‘อิ๊งค์’ถกทีมนโยบายการค้าสหรัฐ
รับมือ‘ภาษีทรัมป์’
อ้างฝ่ายมะกันตอบรับแล้ว
เตรียมส่ง‘พิชัย’บินเจรจา
นายกฯ ประชุมทีมนโยบายการค้าสหรัฐ คุยฟุ้งให้ความสำคัญเรื่องนี้มานาน เตรียมตัวมาก่อนหน้านี้ 3 เดือนแล้ว ตั้งแต่“ทรัมป์”ยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่ง เผยขณะนี้ USTR ตอบรับการเจรจาแล้ว รอเคาะวันก่อนส่ง“พิชัย”บินเจรจาสหรัฐ ระบุ วางยุทธศาสตร์ “รู้เขา-รู้เรา-เร็ว-แม่นยำ” รับมือ“ภาษีทรัมป์” ชี้เจรจาไม่ใช่ครั้งเดียวจบ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ชี้ต้องมีมาตรการรับมือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว ยืนยันรัฐบาลคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 เมษายน 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามมาตรการการค้าสหรัฐอเมริกา โดยมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.การคลัง, นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง, นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
โวเตรียมพร้อมมา3เดือนแล้ว
นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมความพร้อมตั้งแต่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้ว การประชุมในวันเดียวกันนี้ จะเป็นการเตรียมการสถานการณ์ที่จะกำหนดก้าวต่อไปว่าจะเดินทางอย่างไรต่อไป เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดและการเจรจาตรงนี้ต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทั้งสองประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลเน้นย้ำ รวมทั้งการวางยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ต้องวางแผน รู้เขารู้เรา เราอาจจะเป็นประเทศที่เล็กกว่าก็จริงแต่เราจะทำเจรจาอย่างดีที่สุด
USTRตอบรับแล้ว/รอกำหนดวันคุย
นายกฯ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์รวดเร็วไม่ได้เราต้องแม่นยำด้วย รีบไปมันไม่เกิดประโยชน์อะไร การที่เราไม่ได้รีบส่งจดหมายกลายเป็นว่าเราได้รับการตอบกลับมา จาก สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา USTR ในการรับนัดในการร่วมพูดคุยแล้ว ไม่แน่ใจใจว่าเราเป็นชาติแรก ๆ หรือไม่ ที่มีการติดต่อกับทางสหรัฐอเมริกาแล้วว่าสามารถเข้าไปคุยได้ เหลือแค่กำหนดวันคุย ซึ่งจะมีการส่ง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ไปเจรจา ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยกระทรวงพาณิชย์จะรับผิดชอบต่อไป ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าเราดำเนินการมาอย่างดี อย่างมีนัยสำคัญ
นายกฯ ระบุอีกว่า ส่วนผลกระทบและการเยียวยา ระยะยาวเราจะมองในเรื่องของการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ พร้อมกับหาตลาดใหม่เข้ามา เพื่อแก้ไขปัญหา ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลติดตามเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ชูยุทธศาสตร์‘รู้เขา-รู้เรา-เร็ว-แม่นยำ’
จากนั้น น.ส.แพทองธาร โพสต์ข้อความทางโซเชียลมีเดียว่า การวางยุทธศาสตร์รับมือมาตรการ Reciprocal Tariff และ liberation day ต้อง “รู้เขา-รู้เรา-เร็ว-แม่นยำ” ซึ่งการประชุมวันนี้จะติดตามสถานการณ์ กำหนดก้าวต่อไปอย่างรอบคอบและแม่นยำ เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทย ตามที่ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการ Reciprocal Tariff และ liberation day เมื่อวันที่ 2 เมษายน ถือเป็นการกำหนดกติกาการค้าโลกใหม่ สร้างผลสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจของโลก รวมทั้งผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกาเอง ตามรายงานข่าวที่ทุกท่านได้ติดตามรับทราบโดยทั่วกัน รัฐบาลติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ระบุให้เป็นวาระสำคัญ โดยแต่งตั้งคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เมื่อ 6 มกราคม ที่ผ่านมา โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นที่ปรึกษา เพื่อศึกษารายละเอียด หารือและกำหนดแนวทางร่วมกับภาครัฐและเอกชนมาตลอด
ลั่นยึดประโยชน์สูงสุดของคนไทย
โดยในที่ประชุม ครม.เมื่อเช้านี้ ได้มอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง เป็นหัวหน้าคณะ เจรจากับทางอเมริกา พร้อมด้วย รมว.พาณิชย์ เป็นผู้ร่วมคณะเจรจา มีการประสานนัดหมาย เพื่อพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น USTR และหน่วยงานอื่นๆ ของอเมริกา เพื่อนำเอาข้อเสนอของไทยไปพูดคุย การประชุมวันนี้จะเป็นการติดตามสถานการณ์ เพื่อกำหนดก้าวต่อไป เพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยอย่างรอบคอบและแม่นยำ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การวางยุทธศาสตร์และมาตรการต่างๆ คือต้อง “รู้เขา” และ“รู้เรา”วันนี้ เราเห็นนอกจากรูปแบบการตอบโต้ และรับมือต่อนโยบายทรัมป์จากประเทศต่างๆ มีอะไรบ้าง และยังได้เห็นปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวตอบโต้ของประชาชนภายในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้อีกด้วย
ประสานงานกับสหรัฐมาโดยตลอด
น.ส.แพทองธาร ระบุว่า ยุทธศาสตร์และกระบวนการทำงานของรัฐบาลต้องทั้ง “เร็ว และ แม่นยำ” เร็ว ขอย้ำว่าเรามีการจัดตั้งคณะทำงานมาตั้งแต่เดือนมกราคม เราตั้งก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งเป็นทางการเมื่อ 20 มกราคม และได้ประสานงานกับฝั่งสหรัฐอเมริกามาตลอด แม่นยำ เรามีการเตรียมข้อมูลที่ครบและรอบด้าน มีการติดตามความเคลื่อนไหวจากทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบเพื่อประเมินและหาข้อสรุปในการเจรจาที่จะมีต่อไปจากนี้
ต้องมีมาตรการรับมือระยะสั้น-ยาว
“ขอย้ำว่า การเจรจาไม่ใช่แค่ครั้งเดียวจบ แต่การเจรจาจะต้องใช้เวลา และมีการเจรจาในหลายระดับที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดผลกระทบเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ จึงต้องการเตรียมมาตรการรับมือและเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะในระยะสั้น ส่วนในระยะยาวเราจะต้องมองถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการหาตลาดใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เศรษฐกิจไทยไปต่อได้อย่างเข้มแข็ง ขอยืนยันว่า รัฐบาลคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง เราจะดำเนินการทุกอย่างโดยรอบคอบ เพื่อรักษาผลประโยชน์ และไม่ให้เสียเปรียบมากที่สุด” นายกฯ ระบุ
โฆษกรัฐบาลยันนายกฯไม่นิ่งนอนใจ
ก่อนหน้านี้ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงความเคลื่อนไหวรัฐบาลในการแก้ปัญหากำแพงภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกาว่า มาตรการดังกล่าวสร้างผลกระทบไปทุกประเทศทั่วโลก โดยรัฐบาลตั้งคณะทำงานมากตั้งแต่ 6 มกราคม 2568 ก่อนการรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 มกราคม 2568 แล้ว โดยคณะทำงานได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะ ในการศึกษาและหามาตรการต่าง ๆไว้เจรจา และเตรียมมาตรการที่จะลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ ขอให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งปรับตัวตามมาตรการใหม่นี้ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและได้มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าและดำเนินการมาตลอด และจะดำเนินการอย่างเหมาะสมต่อไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทยและพี่น้องประชาชนคนไทยเป็นที่ตั้ง
ยันไม่แลกผลประโยชน์เกษตรกรไทย
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ถึงข้อเสนอของกระทรวงฯ ต่อการประชุมติดตามมาตรการการค้าสหรัฐฯ ช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ก่อนที่ทีมไทยจะเดินทางไปเจรจา ว่า ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ต้องดูแลผลประโยชน์ของเกษตรกร และให้ข้อคิดเห็นกับผู้ที่จะเดินทางไปเจรจา เพราะกระทรวงเกษตรฯ ไม่ใช่ผู้เจรจา จึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อเกษตรกร ส่วนการคัดค้านของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และเครือข่ายผู้เลี้ยงสุกร เป็นส่วนหนึ่งที่กระทรวงเกษตรฯ ต้องการสะท้อนข้อมูล รวมถึงผลวิจัยผลกระทบต่อสุขภาพผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้จะเป็นประเด็นการประกอบการตัดสินใจของทีมเจรจาที่จะไปเสนอต่อสหรัฐฯ เพราะเมื่อเราจะไปเจรจาอะไรต้องดูผลประโยชน์คนไทยเป็นหลัก แต่กระทรวงเกษตรฯ ก็ต้องดูแลผลประโยชน์ของเกษตรกร และส่วนตัวไม่ต้องการให้เอาภาคเกษตรไปแลกให้ภาคอื่นๆ ซึ่งเจ้าของอาจไม่ใช่คนไทยด้วยซ้ำ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี