถทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของแนวทางการขึ้นภาษีของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ อาทิ ประเทศแคนาดาและเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ แม้ว่าทั้ง 2 ประเทศได้เร่งดำเนินการเจรจาไปก่อนหน้า หรือแม้แต่สหราชอาณาจักร ที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่สุดท้ายทุกประเทศที่ไปเจรจากลับถูกขึ้นภาษีเช่นกัน ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลเตรียมไว้ คือ การคิดแผนยุทธศาสตร์และมาตรการรองรับ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจา
นายศุภวุฒิ ได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลไทย โดยการดำเนินการของคณะทำงาน ได้จัดเตรียมแผนยุทธศาสตร์และมาตรการรองรับไว้แล้ว โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ คือ การปรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและระบบการค้า ผ่านการใช้จุดแข็งของทั้ง 2 ประเทศ อาทิ การนำเข้าสินค้าการเกษตรของสหรัฐฯ ที่ผลิตได้มากกว่าการบริโภคภายในประเทศถึง 20% มาแปรรูปเป็นอาหาร โดยใช้ความเชี่ยวชาญในการแปรรูปอาหารของประเทศไทย เพื่อส่งออกขายไปทั่วโลก ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะถูกดำเนินการผ่านการสร้างพันธมิตรกับมลรัฐ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาคการเกษตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่ประธานาธิบดีทรัมป์ฯ ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ และดำเนินการมาตรการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น การเร่งปราบปรามการสวมสิทธิ์สินค้าจากประเทศ อื่นๆ เพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการเปิดการนำเข้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่เป็นปัจจัยการผลิตและประเทศเราผลิตไม่เพียงพอ รวมถึงสินค้ากลุ่มพลังงานเพิ่มเติม ตลอดจนการเพิ่มการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ โดยการดำเนินการดังกล่าวทั้งหมด เป็นไปเพื่อลดภาวะขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ และเปิดบันไดทางลงให้กับสหรัฐฯ เมื่อมาตรการขึ้นภาษีได้ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากกว่าที่คาดการณ์
นายศุภวุฒิ ยังได้กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ อีกว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือการดำเนินการของผู้ประกอบการในระยะสั้น และเตรียมเงินทุนสำหรับใช้ในการให้ผู้ประกอบการไทยหาตลาดใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงในการส่งออกไปสหรัฐฯ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า มาตรการเหล่านี้ จะช่วยผู้ประกอบการไทย สามารถปรับตัวได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ การดำเนินการเจรจากับสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นตามขั้นตอนการเจรจา โดยขณะนี้ รัฐบาลได้เตรียมการลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ภายใต้หลักการที่สหรัฐฯ ได้ประโยชน์ และประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม สำหรับกระบวนการเจรจาต่อรองดังกล่าว ต้องเจรจาในรายละเอียดในระดับเจ้าหน้าที่ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันก่อน ยกเว้นสินค้าที่มีปัญหาที่จะต้องเป็นการเจรจาในระดับรัฐมนตรี ดังนั้น ขั้นตอนนี้จำเป็นต้องให้หัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งคือ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานเพื่อทำการเจรจา ก่อนที่จะมีการเจรจารอบสุดท้ายเพื่อแก้ไขปัญหาในส่วนค้าสินค้าที่ยังตกลงกันไม่ได้ อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ สำหรับการเจรจาการค้าของสหรัฐอเมริกา
“ประเทศเล็กอย่างเรา ต้องหาอํานาจต่อรอง และต้องสร้างแนวร่วมที่อเมริกา ซึ่งนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ประเมินแล้วว่า ต้องไปทางนี้ กับมลรัฐเกษตรของอเมริกา และมันก็เป็นการตอบสนองผลประโยชน์ของเราด้วยว่า เราต้องการจะเป็นผู้แปรรูปอาหารคุณภาพดีไปทั่วโลก ก็ใช้ทรัพยากรที่ดีที่สุดของอเมริกา ขายอะไรให้เรา เราก็จะซื้ออันนั้น ตามความต้องการของเราที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยแนวคิดอันนี้” นายศุภวุฒิ กล่าว
ด้าน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ออกมาย้ำคิดย้ำทำบอกให้นายกรัฐมนตรีเร่งตั้งคณะทำงานพิเศษ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อรับมือกรณีสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราสูงนั้นว่า ขอยืนยันอีกครั้งว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามมาตรการด้านการค้ากับสหรัฐอเมริกามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ก่อนการรับตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เสียด้วยซ้ำ
“นายกรัฐมนตรี ได้คาดคะเนล่วงหน้าไว้แล้วว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จึงได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ในวันที่ 6 มกราคม 2568 ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และประชุมหารือกันทุกสัปดาห์มาตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว”
นายจิรายุ กล่าวว่า รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และได้วางมาตรการรองรับในการเยียวยา และบรรเทาผลกระทบที่อาจมีต่อผู้ประกอบการส่งออกของไทยที่มีตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดหลัก ซึ่งนายกรัฐมนตรียังติดตามผลการประชุม อย่างต่อเนื่องมาตลอดกว่า 4 เดือน และในวันพรุ่งนี้ อังคารที่ 8 เมษายน นี้ เวลา 13.00 น. ณ ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงาน เกี่ยวกับมาตรการการค้าสหรัฐอเมริกา โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและหัวหน้าส่วนราชการทั้งหมด เข้าร่วมประชุม
“ขอย้ำว่ารัฐบาลได้เตรียมความพร้อม เพื่อปรับดุลการค้าให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยจะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด และขอวิงวอนให้ผู้นำฝ่ายค้าน “เบาได้เบา” เพราะรัฐบาลไม่เคยล่าช้า ทำงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ตนเชื่อว่าผู้นำฝ่ายค้านรู้ว่า รัฐบาลทำงานมาตั้งแต่ต้นปี แต่ออกมาให้ข่าวเหมือนแกล้งไม่รู้ และไม่ใช่เพิ่งมาตั้งคณะทำงานหรือวอร์รูมเมื่อวานนี้แต่อย่างใด จึงขอนำเรียนว่า คณะทำงานและรัฐบาลได้วิเคราะห์และวางแผนการเจรจาในห้วงเวลาที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุดอยู่แล้ว เพราะการเจรจาก่อนก็ไม่ได้หมายความว่าจะดีเสมอไป ดูได้จากหลายประเทศที่ไม่ประสบผลสำเร็จ กลับถูกขึ้นกำแพงภาษี มากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ”โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำ นายจิรายุ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี