เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลังการประชุมหารือมาตรการรับมือกับนโยบายภาษีของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นานกว่า 40 นาที ว่า รัฐบาลเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์มาก่อนหน้านี้ โดยจากนี้ได้ข้อสรุปเรื่องสำคัญ 5 ประเด็น ที่จะนำไปใช้เจรจากับผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ซึ่งจะเดินทางไปเจรจาได้ในเร็วๆ นี้
"ที่ผ่าน มารมว.พาณิชย์ และปลัดพาณิชย์ ได้ทำการบ้านเรื่องนี้มาอย่างน้อย 2 เดือนแล้ว วันนี้จึงมาดูว่าอันไหนเราขาด อันไหนเราเกิน และอันไหนเรามีความสามารถ" นายพิชัย กล่าว
สำหรับการเตรียมความพร้อมเจรจาทางการค้ากับทางสหรัฐฯ นั้น รองนายกฯ ยอมรับว่า รัฐบาลเตรียมประเด็นต่างๆ ที่จะไปหารือรวม 5 ข้อ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การหาโอกาสจากการนำเข้าพืชผลทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์จากสัตว์จากสหรัฐ เพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหาการขาดดุลทางการค้า เช่น การนำเข้าช้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสหรัฐฯ เข้ามาผลิตเป็นอาหารสัตว์ เพื่อแก้ปัญหาหารขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ และนำเข้าเครื่องในสัตว์มาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าและส่งออก
ประเด็นที่ 2 การผ่อนคลายการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ โดยบริการจัดการด้านภาษีเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค และการนำเข้าสินค้าต่างๆ ที่มีอยู่กว่า 100 รายการ จะดำเนินการตามโควตาที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ประเด็นที่ 3 การแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้า ผ่านการลดขั้นตอนที่นอกเหนือจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีกฎระเบียบขั้นตอนที่ซ้ำซ้อนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขทั้งหมด
ประเด็นที่ 4 การตรวจสอบคัดกรองสินค้าป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ จากประเทศอื่นๆ โดยจะมีการออกใบรับรองต้นถิ่นกำเนิดสินค้าให้รอบคอบมากขึ้น เพื่อป้องกันสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านให้น้อยที่สุด
ประเด็นที่ 5 การหาโอกาสการลงทุนในสหรัฐฯ เช่น การพิจารณาลงทุนด้านการการขนส่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ ในอลาสก้า หรือการลงทุนแปรรูปสินค้าเกษตรในสหรัฐฯ
นายพิชัย กล่าวว่า การดำเนินมาตรการทั้งหมดนั้น ประเทศไทยไม่ได้ทำเพราะสหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอโหดมาขู่ เพราะกรณีที่เดขึ้นเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องทำเพื่อประเทศของตัวเอง แต่สิ่งที่ไทยต้องทำคือ การเตรียมตัวรองรับ มีสิ่งใดที่ต้องทำ มีขีดความสามารถมากแค่ไหน เพื่อแก้ปัญหา และประเทศไทยต้องได้ประโยชน์ด้วย โดยแนวทางที่เลือกนี้จะไม่ใช่เรื่องการลดภาษี เพราะหากลดภาษีจะทำเสมอเหมือนกันทั้งหมด
"อยากให้มั่นใจวิธีการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย ผ่านการที่เราคิดอยู่เสมอ ผ่านการแก้ปัญหาแบบ Win-Win คือ ดีทั้งสหรัฐฯ และดีทั้งไทย พร้อมถือโอกาสยกระดับการทำงานของไทย และการผลิตของไทยให้เกิดความเชื่อมโยงมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ก็เป็นวิกฤต ก็กลุ่มใจอยู่ แต่ก็มีโอกาสในการแก้ปัญหาด้วย" รองนายกฯ ระบุ
ส่วนการเจรจานั้น รองนายกฯ ยอมรับว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะไปพูดคุยกับหลายภาคส่วนของอเมริกา โดยจะได้มีการประสานนัดหมาย เพื่อทำการพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) และหน่วยงานอื่นๆ ของสหรัฐฯ เพื่อนำเอาข้อเสนอของไทยไปเจรจาต่อรอง ซึ่งตอนนี้ขอเวลาอีกระยะหนึ่งก่อน โดยดูโจทย์ต่างๆ ให้ละเอียด จากนั้นจึงกำหนดวันไปเจรจาอีกครั้ง เพื่อให้การเจรจาเกิดผลสำเร็จและเห็นผลใน 1 - 5 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม นายกฯ ได้เน้นย้ำว่า ให้เร่งแก้ปัญหาต่างๆ อย่างเต็มที่ และให้ประเทศไทยเกิดประโยชน์มากที่สุดกบัการเจรจาครั้งนี้ด้วย ขณะที่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยนั้น ยอมรับว่า หลายประเทศทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก และยังไม่สามารถประเมินได้ แต่เบื้องต้นมองว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นครั้งนี้มีขนาดใหญ่พอสมควร
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี